Advice

10 ข้อสงสัยอาหารเสริม ที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

Pinterest LinkedIn Tumblr

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

ปลายปีมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง อยากขอนำเรื่องที่ได้ประสบมาตลอดจากการทำงานโทรทัศน์, วิทยุ และเขียนบทความมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อพอเป็นประโยชน์ให้ท่านที่รักได้บ้าง

อย่าง เรื่องของ ยาและอาหารเสริม ก็มีท่านถามมาเยอะ

ครั้งหนึ่งในรายการโทรทัศน์ประจำที่ทำอยู่ มีนักแสดงระดับซุปเปอร์สตาร์ท่านหนึ่ง ถามถึงเรื่องยากับอาหารการกิน ว่าจะมีผลถึงกันหรือไม่และมีผลกับโรคที่เป็นไหม

เป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผลกับเราแน่นอนครับ

นอกจากนั้นเวลาไปบรรยายสุขภาพ ก็ให้มีท่านถามถึงการกินอาหารเสริมคู่กับยาประจำ ซึ่งการรับประทานอาหารเสริมอย่าง “น้ำมันปลา” ก็ต้องระวังไม่กินคู่กับยา “แอสไพริน” จริงๆ

นอกจากนั้นยังมีอีกมากที่ต้องรู้

เมื่อพูดถึงน้ำมันปลาแล้ว ก็ให้นึกถึงรายการวิทยุที่จัดอยู่ว่าท่านผู้ฟังมักถามว่ามันต่างกับ “น้ำมันตับปลา” อย่างไร ซึ่งให้จำง่ายๆว่ามันต่างกันเหมือนกลางวันกับกลางคืนเลยครับ สำหรับน้ำมันปลานี้มีคุณค่าในเรื่องของโอเมก้าสามที่สำคัญคือ DHA กับ EPA ที่ช่วยสมองและช่วยลดการอักเสบได้มาก ส่วนน้ำมันตับปลาหนักวิตามินที่ละลายน้ำมันได้อย่างวิตามินเอและดีครับ

นอกจากนั้นในงานเขียนที่ได้สื่อออกไปในนิตยสารต่างๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ก็มีผู้อ่านถามมาถึงเรื่องอาหารการกินเช่นว่า “ไข่ไก่” รับประทานได้วันละกี่ฟอง หรือของบำรุงต่างๆ ที่โฆษณาอยู่นั้นให้ผลดีจริงแค่ไหน

ผมชอบคำถามทั้งหมดนี้ครับ

ที่ชอบเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่สำคัญคือ ผู้ชม, ผู้ฟัง และผู้อ่านได้ประโยชน์ เป็นเกร็ดความรู้ที่หยิบไปใช้ได้เลยไม่หนักวิชาการเกินจนทำให้ท่านที่รักต้องปวดหัว ซึ่งช่วงนี้ก็เช่นกันครับเป็นธรรมเนียมที่จะขอรวบรวมคำถามดีๆ ที่ผมได้รับมาตลอดทั้งปีมาคุยกัน

เพื่อคืนความสุขด้วยความรู้สุขภาพที่มาจากภูมิปัญญาของทุกท่านเองครับ

10 เรื่องสุขภาพที่อาจเข้าใจผิด

1) น้ำมันตับปลา VS น้ำมันปลา

เป็นเรื่องสุดคลาสสิกที่ควรทราบ เพราะทั้ง 2 น้ำมันนี้มีดีต่างกัน โดยขอเน้นที่น้ำมันปลาว่ามันผลิตมาจากแทบทุกส่วนของปลาตั้งแต่หัวปลาจรดปลายครีบ ส่วนน้ำมันตับปลาก็สกัดมาจากตับปลาตามชื่อ มีข้อดีคือ วิตามินเอกับดีมาก แต่ก็อาจให้ผลข้างเคียงได้ถ้ามากเกินไป

ดังนั้นการรับประทานน้ำมันปลาจึงให้ผลต่างจากน้ำมันตับปลา โดยน้ำมันปลามีผลช่วยสุขภาพสมอง, การเรียนรู้, สะเก็ดเงิน, โรคไขข้อ และคุมไขมันในเลือดได้ และเราสามารถกินได้จากปลาสดทั่วไปด้วยครับ

2) เบต้าแคโรทีน VS กรดวิตามินเอ

ทั้ง 2 อย่างนี้มักถูกเรียกง่ายๆ ว่า “วิตามินเอ” แต่ผลลัพธ์ของมันต่างกันราวกับฟ้าและก้นเหวลึก โดยเบต้าแคโรทีนจัดเป็นหนึ่งในเครือญาติวิตามินเอ (Carotenoids) ที่มีส่วนช่วยสุขภาพตาโดยตรงและต้านอนุมูลอิสระ

ส่วนอนุพันธ์กรดวิตามินเอ (13-cis-retinoic acid) หรือ “วิตามินเอรักษาสิว” นั้น เป็นอีกตัวหนึ่งที่มีผลข้างเคียงให้ปากแห้ง และแกล้งตับให้ทำงานผิดปกติถึงขั้นตับวายได้ถ้าได้รับมากเกินไป (ควรให้แพทย์ดูแล)

ส่วนในคุณแม่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีน้องขอให้เลี่ยงกรดวิตามินเอเด็ดขาดครับ

3) วิตามินอีธรรมชาติ VS วิตามินอีสังเคราะห์

แม้จะขึ้นชื่อว่า “อี” เหมือนกัน แต่หน้าตาโครงสร้างของมันต่างกันเหมือนภาพวาดกับรูปถ่ายครับ โดยวิตามินอีธรรมชาติให้พลิกฉลากดูจากคำว่า “d-alpha tocopherol)” ส่วนอีสังเคราะห์จะเป็น “dl-alpha tocopherol”

โดยมีรายงานจากฮาวาร์ดพูดถึงการศึกษาหนึ่ง (SELECT) ว่าวิตามินอีเพิ่มความเสี่ยง “มะเร็งต่อมลูกหมาก (High grade)” มากขึ้น ซึ่งในบ้านเรานิยมใช้วิตามินอีกับเรื่องผิวพรรณ

4) วิตามินรวมในเม็ดเดียว VS วิตามินแยกกิน

วิตามินประเภทกินสะดวกรวมทุกสหายไว้ในเม็ดเดียวมีความแตกต่างจากวิตามินแบบแยกกินครับ สำหรับคำถามในข้อนี้มักมาจากท่านที่กิน “วิตามินรวม” แล้วรู้สึกว่าได้รับวิตามิน “พอ” จริงหรือไม่

ซึ่งคำตอบข้อนี้อยู่ที่ “ชนิดของวิตามิน” ที่เขานำมาใส่ให้ท่าน เพราะวิตามินชนิด “มัลติ” หรือรวมทุกอย่างในเม็ดเดียวอาจใช้วิตามินสังเคราะห์เข้ามาและปริมาณ ก็อาจไม่ได้เหมาะสมในทุกชนิด เทคนิคคือ ให้ถามว่าวิตามินที่ใช้เป็นธรรมชาติ หรือเสมือนธรรมชาติเพียงใด (Bioidentical)

5) คอลลาเจนสด VS คอลลาเจนเสริม

การรับประทานคอลลาเจนดูเป็นเทรนด์แบบ พ็อพคัลเจอร์ ในคนยุคนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพครับ เพียงแต่ต้องมีวิธีเลือกและควรรับประทานจากธรรมชาติบ้าง

อย่างคอลลาเจนนั้นจะดูดซึมดีได้ต้องมีวิตามินซีช่วย จึงควรเลือกชนิดที่มีซีด้วย หรือกินจากธรรมชาติก็เช่นต้มยำไก่, ซุปเปอร์ปีกขาไก่, คากิต้มยำ หรือยำรวมมิตรทะเลเป็นต้น คนรักคอลลาเจนลองดูนะครับ

6) วิตามินซีในผู้ใหญ่ VS วิตามินซีของเด็ก

การรับประทานวิตามินซีแบบ “อมเล่น” เปรี้ยวๆ หวานๆ กับการกินวิตามินซีเม็ดโต 1,000 มิลลิกรัมแบบอาหารเสริมนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับวิตามินซีเม็ดใหญ่ เพราะในวิตามินซีเด็กนั้นจะปรุงแต่งกลิ่นรสให้ถูกใจ ให้ระวังมันกัดเคลือบฟันจากกรดเปรี้ยวด้วยครับ หลังอมเล่นเสร็จควรบ้วนปากก่อนแล้วค่อยแปรงฟันครับ

7) เส้นใยอาหาร VS กากอาหาร

การรับประทานใยอาหารคือ “ไฟเบอร์” เพื่อช่วยสุขภาพนั้น สามารถกินได้ง่ายจากอาหารใกล้ตัวเช่น กล้วย, แก้วมังกร, ส้มโอ, ผักคะน้า, บร็อคโคลี, ดอกกะหล่ำ, หัวบุก และอีกมาก ซึ่งในของกินทั้งหมดที่ว่ามีใยอาหารครบทั้งแบบ “ละลายน้ำ(Soluble)” และ“ไม่ละลายน้ำ(Insoluble)

ซึ่งร่างกายเราต้องการทั้ง 2 ชนิด ส่วนใยอาหารที่ผ่านกระบวนการในท้องไส้ของเราออกมาเป็นของเสียแล้วก็เรียก “กากอาหาร” ครับ

8) ยานอนหลับ VS เมลาโทนิน

เป็นตัวช่วยที่สมาชิกชมรมนอนไม่หลับหลายท่านรู้จักดี ซึ่งมีความต่างกันมากอย่างยิ่งเพราะยานอนหลับนั้น เป็นยาที่จะช่วยได้ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ เพราะมันเป็นสารเคมีที่ไม่ได้มีอยู่ในร่างกายเราแต่เป็นของสังเคราะห์ขึ้นซึ่งจะทำให้มี “อาการข้างเคียง” เช่นง่วงซึม, มึน, หลงลืม, ความจำเปลี่ยนไปจนถึง “ติดยา” ได้

ส่วนเมลาโทนินเป็นสารที่ในสมองของเราก็สร้างได้ แต่ต้องระวังการใช้ในผู้ที่มีโรค “ซึมเศร้า” และกินยาทางจิตเวชอยู่ครับ

9) ยาแก้อักเสบ VS ยาปฏิชีวนะ

เป็นยาชื่อคุ้นปากคุ้นหูเพราะได้ยินมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งในความเป็นจริงยา 2 อย่างนี้อยู่ “คนละกลุ่ม” กันเลยครับ โดยยาแก้อักเสบ (Anti-inflammatory) ที่ว่าไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อแต่ช่วยลดอาการอักเสบได้แก่ปวด, บวม, แดง และร้อนได้

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายเช่น ยาแอสไพรินแก้ปวดอักเสบ, ยาสเตียรอยด์ลดอักเสบ หรือยาไอบูโพรเฟนที่แก้ปวดลดไข้

ส่วนในยาปฏิชีวนะจะมีฤทธิ์ “ต้านจุลชีพ” หรือที่ขอเรียกง่ายๆ ว่า “ฆ่าเชื้อ” ได้ด้วย เช่น ยาปฏิชีวนะเวลาเจ็บคอเป็นหวัดครับ

10) ยาแก้ปวด VS ยาคลายกล้ามเนื้อ

ชื่อชวนให้เข้าใจเหมาเข่งไปว่ารักษาได้หมดทั้งอาการปวดเมื่อยไม่สบายตัว ทั้งที่จริงยา 2 กลุ่มนี้ต่างกันมาก อย่างยาแก้ปวดนั้นส่วนใหญ่เข้าได้กับยาแก้อักเสบลดอาการปวดดังที่เล่าไป

แต่ยาคลายกล้ามเนื้อนั้นเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง (Muscle relaxants) ซึ่งมีผลต่อกล้ามเนื้อลายตามตัวของเรา ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งไม่สบายตัว ซึ่งจุดที่มันไปออกฤทธิ์มีตั้งแต่ไปแก้ที่รอยเชื่อมปลายประสาทและสัญญาณประสาทเอง

ท่านที่รักจะเห็นว่าเรื่องสุขภาพหลายเรื่องเป็นเรื่องเข้าใจผิดแล้วทำร้ายให้ผลถึงชีวิตได้ เช่นเรื่องของน้ำมันปลากับการกินยาละลายลิ่มเลือดที่อาจทำให้ “ตกเลือด” อันตรายได้ หรืออย่างการกินวิตามินเสริมก็เช่นเดียวกัน ได้มากไปแทนที่จะช่วยอาจกลับกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงโรคแทน

จริงแล้วในโลกนี้อาจไม่มีความเข้าใจผิด มีแค่เข้าใจน้อยเกินไปก็ได้ครับ

สุดท้ายนี้ขอฝากเคล็ดลับง่ายๆ ไว้ว่า ถ้ามีสิ่งใดที่สงสัยขอให้ “ถาม” ครับ แม้แต่การรักษาทางการแพทย์ที่แสนจะมีประโยชน์ก็ยังไม่มีการรักษาใดที่จะไร้ผลข้างเคียงทั้ง 100% ดังนั้นหน้าที่ของเราคือ ถามเพื่อความเข้าใจได้รู้ทั้งประโยชน์และโทษที่มีความเสี่ยงเกิดได้

จะได้ช่วยแก้ความเข้าใจแถมช่วยชีวิตเราได้ด้วยครับ
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It