Art Eye View

Happy sketching ของ KK สถาปนิก, กราฟิกดีไซเนอร์และศิลปินชื่อดังจากปีนัง

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับงาน “สถาปนิก 57” หนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจและมีผู้ไปร่วมฟังจำนวนมาก คือในส่วนของนิทรรศการ Asa Sketch Exhibition & Workshop ที่ในวันสุดท้ายของงาน สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Association of Siamese Architects under the Royal Patronage of His Majesty the King) หรือ อาษา (ASA) และ กลุ่ม Bangkok Sketchers ได้เชิญ Ch'ng Kiah Kiean สถาปนิก, กราฟิกดีไซเนอร์และศิลปินชื่อดังจากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย มาพูดเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของเขาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สนใจ

เพราะไม่เพียง Ch'ng Kiah Kiean หรือ KK จะเป็นหนึ่งในตัวอย่าง ของผู้ที่มีผลงาน Sketch หรือ เส้นสายสถาปนิกในแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนกล่าวได้ว่าเป็น Creative Sketch นั่นคือสร้างสรรค์ให้เป็นมากกว่า การสเก็ตช์เพื่อคำนวณค่าก่อสร้าง ดังที่ ปราโมทย์ กิจจำนงพันธุ์ และ อัสนี ทัศนเรืองรอง 2 ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่ม Bangkok Sketchers บอกถึงเหตุผลที่ต้องเชื้อเชิญเขามาพูดคุยในครั้งนี้

KK ยังเป็นหนึ่งในสมาชิก Urban Sketchers ที่มีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ,ผู้ร่วมก่อตั้ง Urban Sketchers Penang และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เคยจัดงาน Penang Sketch Walk ซึ่งกำลังจะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมของปีนี้

และบ่อยครั้งที่ถูกรับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรโชว์การสเก็ตช์ ให้เหล่า Sketchers จากทั่วโลกได้ชมเป็นแนวทาง

“ KK ไม่ได้มีชื่อเสียงเฉพาะในปีนัง แต่ได้รับเชิญจากกลุ่ม Sketchers จากทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ปีที่ผ่านมาเขาไปสาธิตให้ Sketchers ที่มาจากทั่วโลก ชมที่สเปน และปีหน้าได้รับเชิญไปสาธิตที่บราซิล”


จาก “ภาพส้วมโรงเรียน” ถึง “ภาพสเก็ตช์เมืองปีนัง”

KK วัย 40 ปี ผู้มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เกิดที่ปีนัง ขณะนี้ทำงานศิลปะ ควบคู่ไปกับการทำอาชีพสถาปนิกอนุรักษ์สถาปัตยกรรมจีนแบบประเพณี และมีบริษัทออกออกกราฟิกเป็นของตัวเองในชื่อ KAKI ที่มาจาก กา-กี่-นั้ง(คนกันเอง) และ คากิ (ขาหมู)

บอกเล่าว่าเขาก็เหมือนกับศิลปินหลายคนที่พัฒนาตัวเองมาจากความชอบในการวาดภาพตั้งแต่เด็ก โดยเมื่ออายุ 7-8 ขวบ เขาเริ่มหัดวาดภาพตามนวนิยายจีนและการ์ตูนที่พ่อซื้อมาให้ ซึ่งเมื่อพ่อเห็นว่าเขาสนใจจึงให้ไปเรียนวาดภาพ

กระทั่งเข้าเรียนมัธยมในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของปีนัง แม้แต่คนไทยหลายคนๆก็เคยส่งลูกหลานไปเรียนที่นี่ KK จึงเข้าไปเป็นสมาชิก “ชมรมศิลปะ” ทำกิจกรรมมากมาย ไม่เว้นแม้แต่การไปช่วยชมรมอื่นออกแบบปกหนังสือ จนถูกเลือกให้เป็นประธานชมรม

ซึ่งเขาได้เปิดใจว่า การมีชมรมศิลปะเกิดขึ้นในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อมองย้อนหลังกลับไป เขาพบว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ฝึกฝนตนเองและมีผลงานที่พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก

ขณะที่ภาพวาดภาพแรกๆที่เขาหัดวาดตอนเรียนมัธยม คือภาพ “ส้วมของโรงเรียน” วาดด้วยเทคนิคสีน้ำ

นอกจากจะมองเห็นความงามของสิ่งที่คนอื่นอาจมองข้าม KK ยังเป็นนักฝัน เพราะเมื่อวาดฝันว่าวันหนึ่งอยากจะมีสตูดิโอทำงานศิลปะเป็นของตัวเอง ในลักษณะไหน เมื่อยังมีไม่ได้ เขาก็ได้สร้างกำลังใจให้ตัวเองโดยการวาดออกมาเป็นภาพรอไว้ก่อนล่วงหน้า

แต่พอเรียนจบมัธยมเขาก็ต้องพบกับภาวะที่ต้องคิดหนักเพราะไม่รู้ว่าควรจะเลือกเรียนอะไรระหว่างศิลปะที่ชอบมาตลอด และอย่างอื่นเพื่ออนาคตที่มั่งคง

จนในที่สุดเขาตัดสินใจไปเรียนด้านกราฟิกดีไซน์ ที่กัวลาลัมเปอร์ แต่เพราะไม่ชอบชีวิตที่นั่นเท่าไหร่ จึงต้องกลับมาเรียนที่ปีนัง และเมื่อที่บ้านเกิดไม่มีสาขาศิลปะให้เรียน มีเพียงสาขาที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์และชีววิทยา เขาจึงเลือกเรียนชีววิทยา

แต่ระหว่างนั้นก็ได้ปลดปล่อยตัวเองด้วยการวาดภาพ พารามีเซียม ( Paramecium) โปรโตซัวสกุลหนึ่ง อยู่ในอาณาจักรโพรทิสตา มีขนรอบๆ ตัว โดยใช้ขนในการเคลื่อนที่ เรียกว่า ซิเลีย (cilia) ให้ออกมาดูคล้ายภาพศิลปะแนวนามธรรม (Abstract)

กระทั่งตอนหลังได้เปลี่ยนมาเรียนด้านการวางผังเมืองและสถาปัตย์ โดยระหว่างเป็นนักศึกษา ได้มีโอกาสมาเมืองไทยครั้งแรก เพราะเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาร่วมเวิร์คชอป ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบัง

เมื่อจบจาก University Sains Malaysia ซึ่งตั้งอยู่ที่ปีนัง ทำงานเป็นสถาปนิกได้เพียงปีเดียว เพื่อนของเขาซึ่งมีบริษัทเป็นของตัวเองและมีความเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมจีน ได้ชวนให้เขามาทำงานด้วยกัน

แม้จะต้องปีนป่ายขึ้นไปรังวัดทุกส่วนของอาคาร ต้องปีนหลังคา แต่เขาก็ชอบงานนี้มากๆ และเหตุที่ต้องทำงานเสนอลูกค้าอยู่บ่อยๆ ต้องออกแบบกราฟิกเอง ทำให้เขาพลอยมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ไปด้วย และเป็นที่มาของการตั้งบริษัทออกแบบกราฟิกเป็นของตนเองในที่สุด

ในเวลาเดียวกัน KK ยังมีผลงานศิลปะซึ่งเป็นภาพสเก็ตช์เมืองของทั้งในและต่างประเทศจัดแสดงสม่ำเสมอ โดยเริ่มมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกที่กัวลาลัมเปอร์ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต่อด้วยครั้งที่ 2 ที่ไต้หวัน และอีกหลายๆครั้งทั้งในประเทศตัวเองและต่างประเทศ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา (2556) เขาเพิ่งจัดนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งที่ 8 ที่ปีนัง


2 ผลงานรวมเล่มขายดี

นอกจากนี้ KK ยังให้ความสำคัญกับการทำหนังสือรวบรวมผลงานสเก็ตช์ ซึ่งขณะนี้หนังสือชื่อ Sketchers of Pulo Pinang พิมพ์เมื่อปี 2009 และ Line – line Journey พิมพ์เมื่อปี 2011 ถูกขายไปหมดเกลี้ยงและกำลังวางแผนที่จะพิมพ์ใหม่ โดยที่ก่อนหน้านี้เขามีหนังสือ Art of Line (ศิลปะแห่งเส้นสาย) ของสถาปนิกคนหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจ

ตอนไปแสดงงานที่ไต้หวัน เคยมีนิตยสารเกี่ยวกับภาพประกอบมาสัมภาษณ์เขา เกี่ยวกับการเดินทางและผลงานสเก็ตช์ รวมไปถึงนิตยสารท่องเที่ยว ของอินโดนีเซีย และเขาเคยมีผลงานรวบรวมไว้ในหนังสือรวบรวมผลงานสเก็ตช์ของสถาปนิกชื่อดัง แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบอาชีพสถาปนิก แต่เพราะผลงานภาพสเก็ตช์ของเขาสวยมาก จึงถูกเลือก

KK บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นเรื่องที่สำคัญอยู่เหมือนกันในการที่จะประชาสัมพันธ์ตัวเอง โดยการทำหนังสือและให้สัมภาษณ์ลงสื่อต่างๆ

“ในฐานะที่จะเป็นศิลปินเต็มตัวก็ต้องทำงานพวกนี้ด้วย”


 ก่อนจะเป็น Urban Sketchers Penang

ค.ศ.2009 (พ.ศ. 2551) การงานแห่งชีวิตของ KK เริ่มขยายขอบเขตมากขึ้น และกล่าวได้ว่าเป็นปีที่มีความหมายสำหรับเขา เพราะทันทีที่เขาใส่คำสองคำคือ Urban และ Sketchers ลงไปค้นหาใน Google เขาก็ได้พบกับโลโก้อันหนึ่งซึ่งเป็นภาพหน้าต่าง แทนความหมาย “การเปิดหน้าต่างออกสู่โลกกว้าง” และในหน้าต่างบานนั้น ยังมีหน้าต่างบานเล็กๆอีกหลายบานเป็นส่วนประกอบ แทนความหมาย “มุมมองที่แตกต่างของแต่ละคนในการมองเมือง”

มันคือ โลโก้ของกลุ่ม Urban Sketchers ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ที่เขาได้พาตัวเองเข้าไปสังกัดในเวลาต่อมา และได้ก่อตั้งกลุ่ม Urban Sketchers Penang ขึ้นที่ปีนัง ภายหลังการก่อตั้ง กลุ่ม Bangkok Sketchers ของประเทศไทย ที่ในวันหนึ่งได้พบและทำความรู้จักกันที่ปีนัง และต่างเป็นสมาชิกกลุ่ม Urban Sketchers ของทั่วโลก เช่นเดียวกัน

จึง ทำให้ KK มีโอกาสเดินทางมาร่วมกิจกรรมกับ กลุ่ม Bangkok Sketchers ที่กรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดของประเทศไทยหลายครั้ง จึงไม่แปลกอะไรหากจะพบว่า เขามีภาพสเก็ตช์เมือง ซึ่งเป็นภาพสถานที่สำคัญๆในประเทศไทย หลายภาพ

“Sketchers ทั่วโลกก็จะมีกิจกรรมคล้ายๆกันคือพาลูกหลานไปสเก็ตช์ภาพวาดภาพเมืองด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน มีความสุขกับการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยที่ผ่านมา ผมพยายามรวบรวม Sketchers ที่อยู่ในเขตเดียวกัน จนเมื่อสองปีที่แล้วได้จัดงาน Penang Sketch Walk ขึ้นมา มี Sketchers คนไทยนับ 10 คนไปร่วมงานด้วย และกรกฎาคมที่จะถึงนี้ งานกำลังจะมีขึ้นอีก มีกิจกรรม เชิญ อ.อัสนี ไปเวิร์กชอปด้วย

และหากใครที่มีคำถามว่าทำไมเขาจึงสนุกกับการเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ คำตอบคงไม่ต่างกับสิ่งที่เขาบอกไว้บนเวบไซต์ของตนเอง ( http://www.kiahkiean.com)

I love my hometown, I recorded her changing faces through my sketches.



ภาพความรู้สึกที่ผมมีต่อเมือง

KK เป็น Sketchers ที่สนุกกับการทดลองอะไรใหม่ๆ อุปกรณ์ที่เขาใช้ในการสเก็ตช์ ก็มีหลากหลาย ทั้งดินสอ ,มาร์คเกอร์, หมึกจีน สีน้ำ ฯลฯ และกระดาษที่ใช้ก็มีทั้งกระดาษแบบที่ใช้ในการเขียนหมึกจีน และกระดาษผิวกึ่งหยาบ หลากหลายขนาด ซึ่งบางโอกาสถูกนำมาต่อกัน ตามความเหมาะสม

อุปกรณ์ถูกใช้ไปตามอารมณ์และความสะดวกในการหยิบใช้ สำหรับเขา การเปลี่ยนอุปกรณ์เหมือนเป็นการได้ทดลองและค้นหา

อย่างไรก็ตามเขาชอบใช้สีดำสเก็ตช์ภาพมากเป็นพิเศษ เพราะให้ความรู้สึกที่แข็งแรง โดยใช้สีดำจากหมึกจีนเป็นหลัก บ้างก็มีการระบายลงไปในภาพสเก็ตช์ด้วยเพื่อให้มีโทนสีเทาๆเกิดขึ้น รวมถึงมีการสะบัดสีลงไปเป็นจุดๆ

โดยภาพสเก็ตช์ ภาพแรกๆของ KK คือภาพของหอนาฬิกา ที่ปีนัง นั่นเอง

จากการสังเกตผลงานของเขาบางคนบอกว่า KK ไม่ได้สเก็ตช์ภาพจากสิ่งที่เห็น แต่หลังจากที่เห็นสิ่งนั้น เขาได้นำมาจัดองค์ประกอบใหม่

“มีการเว้นบ้าง ลงรายละเอียดบ้างซึ่งทำให้ภาพไม่น่าเบื่อ แต่คนส่วนใหญ่เวลาเราไปนั่งสเก็ตช์ เรามักจะสเก็ตช์ตามที่เราเห็น โดยไม่ได้จัดการสิ่งที่เห็นออกมาเป็นรูปแบบที่สวยงามในแบบเฉพาะตัวของเรา แต่งานของ KK คือ Creative Sketch อยากให้มองถึงจุดนั้น” ปราโมทย์ แสดงความเห็น

เช่นกันเมื่อ อัสนี ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมภาพอาคารของ KK จึงดูบิดเบี้ยว คล้ายจะแตกสลายไม่เหมือนกับของจริงอย่างที่ตาเห็นเลย ทำไมเขาจึงวาดตึกเบี้ยวๆแล้วคนถึงบอกว่าสวยได้

KK ไขให้ฟังว่า ก่อนที่เขาหรือใครจะวาดแบบนี้ได้ คนๆนั้นต้องเข้าใจในพื้นฐานการวาดภาพเปอร์สเปคทีฟ (Perspective) จริงๆก่อน ต่อมาจึงจะสามารถบิดหรือตัดทอน หรือรื้อเพื่อสร้างภาพขึ้นมาใหม่ได้

“ผมไม่ได้วาดตัวตึกจริงๆแต่ผมวาดความรู้สึกที่ผมมีต่อตึกนั้นๆ”

KK กล่าว ซึ่งคำตอบสั้นๆเพียงเท่านี้ คงชัดเจนพอสำหรับคนที่ตั้งคำถาม ก่อนที่ KK จะร่วมกิจกรรมปิดท้าย คือการดวลสเก็ตช์ภาพ ระหว่างเขา กับ Sketcher ชาวไทย (อดีตน้องฮ่องเต้ ลูกศิษย์ครูสังคม ทองมี) กระทั่งมีเด็กหลายคนเข้าไปร่วมแจมในที่สุด ซึ่งได้สร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับผู้ชมที่มามุงชมอย่างล้นหลาม

โดยขณะที่ภาพของฮ่องเต้ ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก “มังกร” ภาพของ KK ก็ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก “คลองบางหลวง” สถานที่ซึ่งเขาได้แวะไปพักผ่อนและสเก็ตช์ภาพก่อนมาร่วมกิจกรรมพูดคุยในครั้งนี้

ก่อนที่หลายคนจะกลับบ้านไปพร้อมกับความรู้สึกที่ไม่ต่างจากสิ่งที่พิธีกรบางคนกล่าวปิดท้ายการพูดคุยกับ KK

“บนเส้นทางศิลปะของ KK ผลงานที่ผ่านมาของเขามันมีชีวิต เพราะมีการทดลอง ทำนู่น ทำนี่ มีการเปลี่ยนแปลง ทดลองใช้ ย้อนกลับไปกลับมา ไม่ใช่พอทำอะไรสำเร็จแล้วก็ทำไปอย่างนั้น ความสนุกจะไม่เกิดขึ้น

สังเกตเวลาเขาเล่า มันมีเรื่องที่เขาจดจำได้ และอยากจะบอกเรา ทุกอย่างมันคือชีวิตที่เขาสัมผัส กับมือ ตา และสมองมาตลอด ชีวิตของเขาไม่จำเจเลย”

ไม่เชื่อก็ลองแวะไปเยี่ยมชมเวบไซต์ของเขาดู คำแรกที่รอทักทายทุกคนเป็นด่านแรกคือคำว่า Happy sketching!

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ















ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It