Interview

“กิรัติ์สุดา จิราธิวัฒน์” ทายาทเจนฯ ใหม่เซ็นทรัล ก่อนพัฒนา “ไทย เทอเรส” เคยทำงานร้านมิชลินสตาร์

Pinterest LinkedIn Tumblr


อีกไม่นานสปอตไลท์ในวงสังคมบ้านเรา จะมุ่งเป้าไปที่ “เชอร์รี่–กิรัติ์สุดา จิราธิวัฒน์” สาวสวยนักเรียนนอกจากมหานครนิวยอร์ก บุตรสาวของ “เกรียงศักดิ์ และสุชาดา จิราธิวัฒน์” ทายาทสาวเจนฯ ใหม่ของเซ็นทรัล ที่ตอนนี้เข้ามาช่วยงานที่ “ร้านไทย เทอเรส” ธุรกิจของครอบครัว ร้านอาหารสัญชาติไทยรสชาติไทยแท้ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่อยู่คู่คนไทยมานานถึง 5 ทศวรรษ

กิรัติ์สุดาจบการศึกษาระดับชั้นประถมถึงมัธยมต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย และในระดับมัธยมปลายที่ NIST International School ก่อนจะไปศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ Pratt Institute รัฐนิวยอร์กสาขาการออกแบบตกแต่งภายใน แถมยังผ่านคอร์สเรียนทำอาหารจากโรงเรียนสอนทำอาหารชื่อดังระดับเวิลด์คลาส ที่ ICC International Culinary Center

“ระหว่างที่อยู่เมืองไทยเราเห็นคุณพ่อกับคุณแม่ทำงานด้านแฟชั่นมาตลอด และเวลาไปเที่ยวก็จะต้องลองชุดหาชุดดีไซน์ต่างๆ หรือมีเพื่อนอยู่ในกลุ่มที่เป็นนักออกแบบ มันทำให้เราซึมซับเรื่องการออกแบบมาตลอด ดังนั้น พอจบมัธยมปลายเราจึงคิดว่าจะเรียนต่อทางด้านไหนดี ก็พยายามมองหาโปรแกรมที่เหมาะกับเรา เพราะถนัดเลขกับการดีไซน์ จึงตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาตรีสาขาการออกแบบตกแต่งภายใน ที่ Pratt Institute รัฐนิวยอร์ก”


แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เธอกลับคิดว่าสิ่งที่ชอบจริงๆ คือ ประสบการณ์หลังไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อนๆ หรือการแนะนำร้านอาหาร ซึ่งเป็นจุดแลนด์มาร์คที่ทุกคนต้องไปรับประทาน เมื่อมาเยือนนิวยอร์กมากกว่า เธอจึงไปหาความรู้และทักษะด้านการทำอาหารเพิ่มเติม โดยเลือกเรียนหลักสูตร Farm to Table Program เพื่อหวังว่าสักวันจะสานฝันด้วยการเปิดร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ขนาดย่อม

“หลักสูตรที่เลือกเรียนเป็นโปรแกรมพิเศษ ใช้เวลาเรียนหกเดือน ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่หมด ตั้งแต่การปลูกพืชผักจนถึงเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเขาจะสอนการเพาะปลูกพืชตามฤดูกาล ไปจนถึงการปลูกผักหมุนเวียน เพื่อเป็นการฟื้นฟูดิน รวมถึงการเพาะปลูกในพื้นที่จำกัดเพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างคุ้มค่า ทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่างและคุ้มค่ามากๆ”


หลังจบคอร์สทำอาหารจาก ICC International Culinary Center จึงนำความรู้ที่ได้รับมาตลอด 6 เดือน มาใช้ในสนามชีวิตบ้าง ดังนั้น ตลอดระยะเวลา1 ปี คุณหนูเชอร์รี่ จึงต้องแปลงกายไปเป็นแจ๋วหน้าใส รับจ้างทำงานที่ร้านอาหารทั้งในนิวยอร์กและอลาสก้า เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับตัวเอง

“พอเรียนจบหลักสูตรการทำอาหาร ก็ไปสมัครทำงานร้านอาหารมิชลินอยู่ 2 ร้าน ที่แรกคือ นิวยอร์ก เข้างานตั้งแต่ 6 โมงเช้า เลิกงาน 4 โมงเย็น ทุกวัน ร้านนี้เรามีหน้าที่ทำ Appetizer อย่าง สลัดบาร์ ซึ่งต้องทำประมาณวันละ 100 เซ็ตเป็นอย่างต่ำ ทำอยู่ 4 เดือน เริ่มรู้สึกว่าอยากพัฒนาฝีมือการทำอาหารให้มากกว่านี้ เพราะเราสนใจด้าน Fine Dining อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงหั่นผักแบบนี้ หรือทำไมต้องเอาวัตถุดิบอันนี้มาผสมกับสิ่งนี้ ก็เลยตัดสินใจไปเริ่มทำร้านอาหารอีกร้านที่อลาสก้าอีก 6 เดือน

ที่ร้านนี้ต้องเริ่มใหม่หมดเลย ตั้งแต่ล้างผัก นั่งเด็ดดอกไม้ เพื่อมาประดับอาหาร ต้องไปสวนด้านหลังร้านหรือสวนใกล้ๆ แถวนั้น เพื่อไปหาพืชหรือดอกไม้มาแต่งหน้าอาหาร แล้วก็จะมีช่วงหน้าหนาวดอกไม้ก็จะเริ่มตาย เราก็ต้องไปแสวงหาดอกไม้ หรือ สมุนไพรอย่างอื่นมาแทน บางทีไม่ใช่แค่ว่าเอาให้สวย แต่รสชาติก็ต้องเข้ากับอาหารด้วยอันนี้ก็จะเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง”


จากนั้นด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก และที่สหรัฐอเมริกาในขณะนั้นมีการแพร่ระบาดสูงมาก พรหมลิขิตจึงชักนำให้เธอเดินทางกลับมาสู่อ้อมอกของครอบครัวที่เมืองไทยอีกครั้ง หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กเพียงลำพังนานถึง 10 ปี

“ตอนที่โควิดระบาด นิวยอร์กได้รับผลกระทบหนักมาก ร้านอาหารถูกปิดหมดเลยทุกคนที่ออกไปทานอาหารที่ร้าน ก็เปลี่ยนมาทำอาหารทานเองที่บ้านแทน เราจึงกลับมาเมืองไทย และคุยกับผู้บริหารของเซ็นทรัลว่า พอจะมีประสบการณ์ด้านการทำอาหารอยู่บ้าง และด้วยสถานการณ์โควิด อาหารอย่างไรก็ไม่ตาย โดยเฉพาะ คนไทย ที่ซื้ออาหารนอกบ้านค่อนข้างเยอะ เพราะว่าซื้ออาหารอาจจะคุ้มกว่า และตอนนั้นร้านอาหารแบบ Ghost Kitchen ค่อนข้างมาแรง เราสามารถทำครัวที่ไหนก็ได้ เพื่อเสิร์ฟเป็นเดลิเวอรี่ให้กับลูกค้าได้

เราก็เลยเข้าไปช่วยตั้งแต่เซ็ตอัพร้าน ไปจนดูถึงกระบวนการการทำงานต่างๆ ก่อนจะข้ามไปดูแลแบรนด์อาริกาโตะ ซึ่งเป็นแบนด์เครื่องดื่มของ CRG อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาเดินหน้านั่งแท่นบริหารร้านไทย เทอเรส อย่างจริงจัง ในตำแหน่ง Head of brand เธอมุ่งมั่นต้องการให้ทุกคนรู้ว่าอาหารไทยไม่มีวันตาย

เธอเล่าถึงความผูกพันกับร้านอาหาร ที่มีมาอย่างยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษแห่งนี้ว่า “ตอนเด็กๆ หลังเลิกเรียน ระหว่างรอแม่ก็จะไปเดินเล่นในห้าง แล้วก็จะต้องเดินเข้าร้านอาหารเดอะเทอเรส (ชื่อเดิมของร้านไทย เทอเรส) แทบทุกวันเพื่อกินข้าวเย็น เมนูที่ชอบคือ มักกะโรนีผัดกุ้งหรือข้าวหน้าเป็ดร่อน ข้าวผัดซีอิ๊วห่อไข่ ฯลฯ พอมีโอกาส ก็เลยอยากมาลองทำร้านนี้ ให้คนทั่วไปได้กลับมานึกถึงแบรนด์นี้อีกครั้ง เหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก ตอนนี้ก็มีหน้าที่เข้ามาปรับให้ร้านไทย เทอเรส ที่มีมากกว่า 10 สาขา ให้ทันสมัยตามเทรนด์ร้านอาหารที่มีการปรับเปลี่ยนทุกสิบปีหรือห้าปี ทำให้คอนเซ็ปต์ของร้านแน่นขึ้น เพื่อตอกย้ำว่านี้คือ ร้านไทย เทอเรส และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของร้านคือ บรรยากาศอันเต็มไปด้วยความอบอุ่นสบายๆ เหมือนกำลังประทานอาหารอยู่ในบ้าน”


การทำงานทุกอย่างย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ต่างกับผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำงานเช่นกัน แต่เพราะมีคำแนะนำและคำสอนจากคุณพ่อคุณแม่ว่า ต้องขยันอดทน เพื่อผลลัพธ์ที่ตามมาจะยิ่งใหญ่เสมอ เธอจึงพยายามเอาชนะทุกความท้าทายทั้งหมดในการทำงาน ด้วยความขยันหมั่นเพียร

“คุณพ่อคุณแม่จะบอกเสมอว่า ทำให้ดีที่สุดแล้วก็ต้องขยันอดทน เพราะผลลัพธ์ที่ตามมาจะใหญ่กว่าตอนที่เราลงมือทำเป็นเท่าตัว ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลของความพยายามของเราบ้างแล้ว ในระหว่างที่ทำงาน เราก็จะมีโปรเจกต์ที่ต้องติดต่อกับคนมากมายทั้งในและนอกองค์กร ฉะนั้น เราต้องให้คำนะนำกับผู้อยู่ในบังคับบัญชา ซึ่งมีอยู่หลายช่วงวัยมากว่าต้องทำอะไรบ้าง ด้วยการสื่อสารอย่างถูกวิธี รวมไปถึงการวางแผนงานที่ชัดเจน และเมื่อสำเร็จทุกคนก็จะแฮปปี้กับผลลัพธ์ที่ได้”


เห็นเป็นคนมุ่งมั่นและจริงจังกับการทำงานขนาดนี้ แต่ความจริงแล้วสาวเชอร์รี่นั้นให้ความสำคัญกับความสมดุลของชีวิต ทั้งการงานและชีวิตส่วนตัวมากที่สุดคนหนึ่ง

“เป็นคนให้ความสำคัญกับเรื่องของเวิร์กไลฟ์บาลานซ์มากค่ะ โดยเฉพาะ ตอนย้ายกลับมาเมืองไทย เพราะตอนอยู่นิวยอร์กเราสามารถเดินไปได้ทุกที่ แต่พออยู่ที่เมืองไทยไม่สามารถเดินได้ เพราะสถานที่ที่จะไปไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เราต้องการ แต่ละที่มันไกลเกินกว่าที่เราจะเดิน มันต้องมีการวางแผนในสิ่งที่เราจะต้องเดิน พออยู่เมืองไทย ก็ต้องยอมนอนเร็วตื่นเช้า เพื่อเดินไปออกกำลังกายตอน7โมงเช้าที่สวนลุมพินี คาร์ดิโอให้ได้อาทิตย์ละ2-3 ครั้ง ก่อนจะอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน

นอกจากนี้ ก็จะบริหารกล้ามเนื้อด้วยการเล่นบอดี้เวท เพื่อให้มีกล้ามเนื้อที่กระชับ แล้วก็รับประทานอาหารที่ดี เพื่อให้สุขภาพดีจากภายในสู่ภายนอก เราต้องให้ความสมดุลกับชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เพื่อไม่ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในชีวิตหายไป เพราะถ้าขาดสิ่งใดไปจะทำให้พลังงานในร่างกายของเรามันลดน้อยลงไป”

อาจเพราะการใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กนานถึง 20 ปี จึงทำให้เชอร์รี่มีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง โดยเฉพาะ สไตล์การแต่งตัวที่โดดเด้งสะดุดตามาแต่ไกล

“เป็นคนแต่งตัวสไตล์หวานซ่อนเปรี้ยว เพราะเพื่อนๆ ชอบแซวว่า เราแต่งตัวฟุ้งฟิ้ง แต่ขณะเดียวกัน ก็จะแอบเซ็กซี่หน่อยๆ อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งเราอยู่นิวยอร์กมานาน จึงทำให้มีความเป็นตัวของตัวเองมากๆ ซึ่งที่นิวยอร์กมีหลายฤดูกาล ฉะนั้น การเลือกเนื้อผ้าจึงมีความหลากหลาย ซึ่งเป็นความท้าทายในการแต่งตัว เพื่อให้เราค้นหาสไตล์ที่เราชอบ” เชอร์รี่กล่าวปิดท้าย

Comments are closed.

Pin It