Interview

“มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์” เจ้าของแกลอรีรุ่นใหม่ ที่จะมาทำให้การเสพงานอาร์ตสนุกขึ้น

Pinterest LinkedIn Tumblr


ผู้หญิงกับแฟชั่นเป็นของคู่กันอยู่แล้ว แต่ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นดีไซเนอร์ไฟแรง ยอมเปลี่ยนเส้นทางความฝัน ที่จะได้โลดแล่นในวงการแฟชั่นนิวยอร์ก เพื่อมาสานต่อโปรเจกต์ครอบครัว ที่ตั้งใจชุบชีวิตโรงเรียนเก่าในย่านเจริญกรุงให้เป็นสเปซสำหรับคนรักศิลปะ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ATT19

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ดีไซเนอร์สาวไฟแรง “มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์” ลูกสาวคนเล็กของ พรเทพ และจรรยา อรรถการวงศ์ เจ้าของ Lek Gallery ร้านขายของวินเทจเก่าแก่ย่านเจริญกรุง ตัดสินใจมารับบท Creative Director ของ ATT19 ไปหาคำตอบพร้อมกัน

“มุกเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่อยู่ในแวดวงศิลปะ เปิดร้านขายของวินเทจที่ชื่อว่า Lek Gallery ซึ่งสำหรับคนไทย ถ้าไม่ได้เป็นนักสะสมอาจจะไม่คุ้นหู เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักสะสมชาวอเมริกันและยุโรป ตั้งแต่เด็ก พอเลิกเรียนมุกก็จะมารอคุณพ่อคุณแม่ที่ร้าน เพื่อกลับบ้านพร้อมกัน​ หรือบางครั้งถ้าคุณพ่อคุณแม่มีนัดดินเนอร์กับลูกค้า ก็จะพามุกไปด้วย หรือเวลาไปเที่ยว คุณพ่อคุณแม่ก็จะพาไปพิพิธภัณฑ์เพื่อศึกษางานศิลปะ ทำให้มุกได้มีโอกาสซึมซับกับศิลปะมาตลอด”


อย่างไรก็ตาม แม้จะเติบโตในครอบครัวที่อินกับศิลปะ แต่ตั้งแต่เด็ก มุกกลับมีแพสชั่นที่อยากจะโลดแล่นในวงการแฟชั่น และเธอก็สามารถทำตามความฝันได้สำเร็จ โดยมุกจบปริญญาโทสาขา Fashion Design and Society ที่ Parsons School of Design ที่นิวยอร์ก และได้มีโอกาสทำงานในแวดวงแฟชั่นที่นิวยอร์กอยู่หลายปี

“ถึงจะชอบแฟชั่น แต่มุกรู้ดีว่า วันหนึ่งก็ต้องกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ซึ่งมุกเองก็คงเหมือนทายาทธุรกิจอีกหลายๆ คน ที่มีช่วงที่รู้สึกอยากหนีความเป็นจริงนี้ และอยากพิสูจน์ตัวเองให้คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งที่ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้กดดันเรานะ แต่เหมือนเราสร้างปมให้ตัวเองมากกว่า ดังนั้น ตั้งแต่ตอนที่เรียนจบปริญญาตรี มุกก็หางานทำ และไปเรียนต่อปริญญาโทจนจบ มุกก็หางานทำที่นิวยอร์ก ได้เข้ามาอยู่ในแวดวงแฟชั่นนิวยอร์ก ได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้พบเจอผู้คนที่หลากหลาย ตอนทำงานที่นิวยอร์กมุกเหมือนหนูถีบจักร ทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงตี 2 มีครั้งหนึ่งมุกต้องไปดูโรงงานเย็บชุดเพื่อใช้ในรันเวย์ จำได้ว่ามุกวิดีโอคอลมาคุยกับที่บ้านตอนกลางคืนของไทย พอรุ่งอีกวัน วิดีโอคอลกับที่บ้าน มุกก็ยังนั่งอยู่ที่โรงงานเหมือนเดิม”


นอกจากจะเหนื่อยกาย ด้วยความที่มุกเข้ามาทำงานในธุรกิจฟาสต์แฟชั่น ทำให้ได้เห็น Waste ที่เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งอาจจะขัดกับตัวตนของมุกที่เป็นสายแฟชั่นรักษ์โลก Slow Fashion ทำให้ยิ่งทำงานไปเรื่อยๆ ยิ่งห่อเหี่ยวใจ ด้วยเหตุนี้เอง หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนานถึง 16 ปี พอคุณพ่อมีไอเดียจะรีโนเวตตึกของโรงเรียนอาทรศึกษา ที่อยู่ข้างๆ ร้าน เลยเรียกประชุมทั้งครอบครัวว่า เราจะมาทำอะไรร่วมกัน เพื่อเป็นโปรเจกต์ครอบครัว มุกเลยตัดสินใจอย่างไม่ลังเลว่าจะกลับเมืองไทย


“ตอนนั้น มุกทำงานเป็น Runway Production Cordinator ที่ Jason Wu และเพิ่งได้ Artist Visa มา 5 ปี ซึ่งกว่าจะได้คือยากมาก แต่พอมีโปรเจกต์ครอบครัวเข้ามา มุกก็ยอมทิ้งวีซ่านี้เพื่อกลับเมืองไทย ทั้งที่เพิ่งใช้ไปได้แค่ 6 เดือน เพราะคิดว่าชีวิตของเราน่าจะทำอะไรที่มีความหมายกว่านี้”


ชีวิตที่พลิกผันในวัย 26 ปี มุกกลับมาเมืองไทยด้วยโจทย์ที่ว่างเปล่า เพราะตอนนั้นเธอและครอบครัวยังไม่ได้มีไอเดียด้วยซ้ำว่า จะเนรมิตพื้นที่ ATT19 เป็นอะไร แม้แต่ชื่อก็ตั้งตามบ้านเลขที่ 19 เดิม เลยกลายเป็นที่มาของ ATT19 หรือ ณ เลขที่ 19 โดยมีการเพิ่มตัว T เพื่อความสวยงามในการออกแบบ

“คนเราไม่มีทางรู้ว่าเราพร้อมมั้ย สำหรับจะทำอะไรบางอย่าง แต่ตอนที่ตัดสินใจกลับมา มุกคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม จำได้ว่าตอนที่ประชุมโปรเจกต์ครอบครัว เราตกลงกันว่า คุณพ่อจะดูแลในส่วนงานก่อสร้างจนลุล่วง พองานก่อสร้างเสร็จ มุกก็กลับไปช่วยวางคอนเซ็ปต์การบริหารพื้นที่ทั้งหมด โดยมุกตั้งใจพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็น “มัลติฟังก์ชั่นอาร์ตสเปซ” มีทั้งร้านขายของแต่งบ้านแบบโบราณ แกลอรี คาเฟ่ และร้าน chef’s table เพราะพี่สาวก็เป็นเชฟอยู่แล้ว โดยเราเปิดตัวครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week”


เหตุผลที่เลือกทำเป็น “มัลติฟังก์ชั่นอาร์ตสเปซ” เพราะด้วยความที่มุกไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ 10 ขวบ ทำให้เห็นว่า การจะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อศึกษาและวิจัย สำหรับคนที่เรียนด้านดีไซน์นั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับในประเทศไทย พื้นที่ในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ อาจจะยังมีน้อย เลยคิดว่า ในเมื่อมีสเปซในมือ ก็น่าจะมาต่อยอดทำอะไรมากกว่าเพื่อตัวเอง หรือ ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ

“หลังจากปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ว่า ขอบริหารสเปซตรงนี้ในแบบที่มุกอยากทำ มุกก็เริ่มจากการนำ Asset ที่บ้าน ซึ่งเป็นร้านขายของเก่า และมีของที่คุณพ่อคุณแม่สะสมอยู่แล้วมาปรับวิธีการโชว์ ให้มีกลิ่นอายความเป็นพิพิธภัณฑ์ มีการให้ความรู้ มีแผ่นพับ ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาชมได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือถ้าสนใจอยากจะซื้อก็ทำได้เช่นกัน เพราะเราเป็น Commercial Gallery แต่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ฟรี โดยเราหวังว่า คนที่มาจะได้อะไรจากการมาชมผลงาน หรือนิทรรศการที่เราจัด เปลี่ยนภาพจำจากร้านขายของเก่าในอดีต ที่คนที่ไม่ได้ตั้งใจมาซื้อจะไม่กล้าเข้ามาเท่าไหร่”


มุกยังบอกด้วยว่า ในช่วง 2-3 ปีแรกที่ ATT19 เปิดตัว เธอใช้เวลาอยู่หน้างานค่อนข้างเยอะ เพื่อสังเกตลูกค้าและเก็บอินไซต์ของลูกค้ามาต่อยอด โดยหัวใจสำคัญในการรันธุรกิจคือ ไม่ว่าคนที่มาจะซื้อของติดไม้ติดมือกลับไปหรือไม่ แต่อย่างน้อยทุกคนต้องได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไป

“เราเป็นแกลอรีแรกๆ ที่มีการทำคอนเทนต์ออนไลน์ มีการรีโพสต์โพสต์ของลูกค้า ค่อยๆ สร้างคอมมิวนิตีให้เกิดขึ้น การได้มีโอกาสมาบริหารสเปซที่ได้ให้อะไรกับผู้คน มันเติมเต็มและทำให้เรามีความสุขมาก เรามองว่าที่นี่เหมือนเป็นสตาร์ตเตอร์ให้ศิลปินหลายๆ คน ได้มีแพลตฟอร์มในการโชว์ผลงาน ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้มาเปิดประสบการณ์ เพราะมุกมองว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่คู่ควรสำหรับทุกคน”


อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่างานของมุกวันนี้ จะเหมือนทิ้งด้านแฟชั่นที่รักมาเอาดีด้านศิลปะ แต่มุกกลับมองว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะถึงจะไม่ได้ทำงานแฟชั่นจริงจัง แต่อย่างน้อยก็ได้นำความรู้ที่มีมาปรับใช้

“มุกเลือกรันพื้นที่เราในแบบที่คิดว่าเรามองว่าดีที่สุด อย่างเวลาเลือกศิลปินมาโชว์ผลงาน เราไม่ได้คัดจากโปรไฟล์ แต่ดูที่ผลงานจริงๆ หรืออย่างวิธีการจัดนิทรรศการ ด้วยความที่มุกมาสายแฟชั่น มุกจะเน้นนำเสนอในรูปแบบที่เรียบง่าย เข้าใจและเข้าถึงง่าย เลยทำให้เราสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ส่วนช่องทางในการสร้างรายได้ เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ คือเราทำเงินผ่านคาเฟ่ รีเทล อย่างที่บอกว่า ทุกอย่างในแกลอรีซื้อได้ แต่เราไม่ได้บอกตรงๆ หรือติดราคา เพราะเราอยากให้ทุกคนสบายใจในการมา เราอยากให้ที่นี่เป็นที่สำหรับทุกคน เราไม่ได้มองแค่เรื่องยอดขาย แต่เราอยากให้โอกาส ให้เวทีกับเขา ช่วยเขาพีอาร์ เราดีใจที่หลายคนได้โบยบินหลังมาโชว์ผลงานกับเรา โดยเราไม่ได้ทำสัญญาผูกมัด เพราะเราเชื่อในการให้โอกาส และพลังของการส่งต่อ เราอยากเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยเปิดกว้างให้ผู้คนได้เห็นอะไรเยอะๆ เพื่อที่จะจุดชนวนอะไรบางอย่างในตัวเขา”


นอกจากจะนำความรู้ด้านแฟชั่น มาต่อยอดในการพัฒนา ATT19 ในด้านไลฟ์สไตล์ส่วนตัว มุกเองก็ยังไม่ทิ้งดีเอ็นเอของดีไซเนอร์ ที่มีสไตล์การแต่งตัวที่น่าสนใจ

“สมัยเด็กมุกก็ชอบแฟชั่น ชอบตามเทรนด์ แต่พอไปทำงานจริง ได้เห็นเบื้องหลังการทำงานในโลกแฟชั่น ได้ดูหนังและสารคดี ที่สะท้อนชีวิตของคนทำงานที่อยู่ในฟาสต์แฟชั่น เลยกลับมาย้อนคิดว่า เสื้อผ้าที่เราใส่ทำให้ชีวิตคนไม่ดี ขณะเดียวกัน เราไม่เคยคิดว่าเสื้อผ้าถูกแล้วคนที่ทำได้เท่าไหร่ พอยิ่งศึกษาเหมือนเราได้เปิดหลุมยักษ์ เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้เลยว่า Fast Fashion กระทบสิ่งแวดล้อมและแรงงานคนที่อยู่ในกระบวนการนี้แค่ไหน ดังนั้น พอรู้แล้วเราก็ค่อยๆ ปรับตัวหันมาใส่เสื้อผ้าวินเทจ พอกลับมาเมืองไทยได้มีโอกาสออกสื่อบ่อย เลยคิดว่าอยากเป็นกระบอกเสียงเรื่องนี้ หันมาใส่เสื้อผ้าจากดีไซเนอร์ไทย เน้นใช้ของวินเทจ ส่วนเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นที่มีอยู่เดิม ก็ไม่ได้ทิ้ง แต่ใช้ให้คุ้มค่ามากขึ้น”


มุกยังย้ำด้วยว่า เรื่องความยั่งยืน ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าต้องทำ 1-2-3-4 ถึงจะเป็นคนดี คนที่ถูกต้อง มุกมองว่าแต่ละคนก็มีวิธีของตัวเอง เราไม่ควรตำหนิ หรือทำให้ใครรู้สึกแย่

“อย่างมุกเองก็ไม่ได้ชอปน้อยลง แต่เราเลือกซื้อของวินเทจ ของที่ใช้ได้นาน ยอมเก็บเงินซื้อชุดของไทยดีไซเนอร์ หรือซื้อของชิ้นเดียว แต่ใส่ได้นาน แทนที่จะซื้อ 1 ชุดเพื่อไปอีเวนต์เดียว” มุกกล่าวทิ้งท้าย

Comments are closed.

Pin It