Art Eye View

12 ค่ายฟอนต์ไทย ผนึกกำลังมุ่งสู่มาตรฐานสากล

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—อุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษรของไทยกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง บุคคลากรในวิชาชีพนักออกแบบตัวอักษรจึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองทั้งในด้านงานออกแบบและด้านมาตรฐานทางเทคนิค เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น และส่งต่อความรู้ความเข้าใจของการออกแบบตัวอักษรแก่สังคม

เมื่อเร็วๆนี้ สโมสรอักษรศิลป์และอักขรศิลป์กรุงเทพฯ (Typographic Association Bangkok หรือ TAB) จัดกิจกรรม Talk to Foundry (TTF) ณ ห้อง Studio โรงแรม Double Tree ซอย สุขุมวิท 26 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการรวมตัว 12 ค่ายฟอนต์ทั่วประเทศ พร้อมการบรรยาย 12 หัวข้อที่เจาะลึกเรื่องราวการออกแบบฟอนต์ เพื่อแสดงถึงศักยภาพและภาพรวมของธุรกิจค่ายฟอนต์ในปัจจุบัน รวมไปถึงการบรรยายเกี่ยวกับ Google Fonts บนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่

อนุทิน วงศ์สรรคกร จาก บริษัท คัดสรร ดีมาก จำกัด หนึ่งในสมาชิกของ TAB กล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษรในไทยมีการเจริญเติบโตอย่างมากเมื่อเทียบจากปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีการขยายตัวกว่าร้อยละ 25 โดยเฉพาะตลาดของฟอนต์ในฟอร์แมตใหม่ๆอย่างเว็บฟอนต์ หวังว่างาน TTF ครั้งแรกครั้งนี้จะเป็นการผนึกกำลังเพื่อพัฒนาการที่มีความต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษร ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบตัวอักษรรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไป”

ภายในงานมีการกล่าวถึง เทคนิคแสดงผลข้อมูลตัวอักษรในอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารต่างๆที่เรียกว่า Post Production ด้วย ซึ่งเหล่านักออกแบบตัวอักษรยอมรับว่ามีความซับซ้อนและใหม่มาก จึงเกิดธุรกิจใหม่ล่าสุดแนวคิดของบริษัท กะทัดรัด จำกัด ที่ตอบโจทย์นักออกแบบ และแบรนด์สินค้าต่างชาติที่ต้องการทำการตลาดในประเทศไทย โดยมีช่องทางเตรียมความพร้อมของตัวอักษรที่ได้ออกแบบมาแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับการแสดงผลในทุกเครื่องมือสื่อสาร โดยการเติบโตจากปีที่ผ่านมามีแนวโน้มก้าวกระโดดและคาดการณ์ว่าจะได้กลุ่มลูกค้าต่างชาติมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หลังจากที่แบรนด์ต่างชาติได้ทำการตลาดในประเทศไทยแล้ว ยังสนใจใช้บริการ Post Production กับตัวอักษรของประเทศเพื่อนบ้าน ต่อไปในอนาคตอันใกล้ด้วย

ศุภกิจ เฉลิมลาภ ผู้เป็นวิทยากรตัวแทนจาก บริษัท กะทัดรัด จำกัด ให้ความเห็นว่า “จำนวนคนในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างน้อยเพราะเพิ่งมีการจัดรวบรวมองค์ความรู้เมื่อไม่นานมานี้ เนื้องานค่อนข้างซับซ้อน และจำเป็นต้องรู้เรื่องศิลปะ เทคโนโลยี และมีความคิดสร้างสรรค์ในคนคนเดียวจึงจะสามารถทำงานด้านนี้ได้ จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษรไทยที่จะเติบโตเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน”

สอดคล้องกับการบรรยายของ มร. Dave Crossland วิทยากรรับเชิญพิเศษจาก Google Fonts ซึ่งได้นำเสนอแนวคิดการใช้ตัวอักษรไทยบนระบบปฏิบัติการใหม่ของ Google Fonts โดยมีแนวทางในการให้นักออกแบบตัวอักษรส่งมอบตัวอักษรที่มีคุณภาพให้ใช้ได้อย่าเสรี เพื่อให้การใช้งานตัวอักษรมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตนเองของค่ายฟอนต์และการจ้างงานในอนาคต

อนุทิน กล่าวเสริมว่า “ความต่อเนื่องของงานนี้จะทำให้นักออกแบบตัวอักษรไทยมีความสามัคคีกันมากขึ้น พร้อมกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อจะสานต่อสิ่งที่เราทำให้สังคมในเบื้องหลังดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่แจ้ง และได้รับความเข้าใจตามสมควรจากภาคส่วนอื่นๆ”

พบกับการบรรยาย “แนวคิดการใช้ตัวอักษรไทยบนระบบปฏิบัติการใหม่ของ Google Fonts” ที่จะมีขึ้นในกิจกรรมครั้งต่อไปของ TAB ในงานสัมนาวิชาการ “อักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ หรือ BITS MMXV” ในปีนี้










ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It