Advice

เคล็ดลับที่ทำให้คุณดื่มน้ำง่ายขึ้นและมากขึ้น

Pinterest LinkedIn Tumblr

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

ปวดหัวเรื้อรัง

เหนื่อยง่าย

ปัสสาวะน้อยสีเข้มฉุนจัด

สิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากปรากฏการณ์ “ขาดน้ำ” ซึ่งเกิดได้ง่ายกับคนยุคใหม่ที่ไม่มีเวลามากนักให้ตัวเอง ด้วยงานที่เร่งเข้ามา เวลาส่วนตัวมีน้อย แถมบางงานมีลูกติดพันลำพังจะกินข้าวกันยังไม่มีเวลา จะให้หาเวลาดื่มน้ำให้ครบอีกก็ยาก

เข้าใจทุกข้อจำกัดและความไม่สะดวกของทุกท่านครับ

เลยขอฝากเรื่องน้ำแบบง่ายๆ ทำได้แบบเซลฟี่ไว้ ด้วยที่จริงเรื่อง “น้ำ” นั้น เป็นเรื่องตรงไปตรงมาแถมสนุก ยิ่งดื่มให้พอต่อวันนั้นยิ่งสบายใหญ่ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอย่างที่คิด และไม่จำเป็นต้องนับแก้วให้ครบ 8 เสมอไป

ในทางอายุรวัฒน์มีทางออกที่ดีสำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตแบบ “ดื่มน้ำน้อย” อยู่ แต่อย่างแรกขอให้มาแวะดูสัญญาณขาดน้ำที่ตรวจได้เองง่ายๆ ก่อนนะครับ

1. สีปัสสาวะ เข้มข้น บางคนเหมือนสีชาแก่ๆ

2. ปริมาณปัสสาวะ น้อยลงหรือถ้าขาดน้ำมากก็หายไปเลย

3. ดูหน้าตา ริมฝีปากแห้ง ตาโหล ลิ้นแห้ง

4. ดูผิว แห้ง ด้าน ไม่เด้ง ถ้าหนักมากจับผิวตั้งได้

ทั้งหมดคือ สัญญาณขาดน้ำที่ตัวเราร้องเตือนครับ อาจเกิดได้ขณะทำงานเหนื่อยและร้อนไม่มีเวลาดื่มน้ำหรือช่วงที่ออกกำลังกายเสียเหงื่อมากแล้วลืมเติมน้ำเข้าไป หรือแม้ในกรณีที่ดื่มหนักไปจนแอลกอฮอล์ทำพิษ เหล่านี้ทำให้ชีวิตท่าน “ขาดน้ำ(Dehydration)” ได้

ซึ่งทางออกง่ายๆ ในการไม่เป็นคนแล้งน้ำก็คือ การดื่มน้ำแบบเข้าใจ ด้วยหลักอายุรวัฒน์ง่ายๆ ที่ทำได้เองทุกท่านและทุกที่ครับ

1) ดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด นึกไว้เสมอว่าน้ำเปล่าก็คือ โอสถอย่างหนึ่งที่ช่วยบำบัดโรคได้ เป็นโอสถหาง่ายซ้ำราคาถูก ท่านที่ไม่สบายบ่อยด้วยอาการน่ารำคาญหรือเรื้อรังอย่าง ภูมิแพ้,โรคผิวหนัง, ตาแห้ง, ความดันสูง, อาหารไม่ย่อยเรื่อยไป จนแม้กระทั่งนอนไม่หลับ

ขอให้ลองตั้งใจดื่มน้ำให้ได้วันหนึ่งมากขึ้นแล้วบางทีอาการที่น่ารำคาญจะดีขึ้นได้

2) ตัวใหญ่ต้องดื่มเยอะ นี่คือเรื่องจริงเพราะน้ำก็เหมือนยาที่ต้องบริโภคตามน้ำหนัก ท่านที่รักลองนึกง่ายว่าคนตัวโตเป็น 100 กิโลจะใช้สูตรน้ำ 8 แก้วเหมือนคนตัวเล็กหนักครึ่งหนึ่งก็คงไม่พอ ขอให้จำง่ายๆ ว่ายิ่งตัวโตยิ่งต้องดื่มมาก

สูตรไว้ใช้ง่ายๆ คือ ถ้าหนักราว 50-60 กิโลกรัมก็ดื่ม 2 ลิตร (8แก้ว) พอ ถ้าล่ำสันกว่านี้ก็ต้องทบเพิ่มขึ้นไป เช่น หนักสัก 70 กิโลก็ขอสัก 3 ลิตรต่อวันเป็นอย่างต่ำครับ

3) ดื่มน้ำหลังอาหาร การดื่มน้ำช่วยกระบวนการย่อยอาหาร ทำให้ท้องไส้ท่านสบาย ผู้ใหญ่หลายท่านมักเตือนเด็กว่าไม่ให้ “กินข้าวคำน้ำคำ” จะอิ่มเร็วแถมไม่ย่อย เรื่องนี้มีท่านมาถามอยู่บ่อยๆ ครับ ว่าที่จริงแล้วถ้าดื่มน้ำกลั้วข้าวไม่มากนักก็ไม่พอเป็นไร

แต่ถ้าให้ดีก็คือ ดื่มหลังอาหารเป็นหลักจะดีกว่า ส่วนเรื่องที่ว่าดื่มน้ำลงไปจะทำให้กรดในกระเพาะเจือจางนั้นขอบอกว่ากรดกระเพาะแรงกว่าที่คิดมากครับ

4) ดื่มน้ำก่อนออกกำลัง ก่อนออกกำลังใดๆ ขอให้ดื่มน้ำเติมไว้ก่อนอย่างน้อยสัก 2 แก้ว เพราะขณะออกกำลังร่างกายต้องการใช้น้ำในการระบายความร้อนออกมาเป็นเหงื่อ อีกทั้งกล้ามเนื้อในตัวคนก็ชุ่มฉ่ำน้ำมาก ต้องมีน้ำช่วยหล่อเลี้ยงอยู่

การได้ดื่มน้ำเอาไว้จะทำให้ออกกำลังได้เต็มที่ไม่เหนื่อยเร็วด้วยครับ

5) ดื่มน้ำก่อนซาวน่า ก่อนเข้าห้องอบไอน้ำที่ทำเหงื่อออกใดๆ ก็ตามควรดื่มน้ำตุนไว้ก่อน เพราะการเข้าห้องอบตัวเป็นการรีดน้ำออกไปค่อนข้างมาก ขอท่านดื่มน้ำล่วงหน้าไว้เหมือนก่อนออกกำลังกายก็ได้ ฝากเทคนิคไว้คือ ให้เลี่ยงเข้าซาวน่าหรืออบตัวในขณะไม่สบายครับ

6) ดื่มน้ำเมื่อเป็นหวัด การดื่มน้ำในช่วงเป็นหวัดช่วยบำบัดอาการให้ท่านได้ดี เพราะหวัดที่เกิดจากไวรัส ไม่มียารักษาอยู่แล้ว การได้ดื่มน้ำหลายแก้วต่อวันจึงเป็นตัวช่วยที่ไล่หวัดได้ดี ช่วยให้น้ำมูกใสไม่ข้น เสมหะไม่เหนียว และช่วยร่างกายระบายร้อนออกได้อย่างเต็มที่เวลามีไข้ครับ

7) ดื่มป้องกันช็อกแดด เด็กๆ ที่เป็นลมช่วงเช้าหน้าเสาธงหรือผู้ที่ต้องฝึกกลางแดดแล้วเคยเป็น “ลมแดด” ขอให้ดื่มน้ำสะสมไว้ในร่างกายให้มาก เพราะส่วนหนึ่งของอาการช็อกแดดเกิดจากขาดน้ำ (Dehydration) จึงทำให้หงายเงิบหมดสติไป

ดังนั้นถ้าเติมน้ำไว้ให้ตัวสดชื่นเอิบอิ่มเหมือนฟองน้ำที่ชุ่มฉ่ำก็จะเป็นเหมือนเกราะกันวูบคาแดดได้ครับ

8) ดื่มกันเมาค้าง น้ำช่วยล้างพิษในร่างกายได้หลายประการซึ่งส่วนหนึ่งคือ พิษจากน้ำเมาทั้งหลายด้วย จริงอยู่ที่ “ตับ” ช่วยล้างพิษได้ แต่ในกรณีที่ดื่มมากหรือบ่อยไป แอลกอฮอล์นั้นจะล้างออกได้ไม่หมดกลายเป็นขยะพิษ (Aldehyde) และกรดที่ละลายน้ำได้ที่ทำลายเนื้อตับในระดับอณูปูทางให้มะเร็งเข้าหา

และส่วนหนึ่งการเมาค้างมาจากการขาดน้ำ ดังนั้นการดื่มน้ำไว้จึงดีกับคอขวดทั้งหลายครับ

9) ดื่มล้างพิษ สายน้ำอันฉ่ำเย็นเป็นของเหลวที่ใช้ทำความสะอาดได้ทั้งกายภายนอกและ “ภายใน” ด้วยในกายคนมีอวัยวะสำคัญที่ช่วยล้างพิษคือ ตับ ซึ่งกระบวนการทำงานเทศบาลของตับนั้นมีหลักง่ายๆ แต่ทันสมัยคือ เปลี่ยนของมีพิษให้กลายเป็น “พิษน้อย” หรือ “ไร้พิษ” ซึ่งกระบวนการหนึ่งคือ การเปลี่ยนขยะพิษให้ละลายน้ำได้ ดื่มน้ำไว้จึงไม่เสียหลายแน่

10) จำกัดน้ำในโรคหัวใจ, ไต, ตับ สุดท้ายคือ ข้อควรระวังของน้ำที่ควรทราบไว้ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องปริมาณที่ถามกันมามากว่าดื่มมากไปจะอันตรายหรือไม่ ก็ขอบอกเลยว่าไม่น่ากลัวดังคิดครับ ขอฝากหลักไว้ดูง่ายๆ ว่าถ้าไม่มีโรคประจำตัวต้องจำกัดน้ำ 3 โรคดังว่าก็สามารถดื่มได้ในปริมาณที่เหมาะสมตามน้ำหนักตัวดังที่เล่าไว้ครับ

น้ำที่ใช้ฝึกดื่มได้ในผู้ที่ไม่คุ้นกับดื่มน้ำในช่วงแรกได้แก่ น้ำเปล่าบีบมะนาวสักเล็กน้อย, น้ำมะพร้าวอ่อน หรือน้ำใบเตยจิบเย็นๆ ชวนให้ชุ่มชื่นใจดี ที่สำคัญคือ เป็นเทคนิคให้คนดื่มน้ำน้อยได้เติมน้ำเพียงพอมากขึ้น โดยเฉพาะท่านที่มึนบ่อย, ปวดศีรษะไม่ทราบสาเหตุ, เหนื่อยง่ายหรือคล้ายจะเป็นลมอยู่บ่อยๆ อาจเกิดจากการขาดน้ำได้นะครับ

ขอให้ฝึกดื่มน้ำไว้บ่อยๆ แล้วจะดีไม่น้อยครับ
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

 

>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It