Art Eye View

“โลกป่วยเพราะมนุษย์” สุรพล ปัญญาวชิระ

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ภาพใบหน้าของหญิงชราแววตาเศร้าและมีหยาดน้ำตา โผล่ขึ้นมาจากพื้นดินที่แตกระแหง ,ภาพร่างกายของหญิงที่มีบรรดาท่อต่างๆกำลังดูดน้ำนมและเลือดในกายตลอดเวลา ในภาพวาดเทคนิคเกรยองบนกระดาษชื่อ “น้ำตาแม่เฒ่าที่บ้านนามูล” และ “แฟรกกิ้งแม่ธรณีที่ดงมูล”

เป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะในนิทรรศการ น้ำผึ้งแผ่นดิน – น้ำนมแม่ธรณี 2 (แฟรกกิ้ง) ที่ศิลปินอาวุโส สุรพล ปัญญาวชิระ ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของแม่ธรณี หรือ แผ่นดิน ที่กำลังถูกกระทำชำเราเพราะความโลภของมนุษย์


โดยเฉพาะระบบการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแบบที่เรียกว่า แฟรกกิ้ง (Fracking) ที่แม้จะเป็นระบบที่ช่วยให้ได้ผลผลิตปิโตรเลียมสูงกว่าวิธีอื่นหลายเท่า แต่ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

เนื่องจากเป็นระบบที่ต้องใช้สารเคมีและน้ำอย่างมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ตามมา นอกจากจะทำให้เกิดการแย่งใช้น้ำจากชุมชน ยังรวมถึงสารเคมีที่อาจตกค้างในดิน หรือ หลุดลอดไปในแหล่งน้ำของชุมชนได้

ดังที่เคยมีบางประเทศได้รับผลกระทบ จนถูกประกาศเป็นเมืองมลพิษสูง และขณะนี้ระบบแฟรกกิ้ง ได้ถูกนำมาใช้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยแล้ว รวมถึงที่ บ้านนามูล อ.กระนวน จ.ขอนแก่น

“มีการทำหลายที่แล้ว ที่อ่าวไทยก็มี แต่ผลกระทบมันยังไม่เห็นชัด เพราะเวลาพื้นดินมันแตกน้ำทะเลก็จะเซาะเข้าไป แต่ที่ขอนแก่น ชัยภูมิ และอีกหลายที่ โดยเฉพาะที่ขอนแก่น ใบไม้เริ่มร่วง หรือเวลาที่ไปกรีดยาง เคยกรีดยางได้เต็มถ้วย แต่เวลานี้ได้มาแค่นิดหน่อย และบางทีนั่งๆอยู่เหมือนจะแสบตา

มนุษย์มันทำแผ่นดินให้พินาศ ภาพของผมคือจินตนาการว่า ถ้าแม่ธรณี หรือแผ่นดินของเรา ถูกกระทำชำเรา เราจะมีความรู้สึกอย่างไร”

นอกจากจัดแสดงภาพวาดเทคนิคเกรยองบนกระดาษแผ่นใหญ่ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับระบบแฟรกกิ้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน นิทรรศการศิลปะ น้ำผึ้งแผ่นดิน – น้ำนมแม่ธรณี 2 (แฟรกกิ้ง) ของ สุรพล ยังจัดแสดงภาพวาดเทคนิควาดด้วยดิจิตอล และพิมพ์ด้วยระบบความร้อนลงบนแผ่นโลหะ สะท้อนถึงความยากจน อันเนื่องมาจากความไม่เสมอภาค ของการจัดสรรทรัพยากร



 ผมไม่เข้าปั้ม ปตท.

ไม่ใช่ครั้งแรกที่สุรพลสนใจหยิบเรื่องราวเหล่านี้มาสะท้อนผ่านผลงานศิลปะ เพราะในนิทรรศการศิลปะชุด น้ำผึ้งคลุกข้าว(น้ำผึ้งแผ่นดิน น้ำนมแม่ธรณี คนกินข้าว ข้าวกินคน) ที่จัดแสดงไปเมื่อปลายปี 2557-ต้นปี 2558 ณ หอศิลป์จามจุรี

สุรพลก็พยายามทกู่ตะโกนผ่านผลงานศิลปะ ถึงเรื่องราวของ “น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ” ของประเทศ ที่การจัดสรรและผลประโยชน์ไปตกอยู่กับกลุ่มทุนเพียงบางกลุ่ม รวมไปถึงเรื่องของ “ข้าว”ที่ปัจจุบัน ไม่ได้เป็นแค่ อาหาร และต้นธารที่ทำให้ก่อเกิดวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม แต่ยังถูกใช้เป็นอาวุธในการต่อรอง

“น้ำผึ้งแผ่นดิน น้ำนมแม่ธรณี …. ผมเปรียบน้ำมันว่าเป็นเสมือนน้ำผึ้งแผ่นดิน เพราะเวลาที่น้ำมันถูกกลั่นออกมา สีจะเหลืองอำพันคล้ายน้ำผึ้ง

ผมเปรียบผืนแผ่นดินว่าคือแม่ธรณี และน้ำมันเปรียบเสมือนน้ำนมของแม่ธรณี

ถ้าแม่มีลูก ลูกทุกคนควรจะได้ดื่มกินน้ำนมของแม่เท่าๆกัน ถ้าน้ำมันเปรียบเสมือนน้ำนม ผมจึงตั้งคำถามว่า ทำไมทุกวันนี้คนหนึ่งได้กินแบบอิ่มหมีพลีมัน แต่อีกคนกลับอดอยากยากแค้น

ส่วนงานศิลปะของผมที่พูดถึงเรื่องของข้าว ผมนำเสนอข้าว 3 เม็ด เม็ดแรก ผมเปรียบข้าวคืออาหาร

เม็ดที่ 2 สื่อว่าการรู้บุญคุณรู้คุณค่าของเม็ดข้าว จึงก่อเกิดเป็นศิลปวัฒนธรรม และเม็ดที่ 3 ข้าวกลายเป็นอาวุธในการต่อรอง ต่อไปน้ำมันหมด ข้าวและอาหารจะกลายเป็นอาวุธ”

เหตุการณ์ที่ทำให้สุรพล ให้ความสนใจปัญหาการจัดสรรทรัพยากรน้ำมันและแก๊สธรรมชาติของประเทศ มากเป็นพิเศษ และทำงานศิลปะที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องขึ้นมาหลายร้อยชิ้น

“ตั้งแต่รู้ข่าวว่ารัฐบาลมันโกงเรา โกงประชาชน ปตท.มันโกง ตั้งแต่ ทักษิณ (ชินวัตร) ตัดสินใจเอาปตท.เข้าตลาดหุ้น ผมไม่เห็นด้วยมาตลอด เดี๋ยวนี้ผมไม่เคยเข้าปั้ม ปตท.เลย เพราะผมจะขับรถเข้าไปให้เค้าโกงทำไม”
 
 


ศิษย์ศิลปินแห่งชาติ “ทวี รัชนีกร” เพื่อนร่วมรุ่น “พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ”

สุรพล เป็นชาวโคราช จบการศึกษาด้านศิลปะจากวิทยาเทคนิคนครราชสีมา เป็นลูกศิษย์ของ ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2548 เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ หมู- พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ(ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง),ทองกราน ทานา (อืด คาราวาน) ฯลฯ และเป็นรุ่นน้องของ มงคล อุทก (หว่อง คาราวาน)

“คุณพ่อผมเป็นทหารแต่ผมดื้อรั้นอยากเรียนศิลปะ ผมเคยร่วมกับพี่หว่อง หมู และอีกหลายคน ทำวงดนตรี บังคลาเทศแบนด์ เมื่อก่อนผมเล่นไวโอลิน เล่นฮาโมนิก้า

ตอนหลัง พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คนอื่นๆที่รักดนตรี เขาก็เข้าป่ากันไป แต่ผมซึ่งเป็นคนรักที่จะเขียนรูป ไม่ได้เข้าไปกับเขาด้วย”

หลังจากนั้นสุรพลเลือกไปเป็นครูสอนศิลปะที่ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ กระทั่งตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2525

“ผมทำงานศิลปะมาตลอด แม้ไม่ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานก็ตาม แล้วมาเริ่มแสดงงานจริงๆจังเมื่อปี 2528 -2529 เป็นต้นมา”

เจ้าของประติมากรรมเพื่อ “ธรรมศาสตร์” และ “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย”

สุรพลเป็นศิลปินที่สนใจทำงานศิลปะหลากหลายเทคนิค ไม่ว่าจะเป็น ภาพเขียน ประติมากรรม สื่อผสม ดิจิตอลอาร์ต หรือแม้กระทั่ง ศิลปะแสดงสด (Performance Art)

“ผมชอบทำงานหลากหลายแนวครับ เพราะนิสัยผมจะเป็นคนเบื่อง่าย เวลาผมทำอะไรซ้ำซาก ผมจะเบื่อ เช่น พอผมทำดิจิตอลอาร์ตในคอมพิวเตอร์จนเบื่อแล้ว ผมก็ลองเอามาปริ้นลงบนแผ่นโลหะ”

นอกจากนี้เขายังเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรรมหลายชิ้นที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยผลงานประติมากรรมเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวนับตั้งแต่ก่อเกิด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขบวนการเสรีไทย ขบวนการนักศึกษา ยุคสายลมแสงแดด ยุคฉันจึงมาหาความหมาย 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ

“เป็นประติมากรรมที่อยู่ในโครงการ ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2543-2544 ก่อนทำงานชุดนี้ โครงการส่งผมไปดูงานศิลปะที่โปแลนด์และรัสเซีย”

และเมื่อไม่นานมานี้ สุรพลยังเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมเกี่ยวกับ “โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์” ให้กับ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ย่านมักกะสัน

รวมไปถึงผลงานประติมากรรมรูปหญิงและชายหมุนกงล้อประวัติศาสตร์ ติดตั้งด้านหน้าพิพิธภัณฑ์

โลกป่วยเพราะมนุษย์

ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นโยบายของรัฐ การคอร์รัปชัน การเอาเปรียบ ความไม่เป็นธรรมในการแบ่งสันปันส่วนทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของสุรพลมาโดยตลอด เพราะอะไร ศิลปินอาวุโสวัย 62 ปี ตอบว่า

“ผมสนใจมาตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนที่โคราชแล้ว เพราะผมเป็นคนต่างจังหวัด ผมเติบโตที่โคราช สมัยนั้นเมืองโคราชสำหรับผมเป็นเมืองหน้าด่าน ระหว่างเมืองคนรวยคือกรุงเทพ และเมืองคนจนคืออีสานทั้งหมด แล้วผมก็จะได้เห็นภาพที่คนรวยนั่งรถทัวร์มาเที่ยว และมองดูคนอีสาน ที่เหมือนเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง ขณะที่คนอีสานก็มองคนกรุงเทพเหมือนเป็นเทวดามาอะไรอย่างนี้ คือเรามองเห็นความแตกต่างของสังคม แบบนี้ตลอด

ในยุคที่ผมเติบโต เป็นยุคที่ฝรั่งเข้ามาเมืองไทย มีฐานทัพอเมริกา มีโสเภณีเต็มบ้านเต็มเมือง และบ้านผมอยู่แถวจิระ มีสามล้อรับจ้าง เราจึงได้เห็นชีวิตคนที่มันยากลำบาก เห็นสิ่งเหล่านี้ตลอด

ในเมื่อผมเห็นแบบนี้ จะให้ผมมานั่งเขียนดอกไม้ เขียนทิวทัศน์สวยๆ มันไม่ได้
บางทีเราตื่นมา เราเห็นชาวบ้านเขาทะเลาะกัน ตีกัน เพราะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ มันเป็นความเจ็บปวดทางสังคม มันกด มันฝัง

ที่นี้เวลาเรามองอะไร เราจะมองว่า เอ๊ะ..อย่างนี้ มันไม่ยุติธรรมว่ะสังคม ถ้าจะให้สังคมมันน่าอยู่ มันต้องมีความยุติธรรม ในเมื่อผมรับรู้มาเยอะ ถ้าไม่ทำออกมาเป็นงานศิลปะ ผมอาจจะกลายเป็นคนบ้า คนรุนแรง ไปฆ่าคน ผมใช้พรสวรรค์ที่ผมรักเอามันออกมา”

และที่ผ่านมาสุรพลพยายามแลกเปลี่ยนกับทุกคนและบอกผ่านงานศิลปะ ถึงที่มาของปัญหาทุกปัญหาเช่นกันว่า

มนุษย์ป่วยทางจิต
สังคมป่วยทางความคิด
ประเทศป่วยทางโครงสร้าง
โลกป่วยเพราะมนุษย์

นิทรรศการศิลปะ น้ำผึ้งแผ่นดิน – น้ำนมแม่ธรณี 2 (แฟรกกิ้ง) โดย สุรพล ปัญญาวชิระ เปิดแสดงระหว่างวันนี้ – 31 ตุลาคม พ.ศ.2558 ณ พีเพิ่ล แกลเลอรี ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“ผมอยากชวนให้คนมาดู แต่ผมก็ไม่รู้นะว่าการบอกเล่าหรือบอกกล่าวของเราด้วยงานศิลปะ สำหรับผู้ชม มันจะเป็นอย่างไร แต่โดยใจของเรา มันเป็นสิ่งที่คนๆหนึ่งทำได้

ถ้าผมเป็นกวี ผมอาจจะเขียนกวี หรือถ้าผมเป็นศิลปินเพลง ผมอาจจะไปแต่งเพลง แต่เผอิญผมเป็นคนเขียนรูป ผมก็เลยมาทางนี้

และผมอยากตั้งคำถามกับทุกคนว่า เมืองไทยของเรามีคนอดตายแบบเอธิโอเปียไหม ไม่มีนะ มีแต่อดอยาก และเหตุที่เราอดอยาก เพราะมันมีคนมาแย่งความอยากของเราไปใช่ไหม แล้วเราควรจะทวงสิทธิความอยากของเราคืนมาไหม”

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It