Art Eye View

"จากขุนเขาจรดแนวปะการัง" ก้อง – บารมี เต็มบุญเกียรติ

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ผ่านมาแล้วกี่ขุนเขาและกี่แนวปะการัง คงยากจะนับได้ครบสำหรับ ก้อง – บารมี เต็มบุญเกียรติ

เพราะเกือบ 20 ปี เป็นระยะเวลานานพอสมควร นับตั้งแต่ยังเป็นสมาชิกและประธาน ‘ชมรมถ่ายภาพ’ เมื่อครั้งเรียนสาขาช่างกลโรงงานในระดับ ปวส.และสาขาออกแบบแม่พิมพ์ ในระดับปริญญาตรี ของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ไล่มาจนถึงปัจจุบันที่เขาพร้อมด้วยกล้องคู่กายยังคงเดินทางออกไปล่าภาพและเรื่องราวมาให้ผู้คนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาพและเรื่องราวของสัตว์ป่าและชีวิตใต้ท้องทะเล

และจากกล้องตัวแรกที่ซื้อมาจากโรงรับจำนำ ด้วยเงินจากการขายรถยนต์ที่พ่อยกให้มาใช้ต่อจากพี่ชาย จนถึงวันนี้ วันที่ผ่านการใช้กล้องมาแล้วกว่า 30 ตัว และเลนส์อีกเกือบ 70 ตัว


จากแฟนคลับ ATG สู่ช่างภาพประจำกองบรรณาธิการ

ก้องเล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า ช่วงที่เริ่มหัดถ่ายภาพอย่างจริงจัง ยังเป็นยุคที่ใช้กล้องฟิล์ม แถมแหล่งความรู้ที่พอจะแสวงหาได้ด้วยตัวเอง ก็มีเพียงบทความในนิตยสาร และรู้สึกภูมิใจที่ครั้งหนึ่งเคยมีส่วนทำให้นักศึกษาหันมาสนใจถ่ายภาพมากขึ้น

“ช่วงที่เป็นประธานชมรมถ่ายภาพ จากที่เคยมีสมาชิกชมรมไม่มาก สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 200 กว่าคน แต่ละปีเรามีกิจกรรมถ่ายภาพสัญจร 4 ครั้ง และมีนิทรรศการครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี พร้อมการจัดประกวด

เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรู้จักกับช่างภาพมืออาชีพของนิตยสารหลายๆเล่ม เพราะไปเชิญมาเป็นกรรมการตัดสินและขอยืมภาพมาร่วมแสดง”

โดยเฉพาะ Advanced Thailand Geographic นิตยสารเล่มที่เขาชอบมากเป็นพิเศษ อีกทั้งเคยส่งภาพถ่ายและบทความสั้นๆไปให้พิจารณาตีพิมพ์ เพราะอยากจะมีผลงานตีพิมพ์ในนั้นสักครั้งหนึ่งในชีวิต ถึงขนาดตามไปที่ออฟฟิศเมื่อเห็นว่าเวลาผ่านไปนานแล้ว แต่ผลงานยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ แม้จะไม่พบ บก.นิตยสาร เพราะเดินทางไปดำน้ำที่พม่า แต่ทำให้ได้รู้จักกับเจ้าของนิตยสารซึ่งเปิดร้านล้างอัดภาพอยู่ด้านล่างของออฟฟิศ และได้มีโอกาสร่วมงานในที่สุด

“พอเห็นผลงาน เขาก็เลยชวนไปเที่ยวด้วยกัน ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบ และกะว่าจะเที่ยวอยู่แล้วสัก 3 เดือน โดยที่ยังไม่ทำงาน หลังจากนั้นนิตยสารเล่มนี้ก็เลยชวนให้ไปทำงานด้วย จึงได้ทำอยู่ที่นั่นประมาณ 5 ปี

แล้วออกมาทำฟรีแลนซ์ ช่วย ดร.ธรณ์ (ธํารงนาวาสวัสดิ์) ทำหนังสือ “ปลาทะเลไทย”  จึงทำให้ชีวิตในช่วง 2 ปี ที่เป็นฟรีแลนซ์ อยู่ที่เกาะสุรินทร์ซะส่วนใหญ่ ถ่ายภาพปลาให้อาจารย์ธรณ์ และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์(หนึ่งสำนักพิมพ์ในเครือ ASTVผู้จัดการ)นี่แหล่ะครับ”

หลังจากนั้นก้องจึงกลับไปทำงานประจำที่ นิตยสาร Nature Explorer อีก 2 ปีกว่าๆ ขณะเดียวกันก็มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารเที่ยวรอบโลก และเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ให้ กับ อนุสาร อ.ส.ท. และอีกหลายเล่ม จนในที่สุดลาออกมาโดยที่ไม่ได้กลับไปทำงานประจำอีกเลยกระทั่งปัจจุบัน

“เพราะอยากจะใช้เวลาไปกับถ่ายงานที่เราอยากจะถ่ายด้วย คืองาน WildLife หรือ ชีวิตสัตว์ป่า กับชีวิตใต้น้ำ ที่ชอบ”



น่ารักน่าลุ้น

ก้องได้บอกถึงจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชอบถ่ายภาพแนวนี้ว่า…“มันเริ่มมาจากตอนเด็กๆ ที่ได้ดูรายการสารคดีธรรมชาติ แล้วก็มีแต่รายการของเมืองนอก ที่นำเสนอแต่เรื่องราวของสัตว์ในเมืองนอก

เราก็เลยมีความสงสัยว่า ทำไมถึงไม่มีรายการเกี่ยวกับสัตว์ในประเทศไทย หรือเท่าที่เห็นผ่านรายการโทรทัศน์ ก็มีแต่เรื่องราวของสัตว์ประเภทที่อยู่ในกรง ในสวนสัตว์ พวกนกยูงขนร่วงๆ และเสือก็ไม่สวย

แล้วจะมีรายการหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ 'รายการน่ารักน่าลุ้น' มีการบรรยายแบบสนุกๆ ที่ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ที่แปลกๆ

นับจากนั้นก็เลยทำให้รู้สึกว่า อยากจะเป็นคนหนึ่งที่เล่าเรื่องให้คนได้รู้ว่าในบ้านเรามีสัตว์อะไรบ้าง แต่ยังไม่คิดจะเป็นคนถ่ายภาพสัตว์”

แต่เพราะทำงานให้กับนิตยสารท่องเที่ยวหลายเล่มเป็นเวลาหลายปี ซึ่งนำให้ไปรู้จักและคลุกคลีกับคนที่ทำงานถ่ายภาพทางธรรมชาติวิทยา จึงทำให้ได้ฝึกฝนการถ่ายภาพสัตว์ควบคู่ไปกับการถ่ายภาพธรรมชาติอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆ

“ผมมีความสุขเวลาที่อยู่กับธรรมชาติ จึงทำให้ชอบถ่ายทุกอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติ ดอกไม้ก็ชอบถ่าย เคยตามถ่ายกล้วยไม้ เพราะแต่ละฤดูกาลจะมีกล้วยไม้แตกต่างกัน พอไปเจอนักดูนก เราก็เริ่มถ่ายนก พอมาเจออาจารย์ธรณ์ ก็เริ่มดำน้ำถ่ายปลา ส่วนสัตว์ป่าก็เริ่มจากถ่ายง่ายๆ ก่อน ตั้งแต่อยู่ ATG แล้ว ไปถ่ายกวาง เก้ง หมูป่า ที่เขาใหญ่ จนเมื่อมีเวลามากขึ้น ก็เริ่มถ่ายมากขึ้น ค่อยๆเก็บทีละอย่าง”
ภาพกวางผา ที่ได้รับรางวัลประเภทภาพดิจิทัล ชนะเลิศประเภทสัตว์ป่า รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร จากโครงการประกวดภาพถ่าย สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ ครั้งที่17”

ภาพถ่าย “กวางผา ที่เชียงดาว” คว้ารางวัลชนะเลิศ

ทว่าสัตว์ป่าที่ก้องมีความผูกพันมากเป็นพิเศษ ถูกเขาถ่ายนับไม่ถ้วนและทำให้หลายคนนึกถึงเขาคือ “กวางผา”

“เริ่มมาจากไปสำรวจพันธุ์ไม้ที่ดอยเชียงดาวอยู่ 7-8 ปี ระหว่างนั้นได้ไปเจอกวางผาโดยบังเอิญ ซึ่งสมัยนั้น ยังไม่มีใครรู้ว่าที่นั่นมีกวางผา ก็เลยมีความรู้สึกว่าอยากจะถ่าย และตอนนั้นเราถ่ายนกอยู่แล้ว มีเลนส์ 500 อยู่แล้ว ก็เลยเริ่มตามถ่าย ประมาณ 3 ปี

จากปีแรก ที่เริ่มได้ภาพกวางผาตัวเล็กๆในระยะไกลๆ ประมาณหนึ่งกิโลเมตร ก็ค่อยๆขยับเข้ามา จนได้ภาพในระยะแค่ 30-40 เมตร และส่วนหนึ่งที่ทำให้ถ่ายเยอะมาก และผูกพันกับกวางผามากๆ เพราะว่าอากาศที่เชียงดาวไม่ร้อนแล้งเหมือนห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นป่าโปร่ง ช่วงเมษายนลองนึกภาพเวลาที่ต้องอยู่ในเต็นท์ ขนาดเมตรคูณเมตร เปิดซิปก็ไม่ได้ เพราะว่าสัตว์จะไวต่อกลิ่นและเสียง ถ้าเปิดปุ๊บ ลมพัดเข้ามา ก็จะพัดเอากลิ่นของเราออกไป ถ้ากวางผาได้กลิ่น เค้าจะไม่เข้าพื้นที่เลย จึงทำให้เราต้องถ่ายภาพอย่างทรมานและร้อน

แต่เวลาไปเชียงดาว ถ่ายกวางผาเนี่ย เราซุ่มรออยู่ริมหน้าผาได้สบาย อากาศเย็น มีดอกไม้ มีนก ไม่ทำให้เหนื่อยมาก จะเหนื่อยแค่ตอนที่เดินไป เพราะต้องเดินไปวันนึงอะไรแบบนี้

ผมชอบลักษณะการทำงานในสถานที่แบบนี้ อีกทั้งเริ่มอยากถ่ายภาพพฤติกรรมของกวางผา ที่มีการกระโดดโลดเต้น เล่นกัน ตัวผู้ตัวเมียจีบกัน

ถ่ายอยู่ 3 ปี ได้เป็นงานมาสเตอร์พีชมาเรื่องหนึ่ง ก็เลยเอาไปเสนอที่นิตยสารสารคดี ซึ่งตีพิมพ์ไปแล้ว เป็นคอลัมน์ใหญ่ในเล่ม”

ทำให้เวลาต่อมาภาพถ่ายกวางผาจากเชียงดาวของเขาบางภาพ ได้รับรางวัลที่หนึ่ง ประเภทสัตว์ จากการประกวดภาพถ่าย “สุดยอดช็อตเด็ด:ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ครั้งที่ 1”

และอีกภาพ(ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีวางแผนกับการได้ภาพมา) ได้รับรางวัลประเภทภาพดิจิทัล ชนะเลิศประเภทสัตว์ป่า รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากโครงการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ ครั้งที่17”

“เป็นงานที่เราเริ่มตั้งใจแล้วว่าต้องการได้ภาพกวางผาตอนที่ยืนอยู่ตรงหินก้อนนี้ และเริ่มจะวางแผนว่าต้องการแค่ตรงนี้ เพราะภาพกวางผาตรงอื่นเรามีเป็นพันๆภาพแล้ว แต่คราวนี้เราอยากได้ภาพตรงนี้ภาพเดียว หรือสัก 5 -7ภาพ เริ่มเน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ เพราะถ้าเราได้ภาพกวางผาเหมือนเดือนที่แล้ว มันก็เสียเวลา เพราะฉะนั้นภาพต้องได้แบบใหม่ ก็เลยต้องวางแผนว่าเวลาถ่ายเราต้องไปอยู่ตรงจุดไหน มุมไหน

ซึ่งพอได้รางวัลยอดเยี่ยม ได้ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ยิ่งทำให้มีกำลังใจทำงาน เพราะไม่คิดว่าจะได้ แค่อยากถ่ายทอดให้คนได้รู้ว่า กวางผา ถิ่นอาศัยเขาอยู่แบบนี้นะ เขาอยู่บนหิน สูงชัน สิ่งทีได้รับกลับมา ก็เลยเกินจากสิ่งที่คาดหวัง และกลายเป็นแรงขับให้กับการทำงานของเรา

แต่จริงๆแล้วสัตว์อื่นๆ เช่น เสือ กว่าที่จะได้มาแต่ละภาพ ก็นานเหมือนกัน ภาพสัตว์ทุกชนิด มีความยากความท้าทายแตกต่างกันไป”


ทักษะ ,ประสบการณ์ และจินตนาการ

ก้องได้บอกถึงแนวทางในการถ่ายภาพของเขาที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่องว่า ประกอบด้วย 3 เรื่องต่อไปนี้ ได้แก่ ทักษะ ,ประสบการณ์ และจินตนาการ

ทักษะ… มันไม่ใช่แค่ทักษะการถ่ายภาพ เพราะผมใช้น้อยที่สุดเลย พอเราสามารถสามารถบังคับหรือคุ้นชินกับการควบคุมกล้องให้ได้ดั่งใจแล้ว กล้องมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา แค่เราคิดปุ๊บ เราก็ได้ภาพแบบนั้น แต่เป็นทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะการเดินทาง การใช้ชีวิต การแก้ปัญหา

เวลาไปเชียงดาวก็ต้องมีทักษะการเดินป่า เวลาไปดำน้ำ ก็จะต้องมีทักษะการทรงตัว การรู้ถึงพฤติกรรมของสัตว์ ก็เป็นทักษะ บางคนถ่ายเก่งมากเลย แต่คาดเดาไม่ถูกว่าสัตว์จะทำอะไร เวลาผมอยู่ในน้ำ ผมจะนึกเป็นช็อตๆเลยว่า อันนี้จะมาตรงนี้ และรู้เหตุผลว่ามาทำไม หรือสัตว์ชนิดนี้ ถ้าจะเปลี่ยนจากต้นไม้นี้ ไปยังต้นไม้อีกต้น เดี๋ยวจะต้องกระโดด เพราะเส้นทางเขาอยู่บนต้นไม้ เขาไม่ลงพื้น เราควรจะต้องไปอยู่ตรงไหน เพื่อให้ได้ภาพ อันนี้คือทักษะที่เราฝึกฝนมา

แล้วพอมีทักษะไม่ว่ามากหรือน้อย เมื่อถูกนำไปใช้ มันจะได้สิ่งที่สองตามมาคือ …ประสบการณ์… ทั้งดีและไม่ดี ถ้าไม่ดีเราก็เอามาแก้ไขในงานต่อไป ต้องวางแผนใหม่ มาถ่ายช่วงนี้ ทำไมสัตว์ไม่ลงที่นี่เลย เพราะว่าเราอาจจะวางแผนผิด สัตว์อาจจะได้กลิ่นเรา เราต้องทำยังไง หาเหตุผล ตอบให้ได้ แล้วหาทางแก้

สุดท้ายคือ… จินตนาการ… บางทีมันอาจเป็นฝันซึ่งไม่มีทางเป็นจริง แต่หากเราลองคิดไว้ก่อน เช่นภาพกวางผาที่ผมได้มา ผมก็จะคิดว่า ถ้าสมมุติว่ากวางผามายืนอยู่บนหินก้อนนี้ ผมจะถ่ายเป็นแนวตั้ง และฉากหลังมีต้นไม้ต้นนึง และภาพนี้หากได้ จะต้องเป็นปกแน่ๆ ผมคุยกับเพื่อนที่ไปด้วยกัน ถ้ากวางผาขึ้นหินก้อนนี้ ต้องเป็นปกแน่ๆ แล้วจากนั้นผมก็ลืมไป

สุดท้ายภาพนั้นมันก็ได้เป็นปก ภาพที่ผมพูดไว้เมื่อ 3 ปีก่อนจะถ่ายได้ อันนี้คือตัวอย่างของจินตนาการ ที่กลายเป็นจริง

มันยังมีอีกหลายจินตนาการ อย่างเช่นผมถ่ายวัวแดงที่โป่ง ทั้งที่เคยมีภาพแล้วหลายพันภาพ แต่ทำไมผมยังไปที่โป่งอีก เพราะว่าใจผมไม่ได้อยากจะถ่ายวัวแดง แต่คิดว่าวัวแดงในตอนที่ออกมากินโป่ง สักวันนึงอาจจะมีเสือวิ่งเข้ามาตะปบ หรือว่า จากนั้นจะมีช้างออกมาตัวนึง อะไรแบบนี้ ผมจะมีการคิดภาพไว้เสร็จ แล้วค่อยถ่าย พอภาพที่ได้เปลี่ยน วิธีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับภาพมันก็จะเปลี่ยน ได้เป็นเรื่องราวใหม่”


คนนำสาร

และหากนำภาพที่ก้องเคยถ่ายทั้งหมดมาพิจารณาดู ก็จะทำให้ได้เห็นหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์หรือลายเซ็นต์ในงานของเขา

“เอกลักษณ์ในภาพถ่ายของผมจะคลีนๆ (clean – สะอาด), คอมโพส (Composition หรือ องค์ประกอบ) สวยๆ ผมจะไม่ชอบถ่ายฉากที่ดูรกๆ

ผมพยายามจะมองหาภาพในมุมมองที่มันคลีนที่สุด เพราะว่าป่าบ้านเรามันรกมาก เคยไปเคนย่า 9 วัน ถ่ายมา 60 ม้วน แต่อยู่บ้านเราไปแค่เดือนนึงถ่ายได้ไม่ถึง 5 ม้วนเลย เผลอๆบางที 2 ม้วน และโอกาสที่สัตว์ซึ่งอยู่ในป่าจะออกมาให้เราถ่าย.. ยาก

ขณะที่ป่าที่แอฟริกา..โล่ง สัตว์ลงมาอยู่เป็นหมื่นๆ แต่บ้านเราไอ้หมื่นๆที่เห็นกลายเป็นต้นไม้ แล้วมีสัตว์อยู่แค่ไม่กี่ตัว

เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราจะได้เจอมัน และได้จุดที่ถ่ายออกมาแล้วสวย มันต้องมีการวางแผน

และจริงๆผมไม่ได้จำกัดตัวเองว่าเป็นช่างภาพซะทีเดียว แต่เป็นคนนำสาร บางเรื่องเราอาจจะรู้ข้อมูลมาก่อน เราก็จะคาดหวังไว้ก่อนว่าเราอยากจะได้ภาพแบบนี้

แต่ในขณะเดียวกันเรื่องที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยหาข้อมูลเจอ พอเราไปเจอมา เราอยากให้คนอื่นรู้ด้วย เราก็จะเขียนออกมา มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องทางธรรมชาติวิทยาตามที่เราเห็น คนอื่นอาจจะเห็นอีกแบบ แต่ว่าเราเห็นแบบนี้ เราก็นำเสนอแบบนี้

การถ่ายภาพของผมจึงขึ้นอยู่กับหลายๆอย่าง บางทีผมอยากเล่าเรื่องว่ากวางผามันอยู่บนหน้าผา กวางผาจึงอาจจะเป็นแค่ส่วนประกอบเล็กๆในภาพถ่ายซึ่งเสนอให้เห็นภาพหน้าผาซักหน้าผานึง อยู่ที่เรื่องที่เราอยากจะเอาไปเขียน

ขณะที่เราอยากพูดเรื่องของกวางผาว่าเขาถูกนำไปทำเดือยสำหรับใส่ตีนไก่ชน แบบนั้นก็ต้องเป็นภาพถ่ายที่ทำให้เห็นแต่หน้าของกวางผาชัดๆและมีเขา

การทำงานของผมจึงมีทั้งสองแบบ บางทีได้ภาพมาก่อน แล้วคิดเรื่องที่เราเห็นจากประสบการณ์ ถ่ายทอดไป หรือบางทีมีเรื่องมาก่อน แล้วออกไปล่าภาพให้ได้

ถ้าเกิดเป็นเรื่องใหญ่ ก็เหมือนเราวางจิ๊กซอร์ ทั้งเรื่องเนื้อหามีกี่หน้า หน้านึงมีกี่ภาพ เรื่องทั้งหมดจะใช้ภาพกี่ใบ แต่ละใบควรจะใช้เป็นภาพอะไร แล้วก็จะตีโจทย์เป็นหน้าๆออกมา จากนั้นเราก็ไปทำตามที่เราร่างไว้ในใจให้ได้ คือกลับไปที่จินตนาการ แต่บางกรณี ภาพได้หมดแล้ว แต่เหลืออีกใบนึงยังไม่ได้ บางทีภาพสำหรับเนือ้หาก้อนแรกถ่ายไปตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว อีกภาพนึงที่รอ อีกปีครึ่งถึงได้ และพอรู้ข้อมูลเพิ่ม ผมก็ต้องไปหาภาพเพิ่มอีก

เวลาทำงานผมมองตัวงานเป็นหลัก ผมไม่ได้มองงบประมาณ บางคนงบ 5 หมื่น พอเกิน 5 หมื่น ต้องปิดแล้ว แต่ของผมไม่ใช่

เพราะ การทำงานด้านนี้ ผมตัดสินใจเลือก ตั้งแต่ผมไปบอกแม่แล้วว่าผมจะทำงานถ่ายภาพ เพราะฉะนั้น เงินไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่แน่นอนมันต้องมี เราก็ต้องบาลานซ์ว่า ไอ้เรื่องนี้ อีกนิดนึง ถ้ามันได้ มันจะเจ๋งมากเลย เราต้องเอาอีกสองภาพนั้น อีกสามภาพนั้นมาให้ได้”



จากขุนเขาจรดแนวปะการัง

ในวันที่การแสดงเดี่ยวผลงานครั้งแรกและครั้งสำคัญของเขามาถึง ก้องได้คัดสรรภาพถ่ายที่เขาออกไปล่าเพื่อให้ได้ภาพมาจากหลายขุนเขาและหลายแนวปะการัง มาจัดแสดงให้ชมบริเวณผนังโค้งของพื้นที่จำนวน 3 ชั้นของหอศิลป์ กทม. แต่ในนิทรรศการไม่มีภาพที่บันทึกมาจากต่างแดนเลยสักภาพ แม้จะเป็นภาพที่ดีและสวยมากกว่าก็ตาม

“ทั้งหมดที่เห็นคือภาพที่บันทึกในเมืองไทยเท่านั้น แม้ภาพสัตว์หลายชนิดที่ผมถ่ายมาจากต่างประเทศ ถ่ายได้ง่าย และอารมณ์ในภาพสวยกว่านี้ แต่ว่าจุดประสงค์ของผมคือ ผมอยากจะเผยแพร่ภาพของสัตว์ไทยออกไปให้ทุกคนได้เห็นว่า อันนี้คือถิ่นอาศัยของเขาในเมืองไทย อันนี้คือวิวที่เห็นได้ในบ้านเรา

นิทรรศการชุดนี้ ผมคิดคอนเซ็ปต์มา 10 กว่าปี และบางภาพถ่ายเมื่อ 17 -18 ปีที่แล้ว มีตั้งแต่ภาพสมัยยังใช้กล้องฟิล์มถ่าย แล้วถ้าไปดูข้อมูลของแต่ละภาพ จะรู้ว่าข้อมูลของกล้องและเลนส์ที่ใช้ไม่เหมือนกันเลย”

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่บรรยายให้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ในภาพอย่างละเอียดตามสไตล์ของเขา

“เพราะผมอยากจะให้ผู้ชมได้เห็นถึงเวลา ณ ตอนนั้น ภาพบางภาพ กว่าจะได้มาสมัยนั้นยากมากเลย แต่ง่ายมากในสมัยนี้ แต่ภาพบางภาพก็ยังไม่มีใครถ่ายได้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ผมบอกไว้ ทั้งบรรยายใต้ภาพ มันจะแฝงบางเรื่อง

ผมจะหงุดหงิดมากเมื่อก่อน เวลาอ่านหนังสือท่องเที่ยว แล้วบอกว่า ดอกไม้ชนิดนึงในป่าใหญ่ คือเราจะมีคำถามว่าดอกไม้อะไร คนมันน่าจะได้รู้อะไรมากกว่านั้น”



และนิทรรศการครั้งนี้คือสิ่งที่ต่อยอดมาจากความคิดที่จะทำ หนังสือ “จากขุนเขาจรดแนวปะการัง(WILD RANGE)” ชื่อเดียวกับนิทรรศการ เพื่อรวบรวมผลงานของตนเอง

“จริงๆแล้วหนังสือเป็นโปรเจกต์หลัก คอนเซ็ปต์ผมอยากให้คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเหมือนไปนั่งอยู่กับผมบนเขา หรือไปดำน้ำอยู่กับผม โดยที่คุณไม่รู้ว่าหน้าต่อไปคุณจะเจออะไร เหมือนเราไปนั่งโป่งเราไม่รู้หรอกว่า เราแค่อยากจะถ่ายวัวแดง แล้วอยู่ดีๆเสือโคร่งจะเดินมา

พอเปิดมาอีกหน้าเป็นภาพแม่คะนิ้ง เปิดไปอีกหน้าเป็นฉลามวาฬ ผมใช้ความเป็นองค์ประกอบศิลป์ หรือใช้งานศิลปะนำเสนอภาพความสวยงาม เพื่อไปปลูกในใจคนอ่านก่อน พอเขาสนใจภาพปุ๊บ แล้วอยากจะรู้เกี่ยวกับมัน เขาก็จะอยากอ่านข้อมูลที่ผมเขียน เพียงเท่านี้ผมได้ทำหน้าที่คนนำสารของผมเสร็จแล้ว ที่ทำให้คนได้รู้ว่ามีกวางผาอยู่ในบ้านเรา ต่อไปเขาอาจจะอยากไปค้นข้อมูลอื่นเพิ่มในอินเตอร์เนท ในห้องสมุด ผมขอแค่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้จักก็พอ

แล้วผมไปคุยเรื่องนี้กับ Canon เพื่อจะขอสปอนเซอร์บางส่วน เขาก็บอกว่าคุณจะทำแค่พันเล่มเองเหรอ เพราะผมตั้งราคาแพง เนื่องจากทำยาก พิมพ์กระดาษดีมาก และขายเฉพาะในแฟนเพจ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ตามเราจริงๆ ไม่ชอบจริงๆอาจจะซื้อไม่ได้ เราก็เลยชวนกันว่ามาทำนิทรรศการกันไหม จองสถานที่ไว้ปีครึ่งกว่าจะได้

ซึ่งผมรู้สึกแฮปปี้ เวลามานั่งสังเกตการณ์ทุกวัน แล้วได้รู้ว่าคนนี้มา เพราะตั้งใจมาดู หรือคนนี้ผ่านมาดูงานสมเด็จพระเทพฯ ที่ชั้น 9 แล้วผ่านมาหยุดดูงานเรา

มานั่งอ่านบรรยายใต้ภาพ มานั่งวิจารณ์ เราก็มีความสุข มีเด็กคนนึงทำให้ชื่นใจมาก มา 3 วัน พอวันแรกมาอ่านไม่เข้าใจ วันที่สองพาพ่อมา และวันที่สามพาเพื่อนมา เป็นแก๊งชมรมถ่ายภาพ อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากได้ มันคือความสุข และผมพอใจแล้ว”

เหล่านี้คือเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเขาผู้ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Hanuman Photos ที่ต่อมาพัฒนามาเป็น 10 FOTOS กลุ่มของช่างภาพ 10 คน ผู้มุ่งสะท้อนแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ และทำงานอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

โดยมีปรัชญาในการทำงานว่า “เรายึดมั่นที่จะรังสรรค์โลกที่ดีกว่าด้วยภาพถ่าย”

นิทรรศการภาพถ่าย จากขุนเขาจรดแนวปะการัง (WILD RANGE) โดย ก้อง – บารมี เต็มบุญเกียรติ วันนี้ – 30 มีนาคม พ.ศ. 2557 ณ บริเวณผนังโค้ง ชั้น 3 – 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วชิร สายจำปา และ บารมี เต็มบุญเกียรติ


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It