Advice

เจาะลึกประโยชน์มหาศาลของ“กล้วย”/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

Pinterest LinkedIn Tumblr

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

ตอนเด็กเคยกินข้าวต้มมัดฝีมือคุณยายที่ห่อด้วยใบตองอ่อนฝีมือผมตัดเอง สมัยนั้นในฐานะ “แรงงานเด็ก” ที่รอค่าจ้างเป็นขนมที่คุณยายทำเพียงเท่านี้ก็แสนสนุก ซึ่งเมื่อโตขึ้นมาได้เห็นกอกล้วยทีไหนก็ให้นึกถึงต้นกล้วยที่เคยปลูกไว้หลังบ้าน

เป็นอาหารได้แทบจะทุกส่วน

มีผู้ฟังรายการเคยถามเทคนิคลดความดันโลหิตซึ่งมีของกินหลายอย่างที่เรารู้จักกันดี อย่างขึ้นฉ่าย และเส้นใยอาหารอย่างรำข้าวโอ้ต นอกจากนั้นยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมมักแนะนำคือ “กล้วยน้ำว้า” ที่จัดเป็นอาหารง่ายๆ

สมัยก่อนแขวนไว้ให้ดึงมากินกันง่ายๆ นั่นละครับ

กล้วย มีสรรพคุณคุมความดันโลหิตได้จากแร่ธาตุที่สำคัญคือ “โพแทสเซียม” ที่เป็นเคล็ดลับสำคัญในการจูนความดันให้สมดุลย์ไม่พุ่งสูงปรี๊ดเหมือนดั่งแร่ “โซเดียม” ที่ให้ความเค็มทั้งหลาย

ประโยชน์จากกล้วยมีได้ในหลายส่วนครับ เริ่มจาก “ดอกกล้วย” หรือหัวปลีที่มีสารแทนนินต้านการอักเสบอยู่มากดังจะเห็นว่ามีรสฝาด แล้วเมื่อต่อมาเติบโตเป็นผลกล้วยนั้นก็เป็นพืชที่กินได้ตั้งแต่ยังอ่อนอยู่จนถึงห่ามและสุกงอมก็ยังคลุกข้าวรับประทานได้

เพื่อนของกล้วยที่อยู่ในสกุลเดียวกันมีมากมาย นอกจากกล้วยน้ำว้าที่เป็นของไม่มีกระดูกยอดนิยมแล้วยังมีกล้วยน้ำไท, กล้วยไข่, ตานี, หักมุก, เล็บมือนาง, กล้วยนาก, กล้วยหิน ไปจนถึงกล้วยกล้ายลูกโตๆ ที่ฝรั่งเรียก “แพลนเทน” เอามาทอดกินแทนมันฝรั่งได้

จะเห็นว่ากล้วยเป็นดั่งเพื่อนแท้ที่จริงใจ เพราะอยู่ใกล้ ช่วยเราได้และที่สำคัญคือ อาจรู้ใจสุขภาพเราได้ในหลายเรื่อง

เอาแค่ที่มีศึกษาไว้ก็มีนับสิบแล้วดังต่อไปนี้ครับ

>>10 ประโยชน์จาก “กินกล้วย”

1) ช่วยหัวใจ

เรื่องใจถือเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งในกล้วยมี “ทีมบำรุงหัวใจ” อันประกอบด้วยวิตามินบี6, วิตามินซี, โพแทสเซียม และใยอาหาร

ซึ่งเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์จากแวนเดอบิลท์ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่าคนที่ได้รับโพแทสเซียมต่อวันในปริมาณที่มากพอ ช่วยลดความเสี่ยงมรณะจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ถึง 49% เลยทีเดียว

2) ช่วยสมอง

กล้วยมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองที่อันตรายคือ “สโตร้ค” หรือโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดปุบปับแล้วทำให้เป็นอัมพาตหรือคร่าชีวิตใครต่อใครได้

ในวารสาร NEJM ชี้ว่าช่วยลดเสี่ยงได้มากถึง 40% โดยมาจากสารโพแทสเซียมที่ช่วยผ่อนแรงความดันและฟลาโวนอยด์ที่ช่วยหลอดเลือดสมองครับ

3) ช่วยลำไส้

เรื่องนี้ใครๆ ก็ทราบดีอยู่ แต่จะขอขยายความสักนิดว่าใยอาหารที่เป็นพระเอกในกล้วยนั้นคือ “เพคติน” ที่เป็นเส้นใยชนิดละลายน้ำ เพราะมันสามารถช่วยกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวอยู่เป็นนิจ ช่วยดูดซับขับพิษออกจากลำไส้และทำให้ไขมันกับน้ำตาลไม่พุ่งสูงในตัวเรา

4) ช่วยบำบัดท้องเสีย

อาการท้องเสียปุบปับที่พอจะรับมือในเบื้องต้นได้อาจใช้กล้วยเข้ามาช่วย โดยอาจเป็นกล้วยห่ามๆที่ยังมีรสฝาดอยู่บ้าง เพราะนั่นคือสาร “แทนนิน” ที่เป็นสารฝาดสามารถต้านเชื้อโรคได้

ส่วนท่านที่เสียเกลือแร่ออกไป กล้วยก็ช่วยเติมโพแทสเซียมให้ได้ครับ

5) ช่วยปลอบใจ

ช่วยเรื่องความจำ กล้วยมีพลังที่จะทำเช่นนั้นได้ก็เพราะในเนื้อของมันประกอบด้วยสาร “ทริปโตแฟน” ที่ร่างกายสามารถนำไปสร้างสารสื่อประสาทคลายเครียดให้อารมณ์สงบเย็นเป็นปกติสุขได้ การใช้กล้วยช่วยให้อารมณ์ดีจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ

6) ช่วยความดัน

การจะรักษาความดันสูงนอกจากเรื่องการ “ลดเค็ม” แล้ว การเพิ่มแร่ธาตุที่ช่วยขยายหลอดเลือดให้ความดันลดลงก็มีส่วนด้วย ซึ่งแร่ที่ว่าคือ “โพแทสเซียม” ที่มีมากในกล้วย จึงไม่น่าแปลกที่กล้วยจะถูกจัดให้เป็น 1 ใน DASH diet คือ อาหารหยุดความดันสูง

7) ช่วยหอบหืด

มีฤทธิ์ช่วยอาการเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ได้ โดยการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจที่ลอนดอนเผยว่าเด็กๆ ที่บริโภคกล้วยแค่เพียงวันละ 1 ผลเท่านั้นก็มีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดหอบหืดได้ถึง 34% แล้ว

8) ช่วยดวงตา

แม้ว่าแครอทจะขึ้นชื่อคู่สุขภาพตา แต่กล้วยเองก็น่าสนใจไม่แพ้กันเพราะกล้วยนั้นมี “วิตามินเอ” ที่ National Institutes of Health ชี้ว่าเป็นวิตามินที่ช่วยปกป้องดวงตา และช่วยการมองเห็นยามกลางคืน

โดยวิตามินเอในกล้วยมีส่วนช่วยป้องกันจุดรับภาพตาเสื่อม ที่ทำให้มองอะไรก็เป็นจุดเบลอตรงกลาง

9) ช่วยกันมะเร็ง

ข้อนี้ต้องมีเพื่อนช่วยกล้วยครับเพราะพบว่าการรับประทานกล้วย, ส้ม และน้ำส้ม ตั้งแต่ช่วง 2 ขวบแรกของชีวิตจะช่วยลดเสี่ยงมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กได้ ขออย่าลืมว่ากล้วยเป็นแหล่ง “วิตามินซี” ที่สำคัญแหล่งหนึ่ง นอกจากนั้นใยอาหารของกล้วยยังช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

10) ช่วยกระดูก

เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะแม้กล้วยเองจะไม่ได้เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีนัก แต่มันมีกลไกที่ลึกล้ำซ่อนอยู่ซึ่งการศึกษาตีพิมพ์ใน Journal of Physiology and Biochemistry เผยว่ากล้วยมีน้ำตาลดี(FOS) ที่ช่วยป้อนลำไส้ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ดีๆ ทำงานได้ดีจึงช่วยดูดซึมแคลเซียมได้

ความดีของกล้วยยังมีอีกมหาศาล ซึ่งโภชนาการจากกล้วยมีส่วนช่วยในหลายด้าน แต่การรับประทานอย่างรอบคอบตามหลักอายุรวัฒน์ก็ยังจำเป็นเสมอ โดยผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณกล้วยได้แก่ ผู้ป่วยโรคไต, มีโพแทสเซียมสูงในเลือด, เบาหวานที่ยังคุมไม่ได้ หรือท่านที่มีปัญหาฟันผุจากคราบน้ำตาล ทั้งหมดควรดูแลไว้อย่างระมัดระวัง

แต่อย่างไรก็ดีกล้วยก็ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีแห่งมวลมนุษยชาติจากคุณประโยชน์ที่ตอบโจทย์ปัจจัย 4 ได้ทั้งหมด

เพื่อนแท้ย่อมช่วยดูแลกันครับ
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It