World Celeb

"อองซานซูจี" นางฟ้าประชาธิปไตยตกสวรรค์ ต้องกลับไปอยู่บ้านหลังเดิม!

Pinterest LinkedIn Tumblr


เธอคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพมานานหลายทศวรรษ บาปซ้ำกรรมซัดที่เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ปี 1991 อย่าง อองซานซูจี เพิ่งได้รับอิสรภาพจากการเป็นนักโทษในบ้านของตัวเองนานหลายสิบปีอยู่ได้เพียงไม่นาน ชีวิตก็ต้องวนกลับเข้าอีหรอบเดิม หลังจากทหารเมียนมาร์เข้ามาทำการรัฐประหาร จับเธอและผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ขังไว้ในบ้านอีกครั้ง


ก่อนหน้านี้ อองซานซูจี ถูกขังให้อยู่แต่ในบ้านของตัวเองนานถึง 15 ปี (ระหว่าง ปี 1989 – 2010) โดยความพยายามในการต่อสู้เพื่อให้ชาวเมียนมาร์ได้รับประชาธิปไตย อย่างไม่ใช้ความรุนแรง ทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และเป็นวีรสตรีที่ก้าวข้ามความกลัวออกมาท้าทายอำนาจที่กดขี่


หลังจากผู้นำทหารยอมลงจากอำนาจ และเปิดให้มีการเลือกตั้งปี 2015 ทุกคนก็คาดว่า อองซานซูจี ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเอ็นแอลดีที่ชนะการเลือกตั้งจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเมียนมาร์ ทว่า รัฐธรรมนูญของเมียนมาร์ไม่อนุญาตให้บุคคลที่สมรสและมีบุตรเป็นชาวต่างชาติ เป็นผู้นำประเทศ

แม้จะไม่ได้นั่งตำแหน่งผู้นำสูงสุด แต่ทั่วโลกต่างก็รู้ดีว่า เธอคือผู้นำเมียนมาร์ตัวจริงเสียงจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ดีเอ็นเอความเป็นผู้นำสืบทอดมาทางสายเลือด อองซานซูจี หรือบุตรสาวของฮีโร่นักสู้ นายพลอองซาน ที่ในอดีตเคยต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากการปกครองของเครือจักรภพ จนถูกลอบสังหารตอนอองซานซูจีอายุเพียง 2 ขวบ


อองซานซูจี ย้ายตามแม่ ดอว์ขิ่นจี ที่ไปเป็นทูตเมียนมาร์ในอินเดีย ตอนอายุ 15 หลังจากนั้น 4 ปี เธอก็ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในสหราชอาณาจักร โดยเลือกเรียนสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งที่นั่นเธอได้เจอกับสามี ไมเคิล อาริส

อองซานซูจี ใช้ชีวิตคู่อย่างเรียบง่าย หลังย้ายไปอยู่ที่ญี่ปุ่นและภูฏาน แล้วกลับมาปักหลักในอังกฤษ เลี้ยงลูกชาย 2 คน คือ อเล็กซานเดอร์ และคิม — การกลับบ้านเกิดที่เมียนมาร์ยังไม่เคยอยู่ในหัวสมองของเธอแม้แต่น้อย


ซูจี กลับเมียนมาร์เพื่อมาเยี่ยมแม่ที่ป่วย ในปี 1988 เป็นขณะที่อุณหภูมิการเมืองในเมียนมาร์กำลังเข้มข้น นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งพระสงฆ์ ต่างออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการ

“ฉันคงไม่ได้ชื่อว่าเป็นลูกพ่อ ถ้าทำนิ่งเฉย ไม่ยินดียินร้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” ลูกสาวนายพลอองซาน ขึ้นพูดต่อหน้าประชาชน ตอนที่โดดเข้ามาเป็นผู้นำในการประท้วงต่อต้านอำนาจของนายพลเนวิน

อองซานซูจี ต่อสู้ตามแนวทางของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง และมหาตมะ คานธี จัดขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทว่า การแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพกลับถูกรัฐบาลเผด็จการเมียนมาร์ตอบโต้ด้วยกำลังทหาร


หลังถูกกวาดล้างด้วยความรุนแรง ซูจี ก็ถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านของตัวเอง แม้รัฐบาลทหารจะสร้างภาพให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในอีก 2 ปีต่อมา และพรรคเอ็นแอลดีก็ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง พวกเขากลับไม่ถ่ายโอน ยังคงยึดอำนาจการปกครองไว้ดังเดิม

ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านต่อไปอีก 6 ปี ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาในปี 1995 โดยมีข้อแม้ว่า ห้ามเดินทางออกจากกรุงย่างกุ้ง ต่อมาอีก 5 ปี เธอก็ถูกกักบริเวณอีกครั้ง เมื่อพยายามจะเดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ คราวนี้ติดคุกบ้านต่อไปอีก 2 ปี ก่อนจะถูกปล่อยออกมาแบบไร้ข้อแม้

รัฐบาลทหารยังตามมาเป็นเจ้ากรรมนายเวร ซูจี ถูกจับอีกครั้ง คราวนี้เธอโดนขังคุก จากเหตุปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี กับม็อบฝ่ายรัฐบาล แต่อยู่ในคุกได้ไม่นาน ก็ถูกจับมากักบริเวณที่บ้านเหมือนเดิม โชคดีที่ครั้งนี้ เธอยังได้รับอนุญาตให้พบปะกับสมาชิกพรรคฯ และนักการทูตบางคนได้


ก่อนหน้านี้ไม่นาน สามีของเธอป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง รัฐบาลทหารอนุญาตให้เธอเดินทางไปเยี่ยมที่อังกฤษได้ แต่ซูจีเกรงว่า หากไปแล้วจะไม่อาจกลับบ้านเกิดได้อีก จึงต้องยอมตัดใจทิ้งชีวิตส่วนตัวไป–ไมเคิล อาริส เสียชีวิตในปี 1999

เมียนมาร์จัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 แต่อองซานซูจีไม่ได้มีส่วนร่วม เพราะเธอถูกปล่อยตัวหลังจากวันเลือกตั้ง 6 วัน รัฐบาลใหม่ดูมีวี่แววจริงใจกับการปฏิรูปประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่า เธอและพรรคเอ็นแอลดี เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปการเมืองทันที

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ได้เก้าอี้ สส. 43 จาก 45 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2012 อองซานซูจี สาบานตนเข้าเป็นสมาชิกสภาเมียนมาร์ และผู้นำฝ่ายค้าน และเดือนพฤษภาคมปีถัดมา เธอได้เดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในรอบ 24 ปี


หลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลในปี 2015 อองซานซูจี และพรรคเอ็นแอลดี ก็เผชิญกับคำวิจารณ์จากสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่านำเอากฎหมายสมัยอาณานิคมมาใช้ ขณะที่ขั้วอำนาจเก่า อย่าง ฝ่ายทหารยังคงยึดที่นั่งส่วนใหญ่ในสภา และกุมตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ เอาไว้ โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวกับความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซูจี เคยบรรยายว่า ทหารในสภาของเธอ ‘ไม่ค่อยน่ารัก’ และคาดการณ์กันว่า กระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยน่าจะไม่มีอะไรคืบหน้า

นอกจากนี้ ระหว่างที่พรรคเอ็นแอลดีอยู่ในอำนาจ ปัญหาชนกลุ่มน้อย อย่างโรฮิงญา ก็กลายเป็นหนามยอกอกนางฟ้าแห่งประธิปไตย โดยเฉพาะในปี 2017 ที่ชาวโรฮิงญานับร้อยได้อพยพจากบังคลาเทศเข้ามาทางรัฐยะไข่ ทำให้มีการกวาดล้างด้วยความรุนแรง จนรัฐบาลเมียนมาร์เผชิญกับการฟ้องร้องในศาลโลก กับคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์


อดีตผู้สนับสนุนซูจีจากนานาชาติ ต่างออกมาเรียกร้องให้เธอสั่งการให้ทหารหยุดข่มขืน สังหาร และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในทันที ขณะที่ซูจี กลับออกมาปกป้องทหาร และปฏิเสธเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากการเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพแล้ว คนส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ในฐานะเมืองพุทธ น่าจะปฏิบัติต่อโรฮิงญาอย่างมีมนุษยธรรมกว่านี้

ทว่า ในสายตาของชาวเมียนมาร์ เธอยังคงเป็นเทพธิดาแห่งประชาธิปไตย คะแนนนิยมของซูจีและพรรคเอ็นแอลดียังคงไม่หมดไป จากผลสำรวจล่าสุดในปี 2020 คะแนนนิยมยังพุ่งขึ้นเป็น 79% จาก 70% ในปี 2019 ผลที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ การชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกครั้ง แต่ก็กลายเป็นนางฟ้าประชาธิปไตยที่ตกสวรรค์แบบซ้ำซาก ด้วยการยึดอำนาจของทหาร

Comments are closed.

Pin It