>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
ART EYE VIEW—สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของการพบกันระหว่างเรา และอาจเป็นครั้งแรกของบางท่าน ในการพบกันครั้งแรกเนื้อหาของบทความจะเป็นการแนะนำคอลัมน์นี้ ซึ่งเป็นคอลัมน์ใหม่ให้ท่านได้รู้จัก จึงทำให้ดิฉันต้องเลื่อนการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของไทยมาให้ท่านได้อ่านในวันนี้
คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจไม่รู้จักหรืออาจหลงลืมไปว่า วันที่ 28 ธันวาคม อันตรงกับวันปราบดาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็น วันตากสินมหาราชานุสรณ์
ในวันนี้ของทุกปีทั้งภาครัฐและภาคประชาชนจะร่วมกันทำพิธีถวายบังคม พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาติไทยและปวงชนชาวไทย
นอกจากนี้ชาวไทยกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ยังคงจงรักภักดีและเคารพบูชาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่างพร้อมใจกันเดินทางไปสักการะและบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์ยังสถานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องและถือเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงมหาราชพระองค์นี้ในวันนี้ด้วย
อันได้แก่ ศาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ พระราชวังเดิม หรือ พระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีของไทย ปัจจุบันคือที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ ภายในศาลนี้ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะรมดำของพระองค์ พระอุโบสถน้อย วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแท่นทรงบำเพ็ญกรรมฐาน และวิหารน้อย วัดอินทาราม ซึ่งประดิษฐานพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีระหว่างเสด็จมาประทับทรงศีลและเจริญกรรมฐานที่วัดแห่งนี้ พระแท่นองค์นี้ทำด้วยไม้ พนักแกะด้วยงาช้าง ฉาบพุดตานประกอบใบ ฝีมือประณีตมาก
เนื่องในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ ดิฉันจึงขอถือโอกาสนำท่านทั้งหลายไปชมอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งประดิษฐ์ฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี ด้วยกันในวันนี้
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี นับเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติมหาราชของไทยที่งดงามในทุกมุมมอง สง่างามที่สุด และสมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย นอกจากนั้นยังตั้งอยู่บนสถานที่เหมาะสมที่สุด เพราะในอดีตผู้ที่อยู่บนถนนทุกสายที่มุ่งหน้าสู่วงเวียนใหญ่ จะมองเห็นอนุสาวรีย์นี้ก่อนมาแต่ไกล
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2497 เป็นพระบรมรูปทรงม้าที่มีขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะรมดำ ออกแบบและปั้นโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยมี สิทธิเดช แสงหิรัญ, ปกรณ์ เล็กสน และสนั่น ศิลากร เป็นผู้ช่วย
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นำเสนอภาพแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยในท่าทางที่สง่างามสมชายชาตินักรบ สงบนิ่งและไม่หวั่นไหวดังศิลา แต่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความหาญกล้าและเด็ดเดี่ยว ม้าทรงของพระองค์นั้นเล่าแม้จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ก็เต็มไปด้วยพลังแห่งม้าศึกชั้นดีซึ่งเชี่ยวชาญในการยุทธ์ และกำลังคึกคะนองพร้อมรอคอยคำบัญชาจากจอมทัพให้โลดแล่นไปข้างหน้าเพื่อสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่และนำชัยชนะกลับมาสู่มาตุภูมิ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ในชุดขุนศึก กำลังประทับนั่งบนหลังม้าศึกคู่พระทัย พระวรกายเหยียดตรง พระอูรุ (ต้นขา) ทั้งสองแนบอยู่กับลำตัวอาชา พระบาทสอดอยู่ในโกลนในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะตบโกลนเพื่อเตือนให้อาชาคู่พระทัยโลดลิ่วไปข้างหน้า พระหัตถ์ซ้ายทรงกระชับสายบังเหียนเพื่อดึงให้ม้าซึ่งกำลังคึกคะนองหยุดนิ่งอยู่กับที่ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระแสงดาบยกชูขึ้นสู่นภากาศในท่าออกคำสั่งให้กองทัพหยุดนิ่งอยู่กับที่เพื่อรอฟังพระบัญชาให้เข้าประจัญบานกับข้าศึก
พระเศียรทรงพระมาลาเส้าสูงแบบไม่พับซึ่งมีขนนกประดับอยู่บนยอด พระพักตร์ที่ผินไปทางด้านซ้ายเล็กน้อยและพระหนุที่เชิดพองาม บ่งบอกถึงความคาดคะเนและการระแวดระวังในสถานการณ์ พระเนตรทอประกายแห่งความเด็ดเดี่ยวและความสุขุมคัมภีรภาพ พระขนงขมวดเข้าหากันแสดงถึงความครุ่นคิดและไตร่ตรอง พระโอษฐ์ที่มีพระมัสสุประดับอยู่บดแน่นเข้าหากันบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นและเด็ดขาดในการตัดสินพระทัย
การนำเสนอพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในลักษณะเช่นนี้เผยให้เห็นเจตนารมณ์ของประติมากรในอันที่จะสะท้อนลักษณะอันเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวสมชายชาตรีของจอมทัพผู้เกรียงไกรและมหาราชที่ทรงไว้ซึ่งความปราดเปรื่องและสุขุมคัมภีรภาพ ผู้ทรงมุ่งมั่นในอันที่จะกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทย สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับบ้านเมือง และนำความสงบสุขกลับคืนสู่อาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ ดังเช่นที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวอธิบายถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ของท่านไว้ว่า
…ข้าพเจ้าคิดทำอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินในลักษณะขององค์วีรบุรุษไทย… ข้าพเจ้าสร้างมโนภาพให้เห็นพระองค์ในลักษณะอันเปี่ยมด้วยมนุษยธรรมอย่างแท้จริงเพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยในยามที่ความหวังทั้งหลายดูเหมือนจะสูญไปแล้วจากจิตใจของชาวไทยทั้งมวล ข้าพเจ้าคิดเห็นองค์วีรบุรุษของเราในขณะทำการปลุกใจทหารหาญให้เข้าโจมตีข้าศึกเพื่อชัยชนะ ดังนั้นความรู้สึกที่แสดงออกในพระพักตร์จึงเต็มไปด้วยสมาธิในความคิดและเต็มไปด้วยลักษณะของชายชาติชาตรี
จุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ในการนำเสนอรูปแบบการสร้างสรรค์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้เต็มไปด้วยพลังแห่งการเคลื่อนไหวอันสงบนิ่ง สง่างาม น่าเกรงขาม ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจแห่งขัตติยะ และมีค่าควรยิ่งแก่การสักการบูชา สะท้อนให้เห็นความปราดเปรื่องทางปัญญา ความแม่นยำในการคิดคำนวณโครงสร้างของประติมากรรม ตลอดจนความล้ำเลิศและความแยบยลในการสร้างสรรค์ศิลปะของประติมากรท่านนี้
ดังนั้น อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี จึงควรค่าแก่การได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นเยี่ยมยอดที่สุดของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย อย่างแท้จริง
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม
จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)
ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück
ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย
พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน
พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย
ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD
เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี
และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
Comments are closed.