Interview

“นงวิณี เพชรดาษดา” ทายาท Tango แบรนด์แฟชั่นที่เต็มไปด้วยแพสชั่น และสไตล์เฉพาะตัว!

Pinterest LinkedIn Tumblr


นับเป็นอีกหนึ่งลูกไม้ใต้ต้น เพราะหลังจากเรียนจบด้านแฟชั่นจากอังกฤษ “แน๊ต-นงวิณี เพชรดาษดา” ลูกสาวของชัยยศ และกัญวรา เพชรดาษดา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Tango ก็ไม่รอช้า ตัดสินใจกลับมาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัวทันที โดยรับหน้าที่ดีไซเนอร์สินค้าในกลุ่มกระเป๋าและรองเท้าของแบรนด์

“จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Tango ต้องย้อนไปเมื่อ 34 ปีก่อน ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ ชื่นชอบในเครื่องหนัง แต่สมัยนั้นการที่จะหาดีไซน์ที่อยากได้ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย คุณพ่อคุณแม่เลยตัดสินใจสร้างแบรนด์เล็กๆ ของตัวเอง เริ่มต้นด้วยการไปฝากขายในร้านของคุณจ๋อม-ศิริชัย ทหรานนท์ เจ้าของแบรนด์เธียเตอร์ ขายไปขายมาปรากฏว่าขายดี คุณจ๋อมเลยเชียร์ให้เปิดร้านของตัวเอง และกลายเป็นที่มาของ Tango สาขาแรกที่สยามเซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่ติดกับร้านของแบรนด์เธียเตอร์”


อย่างไรก็ตาม ถึงจะเติบโตมาในครอบครัวที่ทำแบรนด์แฟชั่นเครื่องหนัง แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยกดดันให้ลูกๆ ต้องเข้ามาสานต่อธุรกิจ แต่ด้วยความชอบด้านศิลปะของแน๊ตตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอเลือกเรียนต่อด้าน Fashion Design ที่ Saint Martin’s School of Art ประเทศอังกฤษ โดยเลือกเรียนด้านสาขาการพิมพ์ ระหว่างนั้น ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ Christian Dior Couture และ Balmain ที่ปารีสอีก 1 ปี พอเรียนจบก็ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว

“ด้วยความที่เราโตมากับธุรกิจนี้ ฉะนั้น ตอนที่กลับมาช่วยงานแรกๆ เลยไม่ต้องปรับตัว หรือต้องปรับเปลี่ยนเรื่องดีไซน์ งานฝีมือ หรือตัวตนของแบรนด์ (Brand Identity) แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เรื่องการขาย ช่องทางทำการตลาดเพื่อให้ตอบโจทย์กับเทรนด์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพราะลูกค้าของ Tango ไม่ได้มีแค่คนไทย แต่มีลูกค้าต่างชาติด้วย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และจีน ก็เลยต้องมีการพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น”


ถามว่าอะไร คือจุดเด่นที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ Tango แน๊ตบอกว่า สิ่งที่โดดเด่นที่สุด คงเป็นเรื่องดีไซน์ที่สะท้อนถึงผู้หญิงที่มีแพชชั่น สนุกสนาน​ รักศิลปะ ชอบสีสันสดใส กล้าแต่งตัว และกล้าแสดงออก

“จะเห็นว่าดีไซน์ของ Tango จะมีการจับคู่สี หรือวัสดุที่ดูแล้วไม่น่าจะโคจรมาไว้ด้วยกัน มีการใช้ patchwork ที่โดดเด่น มีการใส่เรื่องของวัฒนธรรมในแบรนด์ค่อนข้างสูง เน้นการมิกซ์แอนด์แมตช์ กล้าใช้ลวดลายและสีสันจัดจ้าน ซึ่งปัจจุบัน Tango ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า แต่มีการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ให้มีทั้งกระเป๋าและจิวเวลรี

อย่างตอนแรกแน๊ตเองก็มาช่วยดูในส่วนของเสื้อผ้า แต่ด้วยความที่เรามาสาย Couture ที่อาจจะไม่ได้อินกับการทำงานที่ต้องหมุนให้ทันกระแสฟาสต์แฟชั่น ที่แบบ 3 เดือนทีต้องเปลี่ยนคอลเลกชันใหม่ เลยตัดสินใจเน้นมาที่เรื่องรองเท้าและกระเป๋า ที่อาจจะไม่ได้หมุนเร็วเท่าเสื้อผ้า เลยมีเวลาค่อยๆ ออกแบบ ค่อยๆ ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบ ทำให้การทำงานตอนนี้มีความสุขมาก ไม่ต้องถูกกดดันด้วยเวลา”


แน๊ตยังบอกด้วยว่า แต่ละปี Tango จะมีคอลเลกชันหลักๆ อยู่ 2-3 คอลเลกชัน แต่ในระหว่างนั้นทุกๆ 2 สัปดาห์จะมีสินค้าใหม่ๆ ที่แตกไลน์ออกมาจากคอลเลกชันหลัก มาอัปเดตให้ลูกค้าเลือกซื้อกันได้แบบไม่จำเจ เช่น สีพิเศษ หรือดีไซน์เพิ่มเติม โดยทำเป็นชิ้นลิมิเต็ด อิดิชัน หมดแล้วหมดเลย

“ถามว่าอะไรคือความท้าทายของการมาช่วยดูแลแบรนด์ Tango แน๊ตว่า ด้วยความที่แบรนด์อยู่มานาน ฉะนั้น เราก็ต้องพยายามหาไอเดียในการออกแบบแต่ละคอลเลกชันให้ออกมาไม่ให้ซ้ำ พยายามหาวัสดุใหม่ๆ หรือการนำเสนอที่ไม่เหมือนเดิม เพื่อให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่าแบรนด์ของเราอยู่ที่เดิม ดังนั้น ไอเดียในการออกแบบของแน๊ต นอกจากจะมาจากการเดินทาง หรือบางคอลเลกชันก็อาจจะตั้งต้นจากวัสดุที่เรามี เรายังนำฟีดแบคจากลูกค้ามาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ เพราะสุดท้าย ผลงานของเราก็ต้องการออกแบบให้ตอบโจทย์กับการใช้งานจริงของลูกค้ามากที่สุด บางครั้งเราก็เลยต้องไปถึงว่า รองเท้าคู่นี้จะไปจับคู่กับกระเป๋าดีไซน์แบบไหน ที่จะมิกซ์แอนด์แมตช์ได้ลงตัว”


สำหรับอนาคต แน๊ตตั้งใจจะเน้นบริการที่มีความ Customise สำหรับลูกค้ามากขึ้น เพราะตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นดีมานต์ของลูกค้าว่า แต่ละคนต้องการของที่แตกต่างกัน สนใจสั่งตัดรองเท้า กระเป๋า โดยเลือกสี หนัง และส้นรองเท้าแบบที่ชอบเอง แถมด้วยสถานการณ์ของโควิด ที่สาขาตามห้างต้องปิดหมด ก็เลยเกิดไอเดียทำพื้นที่เล็กๆ ของตัวเอง เป็นทั้งโชว์รูม สตูดิโอเวิร์กชอป เพื่อใช้พบปะลูกค้า จึงเกิดเป็นที่มาของการแตกไลน์ไปสู่ House of Tango

“ตอนแรกที่นี่ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นร้านอาหาร ตั้งใจว่าจะทำเป็นโชว์รูมและมุมกาแฟเล็กๆ สำหรับให้ลูกค้ามาใช้บริการ แต่พอน้องชาย ซึ่งเขามีประสบการณ์ด้านอีเวนต์และร้านอาหารมาก่อน มาเห็นพื้นที่ตึกที่จะรีโนเวท เลยต่อยอดมาเป็นร้านอาหาร”

ในฐานะเจนฯ สองที่เข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจ แน๊ตยอมรับว่า โชคดีที่ยังมีทีมงานรุ่นบุกเบิกเป็นกำลังสำคัญ “อย่างช่วงแรกๆ ที่เรียนจบมาทำงาน เราอาจจะมีไอเดียเยอะ แต่ประสบการณ์ยังน้อย ก็ได้ทีมงานที่มีประสบการณ์มาช่วยเกลาไอเดียให้ว่า อันไหนทำได้จริงและเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกัน ก็มีรับทีมงานใหม่ๆ เข้ามาผสมผสานให้ธุรกิจก้าวไปให้ทันกับเทรนด์ผู้บริโภคด้วย”


สำหรับคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ ที่ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้ แน๊ตบอกว่า คุณพ่อจะเน้นมองภาพใหญ่ ส่วนคุณแม่จะลงรายละเอียด สิ่งที่คุณแม่สอนเสมอคือ การใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การดูแลลูกค้า แม้ว่าผลลัพธ์อาจจะไม่ได้กลับมาทันที แต่ในระยะยาวเห็นผลแน่นอน เหมือนกับ Tango ที่นอกจากจะเน้นทำของดี มีคุณภาพ มีบริการหลังการขาย ทำให้ลูกค้าประทับใจ จนมีแฟนคลับ แฟนประจำที่อุดหนุนกันมาต่อเนื่องยาวนาน

Comments are closed.

Pin It