Advice

Bride To Be: เช็กชัวร์พิสูจน์รัก ก่อนแต่งฯต้องฉีดวัดซีนอะไร โรคใดแอบอยู่!?

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

ก่อนจะร่วมหอลงโรง… อีกสิ่งที่ลืมเสียมิได้คือ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน โปรเจกต์ Bride To Be ประเดิมปีใหม่ชวนมาล้วงลึกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพกันซะหน่อย

อ๊ะๆ ว่าที่บ่าวสาวอย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี หรือคิดว่าเรื่องนี้คือ การกระทำที่บ่งบอกถึงความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะแท้จริงแล้ว มันน่าจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ใจต่อกันของคุณทั้งสองซะมากกว่า ที่สำคัญ การตรวจยังให้ประโยชน์ล้นเหลือ ทั้งป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แถมยังเช็กชัวร์เพื่อเตรียมพร้อมมีบุตรได้อีกต่างหาก

เพื่อไม่ให้การเริ่มต้นชีวิตคู่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาด้านสุขภาพไปซะงั้น แพทย์หญิงกุลธิดา ทรัพย์สมุทรชัย สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 3 เลยมีสาระดีๆ เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน มาฝากกัน

“การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อ ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เราสามารถตรวจได้จากทางเลือด เช่น โรคเอดส์, ซิฟิลิส (Syphilis), ไวรัสตับอักเสบชนิดบี” คุณหมอสาวอธิบายถึงประโยชน์หลักๆ ของการตรวจสุขภาพก่อนตัดสินใจใช้ชีวิตคู่

ก่อนแต่งงาน ควรตรวจอะไรบ้าง

คุณหมอกุลธิดา อธิบายรายละเอียดการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ให้ได้ทราบอย่างครบถ้วนว่า

“การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จะเริ่มจากการซักประวัติ ว่าคนไข้มีโรคประจำตัวอะไร เช่น เป็นหอบหืด, เป็นไทรอยด์ (Thyroid) หรือเปล่า ถ้าคนไข้ตอบว่าแข็งแรงดี แพทย์จะถามต่อไปว่า แล้วที่บ้านมีใครเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) หรือโรคเบาหวานหรือเปล่า จากนั้นก็จะตรวจร่างกายเบื้องต้น ดูว่าหัวใจเต้นปกติหรือเปล่า มีภาวะซีดมั้ย ช่องท้องมีก้อนอะไรผิดปกติหรือไม่

สำหรับฝ่ายหญิง สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การตรวจภายใน ในส่วนของคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ถ้าซักประวัติแล้วได้ข้อมูลว่า ไม่มีการปวดท้องประจำเดือนมากๆ ไม่มีประจำเดือนมามาก หรือน้อยผิดปกติ ส่วนใหญ่ แพทย์จะยังไม่ชวนให้ตรวจภายใน ก็อาจจะแนะนำว่าหลังแต่งงานแล้วสัก 3 ปี ค่อยมาตรวจก็ได้ แต่หากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็จะแนะนำให้ตรวจภายใน เช็กมะเร็งปากมดลูก รวมถึงตรวจเพื่อประเมินว่า มดลูกมีเนื้องอกมั้ย รังไข่มีก้อนเนื้ออะไรผิดปกติหรือเปล่า อันนี้คือในแง่ของการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย”

ตรวจผลเลือด ใช้วางแผนอนาคตลูกน้อย

นอกจากตรวจร่างกายแล้ว อีกสิ่งสำคัญคือการตรวจเลือด ซึ่งผลแล็ป (Lab) ที่ได้จะนำมาใช้ประโยชน์ได้แยะเชียวค่ะ

“การตรวจแล็ป (Lab) ผลเลือด ก็เพื่อที่จะดูภาวะซีด หรือดูว่าร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติมั้ย แล้วก็จะดูว่ามีพาหะโรคธาลัสซีเมียหรือเปล่า นอกจากนี้ยังเจาะเลือด เพื่อดูโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อย่างเช่น เอดส์, ซิฟิลิส, ตับอักเสบชนิดบี รวมถึงตรวจหมู่โลหิตหลัก คือหมู่โลหิต เอ, บี,โอ แล้วก็หาหมู่โลหิตระบบอาร์เอช (Rh) เพราะหากพ่อหรือแม่เป็น อาร์เอช ลบ (Rh-negative) ก็จะมีผลกับเด็กช่วงตั้งครรภ์ได้”

เมื่ออธิบายมาถึงตรงนี้ เราแอบทำท่าสงสัยถึงคำว่า โลหิตระบบอาร์เอช (Rh) ว่าเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์อย่างไร คุณหมอใจดีจึงอธิบายอย่างละเอียดว่า

“หมู่โลหิตทั่วไปที่เรารู้จักจะเป็น เอ, บี, โอ ซึ่งเป็นหมู่โลหิตหลัก ที่หากให้เลือดผิดหมู่ ก็จะทำให้คนไข้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังมีไมเนอร์บลัดกรุ๊ป (minor blood groups) ที่แบ่งเป็น อาร์เอช บวก (Rh-positive) และอาร์เอช ลบ (Rh-negative) ซึ่งกรณีที่คนไข้บางรายไม่สามารถรับเลือดได้ทั้งๆ ที่เป็นหมู่โลหิตเดียวกันนั้น อาจเพราะตัวไมเนอร์บลัดกรุ๊ปนี้ไม่ตรงกัน

และสาเหตุที่ไมเนอร์บลัดกรุ๊ป มีความสำคัญต่อการตั้งครรภ์ ก็เพราะหากคุณแม่เป็นอาร์เอช ลบ คุณพ่อเป็นอาร์เอช บวก ลูกคนแรกเกิดมาเป็นอาร์เอช บวก ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ครรภ์ต่อไปอาจมีปัญหา เพราะจากการท้องครั้งแรก ร่างกายของแม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันเอาไว้ ในครรภ์ถัดไปเด็กอาจมีภาวะบวมน้ำได้ ซึ่งเรื่องนี้แม้คนไทยส่วนใหญ่ จะมีเลือดเป็นอาร์เอช บวก อยู่แล้ว แต่เราก็ตรวจเพื่อป้องกันไว้ก่อน”

โรคไหนฮิต ตรวจสุขภาพก่อนแต่งมักเจอ!?

สำหรับโรคฮิต ซึ่งว่าที่บ่าวสาวมาตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน แล้วพบบ่อยนั้น คุณหมอด้านสูติ-นรีเวช ท่านนี้เฉลยว่า ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่คือ พาหะโรคธาลัสซีเมีย ที่อาจส่งผลโดยตรงต่อบุตร

“ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบ มักจะเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย เพราะคนไทยเป็นพาหะกันเยอะ เกือบ 40% ฉะนั้นเมื่อตรวจพบว่าเป็นพาหะ เราก็ต้องมาดูว่าฝ่ายหญิงเป็นพาหะชนิดอะไร ฝ่ายชายเป็นพาหะชนิดอะไร แล้วเมื่อทั้งคู่มาเจอกัน ลูกจะเป็นโรคมั้ย ถ้าจะเป็น เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพื้นฐานการตรวจนี้ คือ สิ่งสำคัญที่จะนำมาพิจารณาเมื่อคู่สมรสต้องการมีบุตร

ส่วนโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่คนที่มาตรวจก่อนแต่งงาน จะค่อนข้างดูแลตัวเองดีอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยเจอโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เท่าไหร่”

วัคซีนสำคัญ ที่แนะให้ฉีดก่อนแต่งงาน

สูตินรีแพทย์แห่งโรงพยาบาลพญาไท 3 อธิบายต่อ ว่าหลังตรวจร่างกายแล้ว หากว่าที่บ่าวสาว วางแผนมีบุตร แพทย์ก็จะให้คำแนะนำฉีดวัคซีน (Vaccine) บางตัวด้วย

“สำหรับฝ่ายหญิงเมื่อมาตรวจก่อนแต่งงาน เราจะตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันด้วย ถ้าพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันไว้ เพราะหากแต่งงานแล้วเกิดตั้งครรภ์ การที่แม่ติดหัดเยอรมันช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกจะทำให้เด็กมีความเสี่ยงในการพิการเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 1-3 เดือน”

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนตัวอื่นๆ ที่คุณหมออาจแนะนำ ให้ฉีดเพื่อความปลอดภัยสำหรับคุณทั้งคู่ด้วย

“ส่วนใหญ่เราได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันวัณโรค, ไอกรน, โปลิโอ แต่ก็อาจจะมีบางตัวที่เราไม่ได้ฉีดตอนเด็กๆ เช่น วัคซีนป้องกันตับอักเสบชนิดบี ที่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนภาคบังคับของเด็กไทยแล้ว เด็กไทยทุกคนเกิดมาจะต้องฉีด แต่ว่าในคนที่เกิดก่อนปี 2530 อาจจะยังไม่ได้ฉีดเพราะไม่ได้อยู่ในโปรแกรมบังคับนี้ เราก็อาจจะแนะนำให้ฉีด

คือ การจะฉีดหรือไม่นั้น แพทย์ไม่ได้บังคับ แต่ก็มีการให้คำแนะนำว่า ไวรัสตับอักเสบชนิดบี สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ถ้าสามีเป็นพาหะ หรือที่บ้านมีใครเป็น ก็อาจทำให้เราติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นก็แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันเอาไว้ เพราะไวรัสตับอักเสบชนิดบี ถ้าติดแล้วก็มีโอกาสเป็นโรคตับอักเสบเรื้องรัง ตับวาย หรือมะเร็งตับได้ แม้จะพบไม่บ่อยก็ตาม”

หมอแนะ … ตรวจก่อนติ๊ดชึ่ง! ได้ผลเวิร์กสุด

แม้จะใช้คำว่าตรวจก่อนแต่งงานเสียจนชิน แต่ความหมายโดยแท้ ที่คุณหมอแนะนำคือ ควรตรวจสุขภาพทั้งสองฝ่ายก่อนมีเพศสัมพันธ์ ถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

“ทางที่ดีที่สุดก็คือ ควรมาตรวจตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะหากมีเพศสัมพันธ์มาก่อนแล้ว การตรวจก็ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หากคู่ของคุณเป็นซิฟิลิสอยู่ก่อน เป็นตับอักเสบอยู่ก่อน แล้วมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ได้ป้องกัน มันก็อาจติดไปแล้ว”

ทว่าแม้จะผ่านสมรภูมิเดือดกันมาแล้ว ก็ใช่ว่าการตรวจจะไร้ประโยชน์นะคะ เพราะอย่างไรเสียการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ก็ทำให้เราทราบถึงความสมบูรณ์ของร่างกาย ทั้งยังสามารถนำมาใช้วางแผนการตั้งครรภ์ได้ด้วย

“ผลตรวจเลือด ที่ตรวจก่อนแต่งงาน กับผลตรวจเลือดฝากครรภ์ จะเป็นผลเลือดชุดเดียวกัน ถ้าคนไข้มาตรวจแล้ว ภายใน 6 เดือน อาจจะนำผลเลือดชุดนั้นมาฝากครรภ์เลยก็ได้ เพราะถ้าคุณไม่มีความเสี่ยงอย่างอื่น เช่น มีคู่นอนคนเดียว ไม่ได้ใช้ยาเสพติด ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะไปนำโรคพวกนี้เข้ามาก็ไม่มีปัญหา เพราะผลตรวจเลือด อย่างการตรวจหาธาลัสซีเมีย กรุ๊ปเลือด พวกนี้จะไม่เปลี่ยน มันเป็นของตัวเราไปตลอดอยู่แล้ว”

*ทิปส์ เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนตรวจสุขภาพ

– ก่อนตรวจสุขภาพ 2-3 วันไม่ควรรับประทานอาหารที่ผิดไปจากปกติ เช่นไปอิ่มหนำกับบุฟเฟ่ต์ (Buffet) หมูกระทะแบบไม่ยั้ง เพราะการทำเช่นนั้นอาจทำให้ค่าไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ

– ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol) ก่อนวันตรวจสุขภาพ เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ อาจทำให้ผลการตรวจความดันโลหิตคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

– ควรใส่เสื้อที่พับแขนได้สะดวก เมื่อต้องเจาะเลือดที่ข้อพับแขน

– สำหรับสาวๆ หากต้องตรวจภายในควรสวมกระโปรง เพื่อให้การตรวจทำได้สะดวก ที่สำคัญ ควรตรวจก่อนหรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน เช่นเดียวกับการตรวจปัสสาวะ ไม่ควรตรวจระหว่างมีประจำเดือน เพราะปัสสาวะจะมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน จนแปลผลไม่ได้

– เตรียมคำตอบเกี่ยวกับข้อมูลทางสุขภาพของตัวเองให้พร้อม เช่น วัคซีนต่างๆ ที่เคยฉีดไปแล้ว จำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน หรือยาที่รับประทานเป็นประจำ ฯลฯ รวมถึงหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง ก็เตรียมนึก หรือจดคำถามต่างๆ ไว้ถามแพทย์ด้วย จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดาย ที่ลืมถามข้อสงสัยคาใจของคุณ

คลิกอ่าน Bride To Be: การ์ดแต่งงาน-ของชำร่วย ดีไซน์ใดตรึงใจแขกเหรื่อและรักของเรา

Bride To Be: ดอกไม้พันธุ์ไหน กลีบใดชูช่อเหมาะสำหรับงานแต่ง

Bride To Be: 6 ข้อต้องคำนึงก่อนตัดเช่าชุดเจ้าสาว

Bride To Be: ยังไงก็ยังตีโป่งเกล้าผม แต่เทคนิคไหนไม่เชยไม่แก่ พร้อมเกร็ดฯที่เจ้าสาวต้องรู้

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It