By Lady Manager
เมื่อบอกถึงวิธีดูแลรองเท้าแต่ละชนิดไปแล้ว คุณมิน-สิรัชชา พัชรโสภาชัย เจ้าของโมโมโกะ (Momoko) ร้านสปารองเท้าและกระเป๋าที่ให้บริการดูแลรองเท้าอย่างครบวงจร ยินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำกับรองเท้า จากประสบการณ์ส่วนตัวและปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของเธอ
DO
: เก็บรองเท้าไว้ในกล่องกระดาษเจาะรู
“ส่วนตัวมิน จะเก็บรองเท้าของตัวเองไว้ในกล่องกระดาษที่เจาะรูไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้รองเท้าอับมาก การใส่กล่องแบบนี้หลายคนอาจจะขี้เกียจทำ เพราะมองว่าทำให้หารองเท้ายาก เนื่องจากเรามองไม่เห็นรองเท้าในกล่อง
มินแนะนำให้ถ่ายเป็นรูปเล็กๆ แล้วปิดไว้ข้างกล่อง เราก็จะดูรู้ว่าคู่ไหนเป็นคู่ไหน การเก็บแบบนี้มันจะทำให้เราดูแลรองเท้าได้ง่ายขึ้น ทั้งทรงรองเท้า และสีรองเท้า”
: ยัดกระดาษไว้ที่ปลายรองเท้า เพื่อรักษารูปทรง
เวลาเก็บรองเท้า ควรจะยัดกระดาษสีขาว ไว้ที่ปลายรองเท้าเพื่อรักษาทรงรองเท้า และไม่ควรใช้เป็นกระดาษหนังสือพิมพ์ เพราะสีหมึกอาจซึมลงในรองเท้าได้
: ผึ่งรองเท้าให้แห้งเสมอ ก่อนเก็บ
เมื่อรองเท้าโดนฝน หรือเพิ่งลุยน้ำมา ควรผึ่งให้แห้งก่อนเสมอ คนส่วนมากชอบเข้าใจว่า เอายัดเข้าตู้เก็บรองเท้าไปก็ได้ ซึ่งการทำแบบนั้น เชื้อราจะขึ้น และเวลาเชื้อราขึ้น มันจะขึ้นติดรองเท้าคู่อื่นไปด้วย ดังนั้นแนะนำให้ตากรองเท้าข้างนอกก่อน ยังไม่ต้องรีบเอาเข้าตู้ หรือหากชื้นมากก็ควร ตากแดดอ่อนๆ อาจเป่าด้วยลมเย็นของไดร์เป่าผมก็ได้ แต่ห้ามเป่าด้วยลมร้อน ถ้าเป็นลมร้อนเป่า หนังรองเท้าจะเหี่ยวได้
: เช็ดสิ่งสกปรก ก่อนเก็บรองเท้าเข้าตู้
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ลูกค้าเอารองเท้ามาให้ทำความสะอาด เพราะว่าไส้เดือนเข้าไปอยู่ในรองเท้า และมีแมลงต่างๆ เต็มไปหมด ออกลูกออกหลานอยู่ในรองเท้าผ้าใบ เพราะเค้าไปตีกอล์ฟ แล้วไปโดนขี้ดินขี้ทราย เมื่อไม่เช็ดออก แล้วเก็บรองเท้าเข้าตู้ไปนานๆ แมลงเหล่านั้นก็ออกลูก ลามไปถึงรองเท้าคู่อื่นๆ ในตู้”
: ใส่ถุงถ่าน เพื่อดับกลิ่นอับในรองเท้า
รองเท้าผู้ชายหากเหม็นอับ คุณมินแนะนำวิธีแก้เบื้องต้นแก่คุณแม่บ้าน ให้นำถุงเล็กๆ คล้ายถุงชา บรรจุถ่านไม้สีดำ บดละเอียดใส่เข้าไปในรองเท้า เพื่อให้ดูดกลิ่นอับในรองเท้า
: หาซื้อแผ่นกันกัด มาใส่ป้องกันรองเท้ากัด
หากรองเท้ากัด ควรหาซื้อแผ่นกันรองเท้ากัดมาติด หรือหากไม่อยากให้รองเท้ามีรอยกาวแผ่นกันรองเท้ากัดก็ สามารถมาที่ร้านดูแลรองเท้า เพื่อหาหนังนิ่มๆ มาเย็บติดบริเวณที่รองเท้ากัดได้
DON’T
: ไม่ควรเก็บรองเท้าในกล่องพลาสติก ที่ไม่มีรูระบายอากาศ
หลายคนเข้าใจว่า กล่องพลาสติกเหมาะกับการเก็บรองเท้า แต่จริงๆ แล้ว กล่องพลาสติกไม่เหมาะกับการเก็บรองเท้า ทั้งรองเท้าหนังและรองเท้าผ้า เพราะมันจะดูดความร้อน พอดูดความร้อนเข้ามา รองเท้าก็จะอับชื้นอยู่ในกล่อง ดังนั้นหากจะใช้กล่องพลาสติกมาใส่รองเท้า ก็ต้องเจาะรูเพื่อให้สามารถระบายอากาศได้
: อย่าเก็บรองเท้าไว้หลังรถ
คุณมินเล่าว่า เคยมีลูกค้าท่านหนึ่งซื้อรองเท้ามา 8 คู่ ยังไม่ทันได้ใส่ ไปต่างประเทศ 3 เดือน กลับมารองเท้าเหล่านั้นพังหมดเลย พื้นรองเท้าละลาย ยางละลาย สีกลายเป็นสีเหลือง เพราะเก็บรองเท้าไว้หลังรถ เมื่อรองเท้าเจอความร้อน ก็เสียหายหมด
“เช่นเดียวกับ ผู้หญิงหลายคนที่มักเอารองเท้ากีฬาไว้ท้ายรถ ก็แนะนำว่าอย่าทำอย่างนั้น หากไปฟิตเนส (fitness) ก็ให้เช่าตู้ล็อกเกอร์ไว้ดีกว่า อย่าทิ้งรองเท้าไว้หลังรถเลย”
เอ้า! หันมาใส่ใจดูแลรักษารองเท้าในตู้ของคุณ ๆ กันซะนะคะ นอกจากเพื่อให้รองเท้าคู่โปรดราคาเป็นพันเป็นหมื่นอยู่คู่เท้าคุณนานๆ แล้ว ยังเป็นเรื่องสุขภาพเท้าสะท้อนสุขภาพกายด้วยค่ะ
*เรื่องเกี่ยวข้อง ทิปส์เด็ดละเอียดยิบ! วิธีถนอมรักษารองเท้าทุกประเภท
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.