Interview

“ชินวิช รัตนชินกร” แห่ง “ฉลอง เบย์” มั่นใจศูนย์เรียนรู้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

Pinterest LinkedIn Tumblr


ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีมานี้ เชื่อว่าคงไม่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติคนไหนไม่รู้จัก “ฉลอง เบย์” (Chalong Bay) รัมระดับโลกที่ผลิตขึ้นที่ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เมื่อมาเยือนภูเก็ตจะต้องแวะเวียนมาสัมผัสประสบการณ์ที่ ฉลอง เบย์ สักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งที่นี่มีทั้งศูนย์การเรียนรู้ บาร์ และร้านอาหาร


“เล็ก – ชินวิช รัตนชินกร” หุ้นส่วน ฉลอง เบย์ ประเทศไทย เหล้ารัมสัญชาติไทยที่โด่งดังในระดับโลก เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนที่เป็นร้านอาหารและบาร์ ได้ปิดให้บริการลูกค้าไปและจะยังไม่เปิดให้บริการในช่วงนี้ แต่ในส่วนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการผลิตเหล้ารัมในประเทศไทย เปิดให้นักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะ ได้เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ได้เป็นปกติ เพียงแค่ต้องติดต่อล่วงหน้าไว้ก่อน ดังนั้น ในวันที่เริ่มนโยบายเปิดเกาะนี้ ภายในศูนย์เรียนรู้แทบไม่ต้องเตรียมความพร้อมอะไรเลย เพราะที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขทุกประการอยู่แล้ว


“ถึงแม้ว่าร้านอาหารเราจะปิดให้บริการ แต่ก็มีการเช็ดถูทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อตลอดเวลา โดยเฉพาะ ที่ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเหล้ารัม ซึ่งเราได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นปกติ เพียงแค่เปลี่ยนจากการวอล์กอินเข้ามา เป็นการแจ้งการเข้าเยี่ยมชมล่วงหน้า และปรับเป็นการเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้ปฏิบัติตามหลักนิวนอร์มอลทุกประการอยู่แล้ว ที่สำคัญ พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ดังนั้น นักท่องเที่ยวทุกคนจึงมั่นใจได้ในความปลอดภัย”


ชินวิชเล่าต่อว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้วอาจจะมีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่รู้จัก “ฉลอง เบย์” (Chalong Bay) เพราะแนวคิดในการผลิต “ฉลอง เบย์” เกิดขึ้นมาจากผู้หญิงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ที่เคยติดอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในภูเก็ต ช่วงที่ประเทศไทยประสบกับภัยพิบัติสึนามิ ซึ่งเธอได้รับความช่วยเหลือและดูแลจากคนไทยเป็นอย่างดี จึงเกิดความประทับใจต่อคนไทยเป็นอย่างมาก และคิดว่าอยากตอบแทนคนไทยด้วยการทำอะไรสักอย่าง จึงเริ่มผลิตเหล้ารัมแบรนด์ของคนไทยขึ้นมา และที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมวิธีการผลิตจำนวนมาก แต่ช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ลดลง ขณะเดียวกัน กลับมีนักท่องเที่ยวชาวไทยสนใจมาศึกษาการผลิตเหล้ารัม และการผสมเครื่องดื่มค็อกเทลมากขึ้น


“ก่อนหน้านี้ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาศึกษาการผลิตเหล้ารัมเป็นจำนวนมาก จนต้องจัดคิวในการเข้าชมแต่ละวัน เพราะส่วนใหญ่อยากมาชมการผลิตเหล้ารัมที่มีส่วนผสมธรรมชาติ 100% เราได้คัดเลือกน้ำอ้อยออร์แกนิคมาเพียงแค่สายพันธุ์เดียว และส่วนผสมอื่นจากประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวัตถุดิบทุกชนิดล้วนมาจากเกษตรกรในท้องถิ่น โดยยึดเทคนิคและกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม พิถีพิถันและใส่ใจในทุกกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนตามแบบงานฝีมือ แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ยังโชคดีที่ยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทยบางกลุ่ม ที่สนใจเรื่องการมิกซ์เครื่องดื่มเข้ากับรัมในหลากหลายรสชาติมาเรียนรู้บ้าง จึงทำให้เรายังคงเปิดศูนย์การเรียนรู้เรื่อยมา แม้จะมีนักท่องเที่ยวบางตาไปกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก”


เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จึงทำให้ ฉลอง เบย์ ไม่สามารถทำการโปรโมทส่งเสริมการขาย ดึงดูดลูกค้าให้มาเที่ยวชมได้เหมือนสินค้าอื่นทั่วไป แต่เขาได้จับมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำการโปรโมทการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ภายในศูนย์การเรียนรู้ ที่เน้นกระบวนการผลิตรัมจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ


“เมื่อก่อนเราจะโปรโมทสินค้าผ่านทางร้านอาหารเป็นหลัก แต่ตอนนี้ร้านอาหารปิดเราจึงโปรโมทศูนย์การเรียนรู้ของเราผ่านทางโซเชียลต่างๆ โดยเฉพาะ การร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำสกู๊ปประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ภายในศูนย์ที่เน้นการดูแลจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ซึ่งเราจะเน้นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรา ที่ได้นำผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ โดยเฉพาะ ภายในชุมชน มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องดื่มทุกชนิด อันเป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของชุมชน (Sustainable) ในระยะยาว โดยหลอมรวมมรดกอันล้ำค่าจากสองซีกโลก ด้วยการนำวัฒนธรรมอันยาวนานในการเพาะปลูกต้นอ้อยของไทย ผสมผสานกับกรรมวิธีและความเชี่ยวชาญในการผลิตสุราอันเลื่องชื่อจากฝรั่งเศส”


ท่ามกลางแสงสว่างรำไรกำลังจะก่อตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ในรูปแบบภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ชินวิชคาดหวังว่าจะเห็นเศรษฐกิจประเทศไทย โดยเฉพาะ การท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัว เป็นสัญญาณที่ดีให้อีกหลายจังหวัดได้นำไปปรับใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกันต่อไป


“เราอยากให้การเปิดเกาะภูเก็ตในครั้งนี้ เป็นต้นแบบให้อีกหลายจังหวัดนำไปปรับใช้กันในรูปแบบต่างๆ ต่อไป เราไม่ได้คาดหวังว่า การเปิดประเทศรอบนี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวหนาตาเหมือนดังแต่ก่อน เพราะช่วงนี้ภาคใต้อยู่ในช่วงโลว์ซีซันส์ เป็นฤดูฝน ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเข้ามาหนาตาอยู่แล้ว ช่วงที่ไฮซีซันส์ของบ้านเราจะอยู่ประมาณเดือนตุลาคมถึงธันวาคม แต่การที่ได้ทดลองเปิดเกาะก็เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ช่วงแรกอาจมีปัญหาบ้างแต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะเริ่มต้นไม่ได้”

Comments are closed.

Pin It