Art Eye View

ผมไม่ใช่ฮีโร่ของ “โรฮิงญา” สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีชั้นนำ ผู้ตามติดชนกลุ่มน้อยของพม่า ไปสุดขอบโลก

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW–พูดไม่คล่อง เขียนไม่เก่ง กล้องและภาพถ่าย จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารความจริงบางอย่าง ที่เขาคนนี้พบเห็น ไปสู่โลกภายนอก

“เนื่องจากภาพถ่ายมันบิดเบือนความจริงได้น้อยที่สุด สิ่งที่อยู่ในภาพ มันคือสิ่งที่เราเห็น แล้วเราถ่ายถอดออกมา โอเค ..บางคนที่เขาถ่ายภาพไปในเชิงศิลปะก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ่ายภาพในเชิงสารคดี เราต้องพยายามที่จะเก็บความเป็นจริงให้มากที่สุด เพื่อสื่อสารให้คนได้เห็นว่า โลกหรือสิ่งที่เราเห็นมันเป็นอย่างไร”


เขาคือ สุเทพ กฤษณาวารินทร์ หนึ่งในช่างภาพสารคดีชั้นนำของเมืองไทย ผู้เคยมีผลงานตีพิมพ์ใน The New York Times, International Herald Tribune,National Geographic Thailand,Geographical,Aera,Japan Times,Geo,National Geographic Adventure

เป็นผู้ฝึกสอนชาวเอเชียเพียงคนเดียว ที่ฝึกสอนช่างภาพเอเชียรุ่นใหม่ ณ Angkor Photography Festival ,เป็นเจ้าของรางวัลระดับนานาชาติ หลายรางวัล จากภาพถ่ายชีวิตของคนหาปลาที่ต้องทำมาหากินอยู่กับความเสี่ยง บริเวณริมแม่น้ำโขง และความเดือดร้อนของผู้คน หลังพายุไซโคลนนากีส ถล่มพม่า

ล่าสุดสารคดีและภาพถ่ายชุด “โรฮิงญา…บนเส้นทางสุดขอบโลก” นำเราไปรับรู้ถึงชีวิตที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของ ชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่มีถิ่นฐานอยู่ในรัฐอารกันหรือยะไข่ของพม่า ผู้ที่รัฐบาลพม่าและยะไข่อ้างว่าเป็นชาวบังคลาเทศที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในสมัยอาณานิคมอังกฤษ ขณะที่ชาวโรฮิงญายืนยันว่าพวกเขามีประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่ที่นี่มาเป็นพันปีแล้ว

ความเป็นมาที่ไม่ชัดเจนเป็นเหตุที่ทำให้โรฮิงญาเกิดความทุกข์เข็นเช่นทุกวันนี้ รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับพวกเขาเป็นหนึ่งใน 135 ชนเผ่าของพม่า รวมทั้งได้สร้างกฎเกณฑ์และริดรอนสิทธิต่างๆเพื่อบีบให้พวกเขาออกไปอยู่นอกประเทศ

ความสนใจที่มีต่อชาวโรฮิงญา ยามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ หลังการศึกษาข้อมูลของชนกลุ่นน้อยเหล่านี้มากขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้ สุเทพออกเดินทางไปตามติดชีวิตของชาวโรฮิงญา ผู้มีชีวิตที่ต้องดิ้นรนหนีเพื่อเอาตัวรอดอยู่ตลอดเวลา และไม่มีประเทศไหนในโลกยอมรับว่า พวกเขาเป็นประชากรของตน

“แรกเริ่มผมก็เหมือนกับคนไทยทั่วไปที่สนใจเรื่องราวของโรฮิงญา จากข่าว บางรู้ว่าพวกเขาล่องเรือมาทางภาคใต้ แล้วก็ถูกจับ แล้วเริ่มสนใจว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน ทำไมเขาต้องมา และต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนมาเพื่ออะไรกันแน่

พอเริ่มสนใจก็เลยเริ่มศึกษาค้นคว้า รวมถึงได้รับรู้ข้อมูลจากองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่อง โรฮิงญา มากว่า 20 ปี ต่อมาเมื่อรู้ข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเห็นว่าเรื่องของโรฮิงญาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนประมาณ 3 ล้านคน ไม่มีสถานะของความเป็นมนุษย์อยู่เลย ไม่มีประเทศไหนต้องการ ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติไม่ได้ ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ มีแต่ความหวาดกลัว และไม่เคยไว้ใจใครเลย

ผมมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ควรมีการนำเสนอออกมาให้มันจริงจัง ไม่ใช่เป็นข่าวประเดี๋ยวประด๋าว อยากให้เกิดการแก้ปัญหา ถึงตอนนั้นไม่จำเป็นต้องมีประเทศไหนรับพวกเขาเป็นประชากรของประเทศของตัวเองก็ได้

เพียงแต่ให้โอกาสพวกเขาได้มีสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์เหมือนคนทั่วไป สามารถที่จะไปไหนมาไหนก็ได้ สิทธิที่จะมีบ้านอยู่ ไม่ใช่คน 3 ล้านคนไม่มีบ้านอยู่เลย และไปไหนก็เหมือนถูกคนเขาเห็นว่าเป็นขยะอยู่หน้าบ้าน ต้องปัดไปอีกบ้านหนึ่ง แล้วก็ปัดกันไปปัดกันมา”

เป็นระยะเวลา 3 ปี ที่สุเทพลงพื้นที่เพื่อไปตามติดชีวิตของชาวโรฮิงญา ใน 6 ประเทศ ได้แก่ พม่า,บังกลาเทศ,ไทย,มาเลเซีย,อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งต่างเป็นเส้นทางการหลบหนีของชาวโรฮิงญา ในปัจจุบัน

ทุกภาพที่ได้ติดกล้องกลับมา ล้วนเป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงความมีอยู่จริงและอยู่อย่างลำบาก ของคนเหล่านี้ รวมถึงเป็นภาพที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่เขา ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ตัวอย่างของช่วงเวลาระหว่างเขากับชาวโรฮิงญาที่จำไม่ลืม จนกลายเป็นที่มาของ “โรฮิงญา…บนเส้นทางสุดขอบโลก” ชื่อของภาพถ่ายและสารคดี ชุดนี้ ก็คือ

“มีชาวโรฮิงญาที่ทำงานร่วมกับผมที่มาเลเซีย เขาเป็นล่ามให้ผม และเราค่อนข้างที่จะสนิทกัน ตอนหลังเขาโทรมาหาผม ผมจึงรู้ว่าเขาได้ตัดสินใจหนีอีกครั้งเพราะมีตำรวจมาเลเซียตามล่าตัว ต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปถึงเกาะคริสมาสต์ ของออสเตรเลีย ใช้ชีวิตอยู่กลางมหาสมุทร ที่ไม่ใช่แผ่นดินใหญ่ ผมตามไปเห็นสภาพของเขา รู้สึกเศร้าใจ

เราคุยกันแบบติดตลก ทั้งที่เป็นเรื่องที่ตลกไม่ออก ถามเขาว่าคุณจะหนีไปถึงไหน เขาบอกไม่รู้สิ เพราะที่ผ่านมาเขาหนีมาแล้วตั้งแต่พม่า ไล่มายัง บังกลาเทศ ไทย มาเลเซีย ตามขบวนการนั้นขบวนการนี้ แล้วในที่สุดก็ผ่านอินโดนีเซีย แล้วมาถึงเกือบจะสุดขอบโลกที่ออสเตรเลีย คือถ้าหนีต่อไปอีก มันก็คือขั้วโลกใต้แล้ว ผมแซวเขาว่า ที่นั่นคุณอาจจะอยู่ได้ ไม่มีใครมาไล่คุณอีกแล้วล่ะ”

การทำงานภาพถ่ายและสารคดีชุดนี้ของสุเทพ ค่อนข้างจะมีความยากลำบากอยู่ไม่น้อย นอกจากการให้ความร่วมมือขององค์กรต่างๆที่มีอยู่จำนวนน้อยแล้ว ในส่วนของชาวโรฮิงญาเองก็ไม่กล้าที่จะให้ความร่วมมือเท่าไหร่ เพราะเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง แม้จะมีชาวโรฮิงญาจำนวนไม่น้อย มีความชื่นชมในตัวเขา ผู้เป็นดั่งฮีโร่ที่จะผลักดันพวกเขาเป็นสู่การมีสิทธิและเสรีภาพ เฉกเช่นประชากรคนอื่นๆ ในโลกใบเดียวกัน

“การทำงานภาพถ่ายชุดนี้ของผมค่อนข้างถูกจับตา ป่านนี้ไม่รู้ว่าติด BLACK LIST ไปกี่ประเทศ สำหรับพม่า ผมเชื่อว่าผมโดนแน่นอนอยู่แล้ว ทั้งที่จริงๆแล้วผมอยากจะบอกว่า ผมไม่ได้มีความไม่หวังดีกับประเทศไหน เพียงแต่คิดว่า คนโรฮิงญา ควรจะได้รับโอกาสที่จะเป็นมนุษย์เหมือนคนทั่วไปก็เท่านั้นเอง

ส่วนชาวโรฮิงญา ผมบอกพวกเขาเสมอว่า ไม่อยากให้พวกเขาคิดอย่างนั้น ทั้งที่มีหลายคนอีเมลมา โทรมา คิดว่าผมเป็นฮีโร่ แต่ผมบอกพวกเขาว่าไม่ใช่ ผมแค่เป็นจุดเริ่มต้นที่กระทุ้งให้องค์กรอื่นๆได้ทำงานต่อ ให้พวกเขาได้มีเวทีที่จะทำอะไรต่อไป ถ้ามากกว่าการเป็นช่างภาพ ผมคิดว่ามันจะเกินหน้าที่เกินไป และผมก็ไม่ได้มีความสามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ขนาดนั้น

เพราะว่าคนที่คุมนโยบายเป็นคนตัดสินใจ คนของรัฐเป็นคนตัดสินใจว่าควรจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร เป็นหน้าที่พวกเขา เราเป็นเพียงฝ่ายให้ข้อเท็จจริงกับเขา ให้ลองคิดอีกมุมมองหนึ่ง

อยากให้คิดในแง่ปกติสามัญว่าคนโรฮิงญาพวกนี้ก็คือมนุษย์ คุณเป็นคนพุทธพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร คุณก็น่าจะรู้อยู่แล้ว อยากให้คิดว่าคนพวกนี้เขาก็เป็นคนเหมือนกัน คุณควรจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร อย่ามาอ้างกฎหมายเรื่องความมั่นคงอะไร ไร้สาระ คนไม่มีบ้านที่จะอยู่สำคัญกว่า”

นอกจากเชื่อว่าผู้ที่ได้มีโอกาสชมภาพถ่ายและสารคดีชุดนี้ของตัวเองจะมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนมีความเห็นใจ ชาวโรฮิงญา มากขึ้น สุเทพยังฝากมาถึงผู้ชมชาวไทยด้วยว่า

“จริงๆอยากจะบอกว่าประเทศเราโชคดีแล้ว ที่เรามีประเทศตัวเองให้อยู่ มีอาหารการกิน และค่อนข้างสงบสุข ไม่เคยเป็นเมืองขึ้น ไม่เคยเป็นประเทศในอาณานิคมของใคร ขณะที่ชีวิตของคนบางคนน่าเศร้าขนาดไหน เขาเลือกเกิดไม่ได้ ต้องเกิดมาพบกับปัญหา”
 

ข่าวดีสำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรม …

ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2555 นอกจาก สารคดีและภาพถ่ายชุด “โรฮิงญา…บนเส้นทางสุดขอบโลก” จะถูกนำไปจัดแสดง ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประมาณ 1 สัปดาห์

ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2555 สุเทพ จะมีคิวทำการเวิร์คชอป “ถ่ายภาพสารคดี” ให้กับผู้สนใจ ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดของวันเวลาที่แน่นอนได้ทาง www.cameraeyes.net

Text by ฮักก้า Photo by วรงกรณ์ ดินไทย


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

>> อัปเดตข่าวในแวดวง สังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม ศิลปะ และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It