ART EYE VIEW—- “กรมประชาสัมพันธ์เคยประกาศบอกผู้ฟังผ่านรายการว่า อาจารย์เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ รากแก้วของแผ่นดิน ดิฉันฟังแล้วก็น้ำตาไหล มีความสุขมาก พอมาได้ศิลปินแห่งชาติก็ยิ่งมีความสุข
ชั่วชีวิตของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง ชีวิตการแต่งงาน หรือการครองเรือน ถ้าสามีดี และลูกดี ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ ไม่มีอะไรเสมอเหมือน ถ้าคุณมีเงินเป็นหมื่นล้าน แต่สามีไม่ดี ลูกไม่ดี ก็ป่วยการ แต่สิ่งที่อยากได้ อาจารย์เพ็ญพรรณได้ครบแล้ว(น้ำตาคลอเบ้า)”
อาจารย์เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ แกะสลักเครื่องสด) กล่าวกับ ART EYE VIEW และธรรมลีลา หนังสือธรรมะในเครือผู้จัดการ ในงาน “วังท่าพระ ศูนย์กลางของช่างสิบหมู่ 200 ปี” ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี 2553
และในวันนี้ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ในวัย 89 ปี ได้จากทุกคนไปแล้ว ด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ART EYE VIEW ขอร่วมแสดงความเสียใจกับครอบครัวสิทธิไตรย์ และ วชิโรดม(นามสกุลเดิม) ที่อาจารย์เคยบอกด้วยว่าเป็นตระกูลที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
“ตระกูลวชิโรดม เป็นตระกูลสร้างวัดค่ะ งานแกะสลัก ก็ได้ฝึกมือมาตั้งแต่ตอนนั้น เพราะตามประสาคนต่างจังหวัดมีทั้งงานแห่เทียนเข้าพรรษาและแห่ปราสาทผึ้ง ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำสิ่งเหล่านี้ถวายวัด
และเมื่อแต่งงานกับสามีตระกูลสิทธิไตรย์ ก็เป็นตระกูลที่ชอบสร้างพระประธานถวายวัด ชอบทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ไม่จ่ายซองแจกซองเลย ทำเอง จนพระต้องเตือน เดี๋ยวไม่มีบริวารนะโยม เพราะเวลาทำบุญดิฉันทำด้วยใจศรัทธา ดังนั้นจะมีความสุขอะไรที่เท่าตรงนี้”
หมายเหตุ : จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบน้ำศพ อ.เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ในวันนี้ (วันอังคารที่ 4 ส.ค.เวลา 17.00 น). และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคม เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 4 วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม
ชีวิตที่ผ่านการสลักของเสน่ห์ปลายจวักระดับชาติ อ.เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์
อาจารย์เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2469 ที่ ตำบลธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนสุดท้องของนายบุญมา และนางน้ำ วชิโรดม สมรสกับนายแถมชัย สิทธิไตรย์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มีบุตร – ธิดา 6 คน ได้แก่
1. นายภัทรศักดิ์ สิทธิไตรย์
2. ศาสตราจารย์ดร.มณีรัตน์ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา สมรส กับม.ร.ว.พันธ์เทพสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ มีบุตร 2 คนคือ นายพลภัทร สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยาและม.ล.วรวงศ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
3. ผ.ศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์
4. นางพรรณรัตน์ ไชยสนิท สมรสกับ นายโกศล ไชยสนิท มีธิดา 1 คน คือ นางสาวเยาวลักษณ์ ไชยสนิท
5. นางจุฑารัตน์ ซีมองด์ สมรสกับ นายโคลด ซีมองด์ มีบุตร 1 คนคือ นายอักเซล ซีมองด์
6. ร.ศ.นายแพทย์ พิชิต สิทธิไตรย์ สมรสกับ นางพัชรี สิทธิไตรย์
อาจารย์เพ็ญพรรณ สำเร็จการศึกษาระดับวิชาชีพชั้นสูง จากโรงเรียนการช่างสตรี พระนครใต้ กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2489 และได้รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ทั่วไป สายมัธยมศึกษา สาขาวิชาการศึกษา วิทยาลัยครูจันทรเกษม สหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2533
เมื่อจบการศึกษา เข้าทำงานโดยการรับราชการเป็นครูมาตลอดชีวิตราชการ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา โดยเริ่มต้นบรรจุที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดสกลนคร ต่อมา พ.ศ. 2498 ได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดตรัง และ โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดสมุทรสงคราม
พ.ศ. 2502 ได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมา พ.ศ. 2505 ได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2510 ย้ายไปสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี จังหวัดสุโขทัย และ พ.ศ. 2529 ได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนการช่างสตรี โชติเวช หรือในปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตโชติเวช เป็นที่สุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ ใน พ.ศ. 2530
สำหรับวิชาที่อาจารย์เพ็ญพรรณสอนนั้น เป็นวิชาศิลปะประดิษฐ์ ควบคู่ไปกับจริยศึกษา หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และสังคมศึกษา
อาจารย์พรรณ สิทธิไตรย์ ถือว่าเป็นผู้มีผลงานแกะสลักเครื่องสด ผลงานที่สำคัญอันได้แก่ การซ่อมแซมเพดานเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยปักลายผ้าตกแต่งเรือ และเรือในขบวนทั้งหมดในงานฉลองกรุงรัตน โกสินทร์ 200 ปี และรับสนองพระบรมราชโองการประดิษฐ์ผักและแกะสลักผลไม้ในงานเลี้ยงรับรองราช อาคันตุกะจากต่างประเทศ และงานเลี้ยงสโมสรสันนิบาตในวันฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่พระบรมมหาราชวัง
ประดิษฐ์ดอกมะลิจากแห้วจำนวน 500 ดอก ในงานอภิเษกสมรสสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เมื่อปี 2528 และประดิษฐ์มะพร้าวอ่อน 250 ผลเป็นผอบ เพื่อส่งไปงานเลี้ยงพระราชทานที่สหรัฐอเมริกา ในคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมของไทย
มีตำแหน่งที่ปรึกษานิตยสารหญิงไทย เป็นคอลัมนิสต์ ศิลปะประดิษฐ์ ทั้งยังเป็นครูสอนศิลปะแกะสลักที่โรงแรมดังหลายแห่ง มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งไทยและต่างชาติที่บินมาเรียนกันถึงที่บ้าน ทั้งยังเขียนตำรับตำราไว้มากมาย เช่น ศิลปะการแกะสลักผักและ ผลไม้ อาหารวิจิตรและแกะสลักวิจิตร ฯลฯ
นอกจากนี้ มีงานที่ตรึงใจอย่าง “โคมลอย พระราชพิธีจองเปรียง” รวมถึงสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 13 โดย พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว
อาจารย์เพ็ญพรรณ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ และได้รับคัดเลือกให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ แกะสลักเครื่องสด) ,บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย พุทธศักราช 2554 คัดเลือกโดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และเกียรติบัตรผู้อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมงานช่างแกะสลักผักผลไม้ ในการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาพุทธศักราช 2557
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.