Event

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดทำ ชุดแบบอักษรพระราชทาน "จุฬาภรณ์ลิขิต" และหนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด “ศรีสวางควัฒน”

Pinterest LinkedIn Tumblr


เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 63 พรรษา ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ น้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ จึงจัดทำชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” (Chulabhorn Likit Font) และการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด “ศรีสวางควัฒน” เพื่อจารึกพระนามและพระเกียรติคุณในโลกดิจิทัล เผยแพร่พระประวัติ พระปรีชาสามารถและ พระกรณียกิจ รวมถึงเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศและเฉลิมพระอิสริยศักดิ์เป็น เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน ในพระราชพิธี บรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562


ชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต”

มีแนวคิดการออกแบบตัวอักษรจากดอกกล้วยไม้พันธุ์ Phalaenopsis “Princess Chulabhorn” ที่มีความงดงามอ่อนช้อย สร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากพระจริยวัตรอันงดงาม พระปรีชาและพระเกียรติคุณที่ทรงได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ ดังนี้


1. พระนาม กรมพระ “ศรีสวางควัฒน” แสดงถึงพระอุตสาหะในการบำเพ็ญพระกรณียกิจสำคัญอันดีเด่น โดยเฉพาะ ด้านการแพทย์ ด้วยพระนาม “ศรี” มีความหมาย เป็นมงคล ความเจริญ ความรุ่งเรือง “สวางค” แปลว่า ร่างกายที่ดี ได้รับการบำรุงเป็นอย่างดี และ “วัฒน” แปลว่า ความเจริญ ความงอกงาม อันเป็นที่มาแห่งตัวอักษรที่มีสัดส่วนสวยงาม สมบูรณ์แบบ

2. พระเกียรติคุณและรางวัลระดับนานาชาติ ที่ทรงได้รับอันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ecologist) รัฐบาลศรีลังกาได้น้อมเกล้าฯ ถวายกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Phalaenopsis “Rose Miva” กับ Phalaenopsis “Kandy Queen” เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศศรีลังกาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542 โดยขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามตั้งชื่อกล้วยไม้พันธุ์ใหม่นี้ว่า Phalaenopsis “Princess Chulabhorn” อันเป็นที่มาของตัวอักษรและการสร้างรูปทรงให้มีความงดงาม อ่อนช้อย เลียนแบบดอกและยอดอ่อนของกล้วยไม้พันธุ์นี้


3. โครงสร้างตัวอักษรเป็นแบบทางการ (Formality) โครงสร้างตัวอักษรเป็นแบบทางการ ถูกต้องตามมาตรฐานตัวอักษรภาษาไทย เป็นตัวมีหัว มีปากและส่วนประกอบถูกต้องตามอักขรวิธี ไม่มีการตกแต่งหรือเติมลวดลายมากจนเกินไป โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์และสืบทอดภาษาและตัวอักษรไทย เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

4. B = Benevolence หมายถึง พระเมตตา จากพระนามฯ ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์น้อมเกล้าฯ นำมาใช้เป็นค่านิยมขององค์กร หนึ่งในตัวอักษรคือ B แทนคำว่า Benevolence ที่แปลว่า ความเมตตา มาสร้างสรรค์โดยใส่ขอบมนลงในตัวอักษร เพื่อให้ได้แบบตัวอักษรที่มีความอ่อนโยน สื่อถึงพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมีต่อพสกนิกร ด้วยพระปณิธานแน่วแน่ในการเสริมสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมให้แก่ทรัพยากรบุคคลของไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา


ชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” เป็นชุดภาษาไทยแบบมีหัวและละติน 1 ตัวเลขไทย และแบบอักษรชุดภาษาอังกฤษ ตัวเลขอารบิก พร้อมให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดได้ ตั้งแต่บัดนี้ ที่เว็บไซต์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ https://www.cra.ac.th/


การจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติฯ

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระอิสริยยศและเฉลิมพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 อันเป็นพระเกียรติอย่างสูงยิ่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด “ศรีสวางควัฒน” และหนังสือ “กรมพระ” กรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้น ซึ่งนอกจากเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะเพื่อพสกนิกรชาวไทยแล้ว ยังเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเกี่ยวกับขัตติยโบราณราชประเพณีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์อีกด้วย หนังสือเฉลิมพระเกียรติฯ มีเนื้อหาทางวิชาการ พร้อมภาพประกอบที่สวยงาม โดยแบ่งเป็น


หนังสือชุด “ศรีสวางควัฒน” จำนวน 3 เล่ม บันทึกเหตุการณ์ ประมวลพระฉายาลักษณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพระบรมวงศานุวงศ์แห่งพระบรมราชจักรีด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย ตลอดจน พระประวัติและพระกรณียกิจ โดยเฉพาะ การทรงงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การแพทย์และสาธารณสุข ของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธาน ทรงงานตามรอยพระยุคลบาท รวมถึงการพระราชทานเผยแพร่องค์ความรู้และพระเมตตาในระดับนานาชาติ หนังสือชุดนี้จัดทำขึ้น 3 เล่ม ดังนี้

1. จุฬาภรณวลัยลักษณ์ เป็นพระประวัติของสมเด็จพระน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นพระกรณียกิจสำคัญที่ทรงสืบสานพระราชภารกิจของบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าและพระบรมวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

2. ศรีสวางควัฒน นำเสนอความเป็นมา ความสำเร็จของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หน่วยงานที่สนองงานใต้เบื้องพระบาท และได้รับพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

3. หนังสือ “กรมพระ” กรุงรัตนโกสินทร์ นำเสนอเกี่ยวกับการสถาปนาพระบรมวงศ์ ที่ “กรมพระ” ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเกี่ยวกับขัตติยโบราณราชประเพณี ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์


หนังสือเฉลิมพระเกียรติชุด “ศรีสวางควัฒน” และหนังสือ “กรมพระ” กรุงรัตนโกสินทร์ จัดพิมพ์จำนวนจำกัด สำหรับผู้ร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ชุด พิเศษรวม 4 เล่ม พร้อมกล่องกระดาษแข็งหุ้มกระดาษพิเศษ สำหรับผู้บริจาค 20,000 บาท ชุด “ศรีสวางควัฒน” ปกแข็ง 3 เล่ม พร้อมกล่องแข็ง สำหรับผู้บริจาค 10,000 บาท ปกอ่อน 3 เล่ม พร้อมกล่องอ่อน สำหรับผู้บริจาค 3,000 บาท หนังสือ “กรมพระ” กรุงรัตนโกสินทร์ ปกแข็ง สำหรับผู้บริจาค 3,000 บาท ปกอ่อน สำหรับผู้บริจาค 1,000 บาท

ร่วมบริจาคและสั่งจองได้ที่ มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โทรศัพท์ 0-2576-6100 ต่อ 8110

Comments are closed.

Pin It