Art Eye View

วัยขึ้นสะพานพระราม 7 “อยู่กับตัวเองให้มาก คิดถึงตัวเองให้น้อย”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ชีวิตให้ชีวิตเป็นปริศนา
เวลาให้เวลามาทุกสมัย
ช่วงวัยสังวรช่วยสอนวัย
ให้รู้เห็นเป็นไปในธรรมดา
วัยเยาว์เจ้าเอ๋ยมาเลยล่วง
หนุ่มสาวเป็นห่วงให้ห่วงหา
วันนี้มีแต่แก่ชรา
รำลึกวันผ่านมาให้อาวร

ART EYE VIEW—เสียงอ่านบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และกวีรางวัลซีไรต์

คลอไปพร้อมกับเสียงเด็กหญิง ภายในนิทรรศการ “นับเท้า นับทาง” นิทรรศการแสดงผลงานภาพถ่ายของ แก้วเก้า พงษ์ไพบูลย์ ทายาทของเนาวรัตน์ ผู้ต้องการแบ่งปันภาพชีวิตของวัยชราที่เขาเคยได้ไปสัมผัสมา

โดยแรงบันดาลใจที่ทำให้แก้วเก้า ใช้เวลาปีกว่าไปกับการตระเวณถ่ายภาพคนชรา เพราะได้อ่านหนังสือเรื่อง “เวลา” ของ ชาติ กอบจิตติ ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์

จึงทำให้แก้วเก้าสงสัยว่า “คนชรา” โดยเฉพาะในส่วนที่ถูกทอดทิ้ง ให้มีชีวิตอยู่ไปวันๆตามบ้านพักคนชรามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

และเมื่อได้ไปสัมผัส จึงเกิดเป็นภาพถ่ายที่นอกจากทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความเปลี่ยวเหงาของคนชราเหล่านี้ ยังทำให้รับรู้ว่า ชีวิตในแต่ละวัน ตื่นมาเริ่มต้นและวนเวียนอยู่กับกิจกรรมไม่กี่อย่าง

“เริ่มตอนตีห้า ยี่สิบก้าวไปที่ห้องน้ำ อีกห้าสิบก้าวไปที่โรงอาหาร อีกยี่สิบเก้าไปที่สถานที่พักผ่อน ตอนหกโมงเย็น อีกห้าสิบก้าวกลับไปที่ห้องนอน”

จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการที่ต้องการสื่อว่า คนชราเหล่านี้ช่วยตัวเองได้ไม่มากไปกว่า “นับเท้า นับทาง”


“เนื่องจากว่าเราเองก็ขึ้นสะพานพระราม 7 แล้ว อายุ 70 กว่า ฉนั้นเราก็อยู่ในช่วงวัยชราเหมือนกัน นอกจากตะหนักถึงตัวเองแล้ว เราก็ต้องคิดด้วยว่าคนที่ร่วมสังคมกับเรา ร่วมวัยเดียวกับเรา วัยที่ขึ้นสะพานพระราม 7 เหมือนกันนี่แหล่ะ เราน่าจะตะหนักถึงความสำคัญว่าเราจะยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกันอย่างไร ปกป้องสิทธิที่เราควรจะมีกันอย่างไร”

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอกถึงเหตุผลอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดนิทรรศการครั้งนี้ และในฐานะเป็นวัยชราเช่นกัน ได้แนะแนวทางการใช้ชีวิตให้มีความสุขในวัยชราว่า

“คนชรา ถ้าแปรความทุกข์ ความเปลี่ยวเหงา ให้กลายเป็นความสุข ความสงบ ความเย็นได้ มันก็จะเป็นความงดงาม ชีวิตก็จะได้ประจักษ์ ในจุดที่ไม่เคยประสบมาก่อน นั่นก็คือความสงบ การได้นิ่งอยู่กับตัวเอง

อยู่กับตัวเองให้มากที่สุด คิดถึงตัวเองให้น้อยที่สุด เป็นความงดงาม เป็นความสุข เป็นความสงบ ซึ่งวัยจะชราทุกคนจะค้นพบได้แน่ๆ ถ้าเราแปรความทุกข์ให้เป็นความรู้สึกแบบนี้ได้”

ชีวิตให้ชีวิตเป็นปริศนา
เวลาให้เวลามาทุกสมัย
ช่วงวัยสังวรช่วยสอนวัย
ให้รู้เห็นเป็นไปในธรรมดา
วัยเยาว์เจ้าเอ๋ยมาเลยล่วง
หนุ่มสาวเป็นห่วงให้ห่วงหา
วันนี้มีแต่แก่ชรา
รำลึกวันผ่านมาให้อาวร
ชีวิต สะอาด วาง สว่าง สงบ
ทวนทบ ธรรมดา อุทาหรณ์
อยู่เย็นเป็นสุขเถิดทุกตอน
อนุสรณ์ อนุสตินี้เตือนเรา

นิทรรศการ นับเท้า นับทาง(Distance by Steps) เปิดแสดงวันนี้ – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นอกจากผลงานภาพถ่ายและบทกวี ยังจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินรับเชิญอีกหลายท่าน

และในวันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ.2558 เวลา 13.00 น.ยังมีกิจกรรมสาธิตการเขียนภาพเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สูงวัย โดย ชุมสาย มีสมสืบ ศิลปินวัย 86 ปี ผู้ซึ่งริเริ่มเรียนรู้และหัดวาดภาพเมื่อย่างเข้าวัย 70 ปี และเป็นคุณแม่ของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ นักเขียนและกวีรางวัลซีไรต์ ที่หลายคนรู้จักกันดี

โดยผู้สนใจร่วมกิจกรรมต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเวิร์คช้อปคนละ 200 บาท (มีอุปกรณ์ให้) แต่สำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมยามว่าง) ค่าลงทะเบียน 100 บาท โทรศัพท์ไปลงทะเบียนร่วมกิจกรรมได้ที่ โทร. 02-281-5361 และ 085-903-7371

อาริษา มุ่งพันกลาง,ปัทมา วาทิน และ ภาวิณี สอบชา 3 นักเรียนหญิงจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ซึ่งสนใจมาชมนิทรรศการ นอกจากเพราะเป็นส่วนหนึ่งในวิชาศิลปะที่กำลังเรียนอยู่ และชอบภาพถ่ายคนชราภาพหนึ่งที่ได้เห็นผ่านสื่อ

บอกถึงความรู้สึกหลังจากได้เดินชมนิทรรศการว่า ชอบที่ภาพถ่ายทำให้สัมผัสได้ถึงชีวิตที่โดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงาของคนชราในหลายมุมมอง อีกทั้งยังทำให้นึกถึงคุณยายที่บ้าน

“เพราะที่บ้านของหนูก็มีคุณยายอาศัยอยู่ด้วย ปกติคุณยายจะชอบให้ช่วยงาน หรือ พาไปช่วยงานเพื่อนบ้าน จะมีบางเวลาเท่านั้นที่หนูเห็นคุณยายเศร้า แต่ส่วนใหญ่จะสนุกสนาน ร่าเริงมากกว่า”








ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It