Travel

ชวนเช็คอินท่องเที่ยววิถีไทยอีสานแบบดั้งเดิมที่ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ต้อนรับ “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” ขอแนะนำแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ในจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย แวะมาเช็คอิน พร้อมซึมซับวิถีชาวบ้านสมัยก่อนที่เรียบง่ายแบบมีสไตล์ นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ (Life Community Museum Bueng Kan) ณ หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต. หนองพันทา อ. โซ่พิสัย จ. บึงกาฬ หมู่บ้านเล็กๆ ของชุมชนที่เงียบสงบ

โดยบ้านเรือนไทยหลังนี้เป็นบ้านของครอบครัว ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ มาหลายรุ่นจนล่าสุด เมื่อลูกๆ หลานๆ แยกย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ จึงตัดสินใจนำบ้านเรือนไทยอีสานหลังนี้มาปรับปรุงให้เป็น พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต มุ่งหมายให้เยาวชนและเด็กๆ รุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของครอบครัวชาวอีสานในสมัยก่อน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักสาน เครื่องครัว เสื้อผ้า ที่แต่ละชิ้นเป็นของดั้งเดิมที่ผ่านการใช้งานจริงและถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดี ตามมุมห้องตกแต่งด้วยผ้าซิ่นไหมของบรรพบุรุษ ตกแต่งจัดวางในสไตล์ร่วมสมัย ถูกใจวัยรุ่นในยุคโซเชียลมีเดียที่สนุกกับการถ่ายรูป และเป็นผู้เชื่อมนำพาพ่อแม่ปู่ย่าตายายมาเยี่ยมชม สำหรับที่มาของการตั้งชื่อ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ” เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คุณพ่อยังพักอาศัยอยู่ชั้นล่าง แต่ชั้นบนได้ปรับเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าชมฟรี

สุทธิพงษ์ สุริยะ เล่าว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้นำศิลปะเข้ามาจัดการอย่างมีระบบ เพื่อให้เข้ากับวิถีเกษตรชุมชน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้คนมาเจอกันและมีรายได้เกื้อกูลกัน มีการเปิดตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรของชุมชน จุดเด่นของที่นี่ คือ “ศิลปะ” เรานำระบบงานออกแบบร่วมสมัยเข้ามาผสมผสานให้ดูสวยงามและมีอัตลักษณ์ของชุมชน ทำให้เกิดชุมชนเกื้อกูล บอกเล่าเรื่องวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมให้คนอยู่ใกล้ชิดและอบอุ่นกัน โดยมีแนวทางเกษตรเป็นตัวเชื่อมทำให้เกิดความยั่งยืน มีการเปิดตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรของชุมชน

ภายในมีพื้นที่โดยรอบบริเวณประมาณ 3 ไร่ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้


1.พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เรือนไม้อีสานเก่าแก่ อายุกว่า 60 ปี ที่นับวันจะหายไปตามกาลเวลา เราเล็งเห็นคุณค่าและต้องการอนุรักษ์ให้ลูกหลานอีสานได้ค้นคว้า ลักษณะโดยทั่วไปของบ้านอีสานจะมีระเบียงกว้างไว้สำหรับทำกิจกรรมส่วนรวม เมื่อเปิดประตูเข้าไปข้างในบ้าน จะมีห้องโถงกลางใหญ่ แบ่งเป็นห้องปีกซ้ายและปีกขวา ที่พิพิธภัณฑ์นี้ได้รับการปรับปรุงโดยนำดีไซน์ที่อิงธรรมชาติเข้ามาใช้ แต่ละห้องประดับประดาด้วยภาพขาวดำของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนชาวอีสานและชาวไทยทั้งปวง


ตามมุมห้องจะจัดแสดงและตกแต่งด้วยผ้าซิ่นไหมของบรรพบุรุษที่คนอีสานสมัยก่อนมักจะนุ่งผ้าซิ่นไหม นุ่งโสร่ง สวมใส่เสื้อสีขาวเข้าวัดกัน ให้ชม อีกฝั่งของบ้านที่เชื่อมติดกันก็จะมีครัวอีสานแบบสมัยก่อน ที่ปัจจุบันมักจะหลงเหลืออยู่น้อย ครัวที่นี่เรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์เหมือนครัวที่ใช้จริงเมื่อ 60 ปีก่อนทุกประการ มีข้าวของในครัวที่เคยใช้งานจริงจัดแสดงให้ดู ส่วนอีกฟากด้านหลังของห้องครัวได้ปรับเป็นมุมรับแขกโทนสีขาวเขียวและน้ำตาล ฉากแผ่นไม้สีน้ำตาลที่ผ่านการใช้งานมานาน ตัดกับสีเขียวของข้าวของที่ตกแต่งสมัยใหม่ เป็นการผสมผสานที่แตกต่างแต่ลงตัว ในตัวบ้านสมัยก่อน จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นประจำมีชาวบ้านมาร่วมวงด้วย พอจบพิธีก็ทานข้าวด้วยกันตามวิถีชีวิตคนอีสาน


“ภาพเหล่านี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดพวกเราญาติพี่น้อง ตระกูลสุริยะ ได้มาร่วมพิธีบายศรี ซึ่งทำจากใบตองและตกแต่งด้วยดอกดาวเรืองและดอกพุดตูมสีขาวซึ่งเป็นดอกไม้ที่คนอีสานนำไปไว้พระ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ ลูกหลานได้มาขอพรจากผู้ใหญ่ เป็นบรรยากาศที่หวนรำลึกถึงอดีตและมีคุณค่าต่อจิตใจ ทุกคนรู้สึกประทับใจยิ่งนัก” ขาบ-สุทธิพงษ์ กล่าว

2.Green Activity ลานอเนกประสงค์ติดกับพิพิธภัณฑ์ ที่มุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อสนับสนุนชุมชน การมีส่วนร่วมและสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ในเชิงบูรณาการแบบยั่งยืน เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนในท้องถิ่นนำอาชีพเสริม เช่น งานจักสาน งานผ้าทอ งานหัตถกรรม มาวางจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมชม ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดียิ่งขึ้น และยังสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ มาช่วยกันวาดภาพระบายสีตามจินตนาการ เพื่อช่วยกันเผยแพร่ชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยผลงานภาพวาดต่างๆ จะนำมาแขวนประดับตกแต่งให้นักท่องเที่ยวได้แวะมาชื่นชม รวมไปถึงการเปิดเวทีให้ศิลปิน นักออกแบบ และนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนผลงาน เป็นวิทยากรแนะนำการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยดีไซน์จากอาชีพของชุมชน เน้นบริการวิชาการแก่สังคม เพื่อร่วมมือกันพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน


3.ตลาดชุมชนพอเพียง ตั้งอยู่ในสวนยางพาราฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ ประดับด้วยโคมไฟสุ่มไก่ รายล้อมด้วยต้นยางพารา ช่วงเวลาบ่ายคล้อยอากาศกำลังดี ลมพัดเย็นสบายจะได้ยินเสียงกระดิ่งที่แขวนใต้ต้นยาง เหมือนเดินอยู่ในวัดคอยเตือนสติ จุดเด่นของตลาดคือ ภาพวาดศิลปะบนกำแพงสังกะสีผืนยาวที่นำเสนอเรื่องราวของวิถีผู้คนในชุมชนอีสาน สร้างสรรค์โดยศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นภาพของเด็กๆ ในหลายๆ อิริยาบถ อาทิ เด็กๆ ปิ้งข้าวจี่, กระโดดเล่นน้ำในคลอง, เลี้ยงไก่ชน, จับปลา, เลี้ยงควาย, ยิงหนังสติ๊ก นักท่องเที่ยวที่มาจ่ายตลาดก็มักจะมาถ่ายรูปด้วยทุกครั้ง

ทุกๆ วันเสาร์ จะมีตลาดชุมชนพอเพียง จำหน่ายอาหาร และพืชผลทางการเกษตรจากฝีมือชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มและก็ได้ออกมาพบปะกัน ทำให้สนุกสนานทั้งนักท่องเที่ยวและผู้คนในละแวก ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้เชิญชวนให้คนอีสานภาคภูมิใจในรากเหง้าบ้านเกิด โดยหันมานิยมสวมใส่ผ้าซิ่นไหมโบราณของตระกูล หรือโสร่ง และใส่เสื้อสีขาว ธีมเข้าวัดเข้าวา ซึ่งอาหารและขนมที่นำมาจำหน่ายจะเป็นอาหารอีสานท้องถิ่น เน้นพืชผักจากธรรมชาติเป็นหลัก ในบริเวณตลาดยังมีกิจกรรมกลางแจ้งของชุมชนร่วมกัน

4. ลานศิลปะ พื้นที่ต่อเนื่องกับตลาดชุมชนพอเพียง ยาวติดริมทุ่งนาทางโค้ง เน้นอัตลักษณ์สร้างสรรค์เพื่อความแข็งแรงและยั่งยืนของชุมชนที่สะท้อนออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ได้ปรับเป็นลานแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย นำจักรยานเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาทาสีม่วง สีประจำจังหวัด, สีเขียว สีประจำพิพิธภัณฑ์ ประดับธงแขวนที่ดัดแปลงจากผ้าขาวม้า ติดบนไม้ไผ่แบบในวัดอีสานที่คุ้นตากันเวลามีงานบุญ และปลูกไม้ดอกให้คนมาเที่ยวชม ทุกเย็นจะเห็นพระอาทิตย์ตกดินสวยงามมาก เด็กๆ ชอบมาปั่นจักรยานกันในยามเช้าก็จะมีพระออกเดินบิณฑบาตผ่านมาบริเวณลานศิลปะในช่วงจังหวะแสงพระอาทิตย์กำลังขึ้นเด่นสวยเป็นสีส้มโผล่จากทิวต้นไม้ในละแวก และจะมีกิจกรรมกับศิลปินรวมทั้งคนในชุมชนในช่วงหน้าหนาวหรือตอนเย็น เทศกาลปิ้งข้าวจี่และดูพระอาทิตย์ตกดินริมทุ่งนา

5. วัดโพธิ์ศรีมงคล วัดเล็กๆ อยู่ติดทุ่งนาที่แม่ของผมเคยไปถือศีลเป็นประจำ ห่างจากพิพิธภัณฑ์เพียง 20 เมตร มีพระจำพรรษาอยู่เพียง 5 รูปเท่านั้น ภายในมีศาลาอเนกประสงค์ไว้ทำกิจของสงฆ์ และกุฏิร้าง ที่ได้ให้บูรณะซ่อมแซมเพื่อเผยแพร่พุทธหัตถศิลป์อีสาน ให้นักท่องเที่ยวมาชมศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของผู้คนอีสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

ปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์ได้เดินหน้าจัดทำโครงการ “วาดบ้าน แปลงเมือง” วาดภาพเขียนสีตามบ้านเรือนในตรอกซอกซอยของหมู่บ้าน ประมาณ 50 หลังคาเรือน โดยได้ร่วมกับนักศึกษา และคณาจารย์ในหลักสูตร จิตรกรรมเพื่อสังคมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้เป็นหมู่บ้านอีสานต้นแบบภาพวาดศิลปะ เพื่อการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีโครงการท่องเที่ยว 1 วันในอำเภอโซ่พิสัย ซึ่งเป็นสถานที่รายล้อมด้วยธรรมะและธรรมชาติมากมาย เน้นคอนเซ็ปท์การออกค้นหาความสุขทางใจในรูปแบบ ธรรมะคือธรรมชาติ ซึ่งในแต่ละตำบลก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัดป่ามากมายอยู่แล้ว หนึ่งในนั้นคือ วัดป่าดานวิเวก หลวงปู่ทุย สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์เพียง 29 กิโลเมตร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน

สนใจเข้าชม พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ (Life Community Museum Bueng Kan) ได้ทุกวัน จันทร์-อาทิตย์ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ได้ฟรี สอบถามรายละเอียดและขอนัดเข้าชมได้ที่ คุณนริศรา วงศ์ภูมี (สุริยะ) โทร. 086-229 7629 FB : พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ (สามารถเดินทางโดย เครื่องบิน จากสนามบินอุดรธานี แล้วต่อรถอีกประมาณ 130 กิโลเมตร หรือ นั่งรถไฟจาก กรุงเทพฯ ลงที่ จ. หนองคาย แล้วต่อรถอีกประมาณ 80 กิโลเมตร)



Comments are closed.

Pin It