Art Eye View

“ลูบหัวตัวเอง ให้นึกถึงตอนเป็นพระ” คุณครูช่างภาพ “ครูกันต์ ขาวดำ”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ผิดจากที่คาดเดาไปนิดที่บุคคลซึ่งเรามีนัดพูดคุยด้วยสัปดาห์นี้ ไม่ได้ปรากฏตัวด้วยเสื้อผ้าในโทนสีขาวดำ ดังนามสกุลห้อยท้ายฉายาที่เขามีให้กับตัวเอง

แต่ไม่ผิดจากที่คาดหวังว่า เขาน่าจะเป็นอีกหนึ่งคนที่สามารถสะท้อนมุมมองทั้งในฐานะ “ครู” และ “ช่างภาพ” ผู้มีความหลงใหลในงานภาพถ่ายขาวดำได้ดี สำหรับ กันต์ สุสังกรกาญจน์ หรือ ครูกันต์ ขาวดำ

ช่วงเวลาที่บรรยากาศของ “วันครู” ยังไม่ทันจางหาย และสุดสัปดาห์ของการอวดงานศิลป์ประเภท “ภาพถ่าย” เรานึกถึงเขา

อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ รักการถ่ายภาพ

แรกเริ่มครูกันต์ไม่เรียนจบมาทางด้านถ่ายภาพ แต่เป็นอดีตนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ลงเรียนวิชาถ่ายภาพกับมืออาชีพ ระหว่างกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาการบริหารงานพาณิชย์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยบอสตัน รัฐแมตซาชูเซสต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

“ผมสนใจด้านการถ่ายภาพมาตั้งแต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัย ถ่ายมาเรื่อยๆ เหมือนกล้องเป็นของเล่นของเราชนิดหนึ่ง เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป

และที่บ้าน คุณพ่อ(วีระ สุสังกรกาญจน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน) จะเป็นคนที่ชอบถ่ายภาพ ลูกๆจะมีอัลบั้มภาพถ่ายของตัวเองซึ่งถ่ายโดยคุณพ่อคนละเล่มสองเล่ม

ตอนอยู่มหาวิทยาลัย ผมก็มักจะได้เห็นพี่สาว (กุล สุสังกรกาญจน์ )ซึ่งเรียนคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถ่ายและล้างอัดภาพถ่ายขาวดำให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ทำให้ผมประทับใจ และสนใจเรื่องภาพถ่ายขาวดำมาโดยตลอด

พอถึงวันหนึ่งเราอยากรู้อะไรที่ลึกมากกว่าที่เคยรู้ แต่ไม่สามารถหาเรียนรู้ได้ในเมืองไทย ไม่มีใครสอน แม้แต่หนังสือ และนิตยสาร จะเป็นภาษาอังกฤษหมด

เวลานั้น ข้อมูลเชิงเทคนิคในการถ่ายภาพ ของช่างภาพในเมืองไทย คล้ายจะเป็นเคล็ดลับเฉพาะของแต่ละคน จะไม่มีใครเขาบอกกันว่าต้องทำอะไรยังไง”

จากพี่สาวซึ่งเป็นเสมือนครูคนแรกที่สอนพื้นฐานต่างๆด้านการถ่ายภาพให้ ต่อมาครูกันต์จึงมีโอกาสเรียนรู้ด้านการถ่ายภาพกับมืออาชีพ เช่น Nick Johnson, Jim Triquet, Bruno De Barr , John Sexton และฐานันดร รัตนสุข ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ครูกันต์ยกย่องให้เป็นครูด้านการถ่ายภาพของตนเองมาจนถึงทุกวันนี้

ครูกันต์บอกถึงเหตุผลที่ทำให้หลงใหลงานภาพถ่ายขาวดำมากเป็นพิเศษ จนถึงขนาดตั้งให้เป็นนามสกุลต่อท้ายชื่อฉายา นอกเหนือจากการที่ได้เห็นพี่สาวล้างอัดภาพขาวดำว่า

“สาเหตุที่ชัดเจนคงบอกได้ยาก คือมันชอบ มันประทับใจ ได้ไปเห็นงานของ Ansel Adams ทำให้ซื้อหนังสือเขามาดูและศึกษางานเขามาตลอด เมื่อรู้ว่าไอ้การถ่ายภาพในรูปแบบนี้เราทำไม่ได้ ในเมืองไทยก็ไม่รู้จะถามใคร แต่ต้องการจะทำเนี่ย พอไปอยู่ที่นู่นก็เลยไปเรียน เพราะว่า Ansel Adams เป็นช่างภาพสายอเมริกัน แม้เขาจะไม่อยู่แล้ว แต่ลูกศิษย์ลูกหาของเขายังอยู่ ไปสืบเสาะว่าจะเรียนกับใคร

ก็ได้ไปเจอ John Sexton ซึ่งทำงานขาวดำโดยเฉพาะ ส่วนครูของเขา Ansel Adams ก็เรียกได้ว่าเก่งทั้งด้านขาวดำ และมีผลงานที่เป็นภาพสีด้วย แต่งานสีไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่

ส่วน John Sexton ทำงานขาวดำอย่างเดียว และอีกคน Nick Johnson ก็ทำงานขาวดำอย่างเดียว มันก็เลยทำให้เราอยู่ในแวดวงขาวดำมาโดยตลอด”



กลับเมืองไทยยุคฟองสบู่แตก เบนเข็มสู่อาชีพ “ครู”

“จริงๆชีวิตของคนเรา ถ้าศึกษาจริงๆ มันไม่มีคำว่าบังเอิญ แต่คงถูกกำหนดมาแล้วว่า ต้องมาเป็นสิ่งนี้”

ครูกันต์เกริ่นให้คิด ก่อนจะบอกเล่าให้ฟังถึงเหตุที่ทำให้ชีวิตต้องเบนเข็มจากอาชีพอื่นที่ควรจะเป็นตามที่ร่ำเรียนมา สู่การทำอาชีพ “ครู” พร้อมๆไปกับการเป็นศิลปินภาพถ่าย

“ผมกลับจากเมืองนอก พร้อมกับปริญญาโท ด้านการบริหารงานพาณิชย์ระหว่างประเทศ และวิชาถ่ายภาพ กลับมาช่วงฟองสบู่แตก เพราะฉะนั้นงานด้านการพาณิชย์ คงจะเรียกได้ว่ายากเลยล่ะ คนเขาโดน lay off ออกจากงานกันเยอะมาก หลังจากที่อยู่ว่างๆ ประมาณ 6 เดือน และเที่ยวไปเที่ยวมา ก็ไปเจอ พี่ป๋อง- องอาจ นิรมล ชวนไปดูงานถ่ายภาพแฟชั่นที่บ้าน

วันนั้นคนที่ทำหน้าที่ช่างภาพคือ พี่ฝน – อุมาวร หุตะเจริญ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ชวนผมไปบรรยายพิเศษให้นักศึกษาฟังเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่เคยเรียนมา และนำ Portfolio นำภาพถ่าย ไปโชว์ ครั้งเดียว วันเดียวแค่นั้น ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาเป็นครู

ครั้งแรกที่บรรยายแป๊บเดียวเอง ชั่วโมงสองชั่วโมง ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระอะไร แต่พอพี่ฝนให้ช่วยไปสอนวิชาถ่ายภาพขาวดำ เต็มๆทั้งวิชาเนี่ย ผมรู้สึกว่า เรายังไม่เคยเป็นครูจริงๆจังๆ มาก่อน เพราะฉะนั้นการไปสอนครั้งแรกเนี่ย เรียกได้ว่าต้องสอนตามสคริปต์ ต้องซ้อมบท (หัวเราะ) โน้ตอะไรไว้ละเอียดมาก เพราะกลัวว่า เวลาไปยืนหน้าห้องแล้วจะไม่มีอะไรจะพูด เพราะมันก็หลายชั่วโมงอยู่ และเราก็ไม่ได้เป็นคนที่พูดเก่ง จากนั้นก็สอนเรื่อยมา”

ถ้านับจากแรกสอนจนถึงปัจจุบัน ครูกันต์ได้ทำหน้าที่ครูหรือาจารย์พิเศษด้านการถ่ายภาพมาเป็นเวลาย่างเข้าสู่ปีที่ 15 แล้ว นอกจากสอนที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง เวลานี้ยังสอนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อีกหนึ่งแห่ง

“สอนวิชาการถ่ายภาพเบื้องต้น,การถ่ายภาพถ่ายขาวดำ การถ่ายภาพ landscape และการถ่ายภาพสถาปัตย์ อีกนิดหน่อย”


ในฐานะครู ผมต้องเป็นคนรอบรู้

กล่าวได้ว่าครูกันต์เป็นอีกคนที่ขยันหาความรู้ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา และเมื่อรู้อะไรมาก็มักจะแบ่งปันให้กับลูกศิษย์อย่างไม่หวงวิชา ทั้งในและนอกเวลาเรียน ยิ่งในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ความรู้สามารถส่งถึงกันได้ตลอดเวลา

“เนื่องจากเป็นครู ทำให้มีหน้าที่ว่า เราจำเป็นต้องอัพเดทเรื่องความรู้ของตัวเองให้ทันโลก ถ้าไม่ได้เป็นครู ผมอาจจะต้องใช้ฟิล์มถ่ายภาพอยู่อย่างเดียว เพราะเวลาทำทำหน้าที่ช่างภาพ ทำงานภาพถ่ายส่วนตัว ผมใช้แต่ฟิล์ม ล้างแต่ภาพขาวดำ แต่เพราะเป็นครูทำให้ผมต้องใช้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์โบราณหรือที่ไฮเทคก็ใช้ด้วย

เพราะว่าในฐานะครู ผมต้องเป็นคนที่รอบรู้ ทำให้บังคับตัวเองไปในตัวว่า เราต้องขวนขวยหาความรู้เพิ่ม พอได้ไปเจออะไรแปลกๆใหม่ๆน่าสนใจ เราก็เผยแพร่ เพราะว่าไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ให้ช่วยๆกันรู้จะดีกว่า องค์ความรู้มันจะได้มากขึ้น”

ส่วนหนึ่งเพราะครูกันต์นึกย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ตัวเองเริ่มเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ ความรู้ดูจะถูกเก็บเป็นความลับเสียส่วนใหญ่นั่นเอง ทำให้เมื่อเปลี่ยนมาทำหน้าที่ครูบ้าง จึงพยายามเป็นฝ่ายให้มากที่สุด

“ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ไอ้เรื่องเทคนิคในสมัยก่อน ถือว่าเป็นความลับของช่างภาพแต่ละคน สไตล์ของผลงานของแต่ละคนขึ้นอยู่กับเทคนิคซะส่วนใหญ่ แต่สมัยนี้มันเป็นยุคของ Conceptual Art หรือ งานศิลปะที่นำเสนอด้านแนวคิด เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องแนวคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ดังนั้นวิธีการใช้เครื่องมือ ผมบอกไปหมดเลย ขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนคิดแบบไหน แล้วจะเลือกใช้เครื่องมือแบบไหนนำเสนอ”


ลูบหัวตัวเอง ให้นึกถึงตอนเป็นพระ

ความเป็นครูของครูกันต์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้ความรู้ด้านการถ่ายภาพ แต่ยังพยายามแทรกวิชาธรรมะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอนด้วย

“พยายามสอนเรื่องคุณธรรมด้วย ในมหาวิทยาลัยทั่วไปอาจจะสอนกันแค่ตัวแก่นวิชาที่นักศึกษาเลือกเรียนอย่างเดียว แต่ผมพยายามจะสอดแทรกเรื่องของชีวิต คุณธรรม ความดี ความชั่ว อะไรพวกนั้น เข้าไปอยู่ในเนื้อหาตลอด ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเวลาที่โพสต์อะไรแบบนี้จะมีใครเบื่อหรือเปล่า

ตั้งแต่ตอนเรียนโทที่อเมริกาเนี่ย รวมถึงช่วงก่อนเรียนโทด้วย เวลาเยอะ ผมก็เลยเข้าห้องสมุด ทำให้ได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เป็นภาษาอังกฤษ และ ต้องเขียนเรียงความ ผมก็เลยเลือกเขียนเรียงความเกี่ยวกับพุทธศาสนา

จริงๆแล้ว ตอนอยู่เมืองไทย เราไม่ได้รู้ลึก แต่เริ่มสนใจศึกษาตอนอยู่ที่นู่น ศึกษาเกี่ยวกับมหายาน ดาไลลามะ ไปเที่ยวทิเบต เที่ยวยูนาน โดยเฉพาะทิเบตตะวันออกไปหลายทริปเหมือนกัน ไปถ่ายภาพ และตามหาอะไรสักอย่าง เพื่อเติมเต็มให้กับชีวิตตัวเอง

ไปๆมาๆ ด้วยอะไรบางอย่างบอกให้เราเข้าใจว่า จริงๆ ไอ้ของที่เราหา มันอยู่ในบ้านเราทั้งนั้นเลย ใกล้ตัวมากจนเราเองมองข้าม ไม่ต้องไปถึงอินเดีย ไม่ต้องไปถึงทิเบต มีอยู่ในเมืองไทยครบทุกอย่าง ก็เลยศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น

แล้วตอนที่ผมเริ่มสอน อย่างว่า เวลามันเยอะ หลายชั่วโมงที่ต้องไปนั่งพูดยืนพูดหน้าชั้นเรียน ต้องทำการบ้าน ศึกษาวิธีการพูด หลักการพูดของพระพุทธเจ้า มีอะไรบ้าง เช่น ความจริงบางอย่างควรจะพูดบางเวลา ไม่ใช่พูดได้ทุกเวลา ความเท็จไม่ควรพูดเลย อะไรอย่างนี้ มันจะมีคติพจน์ มีคำคม มีหลักธรรมอะไรต่างๆ ซึ่งศึกษาตอนที่เริ่มสอน เพื่อว่าจะได้มีเนื้อหาการสอนที่ไม่แห้งแล้ง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ด้านการถ่ายภาพขาวดำมากเกินไป”

ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นครูที่ดูเหมือนว่าจะธรรมะ ธรรมโม และไว้ผมทรงดูคล้ายพระภิกษุ หลายคนอาจไม่รู้ว่าในอดีตครูกันต์ก็เคยแต่งตัวเปรี้ยวจี๊ดไว้ผมยาว และทำมาแล้วหลายสี

“แต่ก่อนไว้ผมยาวถึงกลางหลัง ย้อมสีฟ้า สีน้ำเงิน(หัวเราะ) โอ้… ตอนนั้นชีวิตวัยรุ่นฮะ(หัวเราะ) ก็ต้องมีกันบ้าง สนุกๆ แต่กลับมาเมืองไทยก็ต้องย้อมดำตลอด

พอปี 48 ผมบวช หลังจากสึกก็ซื้อแบตตาเลี่ยนตัดเองตลอด เพราะนึกถึงตอนเป็นพระอยู่ที่วัด หลวงพี่จะบอกเสมอว่า ตอนสึกออกไป ควรจะเป็นคนดีนะ เวลาที่ลูบหัวตัวเองให้นึกถึงตอนเป็นพระ นึกถึงศีล นึกถึงอะไรด้วย เราก็เลยไว้ทรงนี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นทรงที่ระลึกจากการเป็นพระ”



ภาพความสวยงามของชีวิต

แม้ว่าปัจจุบันชีวิตส่วนหนึ่งจะหมดไปกับการสอนและแสวงหาความรู้มาให้ลูกศิษย์ ในฐานะคนทำงานศิลปะภาพถ่าย ครูกันต์ก็ไม่เคยว่างเว้นจากการมีผลงานมาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชม

“ระหว่างที่สอนก็จัดนิทรรศการเป็นประจำ ประมาณปีละครั้งหรือสองครั้ง”

นอกจากผลงานจะเป็นภาพถ่ายขาวดำ อีกสิ่งที่บ่งบอกที่ความเป็นเอกลักษณ์ในงานภาพถ่ายของครูกันต์คือ

“เรียกได้ว่าพยายามจะให้มันเป็นชีวิตของเรา ไม่ได้ปรุงแต่ง แล้วผมไม่ได้คิดมาก ว่างานจะต้องเป็นแนวคิดเกี่ยวกับอะไร แต่มีอยู่บ้างเหมือนกันว่า เป็นเรื่องความสวยงามของชีวิต และหลังๆจะเกี่ยวพันกับเรื่องทางพุทธศาสนาค่อนข้างเยอะ เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของเรา โดยปกตินี่แหล่ะครับ ไปเจออะไรก็ถ่าย เป็นสิ่งที่พบที่เห็น ไม่ได้จัดฉาก ไม่ได้เป็นงานที่มีความเป็นศิลปะสูงอะไรขนาดนั้น และไม่ค่อยมีคนอยู่ในภาพ”


ศิลปะภาพถ่ายที่ดี ทำได้ยาก

เวลานี้อาจจะเลือกทำสองหน้าที่ควบคู่กันไปและทุ่มเทให้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ครูกันต์ได้เผยความรู้สึกให้ฟังโดยไม่มีลังเลว่า ยังรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นครู มากกว่าเป็นศิลปินภาพถ่าย และได้วางแผนการทำหน้าที่ทั้งสองอย่างไว้ว่า

“เรื่องความเป็นครูก็คงจะต้องหาความรู้ ขวนขวยหาความรู้ อัพเดทสิ่งใหม่ๆอย่างที่บอกไปตอนต้น

ส่วนเรื่องศิลปะ ผมมองว่า ภาพถ่ายศิลปะในประเทศไทย ค่อยๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นก้าวกระโดดของงานศิลปะภาพถ่าย

และตอนนั้นผมได้มีโอกาสไปช่วยงานคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ (อดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ทำงานในสมาคมฯ เป็นช่วงที่ทำให้มีความรู้สึกว่า ภาพถ่ายโดยเฉพาะขาวดำ ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะตอนนั้นคุณสุรัตน์เองก็เป็นศิลปินภาพถ่ายเหมือนกัน

กับการที่คุณสุรัตน์อายุ 70 ปี แล้วยังถ่ายภาพ ยังทำให้ผมเองทึ่งและมองย้อนกลับมาที่ตัวเองเหมือนกันว่า ถ้าวันหนึ่งเราอายุ 70 ปี เราจะมีแรงขนาดนั้นหรือเปล่า ไปขึ้นเวทีนักร้องลูกทุ่ง ไปถ่ายหางเครื่อง หรือไปตะลุยถ่ายตามแม่น้ำลำคลอง

ผมว่าคนอายุ 70 ปี ส่วนใหญ่คงอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรแล้ว เลี้ยงหลานเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าทำให้เรามีพลังไปด้วย

และผมอยากให้วงการภาพถ่ายขาวดำเจริญมากกว่านี้ ในวงการศิลปะ ส่วนใหญ่ถ้าใครพูดถึงศิลปะก็จะมองมุ่งไปที่สิงคโปร์ที่เดียว เรื่องความเจริญ เรื่องอะไรต่างๆ ในแวดวงการจัดการศิลปะ ตลาดการค้าศิลปะฯลฯ สิงคโปร์จะเป็นคนเซทอัพราคาในภูมิภาคเลยก็ว่าได้ ทำไมไทยเราไม่ทำให้ได้แบบนั้นบ้าง ทรัพยากรเรามีเยอะแยะเลย คนก็มี ศิลปินก็เยอะ เรื่องการจัดการ เรื่องนโยบายกว้างๆ เป็นเรื่องที่จะต้องช่วยๆกันทุกคน

ศิลปินภาพถ่ายในเมืองไทย ที่สามารถเลี้ยงชีพด้วยการขายภาพ ก็มีจำนวนไม่มากเลย ด้วยศิลปะของภาพถ่ายเอง ที่ถูกมองว่าง่าย (ซื้อขายในราคาที่ถูกกว่าภาพเขียน และขณะที่บางคนก็ไม่ถือว่าภาพถ่ายเป็นศิลปะ)ใช่…แต่จริงๆภาพถ่ายถูกจัดให้เป็นศิลปะแขนงหนึ่งมานานแล้วล่ะ แต่ในเมืองไทย ภาพถ่ายยังได้รับการดูแคลนอยู่ไม่น้อย ในเมืองนอกก็เช่นกัน ในเรื่องของราคาต่างๆ

อย่างว่า ทุกวันนี้ทุกคนสามารถหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพได้อย่างง่ายดาย ถ่ายแล้ว ได้เห็นภาพเลย

ภาพถ่ายเป็นศิลปะที่ค่อนข้างรวดเร็ว Instant มากๆ และค่อนข้างจะง่าย แต่ภาพที่ดีมีน้อยมาก ช่างภาพที่ดีมีน้อย เหมือนคนที่จะมีทักษะที่จะหยิบพู่กันขึ้นมาจุ่มสีเพื่อจะระบายภาพมีน้อย ณ วินาที ที่เรานั่งคุยกันอยู่ มีคนถ่ายภาพกันเป็นล้านๆภาพ ทั่วโลก จากนั้นทุกอย่างก็ละลาย สลายไปหมด”

อย่างไรก็ตามครูกันต์ยังเห็นด้วยกับสิ่งที่ Ansel Adams บอกไว้ประมาณว่า

“ภาพถ่ายเป็นศิลปะที่ใครจะทำก็ได้ เหมือนจะง่ายในสายตาทุกคน แต่ศิลปะภาพถ่ายที่ดี ทำได้ยาก”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ศิวกร เสนสอน

ขอบคุณสถานที่ : ไล-บรา-รี่ (Library) พระราม 9






ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It