Advice

“พ่อบรู๊ค” แนะเทคนิคการจัดการอารมณ์ของลูกน้อย

Pinterest LinkedIn Tumblr


นับเป็นอีกหนึ่งครอบครัวอบอุ่นที่ใครๆ ต่างเทใจให้กับ “ครอบครัวปุณณกันต์” ที่ไม่ว่า พ่อบรู๊ค-ดนุพร ปุณณกันต์ และ แม่กบ-สุวนันท์ จะยุ่งกับการทำงานแค่ไหน ก็สามารถแบ่งเวลาให้ “น้องณดา และน้องณดล” ได้อย่างลงตัวเสมอ

ล่าสุด ในงาน “1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 2” ของโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี จัดโดย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด พ่อบรู๊คได้มาร่วมให้คำแนะนำเคล็ดลับการมีส่วนร่วมและสื่อสารเชิงบวกกับลูกๆ ที่จะช่วยเสริมสัมพันธภาพอันดีภายในครอบครัว

“หลังจากที่ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมเด็ก ทำให้รู้ว่าการสื่อสารให้ลูกเข้าใจและร่วมมือกับเราไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องใช้เวลาและมีเทคนิคทางจิตวิทยาเชิงบวกเข้าช่วย และสิ่งสำคัญคือ “อยากให้ลูกเปลี่ยน พ่อแม่ต้องปรับก่อน”

บรู๊คเล่าว่า “ผมและคุณกบจึงต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกๆ เห็น เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่ชอบเลียนแบบ ดังนั้น แบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่จึงสำคัญมาก เช่น ไม่อยากให้ลูกติดหน้าจอ พวกเราก็จะไม่จับหน้าจอให้ลูกเห็น และหากิจกรรมให้ลูกๆ ทำตลอด เช่น เล่นดนตรี ออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้เขาหมกมุ่นกับเกมบนมือถือหรือดูทีวีมากเกินไป”


หลายๆ ครั้งที่พ่อแม่อยากปรับพฤติกรรมลูกแต่ไม่สำเร็จ และกลายเป็นการสร้างความรู้สึกต่อต้านให้กับเด็กๆ แทน บรู๊คแนะนำว่า “พ่อแม่อาจรู้สึกเหนื่อยกับงานมา จึงเผลอใช้อารมณ์กับลูก อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่ดี กลายเป็นไม่อยากทำตาม ดังนั้น เราจึงควรมองหาจุดดีในตัวลูก เช่น เวลาที่ผมโมโหลูกสาว ก็จะนึกถึงตอนที่ณดาดูแลเอาใจใส่น้อง ยอมยกของเล่นให้น้อง หรือเวลาที่ณดลดื้อ ก็จะนึกถึงตอนที่เขาเข้ามาอ้อน นอนตัก ยิ้มหวานให้ ทำให้เราใจเย็นลง ฉุกคิดมากขึ้น และอุณหภูมิภายในบ้านก็จะเย็นลง”

ที่สำคัญ ถ้าลูกเปลี่ยนมาแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ต้องอย่าลืมชม ซึ่งบรู๊คให้เทคนิคที่ได้เรียนรู้มาจากนักจิตวิทยาเด็กและคอนเฟิร์มแล้วว่าได้ผล “ในการสื่อสารกับลูกให้ได้ผลดี แม้แต่วิธีการชมก็ต้องมีเทคนิค พ่อแม่ต้องชมลูกอย่างจริงใจ โดยใช้ภาษาท่าทางประกอบ เช่น สบตา หอมแก้ม กอด ควรชมทันทีที่เห็นว่าเขาทำดี และชมในสิ่งที่เขาลงมือทำ (มากกว่าชมที่ผลลัพธ์ที่ออกมา) เช่น เมื่อก่อนณดาจะติดทีวี ไม่ยอมลุกไปอาบน้ำ แต่ถ้าวันไหนเราบอกแล้วเขาลุกไปอาบน้ำเองโดยไม่อิดออด ผมก็จะชมทันทีว่า ‘ณดาเก่งจังเลย พอถึงเวลาก็ลุกไปอาบน้ำโดยที่พ่อไม่ต้องบอก พ่อชื่นใจจัง’ เท่านี้ก็สร้างกำลังใจให้ลูกมีแรงจูงใจปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นแล้ว”

ขณะเดียวกัน หากลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็ต้องตักเตือน ซึ่งพ่อบรู๊คทิ้งท้ายไว้ว่า “เมื่อลูกทำผิด ผมจะพยายามจัดการกับอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน และจะบอกลูกตรงๆ ว่า ทำอย่างนี้ไม่ดีนะและให้เหตุผล ผมจะไม่ใช้อารมณ์ตักเตือนเขา ไม่ประชด ไม่เปรียบเทียบ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกต่อต้านมากขึ้นครับ”

Comments are closed.

Pin It