jatung_32@yahoo.com
หลายคนคง “งง” กับชื่อบทความในครั้งนี้ ประมาณว่า “อารีวรรณ จตุทอง” สนใจการเมืองด้วยเหรอ?
สนใจซิค่ะ ในเมื่อการเมืองเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตของเรามากเหลือเกิน..
ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนขยาด.. ผู้มีอำนาจ ขยาด.. นักการเมือง จนไม่สามารถไว้วางใจบุคคลเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะเราแทบไม่รู้เลยว่า โครงการแต่ละโครงการ นโยบายแต่ละนโยบาย ที่รัฐบาลนำเสนอในรัฐสภา เป็นโครงการหรือนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับประชาชนจริงๆ หรือว่าเอื้อประโยชน์กับพวกพ้องหรือนักการเมืองเอง
หลายคนมองเห็นภาพว่า ทุกวันนี้นักการเมืองไทยกลายเป็นตัวแทนนายทุนมากกว่าเป็นตัวแทนประชาชนใช่หรือไม่
และคงเป็นเรื่องประหลาด ที่นักการเมืองยอมทุ่มทุนจำนวนมากมายมหาศาล เพียงเพื่อแลกกับเงินเดือนค่าตอบแทนที่ดูน้อยนิดหากเทียบกับเงินทุนที่เสียไป
การเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ไม่ต้องผ่านระบบตัวแทนนักการเมืองได้เกิดขึ้นจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น
เป็นที่มาของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ซึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 163 ได้บัญญัติให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงได้ โดยวิธีการที่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน เข้าชื่อต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนได้จัดทำขึ้น
แนวคิดในการมีกฎหมายเช่นนี้ เป็นสิ่งดี แต่…
ถามว่า ใครจะเป็นผู้ดำเนินการในการรวบรวมรายชื่อให้ครบหนึ่งหมื่นรายชื่อได้เพราะการดำเนินการรวบรวมรายชื่อต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ใช่น้อย
ถามว่า ถ้าต้องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายได้จริง ทำไม ยังมีขั้นตอนหรือกระบวนการที่ยุ่งยากในการรวบรวมรายชื่อ อาทิเช่น ต้องใช้สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัตรประชาชน ทั้งที่ปัจจุบันนี้ บัตรสมาร์ทการ์ด 1 ใบ รวมข้อมูลทุกอย่างอยู่แล้ว
ถามว่า ใครจะเป็นผู้ดำเนินการในการร่างกฎหมายของประชาชนที่รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการร่างกฎหมายต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายและควรมีรูปแบบของการมีส่วนร่วม ที่มีการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน
ถามว่า หากประชาชนเสนอร่างกฎหมายเข้าไปในรัฐสภาแล้ว ร่างกฎหมายนั้นจะมีโอกาสประกาศเป็นกฎหมายโดยไม่โดนตัด, ดัดแปลง, แก้ไข, สอดไส้เนื้อหาได้หรือไหม? และประชาชนต้องรอถึงเมื่อไร จึงจะได้ใช้กฎหมายของตนเองเสียที?
ถามว่า ทำไมต้องบังคับให้ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอได้ ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 และหมวด 5 เท่านั้น แม้ว่า หมวด 3 คือเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” หรือ หมวด 5 คือเรื่อง “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” มีความสำคัญมาก
แต่ทำไมไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายในเรื่องอื่นบ้าง เช่น มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญไทย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการที่รัฐไปทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ อย่างกรณี การกำหนดเขตชายแดนไทย, การค้าเสรีระหว่างประเทศ, การทำข้อตกลงด้านพลังงานกับต่างประเทศ หรืออื่นๆ
ถามว่า ทำไมประชาชนคนไทย ไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติบ้านเมืองขนาดนี้ได้เลย..
เกิดความคิดว่า ถ้านักการเมืองมีความจริงใจกับประชาชนจริง แล้วทำไมต้องกำหนดรูปแบบให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอร่างกฎหมายได้ยากนัก
และแม้ว่า ตอนนี้องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิต่างๆ เห็นความสำคัญในการร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายและแนวนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือนายทุนขนาดยักษ์ที่บริจาคเงินให้กับทุกพรรคได้อย่างเต็มที่ ต่างเห็นพ้องตรงกันว่า องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิต่างๆ ทำตัวเป็นผู้ก่อความวุ่นวายในสังคม ขัดขวางการพัฒนาของประเทศ
แม้กระทั่งคนที่ทุกคนรู้ว่า ใครที่ไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ ยังมองว่า “เอ็นจีโอ” คือ “นายหน้าค้าความจน” โดยลืมดูตัวเองว่า “ก็ใช้คนจนเป็นตัวประกันความอยู่รอด” เช่นกัน
นอกจากนี้ เขายังมีผลงานชิ้นยอดอีกอย่างหนึ่ง คือทำให้เกิดยุคของการเปลี่ยนผ่านตัวเลข “สิบเปอร์เซนต์เป็นสามสิบเปอร์เซนต์” อีกด้วย
แต่สิ่งที่น่าห่วงใยคือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังเพิกเฉยต่อสิทธิหน้าที่ความเป็นพลเมืองของตนเอง, เพิกเฉยต่อการเมือง, เพิกเฉยต่อกฎหมาย และที่สำคัญ เพิกเฉยต่อการทุจริตคอรัปชั่น
“แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ในสังคมมองกฎหมายและการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว”
ความรู้สึกว่า “มันยากและเข้าไม่ถึง” กับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาช้านาน…
การคอรัปชั่น, การโกงกิน, การรับสินบน, เงินไม่มา งานไม่ขยับ มีตั้งแต่ในข้าราชการเจ้าหน้าที่ระดับเล็กไปจนถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมืองแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับประเทศ ที่พากันห่วงใยการบริหารงบประมาณ เสมือนหนึ่งว่า ใช้เงินน้อยคือคนโง่ ใครสร้างหนี้ให้เด็กรุ่นหลังได้มากกว่าคือคนเก่ง ย่อมส่งผลให้ประชาชนอย่างเรา รู้สึกเบื่อหน่าย และมองไม่เห็นทางออกจากปัญหาเหล่านี้
อ้วนได้มีโอกาสทำงานให้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในโครงการพัฒนาการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน ซึ่งเพิ่งจบโครงการเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้เอง
การทำหน้าที่เป็นวิทยากรด้านกฎหมาย เพื่อรวบรวมรายชื่อของประชาชนที่ร่วมผลักดันเสนอร่างกฎหมายที่มูลนิธิฯ ได้จัดทำขึ้น ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ใน 30 กว่าเวที เกือบทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นการเปิดโอกาสให้อ้วนได้พบกับพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพ , เด็กนักเรียน, นักศึกษา, กลุ่มสหภาพแรงงาน, กลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ และกลุ่มอื่นๆ
และพบเรื่องน่าเศร้าสำหรับสังคมไทย ที่คนส่วนใหญ่ มักไม่ได้ตระหนักรับรู้ในเรื่องสิทธิหน้าที่พลเมืองของตนเอง โดยเฉพาะที่มาของกฎหมาย ทั้งๆ ที่กฎหมายสร้างผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของประชาชนโดยตรง
การไม่สนใจเรื่องราวอื่นๆ นอกจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของตนเอง แล้วปล่อยให้นักการเมืองใช้โอกาสที่เข้าถึงกฎหมายง่ายกว่า และสามารถสร้างกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองโดยตรง เช่น การโหวตเพิ่มเงินเดือนของตนเอง แต่ร่างกฎหมายของประชาชนกลับไม่สนใจไยดี
แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนถึงจะเข้าใจและเข้าถึงและเห็นความสำคัญในเรื่องสิทธิหน้าที่ของตนเอง
แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนจะได้รับสิทธิในการเสนอร่างกฎหมายของตนเองอย่างเต็มที่ ไม่ถูกปิดกั้น ไม่ถูกขัดขวาง”
และที่สำคัญ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้นักการเมืองชั่วๆ หมดไปจากประเทศไทยเสียที
ตอบกันได้ไหมค่ะ
Comments are closed.