Art Eye View

รู้จัก เล้ง-ราชนิกร แก้วดี ให้มากกว่า แชมป์ “ไทยแลนด์ก็อตทาเล้นท์”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW —มากกว่าความประทับใจที่เราเคยได้รับจาก นิทานก่อนนอนเรื่อง “ลิลิตพระลอ ตอน ไก่แก้วสร้อยแสงแดง” ซึ่งนำเสนอผ่านการแสดง Aerial Acrobat หรือ กายกรรมผ้าสุดหวาดเสียว

 จนทำให้ เล้ง – ราชนิกร แก้วดี (TGT 11) คว้าแชมป์จากรายการ “ไทยแลนด์ ก็อตทาเลนต์ซีซัน 2 โดยเรโซนา แค่กล้า..ก็ชนะแล้ว” ไปเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมรับรางวัลเกือบ 10 ล้าน

วันนี้เรามาทำความรู้จักหนุ่มสกลนคร ลูกชาวนาคนนี้ ให้มากยิ่งขึ้น ว่าก่อนจะมาเป็นนักแสดงผู้เชี่ยวชาญจนสามารถนำเสนอโชว์ในขั้นที่เจ้าตัวต้องบอกว่า

“โชว์วันนี้ ต้องอาศัยความกล้าและความมั่นใจ เพราะถ้าอะไรผิดพลาดขึ้นมา นั่นหมายถึงชีวิตของผม”

และเป็นแชมป์ที่คนทั่วประเทศเทคะแนนให้มากที่สุดนั้น เขาเป็นใครมาจากไหน ผ่านการฝึกฝนอะไรมาบ้าง และหนักแค่ไหน

>>>อดีตนักศึกษาฝึกงานเอกสาร เข้าตาครูการแสดง

เล้งจบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาวิชาบริหารการตลาด จากสถาบันเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จากนั้นเข้ากรุงเทพ มาศึกษาต่อ ในระดับปริญญาบัตร หลักสูตร 2 ปี ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพณิชยการพระนคร

อาจเคยเรียนเต้นบอลลูม เต้นลาติน และลีลาส ในโรงเรียนมาบ้าง แต่ช่วงเวลาที่ทำให้เขาได้เรียนรู้และฝึกฝนด้านการแสดงอย่างแท้จริง ก็เมื่อตัดสินใจเข้ามาฝึกงานด้านเอกสาร ที่ภัทราวดีเธียเตอร์

“ไม่รู้จะไปฝึกงานที่ไหน แต่มีรุ่นพี่ซึ่งเป็นเพื่อนของพี่สาวเขาทำงานที่นี่ ฝากให้ให้มาฝึกงานที่นี่ เล้งมากับเพื่อนอีก3คน เพื่อฝึกงานเอกสารอย่างเดียว”

นั่นคือจุดเริ่มต้นในอดีตเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมาของเล้ง

“ฝึกงานใกล้เสร็จ แล้วทางภัทราวดีฯ มีคลาส Contemporary Dance ซึ่งจัดขึ้นในช่วงซัมเมอร์ของทุกปี ครูมั่ม (สิริธร ศรีชลาคม) เขาก็เลยให้เราไปลองเต้นดู จนได้ไปเต้นข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าเต้นดีหรือไม่ดี แต่พอเขาเห็นถึงความพยายาม เห็นความตั้งใจ และ Skill ที่พอมีบ้าง จากนั้นก็ให้มาร่วมเต้นในโชว์

จนครู (ภัทราวดี มีชูธน)เขาเริ่มเห็น และแปลกใจว่าเด็กคนนี้เป็นใคร แต่ยังไม่ค่อยได้ให้ความสนใจอะไร

พอฝึกงานเสร็จปุ๊บ พี่จุ๋ม (ครูจุ๋ม-อมตา ปิยะวานิชย์) ซึ่งตอนนั้นกำลังทำละครธรรมะวันอาทิตย์ โทรศัพท์มาถามว่าว่างไหม มาเล่นละครกันหน่อย ซึ่งเล้งเองรู้สึกว่า เล่นละครเหรอ บ้าเหรอ ไม่เคยเล่นละครเลย ไม่เคยเรียนแอคติ้งเลย จะเล่นละครได้ไง แต่พี่จุ๋มก็บอก มาเถอะน่า มาช่วยกัน พี่จะสอนให้

จากนั้นพี่จุ๋มกับ พี่เอ (ครูอีกคน)ก็เป็นครูสอนมาตลอด สอนแอคติ้ง แล้วก็เริ่มเล่นละครธรรมะวันอาทิตย์ เล่นเป็นตัวเอกด้วยฮะ จนครู (ภัทราวดี) เลยเริ่มสงสัยว่าเด็กคนนี้เป็นใครวะ ใช้ได้ แต่ต้องฝึกอีกเยอะ จากนั้นครูก็เลยเริ่มฝึกผม

ต้องฝึกเยอะมาก ตั้งแต่ร้องเพลง เรียนแอคติ้ง เรียนเต้นใหม่ ทั้ง Body Movement ทั้ง Contemporary Dance เรียนบัลเล่ต์ เรียนทุกอย่าง ต้องฝึกใหม่หมดเลย

ตอนนั้นยังต้องไปเรียนหนังสืออยู่ อยู่ปี 2 เรียนปวส. ต้องตื่นเช้าไปเรียนหนังสือตอนแปดโมง พอเลิกเรียนตอนบ่ายสองครึ่ง ก็ต้องไปเรียนเต้นลีลาสต่อที่ เพนนินซูล่าพลาซ่า จนถึงหกโมงเย็น จากนั้นก็ไปซ้อมละครที่ภัทราวดีฯ จนถึงเที่ยงคืน ทำอย่างนี้อยู่ปีหนึ่ง
 

พอเริ่มมีฝรั่งเข้ามาทำค่าย ที่ภัทราวดี เขาก็ให้ทุนเรียนกับเขา ซึ่งจะหลายค่าย ให้โอกาสเราเข้าไปเรียน พร้อมกับนักแสดงแลกเปลี่ยนที่มาจากต่างประเทศ

หลังจากทำค่ายเสร็จ เขามีโปรดักส์ชั่นหนึ่งทำละครเรื่อง Cat's Neck Ministry of Truth เป็นละครแนว Physical Theatre เหมือนกับ Danceนิดๆ จะไม่ค่อยพูดเยอะ เค้าก็เลือกเราเข้าไปร่วมเล่นด้วย จากจุดนั้นจึงค่อยเริ่มรู้สึกว่าเราเองก็มีอะไรพิเศษ อาจจะเป็นพรสวรรค์หรือว่าอะไรก็ไม่รู้ ที่ทำให้เค้าเลือกเรา”

>>>มานพ มีจำรัส บุคคลต้นแบบ

แต่เป้าหมายที่จะพาตัวเองไปสู่การเป็นอะไรให้ดีที่สุดของเล้งก็ยังไม่ชัดเจนนัก ทว่า มีบุคคลต้นแบบเป็นนักแสดงมากฝีมือท่านหนึ่ง

“ตอนนั้นมอง ครูนาย (มานพ มีจำรัส ศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง)ไว้ เพราะตอนนั้นเริ่มได้เรียนกับครูนาย อยากเป็นแบบครูนาย ซึ่งครูเขาก็เหมือนเรา ที่เริ่มมาจากการไม่มีอะไร เต่ท้ายที่สุดเขาก็กลายมาเป็นศิลปินที่ดี และยังมีครูอีกหลายๆคน อย่างครูเล็ก ครูมั่ม ที่เขาจะให้คำแนะนำอยู่ตลอดเวลาว่า เราต้องทำอย่างนี้ๆต้องฝึกไปเรื่อยๆแต่ตอนนั้นเรายังเด็ก ยังไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัดว่าฉันจะมาเป็นศิลปินแบบนี้

แต่มันเริ่มมาจากความสนุก ความจริงใจที่จะทำ มันก็เลยต่อเนื่องสืบสานกันมา มันเลยเป็นสิ่งที่เราทำโดยไม่รู้สึกเบื่อ ไม่ได้คิดว่ามันเป็นงาน คิดแค่ว่า เรามีกิจกรรมให้ทำ และมีสังคม มากกว่าการจะไปไหนต่อไหนก็ไม่รู้”

>>> แรกรู้จัก กายกรรม

หลังจากที่เรียน Contemporary Dance เสร็จสิ้น และ ร่วมเล่นละครเรื่อง “ชาละวัน” กับ ภัทราวดีฯ อีกเรื่อง จากนั้นเล้งก็เริ่มได้มีโอกาสรู้จัก การแสดงที่เรียกกันว่า กายกรรม(Acrobat)
 
“มีครูญี่ปุ่น เข้ามาเวิร์คชอป Butoh Dance บนผ้า แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่า Acrobat คืออะไร ได้ร่วมเข้าเวิร์คชอป และครูนายก็เห็นว่ามันน่าสนใจนะ จึงบินตรงไปเรียนที่ฝรั่งเศส จากนั้นครูนายก็เอาครูกลับมาสอนอยู่ 15 วัน ทำให้เราได้เริ่มจัก Tissue ซึ่งเป็นเทคนิค หนึ่งของ Acrobat

ฝึกมาเรื่อยๆจนกระทั่งได้เจอครูจากแคนนาดาชื่อ เจมส์ ทานาเบ้ เขาเป็นคนที่มาช่วยต่อเติมในสิ่งที่เรามีอยู่ให้เป็นชิ้นงาน
 

เริ่มรู้ว่าอะไรคือ Acrobat และรู้แล้วว่าเราชอบอะไร นั่นคือ Acrobat เพราะมันเป็นการแสดงที่ค่อนข้างจะท้าทายและมีความเป็น Sport นิดนึง กระทั่งได้เริ่มออกแสดง ออกทัวร์ ตามที่ต่างๆ รวมถึงต่างประเทศ ที่เกาหลีบ้าง ไต้หวันบ้าง แล้วก็ได้รับเชิญไปแสดงที่แคนนาดาที่เมืองมัลเทรียล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้ไปเรียนกายกรรมต่อที่นั่น

เพราะตอนที่ไปแสดงที่มัลเทรียล ครูที่โรงเรียนการแสดงโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับที่เจมส์จบมา มาดูการแสดง เขาเชิญให้เราไปออดิชั่น เชิญไปเรียนและให้ทุนเรียน ซึ่งก็ได้ทั้งทุนจากเมืองไทยและรัฐบาลที่นู่นช่วยส่งด้วย”


>>>จากความทรมาน เปลี่ยนเป็นความหลงใหล

“ เรียนหนักมาก เรียกว่าจบปุ๊บสามารถเป็นโปรเฟสชั่นแนลได้เลย เรียนตั้งแต่แปดโมงครึ่งถึงสองทุ่ม มีช่วงเบรกสองถึงสามชั่วโมง แต่เรียนทุกวัน อาทิตย์สองอาทิตย์แรก ต้องคลานกลับที่พัก บ่นทุกวันเลย คลานขึ้นรถไฟ แล้วก็ร้องไห้ ถามตัวเองว่าทำไมเราต้องมาทรมานอะไรขนาดนี้(หัวเราะ ทำท่าประกอบ)

พอผ่านไปเดือนสองเดือนร่างกายก็เริ่มอยู่ตัว เริ่มแอคทีฟ อยากทำมากกว่าที่ทำอยู่ นอกจากเรียนจันทร์ถึงศุกร์ ยังหาวิธีที่จะไปเรียนศุกร์เสาร์อาทิตย์ต่อ ก็เลยไปหาโรงเรียนเพื่อลงเรียนคอร์ส เสาร์อาทิตย์ เรียนด้านกายกรรมนี่แหล่ะฮะ ไปนั่งรอโค้ชให้เค้าช่วยบรู๊ฟว่ายูมาเรียนได้แล้วนะ เพราะเค้าต้องคัดนักเรียนของเค้า ไปนั่งรออยู่สองสามวัน กระทั่งได้เรียนวันเสาร์ เพราะวันอาทิตย์นักเรียนเต็ม”

จากนั้นเล้งจึงกลับเมืองไทย เพื่อมาเล่นละครเรื่อง “ลิลิตพระลอ” ของภัทราวดี และอีกหลายเรื่องติดตามมา

“ เหตุผลหนึ่งที่กลับมาเพราะว่าคิดถึงบ้าน แต่ก็มีความมุ่งมั่นว่าเราอยากจะทำสิ่งที่เรารักด้วย อยากจะมีกลุ่ม ร่วมทำอะไรในภัทราวดีฯ นี่แหล่ะครับ เพราะยังไงเราก็เริ่มมาจากที่นี่ สอนน้องๆที่ได้ทุนต่อจากเรา”

ทุกวันนี้เล้งได้ปลดระวางตัวเองจากการเป็นครูสอนที่ภัทราวดีฯ เนื่องจากโรงละครปิดตัวไปแล้ว กระทั่งเราก็ได้เห็นเขามาปรากฎตัวผ่านรายการและเป็นที่รู้จักในฐานะแชมป์ในที่สุด


>>> CIRCUS ARTIST

กายกรรมผ้าสุดหวาดเสียวที่เขานำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์ เป็นการนำเสนอในฐานะ CIRCUS ARTIST

“เหมือนกับละครสัตว์ หรือเรียกว่า Acrobat Artist ก็ได้ หรือ Aerial Artist ก็ได้ Acrobat เป็นกายกรรม แต่ความหมายจะใกล้ๆกับยิมนาสติก

ยิมนาสติกเป็นเหลี่ยมแต่ Acrobat เป็นวงกลม คือไม่มีผิดไม่มีถูก ทำได้ทำไปเลย ดัดแปลงได้สารพัด

Acrobat สำหรับผมมันคือความสามารถของร่างกาย หรือว่าอะไรก็ตามที่มันฝึกแล้วมันสามารถไปต่อได้เรื่อยๆไม่มีวันจบ ไม่มีแบบแผน เป็นNew Circus ไม่ใช่ Tradition Circus”

โชว์ของเล้งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Strap ที่เป็นห่วงใช้มือสอดเข้าไปแล้วก็จับเชือกเส้นบางๆสองเส้น และTissue ที่เป็นการเล่นกับผ้า

“ผมยังมีโชว์ที่เล่นคู่กับคนอื่น เช่นเล่นกับผู้หญิงสองคน แต่ Tissue  จะหวาดเสียวมาก กว่า เป็นโชว์ซึ่งถือเป็นเดอะเบสของผมเลย เคยโชว์บ่อย และถ้าไปโชว์ที่เมืองนอก ก็เอา Tissue ไปโชว์ Tissue ผมเริ่มเรียนที่เมืองไทย ฝึกมาเรื่อยๆจนมันกลายเป็นงานของเรา

มีไปโชว์ตามงานอีเว้นต์ด้วย บางงานเขาก็จ้างเราให้ไปโชว์ในช่วงไฮไลท์ของงาน แล้วแต่งานและตรีมของงาน บางงานก็ให้โชว์เพื่อแสดงถึงความแข็งแรง สำหรับงานที่ต้องการพูดถึงเรื่องสุขภาพ ความแข็งแรง หรือความเจริญเติบโตของกิจการ มันสนุกตรงมันเปลี่ยนไปได้สารพัด ตามเพลง ตามความหมายของงาน”

>>>ค่าตัวขึ้นอยู่กับความเสี่ยง

เล้งจะคิดค่าตัว โดยดูจากราคาที่เป็นมาตฐานของทั่วโลก

“เพราะเล้งก็ไปเล่นอีเว้นต์ที่เมืองนอกด้วย เช่น ตุรกี เยอรมัน และประเทศอื่นในยุโรป ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง บางงานเขาก็จะมีประกันให้ บางงานก็ไม่มี เราก็ต้องชาร์ตเพิ่มเข้าไป คิดหมดทั้งค่าเวลาในการซ้อม รวมถึงการครีเอทสิ่งใหม่ขึ้นมา”

ค่าตัวที่มากที่สุดของเล้ง ก่อนหน้านี้ตกอยู่ประมาณ 35,000 – 40,000 บาท ต่อโชว์ แต่ไม่รู้ว่าจนถึงวันนี้ ในวันที่ชื่อเสียงของเขามีเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า ค่าตัวของเขาจะตกอยู่ในช่วงจำนวนใด

ทว่าเรารู้มาว่า ในทุกครั้งที่โชว์ของเขาจะเริ่มต้น เขาจะต้องรวบรวมสมาธิ ให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวมากที่สุด
 

“ต้องไหว้พระก่อน ต้องสวดมนต์ก่อนนิดนึง ท่องนะโมตัสสะก่อน3 รอบมันช่วยได้เยอะมากเลยฮะ การฝึกสมาธิ แม่ไก่( ศันสนีย์ ศีตะปันย์ เมอลเลอร์) ชอบถามว่าน้องเล้งทำยังไงถึงไม่ตก เล้งบอกว่า เล้งต้องมีสมาธิตลอดเวลาเลย ต้องมีเยอะจริงๆ ถึงจะอยู่ตรงนั้นได้

แม่ชี(ศันสนีย์ เสถียรสุต)ท่านก็บอกว่ามันคือความสด มันคือชีวิต เพราะว่าเราต้องอยู่ตรงนั้น เราต้องหายใจตรงนั้นทุกอย่าง ต้องรู้ตัวตลอดเวลา ต้องห่วงเรื่องชีวิตของเรา ต้องห่วงเรื่องท่า เรื่องเทคนิค เรื่องคุณภาพของโชว์ เรื่องอารมณ์ เรื่องความหมายที่จะสื่อผ่านโชว์ ต้องฟังเพลง เพื่อให้โชว์ของเราดำเนินไปพร้อมเพลง ต้องหลายอย่างมาก

แต่ เล้งไม่เคยเล่นซ้ำกันเลย เพราะว่าเล้งจะเอาความเป็นตัวเล้งเข้าไปอยู่ในโชว์ทุกครั้ง อย่างวันนั้นเล้งรู้สึกยังไง เล้งก็จะหายใจแบบนั้น เล่นแบบนั้น มันช่วยให้เราซึ่งเป็นผู้แสดงไม่รู้สึกน่าเบื่อกับงานเดิมๆ อย่างโชว์ผ้า มันต้องเล่นนาน เล่นบ่อยมาก เล่นไปเหอะ เล่นไปสิบปีก็ไม่เบื่อ ไม่มีวันเบื่อ จะโชว์กี่ครั้ง ทุกคนก็ยังดู เพราะว่าคนเล่นไม่รู้สึกเบื่อ ”

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail

Comments are closed.

Pin It