Advice

5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กันแดด

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

จากการสัมภาษณ์แพทย์ด้านผิวหนัง และเภสัชกร เราได้ข้อเท็จจริงและวิธีเลือกครีมกันแดดดังนี้

1. ทาครีมกันแดดทุกเช้า เป็นเกราะป้องกันมะเร็งผิวหนังได้

“เมื่อผิวโดนรังสีอัลตราไวโอเล็ตเป็นเวลานานๆหลายปี จะทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนัง เกิดสีกระดำกระด่าง กระฝ้า หรืออาจทำให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆได้” ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท หัวหน้ากลุ่มงานพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล สถาบันโรคผิวหนัง รพ.ราชวิถี แนะให้ทาครีมกันแดดทุกเช้า

เพราะรังสี UVA และ UVB จากแสงแดดจะกระทบผิวหนังชั้นบนของคุณ และเริ่มแทรกตัวลงไปถึง DNA ซึ่งอยู่ภายในเซลล์ผิวหนัง ทีนี้ร่างกายของคุณจะเร่งการผลิตเมลานิน ทำให้ผิวดำคล้ำลง

ผิวสีแทนคือ ข้อพิสูจน์ว่า DNA ของคุณถูกทำลายแล้ว

“หากยังตากแดดไม่หยุด ระบบการซ่อมแซมทำงานไม่ทัน แค่เซลล์เสียหายตัวเดียวก็สามารถกลายพันธุ์เป็นมะเร็งผิวหนังได้ภายในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น” อาจารย์หมอเวสารัช เตือน

2. ใช้ชีวิตในเมือง ครีมกันแดด SPF15 ก็เอาอยู่

“จากงานวิจัย Percentage การป้องกันการทำลายจากแสงแดดออกมาว่า ใช้ SPF15 สามารถป้องกันได้ถึง 93% แต่ใช้ SPF30 ป้องกันได้ 97% ใช้ SPF45 ป้องกันได้ 98%” พญ.รัศมี อัครพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารสถาบันโรคผิวหนัง รพ.ราชวิถี ชี้ให้เห็นว่าระหว่าง SPF30 กับ 45 ซึ่งเปอร์เซ็นต์การป้องกันต่างกันเพียง 1% ควรเลือกใช้ SPF30 ดีกว่า

“แต่ถ้าใช้ชีวิตในเมือง ถูกแดดไม่มาก เลือกระดับ SPF15 ก็เพียงพอ”

3. ใช้ชีวิตมีกิจกรรมกลางแจ้ง เลือกใช้ครีมกันแดดค่า SPF สูงขึ้น หากโดนน้ำ ต้องมีระบุ Water Proof

“เลือกตามความเหมาะสมกับผิวและงาน หรืองานอดิเรกที่จะทำในชีวิตประจำวัน คนๆ หนึ่งตากแดด 30 นาทีแล้วผิวแดงแสบเมื่อทาครีมกันแดดที่มี SPF15 หมายความว่าคนๆนั้นสามารถตากแดดได้นานเป็น 15 เท่า หรือประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแดงไหม้ที่ผิว” คุณหมอรัศมี แนะนำต่อว่า

“หากเล่นกีฬากลางแจ้ง ต้องใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงขึ้น หรือไปว่ายน้ำ ก็ควรเลือกครีมกันแดดที่กันน้ำได้ มีข้อความระบุว่า-Water Proof”

4. ห้ามดูเฉพาะค่า SPF ต้องมี PA+++ ด้วย เพื่อป้องกันทั้ง UVB และ UVA

“ในครีมกันแดดชนิด Chemical Sunscreen แบ่งเป็นสารดูดซึมเฉพาะ UVB หรือดูดซึมได้เฉพาะ UVA และสารที่ดูดซึมได้ทั้ง UVB และ UVA” เภสัชกรดร.พนิดา วยัมหสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง สำนักนวัตกรรม บริษัท แพน ราชเทวีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อธิบาย

“รังสี UVB แสดงออกมาในค่า SPF เป็นตัวการทำให้เกิดผิวหนังไหม้ และรอยด่างดำ ซึ่งมีมากในช่วง 10.00 – 15.00 น.

แต่ UVA ซึ่งมีอยู่ในตอนเช้ากับตอนเย็น สามารถส่องผ่านทะลุถึงชั้นผิวหนังแท้ ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ริ้วรอยเหี่ยวย่น ซึ่งแสดงออกมาในค่า PA+++

ดังนั้นเวลาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดด ต้องดูทั้งค่า SPF และค่า PA ที่ควรมีเครื่องหมายบวกติดกัน 3 ตัวด้วย เพื่อช่วยปกป้องได้ทั้ง UVA และ UVB”

5. ระวัง! ครีมกันแดดแนว Whitening อาจมีสารปรอท

“เป็นครีมกันแดดชนิด Physical Sunscreen ที่มีคุณสมบัติสะท้อนและกระจายแสง ครีมตัวไหนใส่ปริมาณที่เป็น Physical Block มากๆ หน้าจะขาวโพลน ถ้าใช้ปริมาณไม่มาก และไปเน้นที่ขนาดนาโน หน้าจะไม่ขาวโพลน” เภสัชกรพนิดา กล่าวถึงผลิตภัณฑ์กันแดดประเภทบวกสรรพคุณทำให้หน้าขาวขึ้นด้วย

“ส่วนใหญ่ห่วงกันในเรื่องของไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) กับพวกสารที่มีส่วนผสมของอนุพันธ์ปรอทที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่อดีต ด้วยความไม่เข้าใจและผลิตพวกนี้ออกมา”

ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมของสารปรอทเป็นเวลานาน ผิวจะบาง แดง แพ้ เกิดผื่นระคายเคือง เล็บที่สัมผัสกับครีมจะบางลง

“สำหรับไฮโดรควิโนนสิ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่าง เกิดอาการแพ้ระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่ใบหน้าหรือผิวหนังถาวร ถ้าใช้ระยะยาวเกิน 6 เดือน อาจทำให้เกิดฝ้าเส้นเลือดได้ หรือว่าหากต้องการหยุด ต้องค่อยๆหยุด”

จริงๆ แล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศห้ามใช้สารนี้ในเครื่องสำอางค์ แต่ให้ใช้ในการดูแลของแพทย์

อย่างไรก็ตาม เภสัชกรพนิดา ทิ้งทิปส์วิธีทดสอบว่าครีมกันแดดไวท์เทนนิ่งของคุณว่ามีไฮโดรควิโนนรึเปล่า สามารถทำง่ายๆ โดยนำผงซักฟอกมาละลายน้ำ แล้วผสมกับเนื้อครีม ถ้าสีออกเป็นสีน้ำตาลเข้มๆ แสดงว่ามีไฮโดรควิโนน ต้องระมัดระวังอย่างมากค่ะ
 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It