Art Eye View

ศิลปินทันสมัย วิชัย สิทธิรัตน์

Pinterest LinkedIn Tumblr


แม้วัยจะปาไป 64 ปี แต่ อ.โก้ หรือ รศ. วิชัย สิทธิรัตน์ ยังจัดเป็น “คนทันสมัย”

เพราะเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งนี้ อ.โก้ ได้กลายเป็น “ผู้ประสบภัย” เช่นกับใครหลายคน

หลายคืนมาแล้วที่ อ.โก้ จำต้องทิ้งบ้านอันแสนอบอุ่น ที่ หมู่บ้านชัยพฤกษ์ เลียบคลองทวีวัฒนา มาอาศัยอยู่ที่ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม แถมยังต้องหอบหิ้ว ภรรยา ลูกชาย และลูกสะใภ้ ลี้ภัยมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า

จึงทำให้ Artist in Residence สถานที่ซึ่งทางคณะฯจัดไว้รองรับศิลปินต่างชาติในยามที่ศิลปินเหล่านั้นต้องมาพำนักและสร้างงานศิลปะในประเทศไทย ต้องกลายเป็น “ศูนย์อพยพ” จำเป็น

เพราะนอกจาก 4 ชีวิตจากครอบครัว “สิทธิรัตน์” ยังมี ศิลปินและคณาจารย์อีกหลายท่าน ที่เรียงคิวมา Check in  กันถ้วนหน้า

“คลองทวีวัฒนา มันตัดกับ คลองมหาสวัสดิ์ สองคลองมันมารวมกัน บ้านผม ที่หมู่บ้านชัยพฤกษ์ อยู่ใกล้ประตูน้ำ ตอนแรกก็คิดว่าไม่เป็นไร คิดว่าน้ำตรงถนนในหมู่บ้านคงสูงแค่หน้าแข้ง และผมก็ได้ป้องกันโดนการเอากระสอบทรายมากั้นไว้รอบบ้านเป็นอย่างดีเลย คิดว่าถ้าน้ำสูงประมาณหัวเข่าคงรอด พอเอาเข้าจริงๆแล้ว ไม่รอด น้ำเข้ามาถึงกลางบ้าน พยายามใช้เครื่องสูบออก ในที่สุดสู้ไม่ได้ บอกตัวเองว่าถอยดีกว่า”



อาจารย์โก้เล่าถึงความทุลักทุเลในช่วงเวลาที่อพยพตัวเองและครอบครัวออกมาอยู่ในที่ปลอดภัยว่า

“ทางหมู่บ้านจัดเรือให้ออกมา เรือมาส่งถึง ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา ซึ่งมีน้ำท่วมอยู่แล้ว จากนั้นก็มาต่อรถของทหารที่มาช่วยรับส่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน นั่งรถทหารมาต่อรถอีกทีหน้าพุทธมณฑล ต้องเดินไปตามถนนอย่างพะรุงพะรัง ถือเป็นช่วงเวลาได้สัมผัสกับความลำบาก คนที่ใจดีเขาก็โบกมือเรียกให้ขึ้นรถเขา จะไปไหนคะ จะไปไหนครับ ผมบอก จะไปเพชรเกษม ไปต่อรถ เขาบอกขึ้นมาเลย หนูผ่าน ผมผ่าน ถ้าไม่เจอคนเหล่านั้น คงแย่ เพราะเดินหาแทกซี่อยู่นาน ก็ไม่มี”

อพยพออกจากบ้านมาตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2554 อ.โก้ บอกว่า สิ่งที่ทุกคนนำติดตัวมาได้มาเพียงเสื้อผ้าและเอกสารสำคัญๆ

แม้จะอยู่ในวัยที่ปลงกับเรื่องต่างๆได้มากแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าอดห่วงบรรดาทรัพย์สมบัตินอกกายไม่ได้

“นอกจากเป็นห่วงบ้าน ยังเป็นห่วงงานศิลปะที่เราทำ บางส่วนยังเป็นปาสเตอร์ เป็นงานต้นแบบอยู่เลย เป็นห่วงเฟอร์นิเจอร์ไม้อย่างดีที่ซื้อมา ถ้าแช่น้ำเป็นเดือน คงไม่มีเหลือ รวมทั้งของของสะสมเล็กๆน้อยๆ อย่างพระพุทธรูปและพระเครื่อง เสียดายเหมือนกัน ถ้าต้องถูกน้ำท่วมไป”
ตัวอย่างผลงานชื่อ จงเฝ้าดูจิต
ประติมากรผู้ชำนาญในการสร้างงานประติมากรรมแนวพุทธศิลป์เช่น อ.โก้ ซึ่งขณะนี้มีงานสำคัญที่ยังค้างคราอยู่ คืองานปั้นพระพุทธรูปให้กับ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา บอกเล่าว่า เหตุที่ทำให้ในที่สุดสามารถลดความตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ลงมาได้ เพราะสิ่งแรกที่นึกถึงคือ พระพุทธเจ้า

“นึกถึงพระก่อนเลย นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกสิ่งมันเป็นอนิจจัง สุดท้ายก็ไม่มีอะไรแล้ว พอน้ำมาแล้ว เดี๋ยวมันก็เริ่มเน่าเหม็น แล้วก็หมดไปอย่างที่เห็น

ผมคิดเสียว่ามันเป็นชะตากรรมของมนุษย์ที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดีที่ว่า ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าจมน้ำ ดีกว่าถูกไฟช็อต หนีมาได้ก็ดีแล้ว ได้มาพึ่งพาอาศัยแผ่นดินของพระพุทธศาสนาเริ่มแรก นั่นคือ จ.นครปฐม คงต้องอยู่ที่นี่ไปสักพัก จนกว่าน้ำจะลดจึงจะกลับไปได้”

ในเมื่อบ้านและสตูดิโอส่วนตัวถูกน้ำท่วม ส่งผลให้ทำงานศิลปะไม่ได้ชั่วคราว แทนที่จะปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์หรือนั่งตบยุงรอน้ำลดเพียงอย่างเดียว

ทราบว่าบางคืนที่ผ่านมา อ.โก้ ได้เปลี่ยนตัวเองจาก “ผู้ประสบภัย” ไปเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาน” ด้วยการนำ ผู้ประสบภัยหลายร้อยชีวิต ณ ศูนย์อพยพ ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม สวดมนต์ก่อนเข้านอนอีกด้วย

งานนี้ไม่ว่าจะต้องการเรียกสติให้ตัวเองไปพลางๆ หรือว่าเรียกสติให้คนอื่น ก็ล้วนแต่ต้องกล่าวคำว่า …อนุโมทนา สาธุ

Text by ฮักก้า
ตัวอย่างผลงานชื่อ Stop ณ ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ
ตัวอย่างผลงานชื่อ ระฆังแห่งพรหมวิหาร 4 ในงานราชพฤกษ์
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

 
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It