ART EYE VIEW— “ม่อนแสงดาว ม่อนแห่งความหวัง ม่อนที่เรานั้นสานสัมพันธ์ ร่วมกันสานฝันสีทอง ฝันแห่งความหวัง มีพลังสดใสเรืองรอง จากบ้านจากพี่จากน้อง มาเป็นลูกม่อนแสงดาว
จากมาไกลตั้งใจเรียนรู้ ให้พ่อแม่ดูว่าลูกนั้นเป็นคนดี คุณครูท่านสอนให้ลูกนั้นมีศักดิ์ศรี ลูกสาวของแม่คนนี้ คือคนที่ครูภูมิใจ
โอ…นี่คือดอยม่อนแสงดาว สดใสสกาวพร่างพราวในคืนมืดหม่น แสงดาวคืนนี้ช่วยชี้ให้ใครสักคน มาช่วยคนจน ร่วมหนทางบนม่อนแสงดาว”
เสียงเพลง ม่อนแสงดาว จากการขับขานของเด็กๆจบลง แม้ว่าสำเนียงของเด็กๆ เหล่านี้จะฟังดูแปร่งๆ แต่เนื้อหาและท่วงทำนองก็สร้างความไพเราะประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี เพราะบทเพลงนี้ถือเป็นเสียงร้องที่ออกมาจากหัวใจของเด็กทุกคนในม่อนแสงดาว
“ม่อน” หรือ “เนินเขา” แห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายบนเส้นทางไปอำเภอเทิง ประมาณ 30 กิโลเมตร ด้วยที่นี่มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา บรรยากาศเงียบสงบ ห่างไกลจากแสงสี กลางคืนมองเห็นหมู่ดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า จึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อ โรงเรียนม่อนแสงดาวธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นศูนย์การศึกษาทางเลือกสัมมาชีพตามวิถีธรรมชาติเพื่อการพึ่งตนเองของเด็กหญิงที่ยากไร้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือตอนบน
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (ม่อนแสงดาว) หรือ ครูตั้ม ของเด็กๆ เล่าว่า
โรงเรียนแห่งนี้เปิดดำเนินมาตั้งแต่ปี 2541 เพื่อเป็นโรงเรียนทางเลือกให้แก่เด็กหญิงที่ด้อยโอกาสได้เล่าเรียนหนังสือ เนื่องจากเด็กหญิงที่ยากจนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กชาวเขา ไม่ค่อยจะได้เรียนหนังสือ หรืออาจจะได้เรียนถึงแค่ชั้น ป.6 หลังจากนั้นก็จะออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัว หรือไม่ก็อาจจะไปเป็นลูกจ้างตามร้านค้าหรือสถานบริการ ที่โชคร้ายก็อาจจะถูกล่อลวง ชักจูงไปขายบริการทางเพศตามที่เคยเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ
“โรงเรียนม่อนแสงดาวจึงเป็นทางเลือกและเป็นโอกาสให้เด็กหญิงที่ยากจนได้เรียนหนังสือต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยเน้นการเรียนการสอนแนวใหม่ที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเรียนอยู่บนฐานนิเวศภาคเหนือตอนบน, ลุ่มน้ำโขงและวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา มีการเรียนการสอนด้านเกษตรอินทรีย์ ศิลปะ หัตถกรรม คหกรรม และวิชาชีพต่างๆ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้นำไปประกอบอาชีพ มีการติดตามข่าวสารบ้านเมือง เพื่อให้นักเรียนได้รับข้อมูล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ตกเป็นเหยื่อการค้าแรงงานหรือการค้ามนุษย์”
นักเรียนโรงเรียนม่อนแสงดาวทุกคนจะกินนอนอยู่ที่โรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยมีครูประจำซึ่งเป็นครูจัดกระบวนการเรียนรู้ 2 คน นอกนั้นจะเป็นครูภูมิปัญญาหรือครูพิเศษชำนาญการ และมีการจัดแบ่งเวรประจำวันเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน เช่น เวรทำอาหาร ทำความสะอาด ฯลฯ เด็กทุกคนจะต้องตื่นนอนตั้งแต่ตีห้า เพื่อทำงานตามที่ได้ตกลงร่วมกัน หลังจากนั้นจะกินอาหารเช้า เคารพธงชาติ แล้วเข้าเรียนตามความสนใจ ส่วนช่วงบ่ายจะมีการเข้าชั้นเรียน แล้วลงแปลงเกษตร เช่น ทำนา ปลูกผัก ฯลฯ
ตอนค่ำหลังอาหารจะมีการสวดมนต์และทำสมาธิ และกิจกรรมการสารภาพความในใจภายในกลุ่ม เพื่อสะท้อน หรือ ขอโทษ สิ่งที่กระทำขึ้นมาแล้วเกิดความรู้สึกไม่ดีให้แก่กลุ่มได้ทราบ เป็นการสร้างความสบายใจภายในกลุ่มนักเรียน
ก่อนนอนจะมีกิจกรรมนันทนาการ และติดตามข่าวสารจากสื่อ พอถึงเวลาสองทุ่มครึ่งทุกคนต้องเข้านอนเพื่อตื่นแต่เช้า นี่คือชีวิตประจำวันของเด็กๆ ทุกคนในม่อนแสงดาว
“ที่ผ่านมามีนักเรียนที่จบจากโรงเรียนม่อนแสงดาวไปแล้วหลายรุ่น บางคนก็ไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี บ้างก็เป็นครูในศูนย์เด็กเล็ก เป็นผู้ช่วยพยาบาล หรือทำงานใน อบต./เทศบาลในท้องถิ่น บางคนก็กลับไปทำเกษตรอินทรีย์ ทำอาชีพที่ตัวเองมีความถนัดหรือมีความชอบ ถือว่าเป็นการสร้างโอกาส สร้างทางเลือกในชีวิตให้แก่เด็กๆ” ครูตั้มกล่าวถึงบทบาทของโรงเรียนม่อนแสงดาว
สุวิมล วิบูลความดี หรือ หมีเชอะ เด็กหญิงชาวอาข่า อายุ 16 ปี เล่าว่า ครอบครัวของเธอมีทั้งหมด 7 คน เธอเป็นลูกคนที่ 2 อาศัยอยู่ที่ บ้านจะลอ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ครอบครัวมีฐานะยากจนเพราะมีที่ดินทำกินน้อยเพียง 1 ไร่เศษ ใช้เพาะกล้าชาขาย และปลูกกาแฟเล็กน้อย เวลาว่างพ่อกับแม่ต้องทำงานรับจ้างต่างๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว พี่ชายคนโตต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานรับจ้างและเรียน กศน.ไปด้วย เธออยากจะเรียนต่อ แต่ด้วยความยากจน เมื่อเรียนจบชั้น ป.6 แล้วเธอจึงต้องเสียสละเพื่อให้น้องอีก 2 คนได้เรียนต่อ แต่เธอก็ยังโชคดีเมื่อครูที่โรงเรียน ตชด.ที่เธอเรียนอยู่แนะนำให้เธอมาสมัครเรียนที่โรงเรียนม่อนแสงดาว
ปี 2555 หมีเชอะเริ่มเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนม่อนแสงดาว ซึ่งที่นี่มีเด็กหญิงชาวอาข่าและชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลาหู่ ม้ง เย้า กว่า 10 ชีวิต เรียนรวมกันอยู่ที่นี่ โดยใช้วิธีการสอบเทียบจาก กศน.เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง ปี 2557 ที่ผ่านมา เธอเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือชั้น ม.3 และขณะนี้กำลังเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยตั้งความหวังว่าอยากเป็นเชพมืออาชีพ
หมีเชอะเล่าถึงความฝันที่ดูไม่ไกลจากความเป็นจริงมากนักว่า “หนูอยากจะเรียนสายอาชีพ เพื่อเป็นเชฟทำอาหารที่เก่งที่สุด เพราะหนูมีความสนใจด้านการทำอาหารและขนมต่างๆ และทางโรงเรียนก็ได้สร้างแรงจูงใจ โดยจัดการเรียนการสอนวิชาคหกรรม ทำขนมและอาหารต่างๆ และเน้นการฝึกทักษะให้นักเรียนได้ทดลองและฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงทำให้หนูเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเป็นเชฟ”
ยังมีเด็กๆ อย่างหมีเชอะอีกมากมายที่อยากจะทำตามความใฝ่ฝันของเธอ แต่โรงเรียนม่อนแสงดาวก็ไม่อาจจะช่วยแต่งเติมฝันของพวกเธอได้มากนัก อันเนื่องมาจากปัญหาด้านงบประมาณ เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งด้านอาหารการกิน อุปกรณ์การศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทั้งเงินเดือน/ค่าตอบแทนครู เดือนหนึ่งๆ ก็เป็นเงินไม่น้อยกว่า 50,000 บาท รวมงบประมาณปีหนึ่งก็เกินครึ่งล้านบาท ส่วนงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรสาธารณกุศลจากต่างประเทศ เช่น องค์การแตร์เดซอมจากเยอรมันก็เพียงใช้จ่ายไปแต่ละปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดรับนักเรียนประจำได้มากนัก ปีหนึ่งไม่เกิน 30 คน
แม้จะรับนักเรียนประจำได้ไม่มาก แต่ทุกๆ เทอม หรือในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โรงเรียนม่อนแสงดาวจะเปิดรับเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนประถมและมัธยมขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาเรียนรู้ในรูปแบบค่ายเด็กและเยาวชน เรียนรู้ศาสตร์พระราชา(เศรษฐกิจพอเพียง) เกษตรอินทรีย์ ศิลปะ ภาษาอังกฤษ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะมีครูอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาช่วยสอนและดูแลค่ายเด็ก ซึ่งในแต่ละปีจะมีเด็กและเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ในม่อนแสงดาวไม่น้อยกว่า 200 คน
ที่ผ่านมาโรงเรียนม่อนแสงดาวได้พยายามช่วยเหลือตัวเองมาตลอด เช่น ปลูกผักสวนครัว ผักกาด ถั่ว คะน้า พริก มะเขือ กล้วย ฯลฯ ทำนาเพื่อปลูกข้าวเอาไว้กิน เป็นการลดรายจ่าย แต่ก็ยังไม่พอเพียงเพราะมีพื้นที่ราบทำนาได้เพียง 1 ไร่เศษ ได้ข้าวเปลือกไม่ถึง 10 กระสอบ นอกจากนี้ยังปลูกไม้ยืนต้น เช่น ลำไย ลิ้นจี่ กาแฟ ฯลฯ เอาไว้บริโภคภายในโรงเรียน โดยเฉพาะกาแฟพันธุ์อราบิก้านั้น เริ่มปลูกเมื่อ 3 ปีก่อน ประมาณ 200 ต้น ปีนี้เริ่มให้ผลผลิตแล้ว
ครูตั้มกล่าวถึงแผนธุรกิจหารายได้มาจุนเจือโรงเรียนว่า “เรามีแผนธุรกิจที่จะนำกาแฟมาผลิตเป็นเมล็ดกาแฟคั่วสดและกาแฟคั่วบดเพื่อนำไปขายเป็นรายได้เข้าโรงเรียน ใช้ชื่อว่ากาแฟม่อนแสงดาว เป็นกาแฟออร์แกนิกที่ไม่ใช้สารเคมี คั่วด้วยมือ เด็กนักเรียนก็จะได้เรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟไปด้วย เพราะครอบครัวชาวเขารวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ม่อนแสงดาวตอนนี้นิยมปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจ จะได้มีช่องทางในการแปรรูปขาย นอกจากการขายเมล็ดกาแฟสดเพียงอย่างเดียว”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโรงเรียนม่อนแสงดาวก็พยายามหารายได้ภายในประเทศมาช่วยเหลือโรงเรียนโดยตลอด เช่น ร่วมกับศิลปินภาพเขียนชื่อดังของประเทศจัดนิทรรศการแสดงภาพเขียนเพื่อจำหน่าย แล้วนำรายได้มาสนับสนุนโรงเรียน ที่ผ่านมาได้จัดแสดงไปแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2545 และปี 2550 โดยนำศิลปินไปล่องแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินเพื่อเก็บเกี่ยวบรรยากาศนำมาสร้างสรรค์ผลงาน และได้รับการสนับสนุนจาก อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินชื่อดังชาวเชียงราย
ครูตั้มบอกว่า ในปี 2558 นี้ จะจัดนิทรรศการครั้งที่ 3 ใช้ชื่องานว่า นิทรรศการศิลปะอาเซียนเพื่อเด็กและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 3 “อลังการศิลป์สายน้ำอาเซียน” แสดงภาพเขียน-ภาพถ่าย-กวีนิพนธ์-งานปั้น รวมกว่า 200 ชิ้น โดยศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น ประสงค์ ลือเมือง ,ประทีป คชบัว, เอกชัย ลวดสูงเนิน, เสงี่ยม ยารังษี, ทรงเดช ทิพย์ทอง , เป้ สีน้ำ ฯลฯ รวมทั้ง ศิลปินอาเซียนและนานาชาติ
นิทรรศการศิลปะอาเซียนเพื่อเด็กและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 3 “อลังการศิลป์สายน้ำอาเซียน” จะจัดแสดงหว่างวันที่ 3 – 19 มิถุนายน พ.ศ.2558 เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน)
โดยในวันเปิดนิทรรศการ พระมหาวุฒิชัย หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี จากไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย ได้มอบกวีนิพนธ์ของท่านให้ประมูลเพื่อนำเงินรายได้สมทบทุนสนับสนุนการศึกษาโรงเรียนม่อนแสงดาวด้วย และจะมี ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดนิทรรศการฯ ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลา 16.00 น.
และในงานนี้เด็กๆ จากม่อนแสงดาวจะมาร่วมออกบู๊ธแสดงนิทรรศการด้านสิ่งแวดล้อม-สายน้ำ รวมทั้งจำหน่ายสินค้าที่ระลึก สินค้าเกษตร น้ำผึ้งป่าจากม่อนแสงดาว ฯลฯ
รายได้ครั้งนี้จะนำมาสนับสนุนการศึกษา รวมทั้งปรับปรุงบ้านพักนักเรียน ซ่อมแซมอาคารเรียนเอนกประสงค์ ระบบน้ำบาดาลที่ชำรุดทรุดโทรมภายในโรงเรียนด้วย
หมายเหตุ : ข่าวประชาสัมพันธ์
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.