World Celeb

อาลัย "เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ" เจ้าของอาณาจักรเรย์-แบน

Pinterest LinkedIn Tumblr


เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ แห่งลุกซอตติกา เจ้าของอาณาจักรเรย์-แบน เสียีวิตที่โรงพยาบาลซาน ราฟฟาเอเลในกรุงมิลานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ความตายของเลโอนาร์โด นับว่าสั่นสะเทือนวงการธุรกิจและการเมือง รวมทั้ง ส่งผลกระทบต่อคนที่ทำงานร่วมกับเขา และทำงานให้เขา ตั้งแต่ ผู้จัดการระดับสูง ไปจนถึงพนักงานชั้นล่างสุด

“เจ้านายมาที่โรงงานแล้ว” คนงานที่ลุกซอตติกาในอะจอร์โดเล่าว่า เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ มักจะมาที่โรงงงานตั้งแต่เช้าตรู่ ตอนนั้นพี่ชายเขายังไม่ตื่นเลยด้วยซ้ำ เขามาทำงานเช้ายิ่งกว่าพนักงานเสียอีก


เลโอนาร์โด ได้รับยกย่องในฐานะผู้นำทางธุรกิจของอิตาลี รวมทั้ง เป็นคนทำงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และนักลงทุนผู้มีวิสัยทัศน์ “กฎของผมมีอยู่ข้อเดียวคือจะต้องดีที่สุดเสมอ” เขาเคยบอกเคล็ดลับความสำเร็จ ที่ทำให้เด็กกำพร้าอย่างเขาโตขึ้นมาเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในอิตาลี

ลุกซอตติกา ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 โดยได้ที่ดินฟรีๆ มาจากชุมชนในเทือกเขาอะจอร์ดินา ในเมืองเบลลูโน เพื่อที่จะได้มีผู้คนมาอาศัยในเมืองที่เคยร้าง เขาไม่ลืมที่จะมอบหุ้นส่วนใหญ่ให้ชาวเบลลูโน แต่ขอสิทธิ์บริหารงานเป็นของตัวเอง ซึ่งเวลาผ่านไป 60 ปี มูลค่าเพิ่มขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ 5 แสนลีร์ ไปเป็น 25 พันล้านยูโร พร้อมด้วยฐานะบริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้นำโลกในการผลิตกรอบแว่นตาและแว่นกันแดด เหมือนกับม้าที่ตะบึงอย่างรวดเร็วจากโรงงานที่เวนิสสู่การเงินที่มิลาน จากเรย์-แบนสู่โอคลีย์

เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ ยังเป็นคนทันสมัยเสมอ เขาร่วมมือกับ จอร์โจ อาร์มานี จนถึงเฟซบุ๊กของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผลิตแว่นรุ่นพิเศษ ไม่นับรวมการร่วมงานกับภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือการไปปรากฏตัวร่วมกับมิชลินสตาร์เชฟ ดาวิเด โอลดานี หรือขึ้นเวทีกับนักร้องดัง ตั้งแต่ ลอรา พอสินี ไปจนถึง ร็อบบี วิลเลียมส์

เจ้าของอาณาจักรลุกซอตติกาไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องส่วนตัวนัก เขาเคยให้เหตุผลว่า “ผมมักจะปฏิเสธคนที่มาถามผมในเรื่องชีวิตส่วนตัว เพราะในประเทศนี้ คนที่ร่ำรวยมักจะถูกมองว่าเป็นโจร” เลโอนาร์โด มักให้คนอื่นเล่าแทน ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องธุรกิจ

นิโกเลตตา ซัมปิลโล และ เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ
เขาแต่งงาน 3 ครั้ง มีลูกทั้งหมด 6 คน หลังจากหย่าขาดจาก ลูเซียนา แนร์โว ภรรยาคนแรก เขาก็แต่งงานกับ นิโกเลตตา ซัมปิลโล ถึงสองครั้ง ว่ากันว่าหลังจากเขาเสียชีวิต หุ้น 75% ในเดลฟิน บริษัทที่จดทะเบียนในลักเซมเบอร์ก จะแบ่งเท่าๆ กัน (คนละ 33.3 พันล้านยูโร) ให้ลูก 6 คน คือ เคลาดิโอ วัย 65 มาริซา (63) เปาลา (61) เลโอนาร์โด มาเรีย (27) ลูกา (21) และเคลเมนเต (18) ขณะที่อีก 25% ที่เหลือ (มูลค่า 6.66 พันล้านยูโร) จะตกเป็นของ นิโกเลตตา

ความร่ำรวย 23.12 พันล้านยูโร ส่วนใหญ่มาจากหุ้น 32% ในแอสสิลอร์ลุกซอตติกา บริษัทผลิตแว่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันเป็นควบรวมบริษัทผลิตกรอบแว่นของเขา เข้ากับบริษัทผลิตเลนส์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส

เลโอนาร์โด ยังมีหุ้นอีก 10% ในบริษัทประกันภัยอิตาลี เจเนราลี มูลค่า 2.71 พันล้านยูโร อีก 30% ในธนาคารอิตาลี เมดิโอบันกา และอีก 2% ในยูนิเครดิต กุ้นในสายการบินแห่งชาติลักเซมเบอร์ก ลักซ์แอร์ อีก 13%

เขายังมีเรือยอชต์ มูลค่า 27 ล้านยูโร โมเนอีกอส รวมทั้ง อสังหาริมทรัพย์มูลค่า 83 ล้านยูโรในโมนาโก ฝรั่งเศส และลักเซมเบอร์ก นอกจากนี้ ยังมี เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว กัลฟ์สตรีม จี650 อีกหนึ่งลำ

เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ และ เลโอนาร์โด มาเรีย เดล เวคคีโอ
ปัจจุบัน ลูกชายคนที่สองของเขา เลโอนาร์โด มาเรีย เป็นผู้บริหารของแอสสิลอร์ลุกซอตติกา โดยลูกชายคนโต ถูกส่งไปดูแลกิจการในอเมริกาเหนือ ที่สหรัฐอเมริกา ขณะไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องราวเกี่ยวกับลูกสาวและลูกชายที่เหลือมากเท่าไหร่ และไม่รู้ด้วยว่าพวกเขามีส่วนในการบริหารงานในบริษัทต่างๆ ของพ่อบ้างหรือไม่

ดูเหมือนว่า บรรดาอสังหาริทรัพย์ทั้งหลายจะตกเป็นของทายาทของเลโอนาร์โดโดยไม่ต้องเสียภาษี อย่างที่ลักเซมเบอร์ก ที่ตั้งของบริษัท เดลฟิน จะไม่เก็บภาษีที่ดินของเจ้าของผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้พำนักอยู่ในประเทศนี้ ขณะที่ในโมนาโก ซึ่งเขาใช้ชีวิตอยู่จนกระทั่งลาโลกไป ก็ไม่คิดภาษีที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดสู่ทายาท

ผู้เชี่ยวชาญในวงการแฟชันแว่นตา บอกว่า การเสียชีวิตของ เลโอนาร์โด เดล เวคคีโอ น่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจผลิตแว่นที่ปัจจุบัน ลุกซอตติกา กับ แอสสิลอร์ ครองความเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสอง ยิ่งมาควบรวมก็ยิ่งทำให้มีมูลค่าพุงขึ้นไปเกือบ 60 พันล้านยูโร ซึ่งไม่แน่ว่าจะครองความเป็นหนึ่ง หรือดีที่สุดตามปรัชญาของเลโอนาร์โดต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ในมือของผู้บริหารรุ่นใหม่

เลโอนาร์โด มาเรีย เดล เวคคีโอ
ลุกซอตติกา มีกรอบแว่นและแว่นกันแดดมากกว่า 20 แบบที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะทาวการออกแบบของบริษัท โดยมีแบรนด์ในเครืออย่างเรโวและเรย์-แบน นอกจากนี้ ยังบริหารร้านสาขา เลนส์คราฟเตอร์สกับเพิร์ลวิชัน รวมถึง ซันกลาสฮัท วอทช์สเตชัน และวอทช์เวิร์ลด์ กับ กลุ่มอายเมดและวิชันแคร์ พวกเขายังเป็นผู้ผลิตแว่นกันแดดทรงสปอร์ตของสหรัฐ โอคลีย์ และแว่นของจีน โมเดิร์น ไซต์ ออปติก ด้วย

ลุกซอตติกา ประกาศควบรวมบริษัทผลิตแว่นอัดับ 2 ของโลก แอสสิลอร์ ในปี 2017 ที่เน้นผลิตเลนส์สำหรับแว่นตาและแว่นกันแดดหลากหลายชนิด โดยเฉพาะเลนส์ที่ช่วยถนอมสายตา ทั้งสำหรับแว่นสายตาและแว่นกันแดด

การเสียชีวิตของบอสเรย์-แบน จะช่วยให้บริษัทผลิตแว่นอันดับ 3 ของโลก อย่าง ซาฟีโล โดดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้หรือไม่?


ซาฟีโล ก่อตั้งขึ้นโดยครอบครัวทาบัคคี โดยซื้อกิจการบริษัทผลิตแว่นและเลนส์เก่าแก่ของอิตาลีมาบริหาร โดยผลิตทั้งแว่นสายตา แว่นกันแดด แว่นสำหรับเล่นกีฬา และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแว่นตา พะยี่ห้ออย่างสมิท คาร์เรรา ออกซิโด บลูเบย์ โพลารอยด์ และซาฟีโล วางขายใน 130 ประเทศทั่วโลก

ด้าน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชัน แคร์ คือบริษัทผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสายตาอันดับ 4 ของโลก โดยเน้นผลิตคอนแทคเลนส์ มาตั้งแต่ปี 1959 และภายหลังหันมาเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเลสิค หรือการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ โดยพวกเขามีธุรกิจหลักในอเมริกา บราซิล สิงคโปร์ อังกฤษ และเยอรมนี

บริษัทผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับตาอันดับ 5 ของโลก คือ อัลคอน แลบบอราทอรี เดิมที่เป็นร้านแว่นเล็กๆ ในรัฐเท็กซัส ก่อนจะควบรวมเข้ากับพาวเวอร์วิชัน อิงก์. หันมาผลิตคอนแทคเลนส์เป็นหลัก ตอนนี้บริษัทมีฐานการผลิตและตัวแทนจำหน่ายอยู่ในอินโดนีเซีย จอร์เจีย เยอรมนี มาเลเซีย และสิงคโปร์ ผลิตตั้งแต่คอนแทคเลนส์แบบใช้แล้วทิ้ง แบบใช้เป็นรายเดือน และคอนแทคเลนส์หลากสี

Comments are closed.

Pin It