Advice

อคติในใจคือ ปัญหาทุกสิ่งหรือไม่? /อ้วน อารีวรรณ

Pinterest LinkedIn Tumblr

jatung_32@yahoo.com

ได้มีโอกาสอ่านคอลัมน์ “รุ้งตัดแวง” ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งนำเสนอข่าว “ซ้ำเหยื่อข่มขืน” เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาที่มีคดีข่มขืนเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปีที่แล้ว ปีพ.ศ. 2552 มีคดีข่มขืนมากกว่าปีพ.ศ. 2551 ถึงร้อยละ 25 และพบว่า “เด็ก” ตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

องค์กรนิรโทษกรรมสากล (เอ.ไอ.) ชี้ว่า ตัวเลขที่แท้จริงต้องสูงกว่านี้ เพราะเกิดกรณีไม่มีเจ้าทุกข์มาแจ้งความอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อไปแจ้งความ เจ้าทุกข์จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตอกหน้ากลับมาว่า เป็นผู้หญิงบาร์คาราโอเกะ และพิสูจน์ทราบไม่ได้ว่าถูกข่มขืนหรือไม่ เพราะไม่ได้เป็นสาวพรหมจรรย์ก่อนเกิดเหตุ ทำให้เหยื่อที่ถูกข่มขืนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกบังคับ ขู่เข็ญ และถูกเพิกเฉย

เมื่อคดีถูกบิดเบือนทั้งในชั้นสอบสวนของตำรวจ และชั้นพิจารณาคดีในศาล ยิ่งกว่านั้นเจ้าทุกข์บางรายต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำหน้าที่ดำเนินคดีให้อีกด้วย โดยมีสาเหตุสำคัญอยู่ที่เจ้าหน้าที่หละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เหยื่อเหล่านั้นต้องถูกสังคมตราบาป หากเป็นเด็กต้องออกจากโรงเรียน บางรายเคยคิดฆ่าตัวตาย ส่วนคนลงมือกระทำความผิดแทบทั้งหมดไม่ได้รับการลงโทษแต่อย่างใด โดยกระทรวงสตรีของกัมพูชาชี้ว่า ต้นตอที่ทำให้คดีข่มขืนฯ สูงขึ้นนั้น เกิดจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ ยาเสพติด และภาพโป๊เปลือย

จากข่าวดังกล่าวในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ส่งผลให้ย้อนกลับมาดูที่บ้านเรา แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่เลวร้ายถึงขนาดนั้น แต่ในแง่ของเจตคติหรืออคติทางเพศที่มีต่อผู้หญิงไทย ก็ยังคงมีอยู่ ผ่านการหล่อหลอมภายใต้โครงสร้างสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ครอบครัว และสื่อต่างๆ

ถามว่า อคติทางเพศที่มีต่อผู้หญิงเกิดขึ้นได้อย่างไร? เรื่องนี้อาจเกิดจากประสบการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เคยเจอโดยตรงใช่หรือไม่? เช่น เคยถูกผู้หญิงทำร้ายจิตใจ หลอกลวงให้เจ็บปวด ผิดหวัง หรือเคยเจอปัญหาจากสตรีที่ไม่ดีมาก่อน!

หรือคำบอกเล่าจากคนใกล้ชิด เพื่อน ในแง่ประสบการณ์ที่ไม่ดี หรือแม้แต่จากการสังเกตผ่านสื่อต่างๆ โดยบางครั้งการรับฟังข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมาแบบครึ่งๆ กลางๆ ทำให้เกิดการรับข้อมูลแบบไม่ครบถ้วน ไม่พอเพียงที่จะวิเคราะห์อย่างเป็นกลางได้

เมื่อไม่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างเป็นกลาง แต่เราเองสรุปเหมารวมว่า ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เคยรับฟังเหตุผลหรือสถานการณ์ที่แท้จริง หรือในกรณีมีอคติในบุคคลนั้น ก็เกิดขึ้นได้จากการรับฟังแบบครึ่งๆ กลางๆ สันนิษฐานจากความรู้ความเข้าใจของตนเอง โดยไม่รู้จักตัวตนของคนๆ นั้นอย่างแท้จริง ก็เกิดการตีความตามประสบการณ์หรือความเชื่อของตน จะเป็นการคิดเอง เออเองก็ว่าได้ ไม่เปิดใจกว้างในการรับรู้อย่างแท้จริง เป็นอคติที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ลำเอียงเพราะไม่ชอบ ไม่พอใจ” ดังนั้นทำอะไรก็ย่อมขวางหูขวางตา ดูเลวร้ายไปหมด

เห็นได้ชัดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ในสังคม ความขัดแย้งในระดับบ้านเมือง หรือระดับสังคม ชุมชน หรือส่วนบุคคล มักมีจุดเริ่มต้นจากความไม่เข้าใจกัน และหลายๆ คนมักจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองรู้และตัวเองคิดเป็นหลัก จนลืมมองว่า สิ่งที่เรารู้และคิดนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่? เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน?

ยกตัวอย่างแค่ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอคติว่า ผู้หญิงที่มาแจ้งความว่า ถูกข่มขืน เป็นผู้หญิงที่ไม่ดี หรือทำตัวไม่เหมาะสม เป็นผู้หญิงที่ทำตัวเสี่ยงภัยเอง ชอบแต่งตัวโป๊ยั่วผู้ชาย หรือประกอบอาชีพกึ่งขายบริการอยู่แล้ว ก็ย่อมส่งปัญหากับผู้หญิงทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อจากผู้ร้าย ให้ตกเป็นเหยื่อซ้ำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งหนึ่ง

อคติหรือความเชื่อ กลายเป็นสิ่งที่จะกำหนดคำตอบในหลายคำถามให้เราโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่าง จากการที่ได้เป็นวิทยากรโครงการพัฒนาศักยภาพสตรีให้กับผู้นำชุมชนสตรีกทม. ทั้ง 7 รุ่นๆ ละ 120 คน ร่วมกว่า 800 คน ทำให้มีโอกาสพูดคุยรับฟังปัญหาเรื่อง “สิทธิสตรีกับความรุนแรง” จากผู้เข้าร่วมเวที ซึ่งยังคงสะท้อนภาพความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนว่า ไม่มีใคร อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะเป็นเรื่องผัวเมีย หรือแม้กระทั่งการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็โดนตอบกลับมาว่า “เรื่องผัวเมีย ไม่อยากยุ่ง ให้แก้ปัญหากันเอง”

คำตอบเหล่านี้สะท้อนภาพของสังคมในแบบที่ “แค่ได้ยินคำถาม ก็ได้คำตอบทันทีเลย โดยที่ไม่ได้คิด” จึงต้องตั้งคำถามกลับไปว่า แน่ใจแล้วหรือว่า ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก หรือคนในครอบครัวนั้นไม่อยากให้เกี่ยวข้องเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น? ถ้าเป็นเราถูกกระทำความรุนแรง ถูกทำร้าย ถูกทำให้เจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เราไม่อยากให้เหตุการณ์นั้นยุติลงเลยหรือ?

เพราะเราไม่รู้ว่า “ความรุนแรง” ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อใคร และอย่างไรบ้าง เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องของคนอื่น ไม่เป็นเกี่ยวข้องกับเราอย่างนั้นหรือ? คำถามนี้อ้วนได้มีโอกาสถามกลับไปยังผู้นำชุมชนเหล่านั้น เพราะเมื่อสะท้อนภาพปัญหาอื่นๆ ในชุมชน เราจะเห็นปัญหาเด็ก เยาวชนติดเกมส์ เด็กมั่วสุมกัน การตั้งท้องในวัยที่ไม่เหมาะสม ปัญหายาเสพติด เด็กแว้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก หรือเยาวชนกับผู้สูงอายุในครอบครัวเดียวกัน

เมื่อเรายอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ สามารถลดระดับความรุนแรงจากหนักเป็นเบาบางได้ ถ้าเราเน้นให้ความสำคัญที่สถาบันครอบครัว ถ้าครอบครัวมีความพร้อมในทุกมิติ มีความอบอุ่นที่เกิดขึ้น โดยเริ่มจากการมีสติ รู้จักแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจกัน ร่วมถึงการไม่ทำร้ายร่างกายกันและกัน

และมีหลักการสั่งสอนให้คำแนะนำลูกหลานให้เป็นคนมีเหตุมีผล เคารพซึ่งสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตนเองและผู้อื่น รู้จักใจเค้าใจเรา สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับลูกหลานได้อย่างแท้จริง ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนก็ไม่ทำให้เกิดผลร้ายแรงกับครอบครัวเราได้

ดังนั้นการมองทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวเราตามความเป็นจริง ไม่มองแบบเหมารวมเองว่าการที่เค้าเคยเป็นอย่างนั้นแล้ว เค้าจะต้องเป็นอย่างนี้ และควรไม่มีอคติเป็นที่ตั้ง ไม่เอาอารมณ์ ความไม่ชอบในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาร่วมในการพิจารณาหรือวิเคราะห์คนๆ หนึ่ง เพราะหลักการวิเคราะห์หรือพิจารณาเรื่องราวใดๆ ต้องพิจารณาตามความเป็นจริงด้วยหัวใจที่เป็นกลาง ใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

ถามว่า ถ้าเราเองต้องกลายเป็นคนที่ถูกมองอย่างมีอคติบ้าง จะรู้สึกอย่างไร? ทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่เป็นอย่างที่คนอื่นๆ คิดในแบบนั้น

แล้วเมื่อพิจารณาดีๆ หากตัวเราเอง ยังพิจารณาหรือวิเคราะห์คนอื่นๆ อย่างมีอคติเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยใจไม่เปิดกว้างรับฟังมุมมองความคิดเห็นของผู้อื่นเลย เหมือนประตูที่ปิดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ที่เห็นต่างจากตนก็ไม่เปิดรับ ก็คงไม่ต่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ ว่าทำไม? ถึงมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทยเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อตนเอง ความรุนแรงต่อผู้อื่น และความรุนแรงต่อสังคม..

จึงเป็นความเศร้า.. ที่เรามองไม่เห็นทางออก ถ้าเรายังมีอคติอยู่โดยไม่รู้ตัว!?!

Comments are closed.

Pin It