Art Eye View

“เกิดแต่ดิน” ศิลปะแฝงสัจธรรม “เราทุกคนล้วนมาจากดิน”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—บรรดา นางฟ้า นางสวรรค์ นางสงกรานต์ ฯลฯ เปลือยหน้าอก ในภาพเขียนที่มีความผสมผสานกันระหว่างความเป็นอุดมคติ และเหมือนจริง อาจเป็นสิ่งที่คนทั่วไปคุ้นชินมากกว่า เมื่อเอ่ยถึงผลงานศิลปะของ สมภพ บุตราช

แต่ที่ผ่านมา ขณะใช้สีเขียนภาพสวยงามๆแบบที่คนทั่วไปเห็นแล้วสามารถประทับใจได้ไม่ยาก สมภพยังใช้ดินเขียนภาพเหมือน (Portrait) ของผู้คนจำนวนมาก เก็บเอาไว้ด้วย


การสร้างงานศิลปะด้วยดิน เป็นสิ่งที่สมภพทดลองทำมานานมากแล้ว นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่เดินทางไปเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ให้กับ วัดไทยพุทธประทีป ประเทศอังกฤษ ร่วมกับคณะศิลปินอีกหลายคน

ทว่างานศิลปะสร้างด้วยดินในช่วงเวลานั้นของเขา เป็นงานศิลปะในแนวนามธรรม (Abstract) ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับธาตุทั้งสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) โดยมีวัสดุธรรมชาติอื่นๆเป็นส่วนประกอบด้วย อาทิ ทราย ขี้เถ้า ไม้ สีฝุ่น ฯลฯ

ขณะที่ภาพเหมือนคนเขียนด้วยดิน ทุกภาพเขียนจากดินนานาชนิด ได้แก่ ดินเหนียว ดินทราย ดินโคลน โดยไม่มีสีหรือวัสดุอื่นเจือปน

ที่ผ่านมาภาพเหมือนคนเขียนด้วยดินของสมภพ เคยถูกนำไปจัดแสดงในหลายวาระโอกาส อาทิ นิทรรศการ“เขียนดิน สินอีสาน” ณ หอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปลายปี 2552 ซึ่งในครั้งนั้นภาพเหมือนคนเขียนด้วยดิน กว่า 20 ภาพ นำเสนอภาพของ จิตรกร นักดนตรีเพื่อชีวิต ปราชญ์พื้นบ้าน ศิลปินพื้นถิ่น และบุคคลสำคัญๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวอีสาน (รวมถึงภาพของ นายบุญมี และนางทองบ่อ บุตราช ชาว จ.มหาสารคาม พ่อและแม่ของสมภพ) และดินที่เขาใช้เขียนภาพบุคคลเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นดินที่มีอยู่ในภาคอีสานด้วยเช่นกัน

ในเวลาต่อมา ภาพเหมือนคนเขียนด้วยดิน ซึ่งเป็นภาพของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้อุทิศชีวิตเพื่อผืนป่าเมืองไทย เป็นหนึ่งในจำนวนผลงานศิลปะที่สมภพนำไปจัดแสดงร่วมกับผลงานของศิลปินอีกหลายคนในนิทรรศการ “ป่ากลางใจ ใจกลางป่า” ซึ่งจัดขึ้นในปี 2556 และตระเวนไปจัดแสดงในหลายสถานที่ จัดโดยกลุ่มจิตรกรไทย ร่วมกับมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และกลุ่มศิลปินรักษ์ผืนป่า เพื่อรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร


ล่าสุด ทั้งภาพของ สืบ นาคะเสถียร และภาพของจิตรกร นักดนตรีเพื่อชีวิต ปราชญ์พื้นบ้าน ศิลปินพื้นถิ่น และบุคคลสำคัญๆ ที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ “เขียนแผ่นดิน สินอีสาน” และภาพซึ่งเขียนขึ้นใหม่อีกจำนวนหลายชิ้น ซึ่งคนในภาพล้วนแต่มีความสัมพันธ์หรือเป็นที่เคารพรักและศรัทธาของสมภพในด้านต่างๆ ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ เกิดแต่ดิน (Born From Earth) วันนี้ – 30 พฤษภาคม 2559 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า

รวมถึงภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,พระสงฆ์,นักคิด,กวี,นักเขียน ฯลฯ และภาพของ พระไพศาล วิสาโส พระนักคิด นักพัฒนา นักอนุรักษ์ป่า ฯลฯ ซึ่งครั้งหนึ่ง ผลงานชุด “มรรคาแห่งชีวิต” ของสมภพ ถูกใช้เป็นภาพประกอบให้กับหนังสือธรรมะของท่าน และท่านคือผู้ที่เขียนคำนิยมให้กับสูจิบัตรนิทรรศการ “เกิดแต่ดิน” ของสมภพด้วย ซึ่งคำนิยมตอนหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าประทับใจว่า

งานชุดนี้เป็นเสมือนเสียงเชิญชวนให้เรากลับมาเคารพและเห็นคุณค่าของสิ่งสามัญ ขณะเดียวกันก็แฝงสัจธรรมอันลึกซึ้งว่า เราทุกคนนั้นล้วนมาจากดิน ไม่ว่าเป็นชายหรือหญิง ฆราวาสหรือพระ สูงหรือต่ำ นั่นเป็นเพียงแค่สมมติ เพราะแท้จริงแล้วเราทุกคนล้วนเสมอกัน คือมาจากดินเหมือนกัน และในที่สุดก็จะคืนสู่ดินเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ควรหลงในมายาภาพจนลืมตัวลืมความจริง

การแสดงสัจธรรมให้เราเห็นโดยไม่ปรุงแต่งซ่อนเร้น เปิดเผยความธรรมดาสามัญอย่างซื่อตรงนั้น ในตัวมันเองก็เป็นความงดงาม ไม่ต่างจากถ้วยชาญี่ปุ่น ซึ่งดูเรียบง่าย แม้ผิวไม่เรียบ ขอบไม่เสมอ และรูปลักษณ์ไม่สมมาตร แต่ก็ถือว่าเป็นงานศิลปะชั้นครูเปี่ยมด้วยความงดงาม เพราะสะท้อนถึงสัจธรรมของชีวิต ที่ช่วยให้ผู้เข้าถึงนั้นสามารถอยู่อย่างโปร่งเบาและผาสุกได้

งานชุดนี้ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของสังคมไทย ผ่านใบหน้าบุคคล ตั้งแต่ระดับสูงสุดจนถึงต่ำสุด มีทั้งบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักดี และคนธรรมดานานาอาชีพ ทั้งหมดนี้เป็นตัวแทนของผู้คนที่ประกอบกันขึ้นเป็นชาติไทย แม้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมไทยแตกต่างกันไป แต่ก็สมควรถูกจารึกหรือระลึกนึกถึงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย

“เกิดแต่ดิน” จึงเป็นงานศิลปะที่สะท้อนความจริงหลากมิติ อีกทั้งยังเปี่ยมด้วยความงาม ที่จะเข้าถึงได้ก็ด้วยใจอันพินิจ เปิดกว้าง และว่างเปล่าจากการปรุงแต่งทั้งปวง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง… ยลโฉม “นางฟ้า” ของ สมภพ บุตราช ก่อนแห่ “นางสงกรานต์” ตั๊ก บงกช





ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It