World Celeb

คนดังที่มาจากการเป็นผู้ลี้ภัย มีใครกันบ้าง!?

Pinterest LinkedIn Tumblr


อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มาร์ก ชากัล โจเซฟ คอนราด เฟรดดี เมอร์คิวรี อีเมลดา มาร์กอส เบนาซีร์ บุตโต ฯลฯ — ล้วนเคยเป็นผู้ลี้ภัย ที่ต้องระเห็จออกจากประเทศเกิดของตัวเอง ทั้งด้วยเหตุผลด้านความแปลกแยกทางการเมือง ก่ออาชญากรรม ความต่างทางศาสนา ภัยพิบัติ หรือเรื่องชาติพันธุ์

ตราบใดที่โลกของเรายังไม่สงบสุข ก็จะยังมีโอกาสทำให้มีผู้ลี้ภัยรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้ทุกวัน รายล่าสุดก็ได้แก่ ตูซาร์ วินต์ ลวิน มิสยูนิเวิร์สเมียนมาร์ 2020 ที่ขึ้นมาแสดงออกต่อต้านการรัฐประหาร จนรัฐบาลทหารเมียนมาร์ออกหมายจับ กลับประเทศไม่ได้แล้ว


เจ้าชายฟิลิป อดีตดยุคแห่งเอดินบะระ

เจ้าชายฟิลิป ทรงสืบเชื้อสายราชวงศ์กรีกและเดนมาร์ก โดยพระบิดาในพระองค์ เจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซ ประสูติท่ามกลางบรรยากาศสงครามเกรโก-เตอร์กิช เมื่อสงครามสิ้นสุดลง กษัตริย์คอนสแตนติน ที่ 1 พระมาตุลาของพระองค์ ทรงถูกบีบให้ลงจากบัลลังก์ และเจ้าชายแอนดรูว์ก็ทรงถูกจับก่อนจะทรงลี้ภัยออกจากกรีซได้สำเร็จ เคราะห์ดีที่เจ้าชายฟิลิป พระองค์น้อย ทรงได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพเรืออังกฤษ โดยทูลเชิญให้ทรงซ่อนพระองค์ในลังผลไม้ โดยสารเรือลี้ภัยมายังฝรั่งเศส


เรจินา สเปคเตอร์

นักร้องสาวเสียงใส เรจินา สเปคเตอร์ เกิดที่สหภาพโซเวียต ในปี 1980 ครอบครัวของเธอต้องอพยพออกจากกรุงมอสโกขณะที่เรจินาอายุเพียง 9 ปี เนื่องจากรัสเซียมีการกวาดล้างชาวยิว


ริตา โอรา

ครอบครัวของนางแบบ/นักแสดง/นักร้องชาวอังกฤษ ริตา โอรา ลี้ภัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอัลบาเนีย มาจากอดีตยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันคือ โคโซโว) มายังกรุงลอนดอน


มิลา คูนิส

นักแสดงชื่อดัง มิลา คูนิส เดินทางจากยูเครนมายังลอสแองเจลิส ในปี 1991 ด้วยวีซาผู้ลี้ภัยทางศาสนา “หลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัสเซีย คุณไม่ได้รับอนุญาตให้นับถือศาสนาใดๆ แต่พ่อแม่ของฉันสอนเสมอว่า เราคือชาวยิว และเราต้องรู้จักตัวตนจริงๆ ของเราเอง”


ทอม สตอปพาร์ด

นักเขียนบทละครชื่อดัง ทอม สตอปพาร์ด เกิดในเชคโกสโลวะเกีย เขาต้องระเห็จออกจากบ้านเกิดก่อนที่นาซีจะมาถึงตัว และรอดจากการถูกส่งไปยังค่ายกักกันได้อย่างหวุดหวิด โดยครอบครัวพาเขาหนีมายังสิงคโปร์ ซึ่งบิดามีบริษัทสาขาอยู่ แต่ปู่ย่า ตายายของเขาหนีไม่ทัน เสียชีวิตในค่ายกักกันชาวยิว

หลังจากญี่ปุ่นบุกยึดสิงคโปร์ ทั้งครอบครัวก็ต้องอพยพอีกครั้งไปยังเมืองดาร์จีลิง อินเดีย ก่อนจะย้ายมาปักหลักที่กรุงลอนดอนหลังสิ้นสุดสงคราม


เวียต ทัน เหวียน

นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ เวียต ทัน เหวียน เจ้าของนิยายเกี่ยวกับเวียดกงและเรื่องสั้นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย The Sympathizer และ The Refugees ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องอพยพออกจากบ้านเกิด ระหว่างสงครามเวียดนาม ในปี 1975 โดยหนีมาที่เพนซิลเวเนีย ก่อนจะย้ายมาปีกหลักที่แคลิฟอร์เนีย

“ผมอาจจะดูไม่เหมือนผู้ลี้ภัยเท่าไหร่ แต่ต้องยอมรับว่า ผมหนีภัยสงคราามมาจริงๆ ซึ่งหากเลือกได้ ผมก็อยากลืมชีวิตในช่วงเวลานั้น เวลาที่โลกเห็นเราไม่ใช่มนุษย์”


มาดเดอลีน อัลไบรท์

ครอบครัวของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ มาดเดอลีน อัลไบรท์ รีบหลบหนีภัยนาซี ก่อนที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะทันบุกเข้ามาถึงเชคโกสโลวะเกีย โดยพวกเขาหนีมาดูท่าทีอยู่ที่อังกฤษ ก่อนที่จะหวนกลับไปยังบ้านเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเมื่อเชคโกสโลวะเกีย เปลี่ยนไปปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในยุโรปตะวันออก พวกเขาเลยย้ายมายังนิวยอร์ก ก่อนที่ มาเดอลีน จะกลายเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์สหรัฐ


แกรี ชตีนการ์ต

เจ้าของผลงานนวนิยายเชิงเสียดสีขายดี Super Sad True Love Story อย่าง แกรี ชตีนการ์ต เป็นชาวยิวที่ต้องลี้ภัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาจากรัสเซียเช่นเดียวกัน ครอบครัวของเขาหนีมายังนิวยอร์ก ตามที่เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำ Little Failure


รูท เวสต์ไฮเมอร์

นักตอบปัญหาเรื่องเพศทางโทรทัศน์ ดร.รูท เวสต์ไฮเมอร์ ถูกส่งออกจากเยอรมนีมายังสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มคินเดอร์ทรานสปอร์ต ในขณะที่แม่และยายเสียชีวิตในค่ายกักกันชาวยิวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงคราม ดร.รูท อพยพต่อไปยังดินแดนปาเลสไตน์ เธอเข้าร่วมรบในสงครามเพื่อเอกราชของอิสราเอล ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา


อีมาน

ซูเปอร์โมเดลผิวสีคนแรกของโลก อีมาน จากบ้านเกิดในโซมาลีไปเรียนโรงเรียนประจำในอียิปต์ ทว่า เมื่อทหารขึ้นมากุมอำนาจปกครองโซมาลี ครอบครัวของเธอจึงต้องกลายสภาพเป็นผู้ลี้ภัย โดยเริ่มจากการหนีไปยังเคนยา ก่อนจะต้องย้ายไปเกือบทั่วโลก


องค์ดาไลลามะ

ดาไลลามะ องค์ที่ 14 เทนสิน กยัตโส ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ต้องลี้ภัยการเมืองมาอยู่ที่ธรรมศาลา ตอนเหนือของอินเดีย หลังจากกองทัพคอมมิวนิสต์จีน บุกเข้ายึดกรุงลาซาของทิเบต ในปี 1959


กอร์ดี บิชอป

อาชญากรตัวฉกาจ ที่มีประวัติอาชญากรรมยาวถึง 27 หน้ากระดาษ หลังจากที่ศาลได้ตัดสินให้เขาต้องโทษจำคุกมากกว่า 2 ปี กอร์ดี บิชอป ก็เลยตัดสินใจว่าจะขอถูกเนรเทศยังดีเสียกว่า

กอร์ดี รีบย้ายหนีออกจากบ้านเกิดไปกบดานรอเรื่องเงียบ จนป่านนี้ตำรวจแคนาดายังไม่รู้ว่าเขาหนีไปไหน


โรมัน โปลันสกี

ผู้กำกับมือฉมัง เจ้าของผลงานรางวัลออสการ์ The Pianist โรมัน โปลันสกี ต้องระเห็จออกจากอเมริกา หนีไปอยู่ฝรั่งเศส หลังจากต้องคดีล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ จนถึงทุกวันนี้ เขายังเป็นอาชญากรที่ทางการสหรัฐต้องการตัว


เอดเวิร์ด สโนว์เดน

อดีตซีไอเอที่กลายเป็นหนามทิ่มแทงรัฐบาลอเมริกัน หลังจากที่ เอดเวิร์ด สโนว์เดน ได้แอบเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐบาลต่อสื่อมวนชน

เอดเวิร์ด ถูกตัดสินว่าเป็นภัย เขาต้องหนีออกจากสหรัฐ ตอนแรกเขากะจะไปซ่อนตัวในโรงพยาบาลบ้าแถวอเมริกาใต้ แต่รัฐบาลสหรัฐจับทางถูก เขาเลยย้ายไปยังฮ่องกง ก่อนที่จะไปพึ่งใบบุญของรัสเซีย


จูเลียน แอสซาญ

บรรณาธิการวิกิลีคส์ จูเลียน แอสซาญ เป็นชาวออสเตรเลีย แต่ข้อมูลลับๆ ของเขาทั้งเรื่องการก่อสงคราม และวิดีโอการสังหารหมู่ต่างๆ สั่นคลอนความมั่นคงของหลายๆ ประเทศ สหรัฐอเมริกาเป็นรายแรก ที่ออกมาจริงจังกับการตามล่า บก. เว็บสุดฉาว

จูเลียน ลี้ภัยไปสวีเดน แต่ไปถูกจับคดีคุกคามทางเพศ ก่อนจะหนีไปจำนนกับตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ดของอังกฤษ เขาวิ่งเต้นจนได้สัญชาติเอกวาดอร์ และได้ลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอน


ซน จุง-ฮัน

ในเกาหลีเหนือ การขโมยเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ก็สามารถทำให้คุณต้องโทษขังลืมไปได้เลย ซน จุง-ฮัน ไม่เสี่ยงรอคำตัดสินคดีว่าถูกหรือผิด เขาคิดอย่างเดียวว่าต้องหนี จึงขับรถข้ามแดนไปทางจีน เพื่อที่จะไปต่อที่เกาหลีใต้

แม้ว่า ซน จุง-ฮัน จะมีชีวิตที่ดีๆ ในเกาหลีใต้ แต่เขาบอกว่า อยากกลับบ้านในเกาหลีเหนือมาก ไม่ใช่เพราะคิมจองอุนจะจ่ายทุกคนที่กลับเข้ามาคนละ 45,000 ดอลลาร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ แต่เขาอยากกลับไปต่อสู้เพื่อคนเกาหลีเหนือในเกาหลีใต้ ที่ย้ายมาแล้วถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม


ซิลเวสเตอร์ โกรท

หลายคนคุ้นเคยกับบทบาทผู้นำนาซีของเขาใน Inglourious Basterds และหน่วยเอสเอสใน Deutschland 83 ซึ่งบทบาทหลังนี้ ตัว ซิลเวสเตอร์ โกรท ได้สัมผัสในประสบการณ์ชีวิตจริง โดยนักแสดงจากเยอรมนีตะวันออก เคยฉวยโอกาสอพยพมายังเยอรมนีตะวันตก ระหว่างได้ออกมาทำการแสดงในซัลบวร์ก จนต้องถูกหน่วยงานความมั่นคง หรือหน่วยเอสเอส ตามล่ามาแล้ว


ยูสรา มาร์ดินี

แชมป์ว่ายน้ำโลก ยูสรา มาร์ดินี สร้างความประทับใจในกีฬาโอลิมปิก ริโอเกมส์ ในปี 2016 ที่กรุงริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล ในฐานะสมาชิกทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัย

บ้านของของเธอในซีเรียถูกสงครามถล่มยับ ต้องลี้ภัยไปยังเลบานอน ก่อนจะย้ายไปตุรกีเพื่อลงเรือเล็กๆ ไปยังประเทศกรีซ แต่เครื่องเสีย ยูสราและน้องสาว กับผู้ลี้ภัยอีก 2 คนต้องรออยู่กว่า 3 ชั่วโมง เครื่องถึงกลับมาใช้งานได้ และพาพวกเขาไปขึ้นฝั่งที่เลสบอสของกรีซ และเดินทางต่อไปยังกรุงเบอร์ลิน


อิซาเบล อัลเลนเด

นักเขียนชาวชิลี มีชีวิตดีๆ อยู่ในสังคมชั้นสูง จนกระทั่ง ประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเลนเด ญาติทางฝ่ายพ่อ ถึงแก่อสัญกรรมในการช่วงชิงอำนาจของทหาร ครอบครัวของเธอกลายเป็นที่หมายหัว จึงต้องลี้ภัยออกไปยังเวเนซุเอลา ก่อนจะย้ายมายังสหรัฐอเมริกา ยึดอาชีพเป็นนักเขียนนิยายขายดีภาษาสเปน


อเล็ก เว็ค

นางแบบชั้นนำ อเล็ก เว็ค ลี้ภัยสงครามกลางเมืองมาจากซูดานตั้งแต่อายุ 9 ขวบ โดยต้องเดินลัดเลาะแนวป่าออกมาจากหมู่บ้านสู่กรุงคาร์ทูม เมืองหลวง และเดินทางมายังกรุงลอนดอน

“พ่อแม่พยายามปกป้องพวกเรา แต่ระหว่างทาง เสียงปืน เสียงระเบิดก็สะเทือนเลื่อนลั่น ท้องถนนก็เต็มไปด้วยคนตาย น่ากลัวมากค่ะ”

Comments are closed.

Pin It