Art Eye View

“น้ำท่วม” กับ “ตาบอด” จะเอาอะไร?! สู้นะสู้ เมื่อตาบอดยัง “ยิ้มได้” หอศิลป์ยัง “ยิ้มสู้”

Pinterest LinkedIn Tumblr



ลี้ภัยน้ำท่วมไปอยู่จันทบุรี ที่บ้านน้องชาย หลังน้ำเริ่มลดลงบ้าง ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้ก่อตั้ง หอศิลป์ยิ้มสู้ ณ ซอยอรุณอมรินทร์ 39 เขตบางกอกน้อย จึงได้กลับเข้ากรุง เพื่อมาฟื้นฟูสภาพของหอศิลป์ฯ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำไปไม่น้อย

รวมถึงพื้นที่ข้างกัน ที่เปิดเป็นศูนย์เด็กเล็ก “บ้านยิ้มสู้”  และศูนย์ล่ามภาษามือทางไกล ช่วยเหลือคนหูหนวก

“เราย้ายกันออกไป ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. ครับ เพราะกลัวว่าน้ำจะสูงมาก ย้ายออกไปทุกคน ไปอยู่ข้างนอกก่อน คอยดูว่าน้ำมันจะท่วมสักแค่ไหน แล้วค่อยเข้ามากู้

ตอนนี้ย้อนกลับมา เลยเอาสะเบียงมาพร้อมเลย เพราะเราต้องเตรียมให้ล่าม ที่เขาเข้าออกไม่สะดวก แต่ต้องเข้ามาทำงานช่วยเหลือคนหูหนวกเกือบๆ 10 คน ส่วนเด็กเล็กที่มาจากหลายครอบครัว ตอนนี้เราก็ยังไม่ให้เขาเข้ามา”

ทุกอย่างเป็นการแก้ไขปัญหาไปตามสถานการณ์ที่ยังหาข้อสรุปอะไรไม่ได้ หลังน้ำลดอย่างแท้จริง ศ.วิริยะ กล่าวว่า คงต้องจัดทำผ้าป่า หารายได้ มาซ่อมแซมสถานที่ แต่ระหว่างนี้ ภาระกิจที่เร่งด่วนคือ การเป็นตัวกลางคอยช่วยเหลือคนพิการที่ประสบภัยน้ำท่วม

“เรายังต้องเดินหน้าช่วยเหลือคนพิการในส่วนต่างๆในส่วนสมาคมคนตาบอด เราก็ยังดูแลอยู่ แต่พิการทางแขนขา มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เขาดูแล

ส่วนพิการทางหูหนวก มูลนิธิฯ เรากำลังดูแลเรื่องล่ามทางไกล เริ่มประกาศให้คนหูหนวกโทรเข้ามา เพราะมีหลายคนไปที่สมาคมคนตาบอด บอกเราว่าคนหูหนวกไม่มีใครดูแล เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารไงฮะ เราก็เลยแก้ปัญหาคือ ให้บริการล่ามทางไกล ทางอินเตอร์เนท เวบแคม หรือให้คนหูหนวกส่ง SMS เข้ามา เราเหมือนเป็นคนกลาง ช่วยสื่อสาร

ถ้าคนหูหนวกต้องการให้เราเอาเรือเข้าไปช่วย เราก็จะเอาเข้าไปช่วย แล้วเอาพวกเขาไปพักที่โรงเรียนสอนคนหูหนวกที่กาญจนบุรี สำนักบริหารการศึกษาที่ 7 เพราะเราได้ประสานกันไว้ ว่าเราจะร่วมมือกัน

หรือถ้าเราเจอคนพิการกลุ่มต่างๆ เราก็ประสานให้แต่ละกลุ่มได้ช่วยกัน เป็นเครือข่าย เช่น ออทิสติก พิการทางการเคลื่อนไหว พิการทางจิต แล้วเราก็คุยกับทางกองทุนคนพิการ ที่จะทำยุทศาสตร์ช่วยคนพิการหลังน้ำท่วม เช่น ฟื้นฟูบ้าน

ไปขออนุมัติ วงเงินของกองทุนไว้สัก 60 ล้าน ที่จะไปช่วยไปเสริม ปรับปรุงบ้านให้กับคนพิการ ช่วยตัดหนี้ศูนย์ให้กับคนพิการที่อยู่ในเขตน้ำท่วมที่กู้เงินจากกองทุนไป และถ้าคนพิการรุนแรง เราก็ต้องหาผู้ช่วยคนพิการเข้าไปดูแล เป็นสิทธิตามกฎหมายอยู่แล้วครับ เราจะดูแลคนพิการในเขตน้ำท่วมให้ได้รับการดูแลตามสิทธิ ตามกฎหมายที่ออกกันมาตั้งแต่ปี 50”

นี่คือภาระกิจสำคัญในระหว่างนี้ ของบุคคลพิการตัวอย่าง ผู้พิการทางสายตา เช่น ศ.วิริยะ ผู้ยังเป็นทั้งอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ประธานมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ กรรมการมูลนิธิคนตาบอด อีกด้วย

“การดูแลคนตาบอดในช่วงนี้ เราได้เคลื่อนย้าย คนตาบอด ณ บ้านเด็กตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อน โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา ที่น้ำกำลังเข้าไปหา ไปอยู่ที่ สาขาเพชรบุรี ชั่วคราว จนแน่ใจว่าปลอดภัย จึงค่อยพากลับมาที่เดิม

ในส่วนมูลนิธิคนตาบอด เราทำงานร่วมกับสมาคมคนตาบอด มีทีมไปช่วยคนตาบอดกันอยู่ คอยส่งเมลถึงกันว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร”

ระหว่างที่ลี้ภัยน้ำท่วมไปอยู่จันทบุรี ใช่ว่า ศ.วิริยะ จะอยู่นิ่งเฉย ยังเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส โดยการไปเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษ หรือหน่วยคนพิการในย่านนั้นด้วย ครั้นกลับมากู้หอศิลป์ขึ้นจากน้ำท่วม รวมถึงบ้านพักส่วนตัว ที่อยู่ในซอยอรุณอมรินทร์ 37 บรรดาทีมงานที่ช่วยดูแลคนตาบอด ต่างมีจิตอาสาตามมาช่วยสูบน้ำออกด้วย

หอศิลป์ยิ้มสู้ อยู่ภายใต้การดูแลของ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการที่ ศ.วิริยะ เป็นประธานอยู่ นอกจากทำงานเกี่ยวกับคนพิการ ร่วมกับภาครัฐ ยังทำงานเกี่ยวกับล่ามทางไกลเพื่อคนหูหนวก ตามที่กล่าวมา ร่วมทั้งผลิตรายการ สารคดี “ยิ้มสู้” ที่ต่อยอดมาเป็น “หอศิลป์ยิ้มสู้” ในที่สุด

“ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำหอศิลป์ เราเริ่มต้นมาจากการทำสารคดี เพราะคิดว่าปัญหาใหญ่ของคนพิการคือ การสร้างความตระหนักรู้ในศักยภาพของคนพิการ

ผมได้มีโอกาสทุกวันนี้ เพราะผมโชคดี ที่ได้เจอซิสเตอร์ผู้ตาบอดชาวอเมริกัน มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนสอนเด็กตาบอด ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิการแห่งแรกในประเทศไทย ขึ้น

ผู้พยายามพร่ำสอนให้ผมเชื่อว่า คนตาบอดทำอะไรได้มากกว่าใครคิด

เพราะตอนที่ผมตาบอดใหม่ๆ คนก็คิดว่าผมทำอะไรไม่ได้ แล้วเมื่อผมเรียนจบ ดร.ป๋วย (อึ้งภากรณ์) ก็ให้โอกาสผมสอบเป็นอาจารย์ ทั้งที่หลายคนบอกว่าจะเอาคนตาบอดมาสอนคนตาดีได้อย่างไร”

ศ.วิริยะ เรียนจบนิติศาสตร์บัญฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,เนติบัญฑิตไทย จากเนติบัณฑิตยสภา, นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายแพ่ง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ปริญญาโทสาขากฎหมายภาษีอากร(LLM. IN TAXATION) จากมหาวิทยาลัย HARVARD ประเทศสหรัสอเมริกา และต่อมาได้เป็นพระอาจารย์สอนวิชากฏหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

“ปัญหาใหญ่ของคนพิการ คือ ความไม่เชื่อว่าคนพิการมีความสามารถเป็นปัญหาใหญ่ เพราะว่าพ่อแม่ ก็ไม่กระตุ้นพัฒนาการของลูกหลาน ส่งผลให้พิการซ้ำซ้อน คนตาบอดที่ผมไปช่วยหลายคน เดินไม่ได้ เพราะว่าพ่อแม่ไม่เชื่อ สงสาร เอาแต่อุ้มไว้ตลอดแทนที่จะตาบอดอย่างเดียว ก็เดินไม่ได้ด้วย กว่าเราจะมาฟื้นฟูให้เดินได้ รวมถึงเรื่องสติปัญญาที่ต้องช้าไปอีก

เมื่อไม่ได้มีการกระตุ้นพัฒนาการก็ทำให้เด็กเรียนช้า ไปโรงเรียนครูไม่เชื่อก็ไม่ให้เรียน จนทุกวันนี้… ขอฟ้องเลยครับ 3 ปีที่แล้ว สามเสนวิทยาลัย เคยรับคนตาบอดเข้าเรียนก็ไม่รับ

ผมอยากให้คนเชื่อในศักยภาพของคนพิการ เพราะหลายคนเรียนจบไปไม่โชคดีเหมือนผมใช่ไหม ที่ได้เจอ ดร.ป๋วย เมื่อหลายแห่งไม่ยินดี คนพิการก็ไม่มีโอกาสได้งานทำ ก็เลยต้องไปเล่นดนตรี แลกเงิน ถือกระป๋องกระแป๋ง แล้วคนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้ มันก็เลยเป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้

ในเมื่อเราอยากจะทำให้คนเชื่อ เราก็เลยมาทำสารคดียิ้มสู้ ซึ่งมันเป็นคนละแนวกับรายการ วงเวียนชีวิต คือเรายอมรับครับว่า ทุกคนมันมีเหรียญสองด้าน ถ้าเราจะมองด้านลบของคนพิการ ชีวิตของพวกเขา มันก็เหมือนในวงเวียนชีวิต เราไม่เถียง แต่เราอยากจะสื่อออกมาในทางที่สร้างสรรค์ ให้คนเห็นว่า คนพิการก็มีความสามารถทำอะไรได้สารพัดอย่าง ถ้าเราเชื่อ เราศรัทธา

และที่เราใช้ชื่อสารคดีว่า “ยิ้มสู้” เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ เพลงยิ้มสู้ เป็นของขวัญให้คนตาบอด ให้มีกำลังใจสู้ชีวิต ตั้งแต่ปี 2495 เราก็เลยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำเพลงมาประกอบสารคดี

ไปถ่ายทำคนพิการที่ต่อสู้ชีวิต จนประสบผลสำเร็จ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้กับคนพิการ, โรงเรียนต้นแบบ, สถานประกอบการต้นแบบ และอะไรที่มันสร้างสรรค์ที่จะทำให้สังคมเชื่อ และศรัทธาเหมือนกับเราว่า ถ้าเรา ให้โอกาสคนพิการ แล้วมุ่งพัฒนาเขา เราก็จะสามารถเปลี่ยนคนพิการจากคนที่เป็น “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” ได้

พอเราไปถ่ายทำรายการ พบผลงานศิลปะดีๆ เราก็ช่วยซื้อ รวบรวมได้เยอะขึ้น ก็เลยทำหอศิลป์ขึ้น เมื่อปี 53 เสร็จเรียบร้อยดีในปี 54 น้ำก็เลยมาร่วมฉลองเราก่อนเลย(หัวเราะ)”

ก่อนที่หอศิลป์จะปิดตัวไปเพราะน้ำท่วม  มีผู้ให้ความสนใจไปเยี่ยมชมจำนวนมาก

“คนมาชมตอบรับดี เพราะเราเป็นที่ขายของให้กับคนพิการด้วย งานหลายอย่างที่เราช่วยขายได้ เราก็ช่วยขายให้ด้วย สวยงามๆคนก็ซื้อติดไม้ติดมือกันไป หรือบางครั้งเราก็ไปเปิดบูทช่วยขาย

หอศิลป์เรามีงานศิลปะที่ทำโดยคนพิการเยอะมาก โชว์อยู่สองสามชั้น และยังมีมากกว่านั้นที่ยังไม่ได้นำออกมาโชว์ ทุกคนได้มาดู ก็จะรู้สึกว่าคนพิการทำได้สารพัดอย่าง เรามีงานทุกอย่าง ตั้งแต่งานภาพวาดที่วาดด้วยปาก ด้วยเท้า โดยเฉพาะงานที่วาดด้วยปาก เป็นรูปในหลวง ซึ่งเป็นมิติ เป็นงานชิ้นเอก ที่มีไว้ทายคน เวลาคนมาเยี่ยมหอศิลป์ เราจะทายว่า ดูภาพแล้วมองเห็นมิติอื่นหรือเปล่า หลายคนบอกพอมองเห็นก็จะขนลุกทันที

งานแกะสลักที่มีอยู่ก็สุดยอด มีทั้งแกะสลักช้างสามเศียร เขาพระสุเมรุ ก่อนหน้านี้ผมก็ภาวนาว่าน้ำอย่าท่วมเขาพระสุเมรุของผม ยังดีที่ไม่ท่วม

นอกจากนี้ ยังมี งานปั้น งานจักสาน งานทอ งานถักไหมพรม ถักนิตติ้ง อันนี้ก็ขายดี ผ้าพันคอ หลายคนมาเห็น โอ้โห นี่ผีมือคนตาบอดหรือนี่ ร้อยลูกปัด เขาก็ร้อยได้สวยงาม

ส่วนใหญ่คุณครูจะพาเด็กนักเรียนมาเยี่ยมชม เพื่อให้เด็กได้เห็นว่า เห็นไหมคนพิการเขาใช้ศอก ใช้เท้า คีบพู่กันวาดก็มี บางคนไฟช็อต ตัดขา ตัดแขนเหลือศอกข้างเดียวก็เอาศอกสวมต่อพู่กันวาดภาพขาย”

เนื่องจาก ศ.วิริยะ มองไม่เห็น ผู้ทำหน้าที่คัดสรรผลงานศิลปะ มาจัดแสดงไว้ที่หอศิลป์จึงตกเป็นหน้าที่ของ มณี สุขพูลผลเจริญ ผู้เป็นภรรยานั่นเอง

“ภรรยาผมเป็นคนที่ชอบอะไรที่สวยๆงามๆอยู่แล้ว เวลาไปถ่ายทำรายการด้วยกัน ก็เป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ร่วมกันด้วย

แต่ผมสามารถนำคนเยี่ยมชมหอศิลป์ได้นะ(หัวเราะ) พอเยี่ยมเสร็จคนเขาก็มักจะถามว่า ถามจริงๆเถอะ อาจารย์มองเห็นหรือมองไม่เห็นกันแน่ เพราะ ผมฟังคนอื่นเขาจนจำได้ว่าอะไรมันอยู่ตรงไหน มีอะไรน่าสนใจ”

ศ.วิริยะกล่าวว่า ตนไม่แตกต่างจากคนตาบอดทั่วไป ที่มักจะชื่นชมในงานศิลปะที่สามารถใช้มือสัมผัส จับต้องได้

“งานศิลปะแต่ละประเภท มีความสวยงามแตกต่างกันไปคนละอย่าง คนตาบอดอย่างผม แน่นอนละ เราก็เริ่มชื่นชมจากงานที่ต้องใช้มือคลำ เช่น งานแกะสลัก เขาบอกว่านี่ ต้นมักกะลีผล นี่ช้าง เราก็คลำดูซิ มันเป็นยังไง เป็นเบสิกของคนตาบอดที่จะชอบงานศิลปะประเภทที่มันคลำได้

แต่งานที่คลำไม่ได้ เช่น ภาพวาดเนี่ย ถ้ามีคนบรรยายให้เราดีๆ เราก็จะจินตนาการตามได้ เข้าถึงได้เหมือนกัน เพราะว่าในที่สุด มนุษย์เรารับรู้สิ่งต่างๆด้วยการตีความของสมอง คือภาพบางคนดูผ่านตา แต่คนตาบอดเช็คผ่านหู แล้วจินตนาการเอา มันก็สวยสดตามที่คนเขาอธิบาย ถ้าคนอธิบายได้ดี คนตาบอดก็จินตนาการได้เลิศเลอตามคนอธิบายนั่นแหล่ะ”

ภาพวาดภายในหอศิลป์ยิ้มสู้ ชิ้นที่ ศ.วิริยะชอบเป็นพิเศษ คือภาพวาดที่มีไว้ทายทุกคนที่มาเยี่ยมเยือนนั่นเอง

“ภาพในหลวงที่วาดด้วยปาก เวลาคนชมก็จะบอก มาดูใกล้ๆ ดูดีๆนะ มีพุ่มไม้เยอะแยะอยู่ใต้ภาพในหลวง แล้วลองเดินออกมาดูไกลๆ เห็นต้นไม้เป็นอะไร บางคนที่เก่งเขาก็จะทายถูก บางคนไม่เก่ง เฉลยแล้ว ดูตั้งนานแล้ว กว่าจะรู้ มันคือภาพประชาชนกำลังกราบไหว้ในหลวง นั่นเอง หลายคนที่ดูออกก็มักจะบอกว่าขนลุกเลย ต้นไม้แปลงสภาพเป็นคนกำลังกราบไหว้”

หลังน้ำลด นอกจากจะหาเงินมาซ่อมแซมหอศิลป์ ศ.วิริยะ ยังตั้งใจจะขยายหอศิลป์ให้มีพื้นที่แสดงงานศิลปะของคนพิการเพิ่มมากขึ้น

“เรากำลังหาทุนทรัพย์ขยายออกไปอีกสักห้องนึง ให้พื้นที่มันกว้างใหญ่ขึ้น เพื่อเอางานศิลปะที่ยังมีอีกมากมายมาแสดง เพราะว่าหอศิลป์สามารถจะบอกให้คนทั่วไปได้รู้ว่าคนพิการมีความสามารถภายในเวลาครึ่งชั่วโมง

ผมไม่ต้องอธิบายความมหัศจรรย์ของภาพแต่ละภาพอะไรมาก หรือเราไม่ต้องพูดเลยว่าคนพิการมีความสามารถหรือไม่ ทุกคนก็จะบอกเองว่า โอ้โห คนพิการเก่งขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย โอ้โห ภาพวาดที่วาดด้วยปาก สวยงามขนาดนี้เหรอ ขนาดเราวาดด้วยมือยังวาดไม่ได้เท่าไหร่เลย เพราะทุกคนจะเปรียบเทียบกับตัวเองไงฮะ”

เมื่อไหร่ที่ทุกอย่างกลับคืนสู่ภาวะปกติ คนได้กลับบ้าน น้ำได้กลับไปอยู่ในที่ๆมันควรจะอยู่ ศ.วิริยะ จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนลองปลีกเวลาไปเยือนหอศิลป์แห่งนี้ เพื่อไปเก็บเกี่ยวเอากำลังใจ ให้สามารถกลับมาต่อสู้และเอาชนะกับปัญหาที่ต้องมีมาให้แก้ไขกันอีกมากมาย หลังน้ำลด

แต่กำลังใจที่อยากจะมอบให้แก่ทุกคนก่อนล่วงหน้า ทั้งคนพิการและร่างกายครบ 32 ประการ ที่ต่างต้องดิ้นรนพาชีวิตให้อยู่รอด

“แม้ผมจะเป็นคริสต์ แต่ผมคิดว่า ปรัชญาพุทธที่ทุกคนต้องยึดถือกันเอาไว้คือ เราจะต้องฝึกตัวเราให้มีความสุขกับทุกเหตุการณ์ ต้องรู้จักใช้เคราะห์ให้เป็นโอกาส ใช้วิกฤตให้เป็นประโยชน์

ผมก็เอาหนังสือที่ผมแต่งเรื่อง “สู้ชีวิตเพราะสร้างโอกาส” ไปให้คนอ่านเพื่อจะได้มีกำลังใจ คือเหรียญมีสองด้าน ถ้าเราคิดให้ท้อแท้ มันก็ท้อแท้ ถ้าเราคิดให้มีพลัง มันก็มีพลัง

อยากให้มองดูว่า เราจะแก้ปัญหาข้างหน้ากันอย่างไร จะหาประโยชน์กับสิ่งนี้ และเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับมันอย่างไร”

ศ.วิริยะเชื่อว่า โอกาสหนึ่ง ที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ ท่ามกลางวิกฤตคือ โอกาสที่จะได้เป็นผู้ให้

“ ผมเชื่อว่าหลายคนมีความสุขกับการช่วยเหลือคนอื่น และเข้าใจเรื่องจิตอาสา จากที่สังคมไทยเรายังเข้าใจเรื่องจิตอาสาน้อย แต่ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะทำให้คนไทยได้เข้าใจเรื่องจิตอาสาเยอะขึ้น

ถ้าเราต่อยอดกันต่อ คนไทยจะเริ่มเรียนรู้ว่า สิ่งที่ศาสนาพุทธบอก ว่าการจะได้มาซึ่งความสุข เราไม่จำเป็นต้องพึ่งสิ่งนอกตัว เราพึ่งตัวเราได้ แล้วความสุขไม่ได้มาจากการเอา แต่มันได้มาจากการให้”

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชีวิต ต้องเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วม เพราะเมื่อปี 2538 ก็เคยเจอมาแล้วหนหนึ่ง แต่ต่อให้เจอเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่มากไปกว่านี้ ศ.วิริยะ เชื่อว่า ตัวเองจะสามารถพาชีวิตข้ามผ่านไปได้ เพราะอะไร ? ไปฟังคำตอบชัดๆ

“ตลอดมา ชีวิตของผม มีวิกฤติผ่านเข้ามาเรื่อยๆ แต่ผมก็พยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เพราะผมคิดว่า สภาพที่ผมต้องเกิดมาตาบอดนั้นหนักสุดแล้ว และผมเชื่อว่า ถ้ามีสักคนถามขึ้นว่า เฮ้ย…น้ำท่วม กับ ตาบอด จะเอาอะไร ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเลือกเอาน้ำท่วมแน่ๆ

ในเมื่อตาบอดเป็นเรื่องที่หนักที่สุดสำหรับผม แล้วผมสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างคนตาบอดให้มีความสุขได้แล้ว ผมจึงคิดว่า เรื่องอื่นๆมันก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่อะไรนัก”

หอศิลป์ยิ้มสู้ เลขที่ 27/5 ซอยอรุณอมรินทร์ 39 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โทร.0-2886-1188

Text by  ฮักก้า

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It