Advice

เชื้อราจุดซ่อนเล้น…ภัยที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

Pinterest LinkedIn Tumblr

ปัจจุบัน “ผู้หญิง” มีบทบาทในสังคมมากขึ้น แต่บางครั้งความเร่งรีบและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงมองข้ามสิ่งสำคัญบางอย่าง ทั้งๆ ที่ควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอันดับแรกๆ นั่นคือ จุดซ่อนเร้นหรืออวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งพบว่ามีหญิงไทยจำนวนมากไปพบแพทย์ด้วยอาการที่ผิดปกติบริเวณจุดซ่อนเร้น และที่พบเจอมากได้แก่ “เชื้อราจุดซ่อนเร้น”

รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ สูตินรีแพทย์ ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจุฬาฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำรวจสุขอนามัยของอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศหญิง พบว่าร้อยละ 90 มีปัญหาเรื่องตกขาวมาก มีสีและกลิ่นเหม็นผิดปกติ รองลงมาคือ คัน แสบ และเจ็บหรือเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งพบว่า ภาวะตกขาวส่วนใหญ่ร้อยละ 40 เกิดจากการติดเชื้อรา และร้อยละ 20 เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ถึงแม้จะไม่ร้ายแรงมาก แต่ก็อาจทำให้เสียความมั่นใจ เสียบุคลิกภาพ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก

“โดยธรรมชาติผู้หญิงมีแบคทีเรีย “แลคโตแบซิลไล” ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์อาศัยอยู่ ทำหน้าที่ผลิตกรดอ่อนๆ ที่เรียกว่า “แลคติกแอซิด” โดยจะไปยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา แบคทีเรีย หรือไวรัสจากภายนอก ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แต่การรับประทานยาปฏิชีวนะนั้น จะทำลายแบคทีเรียทุกชนิด ไม่เลือกว่าเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์หรือไม่

นอกจากนี้ พฤติกรรมการดูแลสุขอนามัยบริเวณจุดซ่อนเร้นที่ไม่ดีพอ อาจทำลายระบบสมดุลตามธรรมชาติ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้ อาทิ ความอับชื้น โดยเฉพาะ กางเกงยีนส์รัดๆ หรือใส่ชุดชั้นในระบายอากาศไม่ดีพอ นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 91 ใช้สบู่ธรรมดาล้างจุดซ่อนเร้น ซึ่งจุดซ่อนเร้นมีสภาวะเป็นกรดอ่อนๆ ตามธรรมชาติ การใช้สบู่ที่เป็นด่าง อาจทำให้เสียความสมดุลไป ทั้งนี้ การมีโรคบางอย่างที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดน้อยลง เช่น โรคเบาหวาน การติดเชื้อ HIV ก็ล้วนแต่เสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้ง่าย นอกนั้น ก็อาจติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์”

นพ.อรรณพ กล่าวต่อว่า การรักษาอาการของโรคเชื้อราจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ โดยมีทั้งการรับประทานยา ให้ยาสอด หรือครีมทาอวัยวะเพศ แต่ที่พบบ่อยจากการรักษาคือ ผู้ป่วยมักมีอาการซ้ำซาก เป็นแล้วหายและกลับมาเป็นใหม่ เพราะมีพฤติกรรมเดิมๆ ซึ่งการจะรักษาให้หายจากอาการของโรคเชื้อรานั้น ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง และหันมาใส่ใจสุขอนามัยอวัยวะสืบพันธุ์ให้มากขึ้น

Comments are closed.

Pin It