Art Eye View

"ทองปาน" พบ "ทองหยอด" อวดผลงาน 2 ศิลปินไทย ผู้เคยไป “ เวนิส เบียนนาเล่”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ใครที่ไม่มีโอกาสไปไปชมผลงานของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

เมื่อครั้งถูกคัดเลือกให้เป็น 2 ศิลปินไทยที่ไปจัดแสดงผลงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 55” เมื่อปี 2556 ไม่ต้องเสียใจ

เพราะล่าสุด สยามเซ็นเตอร์ ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม นำผลงาน Installation Art ของทั้งคู่ มาจัดแสดงให้ชมใน นิทรรศการ Poperomia / Golden Teardrop
สองศิลปินถ่ายภาพร่วมกับ  เขมชาติ เทพไชย ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประธานเปิดนิทรรศการ พร้อมด้วย ศิริเพ็ญ อินทุภูติ รองกรรรมการผู้จัดการสายโฆษณา และประชาสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ในวันเปิดนิทรรศการ
Poperomia (พ๊อพเพอร์โรเมีย) โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผลงานงานชิ้นนี้ศิลปินสะท้อนถึงวัฒนธรรมกระแสนิยมที่ส่งผลต่อรากเหง้าของความเป็นสังคมเกษตรกรรมในบริบทดั้งเดิม

โดยใช้ผลงานวิดีโอจัดวางและประติมากรรมต่างๆ ทำหน้าที่แสดงบทบาทล้อเลียนเชิงสัญลักษณ์ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมงาน

พร้อมด้วยการจัดฉาย วิดีโอเรื่อง “ทองปาน” ภาพยนตร์กึ่งสารคดี ที่สร้างในปี 2519 เกี่ยวกับชาวนาอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนผามอง เพื่อพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง

เจ้าของผลงาน แสดงความเห็นว่า “ความเป็นไทย” อาจมีข้อสรุปหลากหลาย ตนจึงเลือกสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่มีอยู่จริงมานำเสนอผ่านรูปแบบของภาชนะที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อรับใช้วิถีการดำเนินชีวิตในสังคมเกษตรกรรมเรื่องราวของศาสนา ความเชื่อ และค่านิยม ตนจึงเลือกใช้ดินมาสร้างงาน โดยแฝงนัยยะว่าวัสดุนี้ไม่ได้แค่เกิดจากปัจจัย ทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เป็นปัจจัยที่ 5 ทำให้วัสดุนี้ต่างจากสิ่งอื่น

ดังนั้นในงานจึงเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถมีส่วนร่วมในการพันอิฐด้วยไหมพรม และเลือกไปวางในตำแหน่งต่างๆได้ เป็นการจำลองภาพของสังคมหนึ่งที่มีการรวมตัวและทำบางสิ่งให้เกิดขึ้น เหมือนเราคือผู้กำหนดทิศทาง แต่ท้ายสุดเราอาจเป็นเพียงอิฐหนึ่งก้อนที่หลงทางอยู่ในกระดานใหญ่ ไม่ได้ถูกไปรวมกับผู้อื่น

“ทุกวันนี้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม มีการเกิดขึ้นของระบบอุตสาหกรรมใหม่ๆ การสับสนกับตัวตน การเห่อตามกระแส แต่ดูถูกหรือมองข้ามสิ่งที่ปัจจุบันมี การส่งเสริมอย่างไร้รากฐาน การมองเห็นแค่ผิวแต่ไม่สนใจแก่น กระแสได้เข้ามาซึมซับในสิ่งที่ตัวเองเป็นซึ่งอาจต้องตั้งคำถามทุกวันว่า ตัวตนของตัวเองคืออะไร ดังนั้นควรหาคำตอบว่าสิ่งที่เป็นฐานของการกำเนิดแต่ละสังคมคืออะไร แล้วเอาความถนัดที่ตนเองมีมาพัฒนาสร้างการเปลี่ยนแปลง และการที่งานศิลปะได้อยู่ในพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่สถานที่จำเพาะแบบหอศิลป์เท่านั้น ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้สัมผัสและเข้าชมผลงานได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นตัวเชื่อมถึงการรับรู้และทำให้เกิดการอยากเรียนรู้ด้านศิลปะต่อไปในอนาคต” วศินบุรีกล่าว

ด้าน อริญชย์ รุ่งแจ้ง กล่าวถึงผลงานชื่อ Golden Teardrop (โกลเด้น เทียร์ดร็อป) ของเขาว่า เริ่มทำงานชุดนี้ ตอนอยู่ที่นิวยอร์ก โดยมีแนวคิดมาจากความสัมพันธ์ระหว่างพรมแดนในทางภูมิศาสตร์ ผ่านประวัติศาสตร์การเดินเรือการค้าในแบบ Old Globalization Platform (โอลด์ โกลบอลไลเซชั่น แพลทฟอร์ม) ผสมกับการหาข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์ คือการทำไร่อ้อยน้ำตาลในแถบอเมริกาใต้ และขนมทองหยอดของไทยที่เดินทางมาจากโปรตุเกสเมื่อกว่าร้อยปีที่ผ่านมา

เมื่อทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เชิญให้เข้าร่วมแสดงงานที่เวนิสภายใต้หัวข้อ “ครัวไทย” จึงนำพื้นฐานความคิดนี้มาต่อยอด เพราะมีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์และการตีความเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

อริญชย์ กล่าวด้วยว่า งานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอผลงานผ่านประติมากรรมในรูปแชนเดอเลียร์ ประกอบด้วยเม็ดทรงกลมคล้ายทองหยอดทำจากทองเหลืองกว่า 6,000 เม็ด

ควบคู่กับการจัดวางวิดีโอ บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวชาวญี่ปุ่นในยุคโบราณ การเดินทางของนักผจญภัยชาวกรีกที่มาตั้งรกรากที่ประเทศสยาม และเบื้องหลังของการทำ “ทองหยอด” หรือที่เรียกว่า “โอโวส โมเลส” (Ovos Moles) ขนมหวานที่คิดค้นโดยแม่ชีชาวโปรตุเกสเมื่อปี ค.ศ. 1500 ผสมผสานประวัติศาสตร์ความเป็นมาของน้ำตาล สินค้าโภคภัณฑ์เปลี่ยนโลก เนื่องจากได้มีการยกสถานะของน้ำตาลให้มีความสำคัญเพิ่มขึ้น เกิดการค้าขายน้ำตาลในยุโรปจนกลายเป็นที่รู้จักในเวนิส ส่งผลถึงการย้ายถิ่นฐานของแรงงานอย่างรวดเร็ว รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติจากโลกใหม่ที่ประเคนให้กับวิถีชีวิตหรูหราของคนในโลกยุคเก่า

“ในผลงาน Golden Teardrop คือการนำเสนอภาพของความไม่สมประกอบของประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่เป็นความพยายามเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด เหมือนเอาประวัติศาสตร์มากองไว้บนโต๊ะ แล้วขึ้นอยู่กับการเลือกที่จะเก็บ หรือปะติดปะต่ออะไรก็ตามที่มันอยู่บนโต๊ะ

สำหรับผมไม่ใช่เรื่องของการปรุงประวัติศาสตร์ขึ้นมา เช่น การใช้สิ่งที่มีมาก่อนเพื่อที่จะให้มันเป็นทิศทางกำหนดสิ่งที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน แล้วค่อยมาเชื่อมต่อเข้ากับอนาคต ฝ่ายที่เชื่อความจริงคนละชุดก็ตีกัน นั่นคือ ความลักลั่นไม่ลงรอย หากเอาประวัติศาสตร์มาต่อยอดเพื่อให้เห็นอนาคตแล้วมันไม่มีทิศทาง ด้วยความที่ว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มันเคยมีอำนาจมากๆ ถูกแทรกแซงเกลื่อนทับด้วยข้อมูลที่มันล้น จึงเกิดความประดักประเดิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ ทำให้เราไม่สามารถวาดแผนที่ทางประวัติศาสตร์ได้ ดังนั้นในผลงานจะสะกิดคนดูให้ตระหนักถึงตำแหน่งของความฉงนสนเท่ห์ต่อภาพ สิ่งที่เป็นปริศนา และ ความกระอักกระอ่วนในใจ” อริญชย์กล่าว

นิทรรศการ Poperomia / Golden Teardrop วันนี้ – 28 สิงหาคม พ.ศ.2558 ณ ห้องแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์








ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It