ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเอ็มซีหนุ่มเนื้อหอมแห่งยุคก็ว่าได้ สำหรับ “เอ็ด-อกนิษฐ์ วิเชียรเจริญ” เพราะในช่วงที่สถานการณ์ปกติ ไม่ว่าจะไปอีเวนต์ไหน ก็มักจะเห็นหน้าค่าตาพิธีกรหนุ่มบนเวทีอยู่เสมอ กระทั่งมาถึงยุคโรคระบาด งานอีเวนต์ในรูปแบบปกติที่เคยมีงานไม่เว้นแต่ละวัน กลายเป็นแทบจะไม่มีให้เห็น
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมของธุรกิจอีเวนต์จะไม่คึกคักอย่างที่เคย แต่หนุ่มเอ็ดยอมรับว่า โชคดีที่ยังมีงานอีเวนต์ออนไลน์เข้ามา เพื่อให้พอประคองตัวไปได้ เพราะในช่วงที่สถานการณ์ไม่เป็นใจแบบนี้ เพื่อจะทำการตลาดต่อไป บรรดาเจ้าของแบรนด์ต่างก็ต้องพยายามมองหาช่องทาง คำตอบของการจัดอีเวนต์ยุคนี้ เลยกลายเป็นอีเวนต์ในรูปแบบออนไลน์กันหมด ซึ่งนอกจากผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานจะต้องปรับตัว พิธีกรของงานเองก็ต้องปรับทักษะเช่นกัน
“ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่โควิดระบาดใหม่ๆ งานอีเวนต์ทั้งหมดก็ถูกยกเลิก จากเคยมีงานทุกวัน กลายเป็นว่างไปประมาณ 3 เดือนได้ ตอนนั้นก็คิดหนักว่าจะอย่างไรต่อดี (หัวเราะ) แต่โชคดีที่พอเวลาผ่านไป ทุกคนก็เริ่มปรับตัว เพราะสุดท้ายแล้วแบรนด์ต่างๆ ก็ยังต้องทำการตลาด งานอีเวนต์ในรูปแบบออนไลน์ก็เลยเกิดขึ้น ซึ่งผมก็โชคดีที่ลูกค้ายังนึกถึงและให้โอกาสติดต่อให้มาเป็นพิธีกรอีเวนต์ออนไลน์ เลยกลายเป็นว่ายังมีงานเรื่อยๆ หรืออย่างปีที่แล้วมีช่วงที่คลายล็อกดาวน์ ก็อาจจะมีอีเวนต์แบบที่เจอหน้ากัน จัดเป็นกลุ่มเล็กๆ บ้าง ซึ่งถึงจะไม่ได้มีงานที่อีเวนต์ถี่เหมือนกัน แต่ก็ยังมีเข้ามาเรื่อยๆ”
ที่น่าสนใจคือ ใครจะไปคิดว่า ในขณะที่หนุ่มเอ็ดผันตัวจากคนในวงการทีวี ที่เคยทำงานอยู่หน้ากล้อง มาทำงานเป็นพิธีกรอีเวนต์อยู่หน้าเวทีแล้วแท้ๆ วันหนึ่งจะได้กลับไปงัดทักษะสมัยเป็นผู้ประกาศข่าว อ่านข่าวอยู่หน้ากล้องมาใช้อีกครั้ง กับงานอีเวนต์ออนไลน์ ที่ต้องจัดแบบมีระยะห่าง สัมภาษณ์ผู้บริหารก็ต้องผ่านทางออนไลน์ ไม่ได้มานั่งอยู่บริเวณเดียวกัน
“เพราะผมเริ่มต้นจากการเป็นนักข่าวและผู้ประกาศข่าว เพราะฉะนั้น ผมชินกับการอยู่หน้ากล้องอยู่แล้ว เวลาที่ต้องสัมภาษณ์ผู้บริหารแบบอยู่กันคนละที่ ก็เหมือนเวลาทำข่าวแล้วมีการโฟนอินเพื่อสัมภาษณ์ ดังนั้น พอสถานการณ์ทำให้ต้องปรับตัวมาทำอีเวนต์ออนไลน์ ผมเลยคุ้น และสามารถนำทักษะที่มีมาปัดฝุ่น ไม่ถึงกับต้องเริ่มใหม่ มีปัญหาเฉพาะหน้าก็แก้ไขไปได้ อย่าง สัญญาณไม่ดี ภาพมาไม่ตรงสคริปต์ บางครั้งต้องมีการพูดถ่วงเวลา ซึ่งตรงนี้ประสบการณ์จากงานข่าวช่วยผมได้เยอะ เพราะสุดท้ายเป้าหมายของผมคือ ทำให้ผลลัพธ์หรืองานออกมาราบรื่น”
ส่วนเรื่องการจับรีแอคชันของคนดู เวลาเป็นออนไลน์อาจจะไม่เห็น เรื่องนี้เอ็ดบอกว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะงานอีเวนต์ออนไลน์ส่วนใหญ่ จะมาในรูปแบบที่กระชับกว่า ฉะนั้น หน้าที่ของผมคือทำอย่างไรเพื่อให้สามารถสื่อสารสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ออกมาอย่างครบถ้วน
“ถามว่าเป็นพิธีกรอีเวนต์แบบไหนใช้พลังมากกว่ากัน สำหรับผมพอๆ กัน หลักการทำงานของผมคือ ไม่ว่าจะได้รับโอกาสอะไรมา ต้องทำให้เต็มที่ ผมเต็มที่ทุกงาน และให้ความสำคัญกับการทำการบ้าน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแต่ละงาน พยายามทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ และ Key Message ที่ลูกค้าต้องการจะนำเสนอ ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์เฉพาะหน้าอะไรขึ้น ก็จะพร้อมรับมือ ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็ไม่กังวล เพราะทีมงานออร์กาไนเซอร์ส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญเต็มที่ กับการทำตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การจำกัดจำนวนคน มีกระบวนการตรวจคัดกรอง และทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นต้น”
เอ็ดยังบอกด้วยว่า แม้งานอีเวนต์ช่วงนี้อาจจะเบาบางลง แต่ในช่วงวิกฤตนี้ เขายังโชคดีได้พบโอกาสที่เข้ามาทดแทน “อีเวนต์น้อยลงก็จริง แต่ก็ทำให้ผมมีเวลาได้ไปลองเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ อย่าง การเป็นพิธีกรในคลิปให้กับบางแบรนด์ที่ต้องการทำ Corperate VDO เพื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับแบรนด์ในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดี จากแต่ก่อนเราอาจจะโฟกัสแต่การเป็นพิธีกรอีเวนต์”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤตที่หลายคนอาจจะคิดหนัก โดยเฉพาะ คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ แต่เอ็ดยังมองว่า “สุดท้ายแล้วโควิด-19 จะไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป วันหนึ่งเราต้องได้กลับมาท่องเที่ยว ขึ้นเครื่องบิน ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารต้องกลับมา ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ท้าทาย ต้องปรับตัวเยอะมากก็จริง แต่วันหนึ่งทุกอย่างจะกลับมาเหมือนที่เคยเป็น”
สุดท้ายนี้ เอ็ดยังฝากให้กำลังใจคนที่กำลังท้อแท้ว่า “ช่วงเวลาแบบนี้ ยิ่งต้องให้กำลังใจกันและกันเยอะๆ ครับ อย่าเพิ่งหมดหวัง ผมเชื่อว่าวันหนึ่งทุกอย่างจะดีขึ้น สำหรับผมวิกฤตครั้งนี้สอนให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ที่ผ่านมา คนรุ่นผมหรือเด็กกว่าผมอาจจะไม่เคยเจอวิกฤตใหญ่ เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ที่ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมา แต่พอได้มาเจอเองกับตัว ผมว่าจะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกัน หลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต หรือทำอะไรก็ตาม เราจะมีการวางแผนอย่างระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้น”
Comments are closed.