เคยสับสนในตัวเองไหม …ทุก ๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมาจะไปทำงาน สภาวะทางอารมณ์และความรู้สึกที่เป็น เป็นอาการของ burn out หรือจริง ๆ เราแค่ขี้เกียจกันแน่ ?
ปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน นั่นก็คือ “ภาวะ burn out” หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และจิตใจที่เกิดจากการเผชิญกับความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานาน ๆ มักเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานหนัก มีภาระหน้าที่ที่มากเกินไป มีความคาดหวังจากบุคคลอื่นสูง หรือขาดการสนับสนุนจากผู้อื่นจนเกิดอาการทางร่างกาย เช่น สมาธิลดลง อารมณ์ไม่ดี มุมมองต่อตนเองแย่ลง จนเกิดผลกระทบต่อการทำงานและความสัมพันธ์
อาการสามารถแบ่งได้ 3 ด้าน
1. Emotional Exhaustion ความเครียดทางอารมณ์ คืออารมณ์ความรู้สึกเหนื่อย เพลีย อ่อนแรง อ่อนล้า ไม่อยากปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน ไม่อยากการจัดการปัญหาเพราะความอ่อนเพลียที่เกิดขึ้น
2. Depersonalization คือทัศนคติและพฤติกรรมเชิงลบที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นการแยกตัวจากสังคม ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์ รู้สึกตนเองแปลกแยกจากคนอื่น และความรับผิดชอบต่องานลดลง
3. Reduced Personal Achievement การประเมินตนเองเชิงลบ สงสัยและไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง รวมถึงทักษะในการเผชิญปัญหาลดลง
แยกความต่างกันสักนิด !!
ในทางการแพทย์ ภาวะ burn out มักมีผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ในขณะที่ “ความขี้เกียจ” มักส่งผลต่อแค่ความตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างเท่านั้น
อาการของภาวะ burn out มักมีอาการบ่งชีัอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่
• รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
• เบื่อหน่าย หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ
• ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
• ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
• ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและครอบครัวแย่ลง
• มีปัญหาในการนอนหลับ รับประทานอาหาร
• ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ
การป้องกันการเกิดภาวะ burnout
1. โดยองค์กร
– ปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน และเนื้อหาของงานให้เหมาะสมกับพนักงาน
– จัดตารางการทำงานและการใช้ชีวิตให้เหมาะสม (work-life balance)
– พัฒนาหัวหน้างานให้เป็นผู้นำที่ดี
– ให้รางวัลเป็นสิ่งจูงใจ โดยหลีกเลี่ยงการให้เป็นเงิน
– เฝ้าระวังและสังเกตภาวะ burnout ในพนักงาน
– จัดตั้งหน่วยงานที่คอยให้คำปรึกษาด้านจิตใจ
– พัฒนาจุดแข็งของพนักงาน
– จัดตั้งกลุ่มให้การสนับสนุนพนักงาน
2. โดยตัวพนักงานเอง
– ปรับการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หาเวลาพักผ่อน
– ฝึกการมีสติรู้ตัว
– ประเมินและสังเกตความคิด อารมณ์ พฤติกรรมตนเองสม่ำเสมอ
– จัดการเวลาทำงานของตนเอง ให้มีเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนที่ชัดเจน
– มองหาคนที่จะพูดคุยเรื่องไม่สบายใจได้ หรือกลุ่มคนที่คอยเป็นกำลังใจ
ภาวะ burnout เป็นเรื่องไม่ไกลตัว หากรู้ตัวหรือคนรอบข้างสังเกตได้เร็ว ทำให้การจัดการทำได้ง่าย อาจเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อตนเอง ต่องาน จัดการเวลาในการทำงานและพักผ่อนให้เหมาะสม หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกไปทำกิจกรรมที่ชอบ พบปะเพื่อนที่สนิทใจ พูดคุยและรับแรงสนับสนุนกำลังใจจากคนรอบข้างหรือครอบครัว คุยกับหัวหน้างานในเรื่องที่รู้สึกอึดอัด เพื่อช่วยกันจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น จะช่วยให้อาการบรรเทาลงได้ แต่หากทำตามวิธีดังกล่าวแล้วยังรู้สึกไม่ดี มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เริ่มมีอารมณ์หงุดหงิดที่คุมได้ยาก จัดการปัญหาไม่ได้ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ข้อมูลจาก แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล Bangkok Mental Health Hospital : BMHH
Comments are closed.