jatung_32@yahoo.com
เป็นเรื่องที่ต้องพูด และพูด เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมเรา…
การที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่ออย่างไม่จบไม่สิ้น ปัญหา “ความรุนแรงในครอบครัว”, ปัญหา “การถูกล่วงละเมิดทางเพศ” หรือปัญหา “การถูกคุกคามทางเพศ”, จากคนในสังคมเดียวกัน หน่วยงานองค์กรเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันในแบบที่ผู้อ่อนแอ ต้องรับภาระหนักอิ้ง คอยระมัดระวังตัวรอบด้าน เพราะรู้สึกว่า “ไม่มีที่ไหน ชีวิตจะปลอดภัยได้เลย”
ทำไมสังคมต้องผลักภาระให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายรับภาระ ต้องดูแลเนื้อตัวร่างกายของตนเอง แต่เปิดโอกาสให้ผู้ชายมีอิสรเสรีที่จะใช้สรีระร่างกายของตนเองอย่างเต็มที่ จะพูด จะกระทำอย่างไรก็ได้ อ้างเพียงแค่ว่า ฝ่ายผู้หญิงเป็นผู้กระตุ้นทำให้เขาต้องกระทำ ถ้าไม่อ้างผู้หญิงยั่วยุ ก็ต้องอ้างองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สุรา ทั้งๆ ที่ไม่มีใครบังคับให้คุณผู้ชายเหล่านั้นดื่มก่อนกระทำเลย
กรณีปัญหาในที่ทำงานเช่นเดียวกัน ไม่ว่าผู้หญิงจะมีอาชีพใด ในหน่วยงานองค์กรใด ก็มีโอกาสเสี่ยงภัยต่อการถูกคุกคามหรือลวนลามได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ประเภทที่คิดว่า ต้องเป็นแอร์โฮสเตส หรือทำงานเป็นนักข่าวที่ต้องลุยลงทำงานในพื้นที่ ทำงานไม่เป็นเวลา ถึงจะโดนคุกคามทางเพศสูง โธ่ เป็นข้าราชการสาว ถ้าหน้าตาดี ก็เสี่ยงไม่แพ้กันใช่ไหมคะ
ปัจจัยอะไรที่ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูง ก็เพราะผู้หญิงต้องทำงานพบปะพูดคุย กับบุคคลอื่นๆ เราถูกสอนให้พูดจาอ่อนหวานไพเราะ ไม่ชวนทะเลาะกับใครๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีอำนาจ หรือผู้ที่นิยมการใช้อำนาจ ก็ย่อมทำให้ผู้หญิงนั้นเสี่ยงต่อการถูกลวนลามหรือคุกคามทางเพศ ยิ่งหน้าตาดีก็ยิ่งเสี่ยงเยอะ หากปฏิเสธก็พานจะถูกกลั่นแกล้งจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่า อาจถูกกล่าวหา หรืออาจถูกเอาผลประโยชน์เข้าหลอกล่อไปเลย
การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) คือ ความประพฤติ ทางกายและวาจา ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ ที่อีกฝ่ายปฏิเสธหรือไม่พึงปรารถนา จนทำให้บรรยากาศในการทำงานอึดอัด ตึงเครียด และเป็นปฏิปักษ์ รับไม่ได้
ตัวอย่างของการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม และถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศ
1. จับแขน จับมือ จับก้น จับหน้าอก จับท่อนขา หรือขาอ่อน รวมถึงส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยที่เจ้าของเนื้อตัวร่างกายไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย
2. พูดจาลวนลาม เรื่องเซ็กซ์ หรือพฤติกรรมทางเพศ ที่ทำให้เกิดความกระอักกระอ่วนใจ เช่น พูดหยอกล้อ เรื่องหน้าอกของผู้หญิง เรื่องอวัยวะเพศของผู้ชาย
3. บังคับ หรือชักชวน ให้ไปออกเดท หรือนอนด้วย
4. มองจ้อง เรือนร่าง สัดส่วน ด้วยสายตาที่ส่อถึงเจตนาทางเพศ
5. พูดจา หรือทำกิริยาดูถูก เหยียดหยาม กีดกัน และรังเกียจ ความเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน
ตอนนี้กฎหมายของไทยที่มีการบัญญัติคุ้มครองในเรื่อง “การคุกคามทางเพศ” ก็มีอยู่ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) มาตรา 16 ดังนี้
“ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกิน คุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง”
ซึ่งมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 16 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเท่านั้นค่ะ ซึ่งดูจะเล็กน้อยสำหรับผู้ที่มีอำนาจเงินทองมากมายพอที่จะเสียค่าปรับแค่นี้ได้ และที่สำคัญคุ้มครองเฉพาะผู้ที่ทำงานในองค์กรเอกชนเท่านั้น ไม่รวมถึงหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจใดๆ นะคะ
ดังนั้นแนะนำว่า หากเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศขึ้นแล้วล่ะก็ น่าจะฟ้องคดีให้ลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหา “อนาจาร” ตามประมวลกฎหมายอาญา 278 ไปเลยดีกว่าค่ะ
แล้วเราจะมีมาตรการอื่นๆ อีกไหม ? ในการดูแลผู้หญิงหรือคนที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ..
ทราบมาว่า ตอนนี้องค์กรด้านสตรีได้พยายามจับมือกันขับเคลื่อนให้ภาครัฐเร่งพิจารณาร่างกฎหมาย “คุกคามทางเพศในที่ทำงานฯ” เพื่อเป็นกลไกในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการถูกคุกคาม ถูกลวนลามจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนเองแล้วค่ะ แต่ปัญหาคือ ผู้ชายที่มีหน้าที่ออกกฎหมาย (ท่านผู้มีเกียรติในรัฐสภา) อาจยังไม่เห็นความสำคัญเร่งด่วนในการพิจารณาออกกฎหมายฉบับนี้เท่าที่ควร ดังนั้นพวกเราต้องช่วยกันเรียกร้องผลักดันให้มีกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้กันโดยเร็วด้วยนะคะ
ระหว่างรอให้มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องดังกล่าว หากเกิดกรณีที่บุคคลากรในองค์กรหรือหน่วยงานใด กำลังประสบปัญหาเช่นนี้เข้าพอดี ขอแนะนำให้พวกเรารวมตัว ดูแลกันและกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น เปิดเวทีเฉพาะกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะได้รับรู้ว่า ไอ้คนที่มันทำแบบนี้ มันทำมาแล้วมากน้อยแค่ไหน หรือมีคนที่ถูกคุกคาม ถูกลวนลามแบบนี้กี่คนแล้ว
หรือเล่าสู่กันฟังว่า ในสังคมองค์กรของเรามีคนที่กระทำตัวเป็นผู้คุกคามทางเพศอยู่กี่คน เป็นใครบ้าง เวลาที่เราไปอยู่ใกล้ๆ ควรจะระวังหรือป้องกันตัวเองยังไง ที่สำคัญ เราต้องร่วมมือกันปฏิเสธพฤติกรรมของคนแบบนี้ อย่าให้เกิดขึ้นอีกให้ได้ ทำเป็นรูปแบบของการขึ้นบัญชีผู้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อใช้กริยา วาจา คุกคาม หรือลวนลามทางเพศก็ได้นะคะ
อย่าลืมว่า “การนิ่งเฉยคือ การยอมรับ”
และระวังการถูกเบี่ยงเบนประเด็น จะกลายเป็นว่า เป็นเรื่องความรักใคร่ชอบพอกัน หรือ ความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาว หรือกำลังจีบกันอยู่
อย่าปล่อยให้ความคิดแบบผู้ชายที่คิดเอาเปรียบผู้หญิงมาอยู่เหนือความถูกต้อง
อย่าลืมว่า “สิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของเรา ก็เป็นของเรา ไม่ใช่ของใคร”
อย่ายอมรับการกระทำหรือความเชื่อที่นำไปสู่การที่เราถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่รู้ตัว
เมื่อคุณไม่พึงพอใจ รู้สึกอึดอัด กับพฤติกรรมที่อีกฝ่ายกระทำกับเรา คุณมีสิทธิพูด มีสิทธิปฏิเสธได้ หากไม่กล้า เพราะเขามีอำนาจมากกว่า เขาข่มขู่ เมล์มาบอกอ้วนก็ได้ค่ะ
ทำไม ? เราต้องยอมรับการกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วยล่ะค่ะ
ที่สำคัญ ผู้หญิงเองก็ต้องพึงระวัง เพราะคำครหาใช้ “เต้า” ไป “ไต่” เป็นคำกล่าวที่ร้ายแรงในสังคมไทยยิ่งนัก!
ฝากถึง ผู้ที่บุคคลทั่วไป ยอมรับว่า คุณกำลังทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับคนในสังคม ไม่ทราบว่าเคยได้ยินคำพูดนี้บ้างหรือเปล่าค่ะ ? “สิทธิสตรีคือ สิทธิมนุษยชน” หากไม่ทราบ ก็แสดงว่า คุณไม่เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
เมื่อไม่เข้าใจ ก็ได้โปรด มีสติเตือนตัวเองตลอดเวลา ด้วยการย้ำตัวเองบ่อยๆ ว่า “สิทธิสตรี คือ สิทธิมนุษยชน” ๆ เพราะคุณน่ะอยู่ในฐานะ “ผู้ปกป้อง” ไม่ใช่ “ผู้ละเมิด” เสียเอง
สุดท้าย เราต้องยอมรับความจริงว่า ประเด็นเรื่องของการคุกคามทางเพศ เป็นเรื่องของอำนาจทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ด้วยโครงสร้างสังคมที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ การหล่อหลอมแนวความคิดระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่มีความแตกต่างกัน ชุดความเชื่อที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนทำให้สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทยถูกทำให้ต่ำกว่าผู้ชาย
ดังนั้น เราต้องร่วมมือกัน “เปลี่ยนแปลง” ความคิดแบบนี้
การที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้ให้ลดน้อยลงได้ ก็คือ การสร้างความตระหนักรับรู้ว่า ผู้หญิงและผู้ชาย ต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
อย่ามองผู้ที่อ่อนแอเป็น “เหยื่อ” เลยค่ะ เพราะเราไม่ใช่สัตว์ล่าเนื้อ แต่เราเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูงแล้ว ถูกต้องไหมค่ะ
Comments are closed.