ART EYE VIEW — การทำหนังสือดีก็เสมือนสร้างโบสถ์วิหาร, มากกว่าหนังสือ คือ ศิลปะ ฯลฯ ความคิดเหล่านี้ ถูกถ่ายถอดสู่สาธารณชนบ่อยครั้ง โดย มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ผีเสื้อ สำนักพิมพ์ซึ่งริเริ่ม “โรงเรียนวิชาหนังสือ” ด้วยต้องการเห็นสังคมผลิตหนังสือดีมีคุณภาพ
ยามนี้ เมื่อมีอีกสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อว่า “ภารตะ” มาอยู่ใต้ร่มเงา ย่อมได้รับการส่งต่อความคิดดังกล่าวไปโดยปริยาย
“เพราะฉะนั้น เรื่องมาตรฐานการทำหนังสือ และเรื่องอะไรต่างๆ ภารตะจะมีมาตรฐานเดียวกับผีเสื้อเลย อาจารย์มกุฎสอนวิชาบรรณาธิการ สอนวิชาหนังสือด้วย เราจะถูกปลูกฝังว่าทำหนังสือที่ดี ต้องมีมาตรฐานอย่างไร อย่างของผีเสื้อ ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า หนังสือหนึ่งเล่ม ถูกให้ความสำคัญในทุกรายละเอียด ทั้งเนื้อหา ภาพประกอบ รูปเล่ม การเย็บกี่ ไสกาว ฯลฯ ต้องผ่านการขึ้นรูป ทดลองทำหลายครั้ง ก่อนจะพิมพ์เป็นเล่มจริง”
ธนิษฐา แดนศิลป์ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ภารตะ (และผู้ผ่านการเรียน วิชาบรรณาธิการตรวจแก้ต้นฉบับ รุ่น 7 กับ มกุฎ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) บอกเล่า ในวันที่สำนักพิมพ์เพิ่งทำคลอดหนังสือภายใต้ชายคาออกมา 2 เล่ม และกำลังจะมีเล่มที่ 3 ติดตามมา ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานของ รพินทรนาถ ฐากูร นักปราชญ์ชาวอินเดีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบล คนแรกของเอเชีย
เธอเหมาะสมอย่างยิ่ง กับการทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แห่งนี้ ด้วยมีความผูกพันและคุ้นเคยกับดินแดน “ภารตะ” อย่างประเทศอินเดีย มานาน
“เคยไปใช้ชีวิตอยู่ในอินเดีย และไปๆมาๆหลายครั้ง เคยแบคแพคไปอินเดียตั้งแต่ปี 1999
ช่วงหนึ่งกลับมาอยู่เมืองไทย 6 เดือน มาทำงานที่ผู้จัดการ จากนั้นก็ไปเรียนโท( มหาวิทยาลัยปูเน่ เมืองมหาราชตะ) เป็นนักเรียนทุนของสภาวัฒนธรรมอินเดีย
ตอนอยู่อินเดีย ได้อ่านหนังสือ ได้รับความรู้อะไรหลายๆอย่าง รู้สึกว่ายังมีอะไรหลายๆอย่างเกี่ยวกับอินเดีย ที่ยังไม่เคยถูกเผยแพร่ หนังสือบางเล่มก็ไม่เคยถูกแปลมา เลยรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสได้ทำหนังสือ อยากเอาความรู้โบราณ งานคลาสสิกดีๆของอินเดียมาแปล ก็เลยทำสำนักพิมพ์ภารตะขึ้นมา”
ในวันที่ ART EYE VIEW แวะไปเยือนสำนักพิมพ์ ในซอยสุขุมวิท 24 นอกจาก หนังสือ 2 เล่ม (กวีนิพนธ์ หิ่งห้อย และปรัชญานิพนธ์ สาธนา ) ที่เธอหยิบมาอวดสายตา เพื่อให้เราเห็นว่า สำนักพิมพ์ฯมีความพยายามแค่ไหน ที่จะทำหนังสือออกมาให้มีคุณภาพและสวยที่สุดเท่าที่จะทำได้
เธอยังพลิกไปที่ปกในของหนังสือเล่มที่ 3( ชีวิตและผลงาน รพินทรนาถ ฐากูร) ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อโชว์ให้เราเห็นภาพของรพินทรนาถ ขณะทำการตรวจแก้ต้นฉบับ ตลอดจนลายเซ็นต่างๆ ที่ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์พยายามใส่ใจในรายละเอียดอันจะช่วยเพิ่มเติมสเน่ห์ให้กับหนังสือหนึ่งเล่ม
และเธอเชื่อว่า คนที่หยิบหนังสือแต่ละเล่มของภารตะขึ้นมาพลิกอ่าน ย่อมได้รับสัมผัสกับกลิ่นอายศิลปะของอินเดีย
“เราพยายามเอาศิลปะ เอาลายเส้นต่างๆ ที่มันจะท้อนความเป็นอินเดียมาไว้ในหนังสือแต่ละเล่ม อย่างเล่มที่ 3 นี้ แม้แต่เนื้อหาที่เกี่ยวกับท่านรพินทรนาถ มันก็เป็นเรื่องศิลปะอยู่แล้ว เพราะว่าชีวิตของท่านรพินทรนาถ เรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับศิลปะทุกแขนง ดนตรี(คีตศิลป์) ,ละคร(นาฏศิลป์), ภาพวาด(ทัศนศิลป์) ฯลฯ
และหนังสือ เล่มต่อๆไป เราก็จะพยายามทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่าหนังสือเล่มหนึ่งสำหรับเราแล้ว คือศิลปะชิ้นหนึ่ง
สำนักพิมพ์ภารตะโชคดีที่ได้รับความเมตตาจากทั้งอาจารย์มกุฏ,อาจารย์วิกรัย จาระไน(บรรณาธิการเรขภาพ) และอาจารย์อภิชัย วิจิตรปิยกุล(บรรณาธิการฝ่ายศิลป์) รวมถึงอาจารย์ท่านอื่นๆ ในสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ซึ่งถือเป็นต้นแบบ เป็นแบบอย่างการทำหนังสือดี และมองหนังสือเป็นงานศิลปะ ไม่ได้มองหนังสือเป็นการค้า
ที่เห็นเราทดลองๆ การขึ้นปกหนังสือ การออกแบบปก การใช้กระดาษ หนังสือบางเล่มเราทดลองกันเป็นสิบๆ ปก กว่าจะลงตัว หรือเห็นว่างาม ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงเรื่องต้นทุนกันเลย แต่คิดกันว่า หนังสือต้องออกมาดี ออกมาสวย คงทน และได้มาตรฐานแบบที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อได้ทำเอาไว้”
และล่าสุดสำนักพิมพ์ฯ ร่วมกับ ศูนย์วัฒนธรรมอินเดีย กรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการ แสดงศิลป์ อินเดีย-ไทย (BHARAT DARSHAN)โดยการนำผลงานต้นฉบับภาพปก และประกอบ ที่ อภิชัย วิจิตรปิยกุล บรรณาธิการฝ่ายศิลป์ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ทำให้กับหนังสือทั้ง 3 เล่ม ของสำนักพิมพ์ภารตะ มาจัดแสดง
“เคยคุยกับอาจารย์มกุฎไว้นานแล้วเหมือนกันว่า เวลาเห็นผลงานภาพประกอบของอาจารย์อภิชัย ซึ่งยังใช้วิธีการวาดด้วยมืออยู่ ขณะที่สำนักพิมพ์หลายแห่ง เขาใช้ภาพกราฟฟิก ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆกันหมดแล้ว เรารู้สึกเสียดาย
เพราะว่าทั้งภาพที่วาดด้วยสีอะคริลิก วาดด้วยลายเส้นปากกา อาจารย์อภิชัยวาดมาให้เราเลือกใช้ไม่ใช่แค่ภาพเดียว แต่เยอะมาก และ สวยมาก ถ้าได้เอางานเหล่านี้ออกมาแสดงก็น่าจะเป็นการเผยแพร่งานศิลป์ของอินเดียไปสู่ผู้ชมอีกทางหนึ่ง แต่เป็นงานศิลป์อินเดียที่ศิลปินไทยเป็นคนวาด
แม้แต่งานต้นฉบับภาพประกอบของผีเสื้อ อาจารย์มกุฎก็เคยพูดไว้เหมือนกันว่า ในอนาคตอาจจะมีการนำมาจัดนิทรรศการ เพราะว่าทุกภาพวาดด้วยมือหมดเลย”
ด้าน อภิชัย วิจิตรปิยกุล ศิษย์เก่า สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เคยร่วมงานกับบริษัทโฆษณาของญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว และฝึกฝนการใช้แอร์บรัชในงานศิลปะสมัยใหม่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนกลับมาเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
บอกเล่าถึงการขยายจากพื้นที่เดิม เพื่อมาทำงานภาพประกอบให้กับสำนักพิมพ์ภารตะ ด้วยว่า
“ตอนแรกที่รู้ว่าต้องเขียนงานสไตล์อินเดีย ก็ยังไม่รู้ว่าจะเขียนสไตล์ไหนดี เพราะว่าเราไม่เคยเขียนภาพประกอบให้กับเรื่องราวที่เกี่ยวกับอินเดียเลย
ก็เลยเข้าไปค้นหาข้อมูลใน google เพื่อดูว่าพวกงานภาพประกอบที่เกี่ยวกับอินเดีย หรืองานศิลปะในแนวประเพณีโบราณของอินเดีย เขาเขียนแบบไหนบ้าง ก็ได้เจอแนวนึง สไตล์นึงที่ถูกใจ แต่ผมจำชื่อสไตล์ไม่ได้ ซึ่งเขาเขียนโดยไม่สนใจเรื่องความถูกต้อง เรื่องกายวิภาค เขาไม่สนใจเลย ผมชอบ เพราะว่ามันอิสระดี เราสามารถจะเขียนอย่างไรได้ พูดง่ายๆคือ ฟรีแฮนด์มากเลย เริ่มแรกก็ยังเขียนไม่ค่อยได้ เขียนไปเขียนมา พอรู้ว่าเราจะเขียนอะไร เริ่มจับทางได้ก็สนุก”
โดยในขณะที่ภาพประกอบหนังสือ กวีนิพนธ์ “หิ่งห้อย” เป็นภาพวาดลายเส้น อภิชัยเลือกวาดภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วยสีอะคริลิค ที่ดูคล้ายงานในแนวโฟล์คอาร์ต ให้กับหนังสือ ปรัชญานิพนธ์ “สาธนา”
ส่วนหนังสือ ชีวิตและผลงาน รพินทรนาถ ฐากูร เป็นภาพเหมือน ที่วาดด้วยเทคนิคสีน้ำมัน
“ภาพเหมือน ท่านรพินทรนาถ สวมเสื้อคลุมสีแดง เป็นรูปเหมือนขนาดใหญ่ที่ผมใช้เวลาเขียนค่อนข้างนาน เพราะว่าเขียนด้วยสีน้ำมัน ซึ่งเทคนิคนี้ นานๆผมจะเขียนทีนึง เพราะก่อนหน้านี้ผมเขียนสีอะคริลิกมาตลอด”
ทำงานภาพประกอบมาหลายสิบปี อภิชัยกล่าวว่า ยังมีความสุขกับการได้เห็นผลงานของตัวเองเสนอสู่สายตาผู้ชม ผ่านหนังสือในร้านหนังสืออยู่
แต่วาระที่ทางสำนักพิมพ์ฯ เห็นดีเห็นงามกับการนำผลงานต้นฉบับออกมาผู้คนได้ชื่นชมบ้าง ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ชมจะได้สัมผัสกับเสน่ห์บางอย่างของงานต้นฉบับ ซึ่งไม่ถูกลดทอนลงไปเพราะกระบวนการตีพิมพ์เพื่อเป็นหนังสือ
“งานต้นฉบับมันจะมีขนาดใหญ่และมีความสดกว่างานที่มันผ่านกระบวนการพิมพ์ ที่มันถูกปรับด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ ถูกปรับด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว
แต่งานต้นฉบับเราจะได้เห็นร่องรอยดินสอ เห็นเส้นหมึกของปากกา เห็นสีที่มันสด หรือแม้แต่ภาพเหมือนของท่านรพินทรนาถ ภาพต้นฉบับผมเขียนขนาดใหญ่กว่าที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือหลายสิบเท่า แต่พอพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ มันขนาดนิดเดียว”
ดังนั้นแฟนผลงานของอภิชัย ไปชื่นชมด้วยตาตัวเองเถิดว่า ผีเสื้อตัวเดิมของเขา เมื่อถูกปล่อยให้บินไปในดินแดนภารตะ จะขยับปีกให้ชม งดงามเพียงใด
Text by ฮักก้า Photo by ธนารักษ์ คุณทน
>>>นิทรรศการ แสดงศิลป์ อินเดีย-ไทย (BHARAT DARSHAN) เปิดแสดง วันที่ 21 – 29 กันยายน พ.ศ.2555 เวลา 11.00น.-17.30 น.
ณ ศูนย์วัฒนธรรมอินเดีย อาคารจัสมิน ชั้น 27 ปากซอยสุขมวิท 23 (ซอยประสานมิตร) กรุงเทพฯ (ลงรถไฟฟ้าที่สถานีอโศก) (ไม่มีค่าใช้จ่าย) โทร. 0-2261 -5301-2
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
Comments are closed.