Advice

ตะบี้ตะบันทาเล็บ! โอกาสเกิดเชื้อราสูง!!

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

พฤติกรรมการทาเล็บบ่อยๆ ของผู้หญิงเป็นตัวการบ่อเกิดหายนะทางเล็บ!

เล็บเหลือง ซีด แตกหัก เปราะง่าย หลากหลายสาเหตุ แต่ที่พบเห็นบ่อยสุดคงหนีไม่พ้น “เชื้อราในเล็บ” สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการตกแต่งเล็บมือ เล็บเท้า ของสวยงามอยู่เสมอ แต่ไม่คำนึงถึงเรื่องความสะอาดจึงก่อให้เกิดเชื้อราแห่รวมตัวโดยมิได้นัดหมายในเล็บของคุณ

“การที่เล็บเท้าฉีก หรือเปลี่ยนสี สาเหตุมีได้หลายอย่าง ต้องตรวจดู หรือบางทีต้องตัดเล็บ หรือเอาไปเพาะเชื้อดูว่ามีเชื้อราไหม ถึงจะบอกได้ว่าเป็นหรือเปล่า บางทีดูด้วยตาเปล่าดูไม่ได้หรอก” แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวต่อว่า

“โรคของเล็บ ถ้าไม่่ได้เกิดจากเชื้อรา การที่เล็บดูผิดปกติ อาจจะมาจาก อุบัติเหตุนำมาก่อนทำให้ตัวพื้นเล็บด้านล่าง ที่เรียกว่า Nail Base มันเสียไป มันฉีกขาด จะทำให้เล็บผิดปกติได้ หรือเกิดจากโรคสะเก็ดเงิน ทำให้เล็บผิดปกติได้ หรือโรคทางผิวหนังบางชนิด ก็ทำให้เล็บผิดปกติได้ ต้องแยกโรคอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเกิดจากเชื้อราทั้งหมด”


โรคเชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis) เป็นโรคที่รักษาได้ค่อนข้างหายช้าและเรื้อรัง โรคเชื้อราที่เล็บส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อ Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophyte และ Epidermophyton floccosum ลักษณะของโรคจะเริ่มเป็นที่ขอบเล็บด้านข้างๆ โดยเป็นพื้นสีขาวทึบๆ ต่อมาเล็บจะหนาและขรุขระ ตัวเล็บจะขรุขระเหมือนถูกแทะ สีจะด้าน เล็บจะเปราะ เป็นขุยหนาและผุ การติดเชื้อพบที่เล็บเท้าได้บ่อยกว่าเล็บมือ เพราะที่เล็บเท้ามีความอับชื้นสูง


การติดเชื้อราที่เล็บเท้า หรือที่เรียกว่า โอนีโคมัยโคซิส เป็นปัญหาสุขภาพเท้าที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสังเกตเห็น เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่เป็นปรสิตของพืช เช่น รา และเห็ดรา ซึ่งไม่ต้องอาศัยแสงแดด ในการเจริญเติบโต มันสามารถรุกรานเข้าไปในเล็บได้ทันที และเข้าไปสลายเคราติน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโปรตีนที่มีอยู่ในเล็บ


โอนีโคมัยโคซิส เป็นการติดเชื้อภายในเล็บ ซึ่งทะลุผ่านเล็บเข้าไปได้ ถ้าอาการถูกละเลย จะมีผลกระทบโดยตรง ต่อการทำงาน หรือการเดิน เพราะมันจะทำให้เกิดอาการที่เล็บหนาขึ้น ซึ่งไม่สามารถใช้ที่ตัดเล็บ ตัดออกได้ง่าย และทำให้เจ็บ เวลาใส่รองเท้า เชื้อโรคชนิดนี้บ่อยครั้งที่ทำให้เกิดสิ่งที่ตามมาคือ การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือยีสต์ ตรงบริเวณแผ่นเล็บ

คุณหมอบอกด้วยว่า เชื้อราไม่ได้เกิดมาจากการทาเล็บอย่างเดียวเสียเมื่อไหร่ นิสัยชอบแงะ แกะ เกานี่แหล่ะตัวการ!


“บางทีอาจจะไม่ได้เกิดจากการทาเล็บอย่างเดียว แต่เรามักจะแงะ แหย่เข้าไปเพื่อที่จะไปตัดอะไรบางอย่าง ซึ่งเวลาเราไปแงะมากๆ มันทำให้เกิดการแยกของตัวเล็บกับตัว Nail Base ด้านล่าง พอแยกมาเป็นช่อง ช่องนี้แหล่ะเป็นบริเวณที่เกิดการติดเเชื้อราเข้าไปคือ เราทำตัวเราเอง ความจริงไม่ควรไปยุ่งกับมัน ถ้าตัดให้สั้นพอประมาณ และไม่ไปแงะแกะให้มันเกิดช่องมันก็จะไม่มีเชื้อราตามมาหรอก รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ด้วยว่ามันสะอาดหรือเปล่า เช่น ถ้าเราไปใช้ร่วมกันหลายๆ คน มันก็มีโอกาส ต้องดูความสะอาด ถ้าไม่จำเป็นอย่าไปแคะแกะมันเลย”

ส่วนวิธีการรักษาคุณหมอย้ำว่า “ยาก”

“ต้องรับประทานยา ถ้ายาทาโอกาสหายแค่ 30% ต้องใช้ยารับประทาน ก็ต้องทานนาน โดยทั่วไปเล็บมือก็อาจจะ 6 สัปดาห์ แล้วเท้าก็ 12 สัปดาห์ หรือบางคนมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความเร็ว-ช้าของเล็บในการงอก เวลาทานก็ต้องระวังในเรื่องว่ายามันอาจจะมีผลกับเอนไซม์ในตับด้วย คนที่มีความเสี่ยงในโรคตับก็ต้องระวังเป็นพิเศษในการรับประทานยากลุ่มฆ่าเชื้อรา

ถ้าเล็บหลุดเองโดยไม่ได้ทำอะไร อาจเกิดได้หลายสาเหตุ อาจเพราะเล็บแห้งหรือไม่ โดนสารเคมีอะไรหรือเปล่า ถ้าถามว่าขาดวิตามินทำให้เล็บไม่แข็งแรงไหม ก็เกี่ยวบ้าง เช่น ไบโอติน ก็เกี่ยวกับเล็บ แต่จริงๆ แล้ว มันไม่น่าจะขาดกันมากเท่าไหร่หรอก”

คุณหมอแนะวิธีดูแลรักษาเล็บว่า


“หมอไม่แนะนำให้เป็นอะไรแล้วก็ไปซื้อวิตามินมาทานเอง เพราะสาเหตุมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่การขาดวิตามินก็ได้ เราไม่ควรจะเล่นบทหมอวินิจฉัยตัวเอง แนะนำว่าให้หมอดูก่อนว่ามันเกิดอะไรกันแน่ค่อยรักษาไปตามสาเหตุดีกว่า จริงๆแล้ว ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นวิตามิน ก็ใช่ว่าจะไม่มีผลข้างเคียงอะไรเลย ดังนั้นวิธีดูแลรักษาง่ายๆ คือ อย่าไปแงะ ถ้าอยากให้เล็บชุ่มชื้นอาจจะทาครีมในกลุ่มของพวกยูเรีย ที่เป็นสารอุ้มน้ำให้ความชุ่มชื่นกับเล็บ ยูเรีย 20-30% ก็จะทำให้เล็บเราชุ่มชื้นสวยได้

ส่วนพวกครีมบำรุงเฉพาะมือ เล็บ มักมีส่วนผสมเหมือนครีมทาตัว เพียงแต่มักจะเข้มข้นกว่าเท่านั้นเอง สิ่งสำคัญอย่าใช้สารเคมีกับเล็บเยอะ เช่น การทาเล็บบ่อยๆ จะทำให้เล็บแห้ง และเสียง่าย

และมากกว่านั้นควรพักเล็บ ไม่ควรจะทาต่อเนื่องอยู่แล้ว ทาเท่าที่จำเป็น คือ จะไปออกงานค่อยทา แต่ไม่แนะนำให้ทาต่อเนื่องตลอดเวลา ควรพักเล็บบ้าง บางคนทาต่อเนื่องจนเล็บเป็นเชื้อราแล้วยังไม่รู้ตัวเลย เพราะว่าทาตลอดเป็นตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้แล้ว เล็บเหลืองเกิดจากการทาเล็บบ่อยๆ สูบบุหรี่ก็เหลืองได้ หรือเป็นเชื้อราก็เหลืองได้ “

->สังเกตอาการติดเชื้อราที่เล็บ

1) เล็บเปลี่ยนสี เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล

2) เล็บหนาขึ้น


3) มีกลิ่นเหม็น


4) มีเศษขยะอยู่ภายใต้เล็บ


5) มีจุดขาวบนเล็บ


อ้อ! เดือนนี้คุณหมอธิดากานต์ ยังจะขนความรู้เกี่ยวกับโรคที่ผู้หญิงมักพบเจอในชีวิตมาให้สาวๆได้ทราบอีกเต็มกระบุง 2 เรื่องด้วยกันค่ะ แล้วติดตามต่อในสัปดาห์หน้ากับปัญหาอับชื้นจากการใส่ผ้าอนามัย และเท้าเหม็น

คลิกอ่าน สารพันปัญหาผิวหนังในที่ลับของคุณผู้หญิง โดยพญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล
ดูแลเท้าอย่างไรให้ไร้“ตาปลา” โรคฮิตสาวพิสมัยส้นสูง
บั้นท้ายดำคล้ำ-แตกลาย ..แก้ไขได้

Comments are closed.

Pin It