Art Eye View

ยิ้มกว้างไปกับ “ศิลปะปะติดภาพคนดังระดับโลก” ที่คุณชื่นชม ชื่นชอบ และยี้

Pinterest LinkedIn Tumblr

คิม จอง อิล
ART EYE VIEW—“สัปดาห์ที่เกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ไทม์โทรศัพท์มาขอให้ผมวาดภาพผู้นำเกาหลีเหนือให้เสร็จใน 48 ชั่วโมง
ในแง่หนึ่งเส้นตายช่างแสนโหดร้าย แต่โชคดีที่หน้าตาท่านผู้นำดูเหมือนการ์ตูนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยทำให้งานของผมง่ายขึ้น เห็ดที่ผมซื้อมาจากตลาดในบาร์เซโลนา กลายเป็นวัสดุที่เหมาะเจาะสำหรับงานนี้”

คือความเป็นมาของผลงานศิลปะปะติดซึ่งนำเสนอภาพของ คิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่เจ้าของผลงาน ฆาน็อค พิเวน ศิลปินชาวอิสราเอล สร้างสรรค์เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์ เมื่อ ปี 2550

และเป็น 1 ในจำนวนผลงานทั้งหมด 40 ชิ้น ที่พิเวนรวมรวมมาจัดแสดงในนิทรรศการ “โลกของพิเวน: ศิลปะหรรษาของ ฆาน็อค พิเวน” ระหว่างวันนี้ – 28 กันยายน พ.ศ.2557 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตอิสราเอล-ไทย

นิทรรศการได้แนะนำพิเวน แก่ผู้ชมทุกคนที่เหยียบย่างเข้าไปชมผลงานของเขาว่า

“ฆาน็อค พิเวน เป็นศิลปินชาวอิสราเอล ผู้โด่งดังจากการนำภาพบุคคลที่มีชื่อเสียงมาล้อเลียน และจากผลงานอื่นๆจำนวนมาก ผลงานศิลปะของพิเวนเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และอารมณ์ขัน เขาสร้างความหมายใหม่ให้แก่สิ่งของธรรมดาสามัญ อาทิเช่น เนื้อบด นวมต่อยมวย กล้วย ปลารมควัน สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆน้อยๆของวัสดุที่พิเวน นำมาใช้เพื่อสื่อถึง บุคคลที่เป็นแบบ

ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ภาพบุคคลที่มีสีสันสดใส และเต็มไปด้วยไหวพริบของพิเวน ปรากฎในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น ไทม์ นิวส์วีค โรลลิงสโตน เดอะนิวยอร์คไทม์ เดอะวอชิงตันโพสต์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์อีกหลายฉบับในยุโรป

ในอิสราเอล พิเวนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากการร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ฮาอาเร็ตซ์มาอย่างยาวนาน รวมทั้งจากหนังสือขายดีหลายเล่ม และจากรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก

ศิลปะของพิเวนซึ่งสร้างจากสิ่งของที่พบในชีวิตประจำวัน กระตุ้นให้เราต้องมองโลกในแง่มุมที่ชวนหัวขบขัน และดึงผู้ชมให้มีส่วนร่วมไปด้วย

โรงเรียนและสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วอิสราเอล รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ใช้เทคนิคภาพปะติดของเขา เพื่อช่วยให้เด็กๆ เข้าใจและเข้าถึงการสื่อสารเชิงทัศนศิลป์

พิเวนนำเสนอผลงานระดับนานาชาติ ทั้งในกรุงวอชิงตัน ดีซี(หอสมุดรัฐสภา) ลอส แองเจลลิส ซานฟรานซิสโก กรุงปราก กรุงโรม กรุงบัวโนสไอเรส เซาเปาโล และเมืองอื่นๆอีกมากมาย

และในช่วง 10 ปีที่ผ่าน พิเวนเริ่มบทบาทการเป็นวิทยากร ที่มากด้วยอารมณ์ขันและตรึงความสนใจผู้ฟังได้อย่างเหนียวแน่นในการอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ ทั้งยังเป็นผู้ปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจในการรังสรรค์สิ่งแปลกใหม่ ในหมู่นักการศึกษา ผู้บริหารและผู้นำในสาขาต่างๆ

การอบรมเชิงปฏิบัติการเหล่านี้ อาศัยหลักศิลปะปะติดของพิเวน เพื่อกระตุ้นให้เด็กและผู้ใหญ่ทดลองใช้ สิ่งของจากชีวิตประจำวันมาสร้างงานศิลปะของตนเอง นอกจากผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสประสบการณ์การสร้างสรรค์ที่ง่ายและสนุกแล้ว งานอบรมเชิงปฏิบัติการณ์เหล่านี้ ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มนักการศึกษา นักศิลปะบำบัด และที่ปรึกษาผู้บริหาร ด้วยการนำความสนุกสนานมาเป็นเครื่องมือสื่อสาร”
เบโธเฟน

ชื่นชม ชื่นชอบ หรือรู้สึกยี้ เหล่านี้อาจเป็นความรู้สึกแตกต่างกันไปที่ทุกคนมีต่อบรรดานักคิด ผู้นำของประเทศต่างๆ นักดนตรี นักแสดง หรือคนดังในระดับโลกที่เราต่างรู้จักกันดี

แต่หากทุกคนได้สัมผัสกับบุคคลเหล่านั้น ผ่านงานศิลปะปะติดภาพบุคคลของพิเวน ความรู้สึกย่อมเป็นไปในทิศทางทางเดียวกันนั่นคือ รู้สึกขำ กับความช่างเข้าใจล้อเลียนของพิเวน ที่มีต่อคนดังเหล่านี้ รู้สึกรักและยิ้มให้ได้แม้กับภาพของบุคคลที่คุณอาจรู้สึกเกลียด และยิ่งรักและมีความสุขจนทำให้ฉีกยิ้มกว้างมากขึ้นไปอีกเมื่อได้ไปยืนจ้องอยู่กับภาพบุคคลที่พิเวนได้เลือกคนดังที่คุณชื่นชมและชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วมาล้อเลียนผ่านภาพศิลปะปะติดของเขา

ยกตัวอย่างอีกสักสองภาพเช่น ภาพของเบโธเฟน ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารดัลลัส มอร์นิ่งนิวส์ เมื่อปี 2553

“ผมชอบมากเวลาที่ของชิ้นเล็กๆกลายมาเป็นความประหลาดใจ เหมือนอย่างนัยน์ตาสองข้าง/ลูกระเบิดในภาพเบโธเฟนภาพนี้ ปากกาคอแร้งที่ปากของเขา เป็นด้ามที่ผมเคยใช้สมัยก่อนที่ยังวาดรูปด้วยปากกาและหมึก”
บ็อบ ดีแลน
ภาพเหมือนศิลปิน
และภาพของบ็อบ ดีแลน ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารโรลลิง สโตน เมื่อปี 2538

“วินาทีที่ผมเห็นหลอดไฟรูปทรงประหลาดเหล่านั้น ผู้รู้ได้ทันทีว่านี่คือจมูกของดีแลน หีบเพลงปากจิ๋วในห้องทำงานผม กลายมาเป็นปากของเขา พื้นหลังสีเทาเน้นความสว่างจากใบหน้าของดีแลน ภาพนี้เป็นหนึ่งในงานชิ้นโปรดของผม โรลลิง สโตน จัดภาพนี้เอาไว้ในรวมงานภาพบุคคลที่ดีที่สุดของนิตยสาร”

และภาพเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลี เมื่อปี 2536
“ในช่วงสัปดาห์ที่ผมรับงานชิ้นนี้ ผมเผลอเอาเขียงไม้ใส่เข้าไปในเครื่องล้างจาน เขียงแตกออกมาเป็นสามเสี่ยง ผมกำลังทำงานชิ้นนี้อยู่พอดี ก็เลยคิดได้ว่าไม้ชิ้นนี้นี่คงเหมาะกับการเอามาทำส่วนศรีษะ ช่างเป็นสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยความบังเอิญจริงๆ ถุงชาถุงเดียวที่เหลืออยู่ในบ้านขณะนั้นคือชาปริ๊นซ์ออฟเวลล์เสียด้วย”

ขณะที่ภาพล้อเลียนตัวศิลปินเอง ซึ่งปะติดขึ้นเมื่อปี 2551 จากของเล่นและแว่นขยาย พิเวนกล่าวถึงภาพนี้ที่พลอยทำให้ผู้ชมเข้าใจงานศิลปะของเขามากขึ้นว่า มีต้นธารมาจากอะไร

“ผมเป็นคนช่างสงสัยและขี้เล่น ก็ช่วยไม่ได้จริงๆที่ภาพจะออกมาเป็นแบบนี้”

นอกจากงานศิลปะปะติดเป็นภาพบุคคล ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ เนื่องจากพิเวนไม่ต้องการให้ทุกคนเป็นผู้ชมที่ปราศจากบทบาท แต่อยากให้มีส่วนร่วมด้วย เขายังได้สร้างกำแพงที่ทำให้ผู้ชมสามารถสร้างสรรค์ภาพเหมือนของตัวเอง และงานแบบอื่นๆโดยใช้สิ่งของนานาชนิดที่นิทรรศการจัดหามาให้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งของเหล่านั้นเป็นสิ่งของที่เราสามารถพบเห็นและหามาได้จากใกล้ๆตัว

















ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It