Art Eye View

“พ่ออังคาร ผู้มาจากดาวโลก” อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—“หลายคนอาจรู้จัก “ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์” ในมุมของกวีและจิตรกร ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่ธรรมดา แปลก เพี้ยน หรือจะด้วยความใดๆ ตามแต่ละมุมมองของแต่ละคน หลายแหล่งข้อมูลกล่าวถึงท่านอังคารในฐานะผู้มีคุณประโยชน์ต่อสังคม ใครอาจมองว่าชายคนนี้เข้าถึงยาก แต่ในอีกมุมหนึ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น ท่านอังคารก็มีชีวิตเหมือนคนทั่วไป และยังมีสถานะ “พ่อ” ที่น่ารัก เมื่อความเป็นพ่อรวมเข้ากันกับความอ่อนไหวแห่งวิสัยกวี ย่อมมีเรื่องอะไรให้จดจำมากมาย ทั้งบนความระทึกและนิ่งงัน”

คือคำนำส่วนหนึ่งของหนังสือ “พ่ออังคาร ผู้มาจากดาวโลก” ถูกเขียนขึ้นและลงทุนพิมพ์เองโดย ขวัญ – อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ลูกคนที่สองของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ปี 2532 ,รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ (S.E.A. Write ) ปี 2529 จากผลงานกวีรวมเล่ม “ปณิธานกวี” ผู้มีผลงานโดดเด่นทั้งในด้านกวีนิพนธ์และภาพเขียน และเสียชีวิตไปเมื่อปี 2555


สักวันเราแก่ไป จะยังได้ดูอยู่เรื่อยๆ

ซึ่งหนังสือเล่มนี้ขวัญบอกว่าเป็นผลผลิตจากความชอบของตนเองที่ชอบจะบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวันของพ่อเก็บไว้ในทุกอิริยาบถ

“ตอนที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ ขวัญจะชอบถ่ายภาพในทุกอิริยาบถของพ่อ ไม่ว่าจะตอนไปโรงพยาบาล อยู่บ้านทำอาหาร พูดคุย นอน ทำงาน ขวัญจะถ่ายทั้งภาพนิ่งและวิดีโอเก็บไว้

แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะนำมาทำเป็นหนังสือ พอพ่อเสีย ด้วยความที่เราอยากจะบันทึกเรื่องราวในความทรงจำของเราที่มีต่อพ่อเก็บไว้ เพราะกลัวว่านานไปจะลืม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พ่อเขาสอนเรา พ่อเขาเลี้ยงและสอนเรายังไง หรือว่าบรรยากาศในบ้าน

พ่อเคยเล่าให้ฟัง ตอนเด็กๆ เวลาแม่ไม่อยู่ ก็จะให้อยู่กับพ่อแทน หรือเรื่องน่ารัก ตลกๆ ที่เล่ากันเองระหว่างพ่อลูก ค่อนข้างส่วนตัว แต่ขวัญมองว่ามันค่อนข้างลึกซึ้ง สิ่งที่ขวัญเห็นเกี่ยวกับพ่อ มันเยอะมาก ก็เลยคิดว่าน่าจะทำเป็นหนังสือ

นอกจากนี้มันมีอีกหลายสิ่งเกี่ยวกับพ่อที่คนเขาไม่รู้ หรืออาจจะเป็นเรื่องที่คนเขาเข้าใจผิด เช่นเหตุการณ์เป็นแบบนี้ แต่พอขวัญถามพ่อ มันไม่ใช่”

ลูกๆส่วนใหญ่ต่างก็รักพ่อด้วยกันทั้งนั้น แต่ใช่ว่าทุกคนจะบันทึกภาพพ่อในทุกอิริยาบถเก็บเอาไว้ ซึ่งกรณีของขวัญเป็นเพราะอะไรนั้น เธอตอบว่า

“เป็นความรู้สึกที่เราคิดถึงพ่อมากกว่า ทั้งที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ เหมือนเป็นช่วงที่เรารู้แล้วว่าพ่อเป็นคนที่ไม่ธรรมดา คนอื่นอาจจะบอกว่าพ่อไม่ธรรมดาอย่างที่เขามอง แต่เรารู้สึกว่าพ่อมีอะไรที่พิเศษ ทั้งความเป็นพ่อที่น่ารักและมีความลึกซึ้งด้วย เราได้เห็นอิริยาบถของพ่อ เขาจะเป็นคนที่มีความละเอียดอ่อนมาก เป็นคนช่างคิดมากๆ ทำให้เราอยากเก็บช่วงเวลาที่พ่อเขาทำงาน หรือทำอะไรก็แล้วแต่ สักวันเราแก่ไป จะยังได้ดูอยู่เรื่อยๆ”


ประวัติพ่อ แทรกความรู้สึกลูก

เนื้อหาในหนังสือ เริ่มดำเนินเรื่องราวนับตั้งแต่คืนวันสุดท้ายที่โรงพยาบาลก่อนที่ท่านอังคารจะเสีย แล้วเล่าย้อนกลับไปถึงตอนที่เกิดและเติบโตที่นครศรีธรรมราช, เข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ,ช่วงทำงานกับศิลปินอย่าง อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์,พบ “อุ่นเรือน” ผู้เป็นภรรยา , เริ่มทำงานจิตรกรรม เขียนบทกวี,มีลูก,วิธีการสอนลูก,เริ่มป่วย แล้วย้อนกลับมาที่เหตุการณ์คืนวันสุดท้ายที่โรงพยาบาลอีกครั้ง

“มีสิ่งที่คนไม่รู้ว่าก่อนพ่อเสียเป็นยังไง ร่างกายเป็นยังไง ทำไมถึงจากไป รวมถึงช่วงที่พ่อเขาเริ่มจะจำอะไรไม่ค่อยได้ แต่พ่อเขาก็พยายามที่จะสอนเรา ซึ่งเป็นคำสอนที่ทำให้เราอึ้ง ขนาดคนที่ไม่ค่อยจะมีสติแล้ว ก็ยังพยายามจะสอนอะไรเรา และลึกซึ้งมาก

บางทีลุกขึ้นมาตอนตีสี่อะไรอย่างเงี้ย เราก็อึ้งอะค่ะ เป็นต้นว่า พ่อพยายามจะเล่นเกมทายคำถามกับเรา เหมือนเขาจะพยายามฟื้นความทรงจำ พยายามจะทายว่าพวกเรากำลังทำอะไรอย่างนี้ ซึ่งขวัญก็ทายไปเรื่อยๆ แต่ก็ทายไม่ถูกสักที พอเราบอกให้เขาเฉลย เขาก็พูดในสิ่งที่ลึกซึ้งมากในความคิดเรา”

อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือในแบบที่ลูกสาวคนหนึ่งเขียนเล่าเรื่องราวของพ่อให้คนอื่นรับรู้เพียงอย่างเดียว แต่ในทุกช่วงตอนของเนื้อหายังมีการแทรกความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนลงไปด้วย

“ขวัญพยายามแทรกความรู้สึกนึกคิดของเราเข้าไป รวมไปถึงหลังจากที่คุณพ่อเสียไปแล้ว ขวัญมีความรู้สึกยังไง นำคำสอนของพ่อมาใช้ยังไง และเราพยายามจะขัดเกลาตัวเองในเรื่องอะไรบ้าง”


อยากให้คนอื่นได้รู้เกี่ยวกับพ่อในมุมที่น่ารัก

ทว่าไม่ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เป็นข่าวไปเมื่อไม่นาน กรณีผลงานศิลปะของท่านอังคาร ถูกลูกจ้างภายในบ้านขโมยไปขายให้ร้านทำกรอบรูป

“เพราะช่วงที่ขวัญเขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นช่วงที่เนื้อหาในหนังสือค่อนข้างจะลงตัวแล้ว เขียนก่อนที่จะทราบเหตุการณ์

และขวัญอยากให้หนังสือเล่มนี้ สื่อไปในเรื่องที่เป็นเชิงบวกมากกว่า อยากให้คนอื่นได้รู้เกี่ยวกับพ่อในมุมที่น่ารัก และถ้าเกิดเอาเรื่องนั้นมาลงในหนังสือ ขวัญคิดว่ามันก็จะดูเป็นเราพยายามหาจุดขาย ซึ่งขวัญมองว่ามันไม่ค่อยเหมาะสม
และจริงๆแล้ว หนังสือเล่มนี้มันค่อนข้างจะเป็นหนังสือส่วนตัวของขวัญ ที่อยากจะเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก

พ่อเขาจะเป็นคนน่ารักเวลาอยู่ที่บ้าน นอกจากคำสอนที่เขาจะมีมาสอนเราได้ตลอดเวลาทั้งในเวลากินข้าวอยู่ หรือขณะพูดอะไรขึ้นมา เพื่อเป็นแง่คิดให้เรานำไปคิดต่อเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีเกิดขึ้นทุกวันอยู่แล้ว

หรือบางทีเราทำงานอยู่ พ่อเปิดประตูเข้ามานั่งเล่นกับเราในห้อง คนอื่นอาจจะมองเห็นท่านอังคารในแง่มุมที่ โอ้โห..อย่างนั้นอย่างนี้ แต่พ่อก็เป็นพ่อคนหนึ่งที่คลุกคลีกับลูก มีความเป็นเบสิก ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร และสอนให้เราฝึกใช้ความคิด”

ไม่ได้มาจากดาวอังคาร
“พ่ออังคาร ผู้มาจากดาวโลก”

“พ่ออังคาร ผู้มาจากดาวโลก” ขวัญบอกถึงเหตุผลที่เลือกใช้ชื่อนี้เป็นชื่อหนังสือว่า

“ตอนเด็กๆเพื่อนชอบล้อชื่อพ่อชื่อแม่กัน ซึ่งเพื่อนของขวัญก็ชอบจะล้อว่า อังคารๆ มาจากดาวอังคาร ซึ่งตอนนั้นเราก็เซ็ง พอมาตอนนี้พยายามนึกชื่อเพื่อตั้งเป็นชื่อหนังสือ เราก็นึกถึงไปเรื่องที่เพื่อนล้อ แล้วความรู้สึกของเราเองที่รู้สึกว่า พ่อไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว ที่มาจากดาวอังคาร หรือดาวไหนๆ เป็นคนธรรมดาที่อยู่บนโลกนี้ แต่คนชอบไปตั้งสถานะให้ว่าแปลก เพี้ยน หรือบางทีก็เว่อร์ไปในความรู้สึกของเรา”

หน้าปกหนังสือถูกออกแบบโดยใช้ภาพถ่ายจากด้านหลังของผู้เขียนขณะที่ยังเป็นเด็กและติดตามไปดูพ่อเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานในสถานที่จริง ซ้อนทับกับภาพถ่ายของพ่อซึ่งถ่ายจากด้านหลังเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้นำบทกวีบางบทที่เขียนด้วยลายมือของพ่อ มาพิมพ์ซ้อนทับลงไปบนปกด้วย

“ขวัญไม่อยากสื่อให้เห็นหน้าเต็มๆ เราไม่อยากขายแบบนั้น และการที่เลือกใช้ภาพที่ดูเหมือนเรามองตามพ่อ ขวัญรู้สึกว่ามันได้อารมณ์ แม่เป็นคนถ่าย เป็นภาพตอนที่ขวัญอายุ 6-7 ขวบ เวลาพ่อไปดูโบราณสถาน ขวัญก็จะไปด้วย ทั้งอยุธยา สุโขทัย ศรีสัชนาลัย

ส่วนบทกวี ขวัญเลือกชิ้นที่จะนำมาใช้ออกแบบเป็นหน้าปกได้ค่อนข้างลงตัวที่สุด เอามาเป็นกลิ่นอายของปกแค่นั้น คนอาจจะอ่านได้ไม่ถนัดหรอก แต่เห็นลายมือแล้วสามารถจำได้ว่านี่คือลายมือของท่านอังคาร”

และเมื่อเปิดเข้าไปอ่านเนื้อหาภายในเล่ม ก็จะพบว่ามีทั้งบทกวีของท่านอังคาร ภาพเขียน ภาพถ่ายเก่าๆ และภาพถ่ายซึ่งถูกถ่ายโดยผู้เขียนแทรกอยู่ตามส่วนต่างๆของเนื้อหา

“ส่วนใหญ่ขวัญจะลงภาพมากกว่า ส่วนบทกวีที่เลือกมาจะพยายามเลือกที่ค่อนข้างสื่อกับเนื้อหาในแต่ละบท เช่น ช่วงที่พ่อจะมาเรียนกรุงเทพฯ ก็จะเป็นบทกวีที่พ่อแต่งขึ้นสดๆตอนที่นั่งอยู่บนรถไฟ หรือว่าช่วงที่มาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ ลำบากมากต้องกินข้าวบูดจากก้นหม้อ

แต่ขวัญจะค่อนข้างประทับใจภาพถ่ายที่นำมาใช้ในหนังสือมากกว่า เพราะ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นภาพที่ขวัญถ่ายเอง ส่วนภาพถ่ายอื่นๆ ก็เป็นภาพเก่าๆ ที่ก็น่าสนใจมากๆเช่นกัน เพราะภาพจำนวนไม่น้อยหลายคนไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ภาพที่พ่อกำลังกระโดดบนภูกระดึง เป็นโมเม้นท์ที่ขวัญรู้สึกว่าพ่อน่ารัก

หรือภาพตอนเด็กๆที่เราขอขี่หลังพ่อ ซึ่งพ่อเขาจะยอมเราแป๊บนึง แล้วก็บอกว่าไม่ไหวแล้ว

หรือว่าภาพที่ขวัญแอบถ่ายพ่อ ตอนหลับ ตอนทำงาน ซึ่งภาพเหล่านี้ขวัญจะเป็นคนถ่ายเองทั้งหมด เพราะพ่อไม่ชอบให้ใครเข้ามายุ่งตอนทำงาน และยังมีภาพอีกเยอะมากที่ขวัญถ่ายและส่วนตัวกว่านี้ ทั้งตอนกำลังเดิน ทำงาน จุ่มน้ำหมึก มีหมดเลย

ส่วนภาพเขียน ส่วนหนึ่งเป็นภาพที่พ่อเขียนภาพขวัญ พ่อเขียนภาพขวัญเอาไว้มาก ภาพน้องสาวจะไม่ค่อยมีเพราะน้องเกิดในช่วงที่พ่อจะทำงานกวีเป็นส่วนมาก

ในบรรดาลูก พ่อเขียนภาพขวัญเยอะที่สุด ขวัญจะเป็นเด็กคิ้วตวัด พ่อมองว่าเป็นจุดเด่นของเรา และตอนมีชีวิตอยู่พ่อจะชอบพูดถึงคิ้วเรามาก”




ทุกอย่างที่เป็นเค้า มันเลี้ยงเรามา

หนังสือเล่มนี้ จัดว่าเป็นผลงานหนังสือเล่มแรกของอ้อมขวัญ แม้ที่ผ่านมาเธอจะมีเคยผลงานเขียนตีพิมพ์มาแล้วบ่อยครั้งทั้งตามนิตยสารและสำหรับนิทรรศการศิลปะ นอกเหนือจากการเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาออกแบบ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ,กราฟิกดีไซเนอร์ และรอง บก.ของนิตยสาร free copy บางฉบับ

อีกทั้งเป็นการตัดสินใจลงทุนพิมพ์เอง โดยไม่นำไปเสนอที่สำนักพิมพ์อื่นมาก่อนด้วย

“เพราะขวัญไม่ได้อยากให้มันเป็นเรื่องของธุรกิจขนาดนั้น และเราอยากคุมเอง เพราะคนที่ทำเขาก็คงไม่รู้เท่าเรา วางภาพตรงไหน ตำแหน่งภาพที่เข้ากับเรื่องราว

และการทำอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งมันอาจจะดูจุกจิก เพราะเราอยากให้ภาพและเนื้อหาออกมาในแบบที่เราอยากจะเห็นมากที่สุด

และเราก็รู้สึกด้วยว่า เราก็ทำเองได้ เพราะเราก็ทำงานกราฟิกดีไซน์ ก็เลยคิดว่าทำเองดีกว่า ปัญหาคือเราต้องออกทุนเอง เท่านั้นเอง”

ในบรรดาลูกของท่านอังคารทั้ง 3 คน นอกเหนือจาก พี่ชาย (ภูหลวง) และน้องสาว (วิสาขา)

อ้อมแก้ว ซึ่งเป็นลูกคนกลางไม่เพียงแต่เป็นผู้ถูกมอบหมายให้เป็นดูแล พิพิธภัณฑ์จิตรกรกวี “อังคาร กัลยาณพงศ์” ในอนาคต แต่ยังเป็นผู้ที่น่าจะได้รับอิทธิพลในแง่ความเป็นศิลปินมาจากพ่อมากที่สุดก็เป็นได้

“ขวัญเป็นคนชอบเขียน ชอบวาดรูป ตั้งแต่เด็กแล้ว เขียนกลอนก็เขียนตั้งแต่เด็กๆแล้ว แต่ไม่ได้เขียนต่อเนื่อง และไม่ใช่ในแนวของพ่อ

เราเป็นคนชอบคิดชอบเขียนและทำงานที่เกี่ยวกับด้านนี้มาตลอด ที่ต้องใช้การเขียน ใช้ความคิด และขวัญเป็นคนชอบเขียนบันทึกประจำวันด้วย รวมไปถึงชอบถ่ายรูป ชอบเก็บบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพ่อ มันก็เลยน่าจะเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของหนังสือเล่มนี้ด้วย”

ขณะที่ความผูกพันของเธอกับพ่อที่แตกต่างไปจากพี่น้องคนอื่นๆ และสิ่งที่พ่อมองมายังเธอ ขวัญได้บอกเล่าว่า…

“ในช่วงที่เป็นเด็ก ขวัญจะเป็นลูกที่ห่างจากพ่อและแม่มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงที่พ่อต้องไปทำงานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา ขวัญจะถูกปล่อยให้อยู่ที่นั่น เรียนประถมที่นั่น และพ่อเขาก็จะต้องไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯ กับพะเยา เราก็เลยเหมือนถูกปล่อย แต่ก็มีคนดูแล
ทำให้ขวัญมีช่วงเวลาที่ต้องอยู่กับตัวเอง ทำให้มีนิสัยที่อาจจะไม่เหมือนเด็กคนอื่น โตมาก็ไปเรียนโรงเรียนประจำ มีช่วงหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ที่บ้าน แต่พอหลังจากนั้นก็จะอยู่กับพ่อที่บ้านตลอด

และสิ่งที่พ่อเขามองเรา เขาค่อนข้างจะมองว่าเราเป็นคนที่เข้มแข็ง ดูแลตัวเองได้ดี มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งตรงจุดนี้พ่อเขาจะพูดบ่อย

ถ้าเทียบกับคนปกติทั่วไป จริงๆพ่อน่าจะเป็นรุ่นปู่ของขวัญได้แล้ว พ่ออายุประมาณ 50 กว่าถึงจะมีขวัญ แต่จริงๆขวัญไม่เคยคิดเลยนะว่าพ่อแก่ ไม่รู้สึกเลย แต่รู้สึกว่านี่คือพ่อเรา เป็นพ่อที่ดีและให้อิสระกับเราในการที่จะทำอะไร ไม่บังคับเรา สอนให้เราคิด และจะมีอะไรแปลกๆให้เราเห็นตลอดเวลา

ทุกอย่างที่เป็นเค้า มันเลี้ยงเรามา เลี้ยงความคิด ความรู้สึกเรา มันก็เลยทำให้เราอาจจะเป็นคนช่างคิด ชอบจินตนาการ

และเวลาที่เค้าพูดกับคนอื่น เราก็ได้ซึมซับในสิ่งที่เขาพูด บางทีมันก็เข้ามาหาเราโดยที่เราไม่รู้ตัว กลายเป็นว่าเราค่อยๆใช้ชีวิตไปตามสิ่งที่เขาสอน”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

ขอเชิญท่านที่สนใจเข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “พ่ออังคาร ผู้มาจากดาวโลก”

ผู้แต่งเป็นลูกสาวที่บันทึกเหตุการณ์และแสดงแง่มุมชีวิตส่วนตัวน่ารัก เรื่องราวหลายอย่างที่ไม่ค่อยมีคนรู้ พร้อมภาพความทรงจำที่ไม่เคยมีใครเห็น

ภายในงานมีฉายวิดีโอขนาดสั้นบันทึกมุมส่วนตัวน่ารัก แสดงตัวตนในอีกแง่มุมของท่านอังคารที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน และร่วมพูดคุยกับ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ผู้แต่งหนังสือ

งานจัดขึ้นใน วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ.2557 เวลา 17.00-19.00 น. ณ ร้าน Dialogue Coffee and Gallery ถ.พระสุเมรุ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ormkaew@gmail.com
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It