โดย..ฮักก้า
ฉลองอายุครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2552 ของ อ.พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก ศิลปินวาดภาพดอกไม้ผู้มีผลงานเก็บอยู่ในคอลเลคชั่นของนักสะสมมากมายและส่วนหนึ่งเคยผ่านตาเราในฐานะภาพประกอบของนิตยสารพลอยแกมเพชร
นอกจากปีนี้ ศิษย์เก่ารุ่น 2511 เช่นอาจารย์จะได้รับการเชิดชูเกียรติจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการเนรมิตพื้นที่หอศิลป์ กทม.ให้เป็นสวน(ภาพวาด)ดอกไม้แสดงผลงานชิ้นเอกของอาจารย์ และได้รับการคัดเลือกโดยสมาคมนิสิตเก่าสถาปัตย์ จุฬาฯ ให้เป็นนิสิตเก่าดีเด่น ยังเป็นฤกษ์ดีที่อาจารย์ได้คลอดหนังสือรวมผลงานเล่มล่าสุด Beauty in Bloom และมีภาระกิจทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาและช่วยเหลือสังคมในหลายทาง
“ภารกิจที่สำคัญสุดเลยตอนนี้ ผมเป็นเจ้าภาพในการออกแบบและจัดสร้างเครื่องทรงฤดูร้อนถวายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ซึ่งครูบาเทือง นาถสีโล วัดบ้านเด่น อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ท่านให้คนแกะ เป็นพระพุทธรูปหยกเขียว ปรางสมาธิ หน้าตักกว้าง 16 นิ้ว นามว่าพระพุทธศรีศากยะบารมี ผมรับหน้าที่หาคนออกแบบ และตอนนี้อยู่ในขั้นที่กำลังจะจัดวางพลอยอยู่”
พระพุทธรูปองค์นี้นี่เองที่ทำให้อาจารย์ตัดสินใจขายภาพดอกคูนสีชมพูกับภาพดอกบัวหลวงที่วาดขึ้นใหม่และตั้งใจจะนำไปจัดแสดงที่สหรัฐอเมริกา เพื่อนำเงินไปซื้อพลอยมาประดับองค์พระพุทธรูป ขณะเดียวกันอาจารย์ยังได้บริจาคเงินเพื่อใช้เป็นค่าทองสำหรับหุ้มดอกบัวตูมบนยอดพระธาตุลำปางหลวง อันเป็นเจดีย์ประจำปีฉลู
รวมถึงการวิ่งวุ่นอยู่กับการจัดทำหนังสือ 100 ปีอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จ.จันทบุรี ที่จะต้องมีแจกให้กับแขกผู้มีเกียรติและตัวแทนโป๊ป ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ และอาจารย์ยังรับหน้าที่เป็นผู้ปรับปรุงฐานศาลาเจ้าแม่กวนอิม ณ เกาะลอย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่ง เป็นบ้านเกิดของอาจารย์ ตลอดจนได้รับมอบหมายจากศิลปินแห่งชาติ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ให้เป็นผู้ทำหนังสือรวมเล่มผลงาน
“ตั้งใจว่าจะเริ่มทำต้นปี 53 แล้วหวังว่าจะให้เสร็จทันวันเกิดท่านกลางเดือนสิงหาคมปีหน้า ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ได้อย่างไร แต่เป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบที่รับปากว่าจะทำ”
ตลอดปีแซยิด แม้ อ.พันธุ์ศักดิ์จะ มีผลงานภาพวาดที่เกิดขึ้นใหม่เพียงสามชิ้นเท่านั้น แต่จำนวนน้อยชิ้นนี้ก็เป็นผลงานที่อาจารย์ได้ทุ่มเทสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ สมกับที่มีผู้รอชมผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งยังได้ใช้มันเพื่อทำประโยชน์แก่ศิลปวัฒนธรรมของชาติ
นอกจากภาพดอกคูนสีชมพูกับภาพดอกบัวหลวงที่ขายไป อีกภาพคือภาพมังคุดกับพวงชมพู ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในผลงาน 60 ชิ้นที่อาจารย์นำมาจัดแสดงสู่สายตาผู้ชมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ย่างเข้าวัย 60 ตัวเลขนี้อาจทำให้ใครหลายคนจิตใจห่อเหี่ยว และเตรียมที่จะหันหลังให้กับหลายๆสิ่ง ที่คิดอยากทำ แต่สำหรับอาจารย์แล้ว ในวัย 60 ยังดูเหมือน 16 เท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของใจ
“ใจมันเป็น 15-16 อยู่ทุกปี ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ และผมคิดว่าคนที่อยู่ในวัยเดียวกับผมเนี่ยใจก็ยังเป็นเด็ก ใจมันไม่แก่หรอกฮะ มันอาจจะรับรู้อะไรมากขึ้น แกร่งขึ้น แต่มันไม่แก่ สังขารเท่านั้นที่มันแก่ ดังนั้นเราจึงเข้าใจได้ว่าพอมาถึงวัยนี้แล้วทำไมผู้ใหญ่หลายคนยังดื้อ ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็เพราะใจมันไม่แก่ มันลืมสังขาร
สำหรับผมใจมันคนละขั้วกับสังขารเลย ยิ่งผ่านอะไรมามาก ใจมันยิ่งสู้ ใจมันยังเด็ก มันยังคึกคะนองนะฮะ แต่สังขารเท่านั้นแหล่ะ มันไปไม่ไหว พอไม่ไหวก็ต้อง อ้าว..กลับใจ(หัวเราะ)ต้องกลับใจว่า ไม่ทำดีกว่า ไม่ไปดีกว่า ไม่นั่นดีกว่า ไม่มีดีกว่า แต่ใจนี่มันอยาก มันเหมือนเด็กๆเลยฮะ”
วิธีการดูแลสุขภาพที่ทำให้คนวัย 60 เช่นอาจารย์ มีเรี่ยวแรงเหลือเฝือเพื่อทำงานที่ตัวเองรักและสิ่งต่างๆอีกมากกมายก็คือ
“ผมถือเป็นหลักตั้งแต่ต้นว่า ร่างกายจะต้องแข็งแรง พอร่างกายแข็งแรง จิตใจมันก็แข็งแรงนะฮะ แล้วมันก็มีแรงที่จะไปทำอะไรต่างๆทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ที่เรารับผิดชอบ แต่ละวันแต่ละวันได้อย่างเต็มที่ สุขภาพเนี่ยสำคัญที่สุด บางทีผมถึงต้องเข้าฟิตเนส เข้าอะไร แล้วก็ต้องดูแลสุขภาพตัวเอง แน่นอนที่สุด สิ่งที่ดูแลยากที่สุดก็คือสุขภาพตัวเอง เพราะมันมีสิ่งที่ทำให้เราละเลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารอร่อย หรือว่าขี้เกียจในการที่จะออกกำลังกาย เพราะสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บมันมีสองอย่างเลยก็คือ อาหารกับการที่ไม่ออกกำลังกาย ผมคิดว่าหมอที่ดีที่สุดก็คือตัวเราเองนะฮะ
คุณแม่ผมท่านเป็นคนอ้วน เวลาท่านไม่สบาย ต้องเข็นต้องยกจากเตียงเพื่อที่จะไปไอซียู พูดง่ายๆคือต้อง จับโยน ต้องหิ้วกันด้วยผู้ปูที่นอน โยนจากเตียงนึงไปอีกเตียงนึง ดังนั้นในชาตินี้ผมจึงปฏิญาณกับตัวเองว่าต้องไม่อ้วน ถ้าไม่อ้วน เราคงไม่ลำบาก ถึงยังไงแล้วการเกิดแก่เจ็บตายมันต้องมี แต่เราจะเจ็บยังไงไม่ให้มันลำบากมาก”
หลายปีมาแล้วที่อาจารย์ใช้บริการรถโดยสารเพื่อเดินทางกลับบ้านที่ชลบุรี และเลือกการเดินแทนการขับรถในเวลาต้องไปทำธุระใกล้ๆ
“การเดิน เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ผมโชคดีนะฮะที่รู้จักตัวเอง ผมเป็นคนไม่ขับรถ เพราะคนมีรถ ต้องใช้เวลาอยู่ในรถเยอะ มันจะมีประโยชน์กว่า ถ้าเราเอาเวลานั้นไปทำอย่างอื่น ไปออกกำลังกาย หรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพ”
อาจารย์เคยบอกเล่าแก่คนที่สนใจเข้าฟังการบรรยายเรื่องการวาดภาพดอกไม้ของอาจารย์ว่า การวาดภาพถือเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง และผลของสมาธิก็คือผลงานภาพวาดของอาจารย์นั่นเอง
“ครูบาเทืองท่านเคยบอกว่า มันเหมือนกับเราฝึกสมาธิ เพราะว่าใจเรามันจดจ่ออยู่กับสิ่งๆเดียว เวลาทำงาน สิ่งที่ต้องมีอีกอย่างสำหรับผมก็คือเพลงเท่านั้นแหล่ะนะฮะ เพลงที่เราโปรดเราก็ใส่ในไอพอตเอาไว้เปิดฟัง ยิ่งวาดภาพดอกไม้เนี่ย ผมว่ามันยิ่งเพลิน วาดภาพคนต้องมานั่งมองตาคน แต่ดอกไม้เนี่ยแหม เค้าสวย แล้วก็เหี่ยวไปตามธรรมชาติของเค้า ผมคิดว่าผมโชคดีที่มีความสุขและมีแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ง่ายๆ”
ไม่ช้าเกินไปหากใครคิดจะเริ่มฝึกวาดภาพในวัย 60 แต่ก็ใช่ว่าการวาดภาพจะเป็นทางเลือกเดียวที่น่าสนใจ อาจารย์พันธุ์ศักดิ์บอกว่ายังมีอีกหลายสิ่งในโลกนี้ที่เมื่ออยู่ใกล้ชิดแล้วทำให้ชีวิตมีความสุข
“ ทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข จะเล่นหมากรุก นั่งฟังเพลง อ่านหนังสือ เขียนจดหมาย หรือโทรศัพท์ถึงลูกหลาน ไม่จำเป็นต้องวาดภาพก็ได้ เพราะการวาดภาพมันต้องอาศัยอะไรอีกหลายอย่าง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆก็ลุกขึ้นมาวาด มันต้องมีอุปกรณ์ แล้วต้องคิดว่าจะวาดอะไร ทำอะไรแล้วรู้สึกดี ทำไปเถอะ อย่าไปหมกมุ่นกับสังขาร
จะเจ็บออดๆแอดๆ บ้างก็ช่างมัน ผมก็เป็น เราต้องก็เอาสิ่งที่ดีมาจรรโลงความคิดแล้วมันก็จะทำให้เราสบายใจ ถ้าเรามัวไปคิดในสิ่งที่ไม่ดี มันก็ขุ่นมัว ทำให้จิตตก ผมว่าการอธิฐานคือการวางแผนชีวิตนะฮะ อย่างน้อยๆ ขอให้วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุดของเรา และได้พบแต่สิ่งดีๆ ผมอธิฐานทุกเช้า ครูบาเทือง ท่านเป็นพระ ท่านตื่นมาท่านยังอธิฐาน เราก็ขอเอามาใช้บ้าง ง่ายนิดเดียว มันเป็นการตั้งจิตในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน”
เคล็ดลับนี้คนใกล้ 60 และแม้ยังห่างไกล ก็ล้วนแต่นำไปปรับใช้ได้
Comments are closed.