Travel

เสน่ห์ “มัณฑะเลย์” ราชธานีแห่งสุดท้ายของ “พม่า”

Pinterest LinkedIn Tumblr


 “มัณฑะเลย์” ราชธานีแห่งสุดท้ายของชาวพม่า เป็นเมืองอันดับต้นๆ ที่คนไทยนิยมไปทัวร์ไหว้พระ และเดี๋ยวนี้การเดินทางก็ไม่ได้ยากเหมือนเมื่อก่อน เพราะสายการบินของไทยเปิดเส้นทางเยือนที่นั่นกันอย่างคึกคัก และล่าสุด สายการบินบางกอก แอร์เวย์ ก็พาเราไปเยือนมัณฑะเลย์ในเวลาที่สบายๆ ไม่ต้องรีบร้อน ช่วงบ่ายนิดๆ หลังจากอิ่มหนำกับอาหารมื้อเที่ยงบนไฟล์ทแล้ว เราก็ถึงที่หมายกันโดยสวัสดิภาพ ภาพหนุ่มๆ เคี้ยวหมากนุ่งโสร่ง สาวๆ นุ่งผ้าซิ่นปะทานาคาบนใบหน้าทองอร่าม และยอดเจดีย์แทรกขึ้นตามภูเขาและร่มไม้ นั่นคงเป็นสิ่งการันตีได้ว่าเรามาถึง “พม่า” แล้ว
พระราชวังมัณฑะเลย์
“ไมค์” ไกด์หนุ่มชาวไทยใหญ่พูดภาษาไทยปร๋อ แถมยังการันตีว่าเขาติดอันดับ 1 ใน 3 ไกด์ยอดเยี่ยมในเว็บพันทิป อาสาพาเราเที่ยวมัณฑะเลย์ตลอดทริป เขาเล่าประวัติความเป็นมา และของเมืองให้ฟังตลอดระยะทางกว่า 1 ชั่วโมงจากสนามบินเข้าตัวเมือง ทำให้เราพอที่จะได้ข้อมูลคร่าวๆ ว่า พระเจ้ามินดง เป็นผู้สร้างราชธานีมัณฑะเลย์ และพระเจ้าธีบอ (พระโอรส) เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย ก่อนจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกอังกฤษจับตัวไปอยู่อินเดียและสิ้นพระชนม์ที่นั่น ส่วน พระราชวังมัณฑะเลย์ คือพระราชวังแห่งสุดท้ายที่ฝังอดีตอันโหดร้ายของราชวงศ์อลองพญาก่อนที่จะถูกอังกฤษเข้ายึดครองประเทศ
พระราชวังไม้สักที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่
กำแพงทับทิมไกลสุดสายตา ล้อมรอบด้วยคูน้ำขนาดใหญ่รอบพระราชวังทั้ง 4 ทิศ เป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ทำให้เรารู้ว่า ตลอด 150 ปี พระราชวังมัณฑะเลย์เคยเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมากแค่ไหน พระราชวังแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้ามินดง จนกระทั่งพระเจ้าธีบอได้ขึ้นครองราชย์ และอภิเษกสมรสกับพระนางสุภายาลัด ซึ่งพระนางมีบทบาทในการปกครองเป็นอย่างมาก ถึงขั้นเชื้อเชิญเหล่าราชวงศ์มาร่วมรับประทานอาหารแล้วสังหารทุกคนเพื่อป้องกันการก่อกบฏและแย่งบัลลังค์ของพระสวามี

ราชวงศ์สุดท้ายของพม่าสูญสิ้นอย่างโหดร้าย พร้อมๆ กับพระราชวังไม้สักทั้งหลังที่ถูกระเบิดจากอังกฤษ จนเหลือทิ้งไว้เพียงกำแพงเมืองและหอคอย ภายหลังรัฐบาลพม่าจึงสร้างขึ้นใหม่และให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมความสวยงามอีกครั้ง
รูปปั้นพระเจ้ามินดงและพระมเหสี
หอคอย สถาปัตยกรรมดั้งเดิม
แม้สถาปัตยกรรมสำคัญๆ จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แทบจะทุกแห่งในเมืองมัณฑะเลย์ แต่ยังมีสถาปัตยกรรมดั้งเดิมจริงๆ ที่หลงเหลืออยู่อีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ พระตำหนักไม้สักชเวนานดอร์ สร้างในสมัยพระเจ้ามินดง เมื่อปี พ.ศ. 2400 เป็นพระตำหนักที่สร้างจากไม้สักแกะสลักด้วยลวดลายพม่า ปิดด้วยแผ่นทองทั้งหลัง ต่อมาภายหลังพระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์จึงทรงยกตำหนักถวายเป็นวัดให้พระสงฆ์ได้มาศึกษาธรรมะ แม้ตอนนี้ภายนอกพระตำหนักจะไม่ปรากฏความแวววับของแผ่นทองแล้ว แต่หากลองถ่ายภาพด้วยแสงแฟลชภายในพระตำหนัก ภาพที่ออกมาช่างงดงามอร่ามตายิ่งนัก
พระตำหนักไม้สักชเวนานดอร์
ภายในถูกปิดทองอร่าม
ฝีมือของช่างแกะสลักชาวพม่าที่อ่อนช้อย
วัดกุโธดอร์
สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในมัณฑะเลย์ ที่นักท่องเที่ยวต้องไม่พลาดได้แก่ วัดกุโธดอร์ ซึ่งบรรจุพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนหินอ่อนกว่า 729 แผ่น และยังมีพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ ณ วัดแห่งนี้ด้วย

ส่วนตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดิน อย่าลืมแวะขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ของเมืองมัณฑะเลย์ ชมพระอาทิตย์ตกขอบฟ้าฝั่งแม่น้ำอิรวดี และร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ที่มัณฑะเลย์ฮิลล์ แม้เส้นทางจะคดเคี้ยวและต้องสละที่นั่งสบายๆ จากรถตู้แล้วนั่งสองแถวโขยกเขยกขึ้นไป แต่สองข้างทาง เรายังเห็นคนพม่าผู้มีศรัทธาแรงกล้า เดินเท้าขึ้นไปเพื่อสักการะพระพุทธรูปและพระบรมสารีริกธาตุ
พระไตรปิฎกตั้งเรียงรายรอบตัววัด
ไฮไลต์สำคัญของการเยือนมัณฑะเลย์ครั้งนี้ คือการเข้าร่วมพิธีล้างพระพักตร์ พระมหามัยยมุนี พระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ทรงเครื่องกษัตริย์ 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศพม่า ถูกหล่อขึ้นในกรุงยะไข่เมื่อปีพ.ศ.689 สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว และเป็นพระพุทธรูปที่รอดจากการทำลายจากสงครามโลก
พระหินอ่อนที่วัดมัณฑะเลย์จอกทอคยี
 ทุกๆ วัน เวลา 03.45 น. จะมีพิธีล้างพระพักตร์เพื่อเป็นการเคารพดั่งท่านมีชีวิตจริง โดยพิธีนั้นจะมีโยคีเป็นผู้สวดมนต์ และมีพระสงฆ์เพียงรูปเดียวที่ได้รับเลือกให้ทำพิธีนี้ ซึ่งผู้ที่ไปร่วมพิธีจะนำดอกไม้มาบูชา และต้องไม่ลืมเตรียมขวดน้ำใบเล็กๆ และผ้าเช็ดหน้ามาด้วย เพราะหลังจากพระสงฆ์ทำพิธีล้างและเช็ดพระพักตร์เสร็จ ทางวัดก็จะแจกจ่ายน้ำทานาคาผสมไม้จันทน์หอมที่ใช้ล้างพระพักตร์และผ้าเช็ดหน้าพระพักตร์ให้คนนำไปบูชาต่อที่บ้าน ส่วนผู้ชายสามารถเข้าไปปิดทององค์พระมหามัยยมุนีได้ ซึ่งภาพที่เราได้เห็นองค์พระนั้น ถูกปิดทองจนแทบจะมองไม่เห็นรูปร่างของพระเพลาหรือตักแล้ว
พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยยมุนี
ผู้ชายอนุญาตให้ขึ้นไปปิดทององค์พระได้
กุ้งแม่น้ำ
เที่ยวสถานที่ที่น่าสนใจแล้ว อย่าลืมแวะชิมเมนูที่น่าลิ้มลองของมัณฑะเลย์ด้วย “กุ้งแม่น้ำ” เมนูไฮไลต์ของร้านอาหารไทยส่วนใหญ่ที่นั่น แต่ถ้าอยากลิ้มลองฝีมือชาวหม่องจริงๆ ก็ต้องลองร้านข้างทาง และโดยเฉพาะเมนูน้ำผลไม้ ที่คนที่นี่นิยมไปนั่งหย่อนกายบนเก้าอี้ผ้าใบในช่วงบ่ายและช่วงเย็น นั่งจิบน้ำผลไม้โขลกด้วยแท่งสแตนเลสแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นเหมือนน้ำผลไม้ปั่นที่หวานชื่นใจ แถมยังมีกากผลไม้กรุบกริบเป็นของแถมในแก้ว
น้ำผลไม้ปั่นแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
เที่ยวกันเหนื่อยแล้ว ถึงเวลาต้องกลับเมืองไทย สาวๆ ที่อยากหน้าขาวใส อย่าลืมแวะซื้อทานาคา เพราะไกด์การันตีว่าสาวไทยและสาวเกาหลีนิยมกันสุดๆ ลูกอมถั่วตัด และชาสำเร็จรูปก็เป็นที่นิยมซื้อกลับมาเป็นของฝากให้คนที่บ้าน

Comments are closed.

Pin It