>> คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “หัวใจ” เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย เพราะหากหัวใจหยุดทำงานเมื่อใด เมื่อนั้นชีวิตก็ถึงจุดอวสาน คุณเคยลองคิดบ้างหรือไม่ว่า ตัวเรามีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากน้อยแค่ไหน ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากว่าในแต่ละปีมีคนจำนวนมากเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และแม้แต่ในประเทศไทยก็มีผู้มีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจในปัจจุบันมีหลากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินจนเป็นโรคอ้วน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย รวมทั้งการดำเนินชีวิตแบบรีบเร่ง เคร่งเครียด ซึ่งสภาพเช่นนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงและเอื้อต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากใครที่ไม่เคยให้ความสนใจกับการดูแลหัวใจมาก่อน คงจะรอไม่ได้อีกต่อไป
ทำความรู้จักกับ 5 อาหารดีเพื่อการดูแลสุขภาพหัวใจ
:: กระเทียม…สมุนไพรคู่ครัวไทย
กระเทียมเป็นพืชสมุนไพรเก่าแก่ ในตำราการแพทย์โบราณกล่าวถึงกระเทียมว่ามีฤทธิ์ทางยาหลายชนิดด้วยกัน แม้กระทั่งฮิปโปเครติสซึ่งเป็นบิดาทางการแพทย์ของกรีกโบราณ ก็ยกย่องว่ากระเทียมคือสมุนไพรที่ให้ประโยชน์ทางยาสูงสุดชนิดหนึ่ง คุณสมบัติเด่นของกระเทียม อาทิ ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับไขมันในเลือด และยังมีการศึกษาอีกมากมายของกระเทียมกับสุขภาพ เช่น การรับประทานกระเทียมกับการลดความดันโลหิต ป้องกันการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด เป็นต้น
สถาบันสุขภาพนิวทริไลท์ (Nutrilite Health Institute) สหรัฐอเมริกา พบว่ามีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องผลของกระเทียมต่อระดับไขมันในร่างกาย ซึ่งมีจำนวนของผู้ที่ทำการศึกษารวมกัน 952 คน จากการประมวลผลพบว่า 1 เดือนหลังจากรับประทานกระเทียม ระดับโคเลสเตอรอลรวมของผู้ที่รับประทานกระเทียมลดลง 12% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน และการลดลงนี้ยังคงอยู่อย่างน้อย 6 เดือน อย่างไรก็ตาม เพื่อลดระดับโคเลสเตอรอลอันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมกันเป็นประจำ
:: น้ำมันปลา…กินปลาวันละนิด พิชิตหัวใจแข็งแรง
กรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลา มีบทบาทสำคัญต่อการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยกรดไขมันโอเมก้า-3 จะส่งผลในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และยังส่งผลต่อการลดระดับวีแอลดีแอลในเลือดอีกด้วย ช่วยลดการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นต้นเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรดหลอดเลือดตีบตันอย่างเฉียบพลันในสมองและหัวใจ
การบริโภคปลาทะเล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะส่งผลต่อการรักษาสุขภาพหัวใจ และผู้ที่รับประทานปลาหรืออาหารทะเล 1 ครั้งต่อสัปดาห์ พบว่า ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ถึง 50% ในขณะที่ผู้เสริมระดับกรดไขมันโอเมก้า-3 ในระดับผิวของเม็ดเลือดแดงลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 70%
ที่ว่ากันว่ารับประทานปลาแล้วจะบำรุงสมอง เสริมสร้างความฉลาด วันนี้ต้องบอกเลยว่า ทานปลาวันละนิด พิชิตโรคหัวใจได้เช่นกัน
:: สารสกัดจากชาเขียว…อาวุธลับขับไล่ศัตรูหัวใจ
โคเลสเตอรอลและภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease; CVD) จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2545 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 32,896 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 4 คน แสดงว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดนับวันยิ่งเป็นปัญหาสำหรับคนไทยมากขึ้น
ไฟโตนิวเทรียนท์ในชาเขียวทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งออกซิไดซ์ของแอลดีแอลและโคเลสเตอรอล ซึ่งส่งผลดีในการชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและลดการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันจากลิ่มเลือด
ดังนั้น การรับประทานสารสกัดจากชาเขียวที่อุดมด้วยสารอีจีซีจีและเสริมด้วยสารธีอะฟลาวินส์ ร่วมกับการรับประทานอาหารไขมันต่ำ สามารถช่วยลดแอลดีแอลและโคเลสเตอรอลในคนที่มีไขมันในเลือดสูงได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสนับสนุนว่าสารสำคัญในชาเขียวยังสามารถช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง และเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น
:: โคเอนไซม์ คิวเท็น…เสริมความอึดให้หัวใจ
โคเอนไซม์ คิวเท็น สามารถลดอาการภาวะหัวใจล้มเหลวได้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อเมริกา (American Journal of Therapeutics) ระบุว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโคเอนไซม์ คิวเท็น ช่วยเพิ่มการส่งเลือดออกจากหัวใจได้มากกว่า 15.7% โคเอนไซม์ คิวเท็น ยังมีบทบาทสำคัญมากในการลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว โดยจำกัดปริมาณของไขมันที่จะไปสะสมบนผนังหลอดเลือด และยังมีอีกหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าโคเอนไซม์ คิวเท็น สามารถลดจำนวนของแผลบนผนังหลอดเลือดได้และไม่เกิดการขยายตัวของภาวะการณ์ของโรคจนนำไปสู่หลอดเลือดอุดตัน อีกทั้งยังสามารถช่วยลดการสะสมของโคเลสเตอรอลในเลือดและเพิ่มเอชดีแอลโคเลสเตอรอลได้ด้วย
:: รู้จักกับเลซิติน…ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
เลซิตินคือ สารประกอบที่มีความซับซ้อนซึ่งจัดเป็นไขมัน เรียกว่า “ฟอสโฟลิพิด” (Phospholipid) หรือมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เลซิติน ฟอสโฟลิพิด ฟอสฟาติดิลโคลีน ของวิตามินบีรวมอยู่ด้วย เช่น โคลีน (Choline) อิโนซิทอล (Inositol) รวมถึงกรดอะมิโนบางชนิด ทำให้เลซิตินมีคุณค่าทางโภชนาการจากสารอาหารต่างๆ ที่ประกอบอยู่นั่นเอง
เลซิตินมีลักษณะเป็นสารอิมัลซิไฟเออร์ (Emulsifier) ที่ทำให้น้ำและน้ำมันละลายเข้ากันได้ ด้วยคุณสมบัตินี้จึงทำให้ไขมันแขวนลอยในน้ำดีขึ้น นอกจากนี้ เลซิตินยังเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ทุกชนิดและอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และเป็นองค์ประกอบของน้ำดีอีกด้วย
บทบาทของเลซิตินที่มีต่อการลดอัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจคือ ลดการดูดซึมของโคเลสเตอรอลในทางเดินอาหาร รวมถึงช่วยขนส่งโคเลสเตอรอลในเลือดให้สะดวกขึ้น จึงลดความเสี่ยงของโคเลสเตอรอลที่เกาะตามผนังหลอดเลือดได้
ได้เวลาแล้ว…กับการหมั่นให้เวลาดูแลและถนอมหัวใจ….เพื่อให้หัวใจเต้นอยู่กับเราตราบนานเท่านาน
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.