Lifestyle

ตำนานเสาไห้…เสียงร่ำไห้ของแผ่นดิน

Pinterest LinkedIn Tumblr


 
“บางคืนในแสงจันทร์สุกสกาว ซุงตะเคียนทองต้นนั้นก็ลอยขึ้นมา หมุนเคว้งคว้างอยู่ในกระแสน้ำ มีคนเห็นแม่นางยืนอยู่บนท่อนซุงนั้น เป็นสาวสวยน้อยนะแน่ง แต่ผิวพรรณซูบเซียวคล้ำหมอง เกศายาวรุ่ยร่ายยุ่งเหยิง ดวงเนตรชอกช้ำก่ำแดง สะอึกสะอื้นร่ำไห้ ปริเวทนาการมิรู้หยุดหย่อน ผู้คนเขาเห็นแม่นางชัดเจน…เขาเห็นแม้แต่หยดน้ำตาของแม่นาง”

ความรวดร้าวของ 'แม่ย่า' ดวงวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตย์ ณ ต้นตะเคียนทองอายุนับพันปี ซึ่ง แดนอรัญ แสงทอง ถ่ายทอดผ่าน 'ตำนานเสาไห้' ราวกับเครื่องฉายภาพยนตร์ที่ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นต้นธารอันเก่าคร่ำของมูลเหตุแห่งความระทมทุกข์นั้นได้อย่างแจ่มชัด เป็นความเศร้าโศกสะเทือนใจที่ฉายชัดอย่างยิ่งในความรู้สึก ราวกับว่า ผู้อ่านอย่างเราได้อยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทุกๆ เหตุการณ์ที่ฝังลึกในความทรงจำของแม่ย่า

เป็นความทรงจำที่เก็บเกี่ยวทุกเรื่องราวบนแผ่นดินนี้ เป็นเสียงครวญจากดวงวิญญาณดวงหนึ่งที่ได้พบ ได้เห็น ผูกพันและรักมั่นต่อผู้คนและผืนแผ่นดิน ที่ตนได้ก่อกำเนิดและอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งมานานนับสิบศตวรรษ

ใครจะเรียกขานเยี่ยงไรก็ตาม หากสำหรับแม่ย่าแล้ว ผู้คนบนแผ่นดินนี้คือ 'ชนเผ่าไทย' ชนเผ่าที่ราชธานีของพวกเขานับแต่โบราณกาล ดุ่มเดินผันผ่านทั้งความเรืองรองรุ่งโรจน์และความตกต่ำล่มสลาย ก่อนฟื้นคืนกลับสู่ความเป็นราชอาณาจักรอันเกรียงไกรเพื่อเผชิญกับขวากหนาม และความตกต่ำอันหมุนวนเป็นวัฏจักรหลายครั้งหลายครา

 
“ได้เคยเห็นมหาราชพระองค์นั้น คาบพระแสงดาบปีนบันไดปล้นค่ายพม่า และถูกแทงพลัดตกลงมา…”

“ได้พบเห็นพระเจ้าเอกทัศน์ร่ำน้ำจันท์เมามาย ยังหมกไหม้ใฝ่ฝันอยู่กับกามรส แม้ในยามเสียงปืนใหญ่ของกองทัพพม่าที่รายล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่จะคำรนคำราม”

“ได้เห็นและจดจำไม่รู้ลืม ลางแห่งความวิบัติทั้งหลายว่าอยุธยาครั้งนั้น เต็มไปด้วยเสนียดจัญไร เหี้ยเข้าบ้าน ข้าวสารแตกตา ฝูงแมวเพ่นพ่านบนหลังคา ฝูงหมาเยี่ยมมองอยู่ตามหน้าต่าง แมงมุมตีอก จิ้งจกพลัดตกลงมาตาย ควายดำตกลูกเผือก แม่เป็ดฟักไข่ แม่ไก่ส่งเสียงขัน เสาเรือนตกน้ำมัน เห็ดขึ้นหัวเตาไฟ กล้วยออกปลีกลางต้น ผีสางผุดขึ้นจากหลุม เดินเหินเพ่นพ่าน แม้ในยามกลางวันแสกๆ…”

แต่ไม่ว่าผืนแผ่นดินของลูกหลานจะเรืองรองราวเมืองเทพยดาเสกสร้าง หรือต่ำเตี้ยราวผีห่ารุมทึ้งสาปแช่ง ถึงกระนั้น ความรักและความผูกพันที่ดวงวิญญาณของแม่ย่ามีต่อผืนแผ่นดินนี้ ก็ไม่เคยลดน้อยลงแม้สักนิด มีแต่จะเพิ่มพูนและมั่นคงไม่เสื่อมคลาย

“เขาเป็นส่วนหนึ่งของแม่นาง แม่นางเป็นส่วนหนึ่งของเขา มันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร มันเกิดขึ้นแต่ครั้งไหน แม่นางไม่รู้เลย รู้แต่เพียงว่ามันจะเป็นเช่นนั้นไปตราบนานเท่านาน ใจแม่นางมันผูกมันพันกับเขาลึกล้ำจนไถ่ถอนไม่ขึ้นเสียแล้ว ได้แต่ปวารณาตัวไว้ว่า ใช้หนี้เวรหนี้กรรมหมดสิ้นเมื่อใด ก็จะขอเกิดเป็นไทยอีก จะมาขอพึ่งใบบุญแม่โพสพสร้างชีวิตใหม่อีก จะขอพบพระพุทธศาสนาอีก จะขอพูดจาภาษาไทย เหมือนอย่างที่บรรพบุรุษหนึ่งพันชั่วโคตร ได้พูดจากันมานับพันนับหมื่นปีอีก…”

 
คือตำนานแห่งเสียงครวญไห้ของต้นตะเคียนทองอันเกลี้ยงกลมเงางามราวเทพสลักเสลา ที่สืบย้อนไปถึงความรักความผูกพันนับแต่ครั้งบรรพกาล ที่วิญญาณตะเคียนทองต้นหนึ่งมีต่อผู้คนบนผืนแผ่นดินหนึ่ง กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ต้นตะเคียนทองยอมพลีกายถวายชีวิต เพื่อลูกหลานและแผ่นดินเกิดได้นำไปสร้างบ้านแปงเมืองเชิดชูเป็นเสาหลักของราชธานีแห่งใหม่ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ทำให้ความตั้งใจมั่นของแม่ย่าไม่เป็นไปดังหวัง

จากตำนานเสียงร่ำไห้ที่ครวญคร่ำไปทั่วทั้งท้องน้ำป่าสัก จากเรื่องราวของต้นตะเคียนทองต้นงาม พร้อมหญิงสาวผมยาวสยายที่มักปรากฏให้เห็นในยามค่ำคืน ได้กลายเป็นรากฐานของเรื่องเล่าเล่มเล็กบางเล่มนี้ ที่ผู้เขียน-แดนอรัญ แสงทอง เสกสรรค์จรรโลงขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยผูกโยงเสียงร่ำไห้อันร้าวรานของแม่ย่าแห่งต้นตะเคียนทอง เข้ากับความรวดร้าวระทมทุกข์ของแผ่นดิน ทั้งถ่ายทอดความอิ่มเอมสุขล้นของดวงวิญญาณแม่ย่า ให้ผสานเข้ากับความสงบร่มเย็นของแผ่นดินไทย เมื่อครั้งเก่าก่อนได้อย่างอิ่มเต็มในอารมณ์

กล่าวได้ว่า 'ตำนานเสาไห้' คือตำนานปรัมปราที่ถ่ายทอด 'จิตวิญญาณของแผ่นดิน' ได้อย่างรื่นรมย์และน่าอัศจรรย์ สมดังน้ำคำของผู้เขียนที่ประกาศไว้อย่างอหังการว่า แม้แต่พญามัจจุราชยังชื่นชอบและชื่นชมผลงานเล่มนี้

และสำหรับผู้เขียนแล้ว คำบอกกล่าวของเขา ทำให้เรารู้สึกว่า เรื่องราวแม่ย่าที่ผูกผสานอยู่กับเรื่องเล่าของแผ่นดินและจิตวิญญาณบรรพชนเล่มนี้ คือความอิ่มเต็มที่ทำให้เขา…ตายตาหลับ

“ใครคนอื่นเขาจะเขียนถึงเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ใดๆ ก็ช่างเขาเถิด ฉันได้เขียน 'ตำนานเสาไห้' ของฉันไปเรียบร้อยแล้ว และฉันก็ได้เปล่งกระแสเสียงอันน่าสังเวชของฉันท้าทายนิรันดรภาพออกไปเรียบร้อยด้วยเช่นกัน…”

แดนอรัญ แสงทอง บอกกล่าวไว้เยี่ยงนั้น….

เรื่องโดย : ตัวหนอนบนกองหนังสือ
หมายเหตุ : ตำนานเสาไห้ เขียนโดย แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์หนึ่ง

Comments are closed.

Pin It