ART EYE VIEW–“กลองจะไม่ดังเอง ต้องมีคนตีถึงจะดัง ถ้ากลองดังเอง คือกลองอัปรีย์”
คือคำตอบส่วนหนึ่งของคำถามที่ว่า ชีวิตในวัย 67 ปีนี้ ของ ไสยาสน์ เสมาเงิน ได้รับคำตอบหรือยังว่า ชัดเจนในบทบาทไหนมากกว่ากัน ระหว่างการเป็น ช่างไม้ ,นักออกแบบ และศิลปิน
ที่ตอบเช่นนี้ก็เพราะเจ้าตัวอยากให้ สังคมเป็นผู้กำหนดคำนิยามกันเอาเอง เพราะหากให้นิยามตัวเองแล้ว เขาคงไม่สามารถเป็นอะไรได้มากกว่า “ไสยาสน์” ผู้ที่ชีวิตมีความเกี่ยวพันกับ “ไม้” มาตั้งแต่ลืมตาดูโลก จนกระทั่งปัจจุบัน
“ผมเกิดในกระด้ง อุแว้ๆออกจากท้องแม่มา แม่ไม่มีเปลให้นอน ก็เลยให้นอนในกระด้งไม้ไผ่ ส่วนไม้ฟืนที่แม่เอามาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการอยู่ไฟก็เป็นไม้ท่อนๆ”
ART EYE VIEW ไปพบปะและพูดคุยกับเขา ณ WORKSHOP ในหมู่บ้านพฤกษชาติ ถ.รามคำแหง 118 สถานที่สร้างงานประติมากรรมไม้ และผลิตเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้แบรนด์ Saiyart's Collection
หลังจากที่ทราบว่า เขาเพิ่งออกจากโรงพยาบาล และอาการเริ่มดีวันดีคืน แม้จะผ่านช่วงเวลาของการรักษาหัวใจมาแล้วอย่างโชกโชน ทั้งการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ ,ผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ และล่าสุด ฝังเครื่อง ราคาร่วมล้านเพื่อช่วยกระตุ้นหัวใจ
“ตอนนี้เพิ่งดีขึ้น ที่ผ่านมา งานหลายๆ งานก็เลยไม่ได้ไป งานเปิดหอศิลป์ของ คุณบุญชัย(เบญจรงคกุล) ก็ไม่ได้ไป เพราะตอนนั้นยังนอนอยู่โรงพยาบาล อยู่ในระยะผ่าตัด คุยกับคนแค่ 10 นาที ผมยังคุยไม่ไหวเลย
เมื่อ 2- 3 อาทิตย์ก่อน ก็มีงานต้องไปบรรยายที่ อ.สูงเม่น จ.แพร่ เกี่ยวกับไม้ พยายามไปพูดให้ชาวบ้านเค้าอย่าตัดไม้ทำลายป่า ใช้ไม้ให้เป็นประโยชน์”
ใช่แล้ว ผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของไสยาสน์จำนวนไม่น้อยชิ้น ถูกซื้อไปสะสมอยู่ในคอลเลกชั่นของ MOCA BANGKOK หรือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย มูลค่าพันๆล้าน ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานของอดีตเจ้าพ่อดีแทค
และล่าสุด ประติมากรรมชิ้นเล็กชิ้นน้อยของเขาก็ กำลังจะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่ง โรงแรมที่ให้ความสำคัญกับศิลปะและงานออกแบบอย่าง โรงแรมโซฟิเทล โซ แบ็งค็อก (Sofitel So Bangkok Hotel) และโรงแรมเปิดใหม่อีกบางแห่ง
“จริงๆแล้วผมน่าจะเกษียณไปนานแล้ว แต่ผมบอกเลยว่าสิ่งที่ผมทำอยู่เป็นความสุข เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ตอนนี้ที่สุขภาพผมดีขึ้น ก็เพราะว่าผมยังคิดตลอด ยิ่งรู้ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นมันมีคุณค่า คิดออกมาแล้วมีเราชื่นชม แล้วเมื่อยิ่งขายได้ด้วยก็ยิ่งดีไปใหญ่ ผมจึงไม่ได้ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์เหมือนคนแก่ทั่วไป”
คือบทสรุปของความสุข ของชีวิต ณ วันนี้ของช่างไม้ ,นักออกแบบ และศิลปิน ผู้ไม่เคยผ่านการศึกษาศิลปะจากรั้วสถาบันใด ทว่าเรียนจบมาทางด้านเขียนแบบก่อสร้าง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย
แต่ประสบการณ์จากการลงมือทำจริงและการได้ไปเรียนรู้งานไม้ ทั้งในแผ่นดินเกิด, ประเทศเพื่อนบ้าน,ยุโรป และตะวันออกกลาง อีก 5 ประเทศ ทำให้เขาได้รับยกย่องว่าเป็น “กูรูไม้” ในที่สุด อีกทั้งเคยได้รับการยกย่องจากสังคม ในฐานะ ศิลปินศิลปาธรกิตติคุณ สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2551
การไปพบปะพูดคุยกับไสยาสน์ในครั้งนี้ นอกจากจะได้ทราบว่า กูรู้ไม้ท่านนี้ยังมีพลังใจล้นเหลือ ต่อการขับเคลื่อนงานหลายๆอย่างที่เคยทำตอ่ไป ทั้งงานสร้างสรรค์ประติมากรรม,งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และงานบรรยายให้ความรู้กับนักศึกษาตามรั้วมหาวิทยาลัย
ยังได้ทราบว่า เขาได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปเพื่อการฝึกฝน และสร้างอาชีพช่างไม้ ที่ยามนี้ต้องใช้คำว่า ใกล้ “สูญพันธุ์” ไปจากประเทศไทย ซึ่งคนที่มาฝึก ส่วนใหญ่เป็นช่างพื้นบ้านจาก อยุธยา, ลพบุรี และนครพนม
“ผมพูดเรื่องนี้แล้วเจ็บปวดมาก ช่างไม้โดนดูถูกดูแคลนตั้งแต่โบราณแล้วว่า เป็นกรรมกร แต่หารู้ไม่ว่า ช่างไม้ในเมืองนอกนั้น เขายกย่องว่าเป็นคนที่มีฝีมือ สร้างบ้าน สร้างอะไรมากมาย
ตอนนี้บ้านเราหาช่างไม้แทบไม่ได้เลย ประตูพัง ห้องนอนพัง เตียงพัง ไปเรียกหาช่างไม้ 1-2 อาทิตย์ ไม่มีใครทำ
ก่อนหน้านี้ผมเคยพูดว่า ถ้า อองซาน ซูจี ไปได้ตลอดรอดฝั่ง คนพม่ากลับบ้านหมด เพราะตอนนี้ที่เมืองไทย มีแต่ช่างพม่าเป็นส่วนใหญ่ และมีเป็นล้าน”
และอีกมุมหนึ่งเขากำลังมีความสุขไปกับการสร้างสรรค์งานประติมากรรมชิ้นเล็กประเภท Table Top ที่หวังใจว่าอาจสามารถเปลี่ยนค่านิยมของเศรษฐีเมืองไทยที่ชอบหิ้วตุ๊กตาราคาแพงจากเมืองนอก มาประดับบ้าน
“เคยทำงานใหญ่ๆมาเยอะ ทั้งงานเฟอร์นิเจอร์และงานประติมากรรม แต่งานนี้ เป็นงานประติมากรรมตั้งโต๊ะ เป็น Mini Sculpture เรียก Table Top ที่เมืองไทยไม่ค่อยจะมีใครเข้าใจมาก เพราะไม่ค่อยมีคนทำ แทบจะไม่มีเลย
ผมริเริ่มมา 2-3 ปีแล้ว เวลาไปยุโรป เห็นเขาชอบตั้งตกแต่งบนโต๊ะ บนอะไร หรือ เวลาไปบ้านคนใหญ่ๆ โตๆ เขาชอบซื้อตุ๊กตาแพงมาก มาจากเมืองนอก มาตกแต่งบ้าน แล้วก็ชื่นชมกัน จึงลองคิดทำดู เพราะวัตถุดิบในบ้านเรามีมหาศาล ที่สามารถสร้างมูลค่าได้”
กระทะทอดปลาบนเตาไฟ,มนุษย์อวกาศ ,กระเหรี่ยงคอยาว,เงาะป่า,ลูกดิ่งของควาามรัก,มนุษย์บ้างาน ฯลฯ ล้วนแต่เป็นงานประติมากรรมชิ้นเล็กที่ถูกนำเสนอในรูปแบบ Semi Abstract และยังอยากให้ผู้ชมได้สัมผัสถึง มิติที่ 4 ของชิ้นงาน ดังเช่นงานทุกชิ้นที่เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้ นั่นคือมี “กาลเวลา และ เรื่องราว” เข้ามาเกี่ยวข้อง
ไสยาสน์ได้ลองยกตัวอย่างชิ้นงาน ลูกดิ่งของความรัก มาอธิบายให้ฟังถึงมิติที่ 4 ที่อยากให้ผู้ชมมองเห็นว่า
“งานชิ้นนี้มีลูกดิ่งอยู่ด้วย แสดงถึง คน 2 คนต้องใจตรงกัน ถึงจะอยู่ด้วยกันได้ แล้วลูกดิ่งอันนี้จะดิ่งทุกวันไม่ได้ เหมือนคู่รักที่มันจะรักกันทุกวันได้ไหม มันต้องมีบางวันสิที่ลูกดิ่งมันต้องแกว่งบ้าง
เหมือนหัวใจที่มันต้องมีแกว่งและทำไม่ถูกต้องบ้าง แต่สุดท้ายคุณต้องอยู่ในกรอบของความรัก ความซื่อสัตย์ เท่านั้นเอง
ตอนผมป่วย ผมก็ให้ลูกสาวคอยเช็คว่ามีคนมาเยี่ยมผมกี่คน แล้วผมก็ให้เอางานชิ้นนี้ไปตอบแทนเค้า”
แม้จะยังไม่มีกำหนดการณ์นำไปจัดแสดงที่ไหน แต่ได้ตั้งชื่อชุดของงานเหล่านี้ไว้แล้วว่า “ความรัก ความผูกพัน”
เขาบอกถึงเหตุผล พร้อมรอยยิ้มว่า “เราอาจจะใกล้ตายแล้วมั้ง”
ขณะที่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งได้กลายเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ยังคงทำงานตามหน้าที่ของมันอย่างสม่ำเสมอ
Text by ฮักก้า Photo by อดิศร ฉาบสูงเนิน
>>หนึ่งเสียงของคุณมีความหมาย ใครคือศิลปินไทย ที่คุณชื่นชอบ ใน “ชีวิต” และ “ผลงาน”<<
Comments are closed.