ART EYE VIEW—บางคนค้นพบตัวเองในระหว่างการตามหาอีกบางสิ่ง…
หลังลาออกจากอาชีพนักข่าว เป้าหมายของการเดินทางไปเยือนประเทศโปแลนด์ของ รีฟ – ชรัมภ์ กาฎีโรจน์ คือการไปเก็บเกี่ยวข้อมูลเพื่อมาเขียนหนังสือ
ซึ่งการเดินทางครั้งนั้นทำให้เขาบังเอิญไปพบและตกหลุมรักโลกของคนเย็บสมุด
“เลือกไปโปแลนด์เพราะมีเพื่อนอยู่ที่นั่น นอกจากไปเที่ยว ก็ตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเย็บสมุดเลย แล้วช่วง 3 เดือน ที่เที่ยวไปทั่วโปแลนด์ มักจะได้เจอคนอาชีพอย่างนี้ อย่างเช่นคนหนึ่งที่รู้จักกันระหว่างเดินทาง เขาทำงานเย็บสมุด เรียกได้ว่าเป็นศิลปินสมุด ไม่ได้ทำเป็นงานอดิเรกด้วย แต่ทำเป็นอาชีพ อยู่ได้ด้วยการเย็บสมุด สร้างศิลปะบนกระดาษ ทำสมุดให้กลายเป็นงานศิลปะ
สำหรับเรามันเป็นอะไรที่แปลกดี เพราะตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยเห็นอาชีพแบบนี้ในบ้านเรามาก่อนเลย ทำให้รู้สึกตื่นเต้น
แต่ก็ตื่นเต้นได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะรู้ตัวเองว่าไม่มีความสามารถทางด้านศิลปะ สุดท้ายก็กลับมาเมืองไทย เตรียมเขียนหนังสือเกี่ยวกับโปแลนด์ เขียนได้ไม่เท่าไหร่หรอกครับ เพราะว่าเป็นคนทำงานช้ามาก ไปเขียนหนังสืออยู่ที่ภูเก็ต จากนั้นแม่ก็เรียกตัวให้กลับไปช่วยงาน
แต่ไม่อยากทำงานเกี่ยวกับพวกบ้านจัดสรร หรือเกี่ยวกับที่ดินที่แม่ทำอยู่ ก็เลยหาข้ออ้างไปเรียนที่โปแลนด์ ไปเรียนเย็บสมุดโดยตรง เพื่อนเป็นคนติดต่อที่เรียนให้ ซึ่งอาจารย์ที่สอนเย็บสมุดเป็นเพื่อนกับแม่ของเพื่อน เขาเย็บสมุดมาตั้งแต่เด็กจนโต จนเรียนจบ แต่งงาน เย็บสมุดมาตลอด
เพราะเกิดมาในครอบครัวที่ซ่อมหนังสือ และเย็บพวกคัมภีร์ไบเบิล พอโตขึ้นก็ไปเรียนศิลปะที่เกี่ยวกับกระดาษ เมื่อจบมาก็มาทำงานซ่อมหนังสือ เย็บสมุด และเอาส่วนที่ได้จากการเรียนศิลปะ มาต่อยอดให้การเย็บสมุด (Book Binding) กลายเป็น Book Art ซึ่งแฟนของอาจารย์ก็ทำเหมือนกัน ตอนนี้ทั้งคู่อายุกว่าหกสิบปีแล้ว
จริงๆแล้วอาจารย์ ไม่ได้เปิดสอน เขาเปิดเป็นสตูดิโอทำงานและรับงาน แต่รีฟไปขอเรียน ขออยู่นานเหมือนกันนะ เอาเข้าจริง วิชาเย็บสมุดหาเรียนยาก ยากในที่นี้คือ ไอ้แบบที่ง่ายๆหาเรียนง่าย เปิดดูได้ตามอินเตอร์เน็ท มันก็จะเจอแบบง่ายๆเหมือนกัน เป็นการเย็บสมุดเปิดสันธรรมดา แต่มันไม่ได้มีการต่อยอดลงไปในแบบ เย็บแต่แบบเดิมๆที่เขาเย็บกัน ดีนะที่รีฟสนิทกับเพื่อน ซึ่งเป็นคนโปแลนด์”
ผู้ชายรักกระดาษ ชอบขีดเขียน
จากที่ตั้งใจว่าจะไปเรียนแค่ สามอาทิตย์ กลับต่อเนื่องกลายเป็น สอง ปีครึ่ง ซึ่งสิ่งที่ทำให้รีฟใช้เวลาไปกับการเรียนเย็บสมุดได้โดยไม่รู้เบื่อ ส่วนหนึ่งเพราะพื้นฐานเป็นคนที่ชอบกระดาษอยู่ด้วยนั่นเอง
“ชอบกระดาษ ชอบเขียน แล้วเวลาเจอคนที่ชอบเขียน เขาก็มักจะบอกว่า สมุดที่เขาซื้อมันไม่ค่อยได้ดั่งใจ ส่วนใหญ่เป็นสมุดที่มาจากโรงพิมพ์ แค่เลือกปก เลือกกระดาษ แต่พอเขียนไปสักระยะมันไม่ใช่
ช่วงที่เรียนก็ยังต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างโปแลนด์กับประเทศไทย เพราะรีฟไม่ได้ขอวีซ่าระยะยาว สองปีครึ่งสำหรับรีฟมันเร็วมากๆ เพราะความรู้ที่เราได้ทุกวัน มันเหมือนสิ่งที่ตั้งแต่เกิดมามันไม่เคยเจอครับ เดิมเราก็รู้ว่ามันมีการเย็บสมุด แต่จริงๆแล้วมันมีอะไรมากกว่าการเย็บสมุด มันลงลึกไปในเรื่องของกระดาษ วัสดุอุปกรณ์ สารเคมี ที่ใช้ทำกาวทำสี และ ทุกอย่างต้องทำด้วยมือหมดเลย
จากเรียนเย็บแบบเดียว ค่อยๆแตกไปเรื่อยๆ เหมือนกิ่งก้านของต้นไม้ที่มัน ค่อยๆลงลึกไปในรายละเอียด มันก็เลยสนุก
รีฟเรียนอยู่ที่บ้านอาจารย์ที่กรุงวอร์ซอสองปี แล้วอีกครึ่งปีหลังไปเรียนที่คราโคว์ เมืองหลวงเก่าของโปแลนด์ ใกล้กันเหมือนกรุงเทพฯกับอยุธยา เรียนกับลูกศิษย์ของอาจารย์นั่นแหล่ะ แล้วระหว่างที่เรียนก็จะข้ามไปทางเยอรมัน ไปเรียนเสริม นั่งเรียนรวมกับคนอื่น”
รีฟบอกว่าเขาโชคดี ที่ได้มีโอกาสได้เรียนกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง ที่สอนเขานับตั้งแต่การซ่อมกระดาษ ซ่อมหนังสือ เย็บสมุด (Book Binding) ไปจนถึงการให้แนวทางในการทำให้สมุดเล่มหนึ่งกลายเป็นงานศิลปะ(Book ART)
“เพราะในรั้วมหาวิทยาลัยยังการเรียนการสอนแต่ Book Art และมี Book Binding แทรกเป็นคอร์สเล็กๆ แต่พวกซ่อมกระดาษ ซ่อมหนังสือ รีฟได้มาจากอาจารย์ ซึ่งความรู้ลักษณะนี้ใครที่สนใจต้องไปหาเรียนจากข้างนอก”
กลับเมืองไทยเป็นนักเย็บสมุด
“ตอนที่ไปเรียนก็ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอาชีพ มาเริ่มคิดตอนหลังว่า เราต้องทำเป็นอาชีพให้ได้ ซึ่งตอนแรกก็เครียดเหมือนกัน ถ้ากลับมาจะทำอะไร เมืองไทยเขาก็ไม่ได้รู้จักกันมาก คิดหนักเหมือนกัน
แต่เมื่อเราตัดสินใจที่จะมาทางนี้ ทำแน่นอนแล้ว ซึ่งรีฟเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า คนที่รู้อะไร แล้วรู้ลึกจริงๆแม้จะแค่อย่างเดียวมันก็จะอยู่ได้
ตอนกลับมาโชคดี เพราะว่าส่วนหนึ่งได้งานของลูกค้าของอาจารย์มาทำด้วย เพราะอาจารย์ไม่สามารถทำทัน ช่วงแรกทำแค่งานลูกค้าของอาจารย์ แค่นั้นก็ทำไม่ทันแล้ว”
สิ่งที่ทำให้อาชีพของคนเย็บสมุดอยู่ได้และเครื่องจักรไม่สามารถมาทดแทนได้ เพราะสมุดที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยมือและความคิดของนักเย็บสมุดเป็นที่ต้องการของคนหลากหลายกลุ่ม
“กลุ่มแรกซื้อไปใช้งาน เป็นกลุ่มคนที่ชอบเขียน และจะมีไดอารี่สวยๆไว้ใช้ปีละเล่ม หรือปีละสองเล่ม บางคนปีนึงใช้ถึง 4 เล่ม เพราะว่าหนึ่งเล่มใช้ 3 เดือน
กลุ่มที่สองใช้สมุดไปในเชิงธุรกิจ เพราะสมุดบางแบบมันไม่ได้เป็นแค่สมุด บางแบบสามารถทำเป็นพวกแคตตาล็อค, เมนู, หนังสือเซ็นต์สัญญา,ของที่ระลึกในทางธุรกิจ และการ์ดเชิญเก๋ๆ
กลุ่มที่สามซื้อไปเป็นของขวัญ และกลุ่มที่สี่ซื้อไปสะสม กลุ่มนี้จะเน้นสมุดแปลกๆ ลายเย็บสวยๆ เก็บสะสมไว้โดยไม่ได้ใช้งาน”
ดังนั้นนักเย็บสมุดเช่นเขา จึงมีทั้งงานที่ต้องทำตามออเดอร์และงานที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างอิสระ รอคอยผู้ชื่นชอบมันอย่างแท้จริงซื้อหาไปสะสมไม่ต่างจากงานศิลปะ
“งานที่อยากจะเก็บไว้เองไม่เคยได้เก็บ เพราะว่า พอทำเสร็จปุ๊บ ก็จะมีคนขอซื้อตลอดลงเฟซบุ๊กไม่เกินชั่วโมงก็จะมีคนขอซื้อแล้ว เป็นคนเย็บสมุดที่ไม่มีสมุดของตัวเอง เวลาเขียนงาน รีฟยังเขียนใส่กระดาษอย่างนี้อยู่เลย(ยกเศษกระดาษขึ้นโชว์) บางเล่มอยากเก็บไว้ทำนิทรรศการของตัวเอง อยากมาก แต่ไม่เคยได้เก็บ แต่ลูกค้าที่เขาซื้อไปส่วนที่อยู่เมืองไทย เขาก็จะบอกว่า ถ้าคุณรีฟจัด เดี๋ยวให้ยืมไปโชว์ได้ ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว
รีฟเป็นคนใจอ่อน เวลาเห็นใครที่เขาอยากได้ อยากซื้อ เราก็จะ อ้อ…ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราค่อยทำใหม่ ซึ่งมันก็ไม่มีทางซ้ำกันหรอกครับ เพราะรีฟไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ อย่างแค่ลายเย็บมันก็มีเยอะแยะมากมาย เย็บให้จนตาย มันก็ไม่มีซ้ำกันหรอก ทำไปเรื่อยๆ เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ไป”
Reeves Bindery สมุดแนววินเทจ
หน้าตาของสมุดซึ่งเป็นผลงานของรีฟ ในนาม Reeves Bindery จะออกไปแนววินเทจนิดๆตามรสนิยมส่วนตัวที่เป็นคนชอบอะไรที่ดูย้อนยุค
“รีฟถูกสอนมาว่า ให้เอาความรู้ที่ได้จากอาจารย์ไปใช้ เป็นแนวทางได้ แต่อย่าเดินซ้ำรอย ซ้ำรอยคือการทำตาม เมื่อเราทำตามใครแล้ว เราจะไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เราจะไม่มีรอยเท้าของตัวเอง รีฟถูกสอนมาอย่างนี้
ให้ดูของคนอื่นๆได้ว่าเขาทำอย่างไร แต่ต่อให้สวยหรือดีแค่ไหน อย่าไปทำตาม จงหาเส้นทางของตัวเอง แล้วงานของเรามันก็จะเป็นเหมือนลายเซ็นต์ของเราเอง คนดูก็รู้ว่าเป็นงานเรา
รีฟชอบอะไรที่มันเก่า ในที่นี้คือ ชอบกระดาษเก่าๆ เพราะมันดูน่าจับ โดยส่วนตัวจะชอบสีน้ำตาลมาก แล้วงานของรีฟ สีจะออกโทนน้ำตาลหมดเลย จะไม่มีงานที่สีสดๆ ถ้าลูกค้าสั่งก็ทำได้ แต่อย่างไร มันก็ยังออกไปในแนววินเทจนิดๆ ต่อให้ทำออกมาน่ารักอย่างไร มันก็จะมีกลิ่นไอของวินเทจอยู่ในสมุด
สิ่งเหล่านี้ ส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันดูแล้วไม่เบื่อ จับดูกี่ทีๆ มันไม่เบื่อ แต่อะไรที่มันสดใส มันวูบวาบ สวยไม๊…สวย แต่สวยนานไม๊… ไม่รู้ มันแล้วแต่ความชอบ
เราพยายามเอาความชอบมาทำ เพราะรีฟคิดว่า ถ้าเราทำอะไรที่เราชอบ เราจะทำได้ดี
แต่ในขณะที่เราทำอะไรที่เราชอบ เราต้องระลึกไว้ว่า บางครั้งเราไม่ได้ทำของเราเอง เราทำให้ลูกค้า เพราะฉนั้น เราต้องดึงความชอบของเรา แทรกเข้าไปในความชอบของลูกค้า ในสัดส่วนที่พอเหมาะพอสม
บางงาน ถ้าเป็นงานของตัวเอง ก็จะใส่เต็มที่ แต่ถ้าเป็นงานออเดอร์ คนที่ใช้สมุดเขาควรจะได้ใช้อย่างที่เขาต้องการ เหมือนกับความต้องการของเรา ตอนที่เรายังเย็บสมุดไม่เป็น บางงานก็เลยต้องคุยกันว่าอย่างนี้ดีไหม แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะชอบแนวรีฟอยู่แล้ว
คือบางครั้งแทบไม่ต้องคุยเลย แค่บอกว่าอยากได้สมุดไว้เขียนปีหน้าแล้ว อะไรอย่างนี้
ตัวอย่างงานที่เห็นในเฟซบุ๊ก เล่มเล็กๆทั้งนั้นเลยนะครับ เพราะว่างานบางชิ้นไม่สามารถลงได้ ส่วนหนึ่งเป็นงานของลูกค้าที่เขาออเดอร์ บางอย่างในงานมันจะมีรูปของลูกค้า หรือบางคนเขาจะเขียนบันทึกมาเรียบร้อยเลย แต่ยังไม่เป็นเล่ม รีฟก็จะมีหน้าที่นำมาเย็บเป็นเล่มให้เขาเสร็จ
มันจะไม่ใช่แค่กระดาษเปล่า บางคนก็จะมีทั้งรูป ทั้งตัวอักษร ทั้งจดหมาย และสาระพัดสิ่ง ที่เป็นของส่วนตัว”
ห้องเรียนเย็บสมุด
จากที่เคยเป็นลูกศิษย์มาก่อน ปัจจุบันนี้รีฟยังเปลี่ยนบทบาทมาเป็นคอลัมนิสต์และอาจารย์สอนการเย็บสมุดอย่างง่ายๆในนิตยสาร MUSIC & ART ต่อเนื่องมาถึงการเปิดคอร์สสอนการเย็บสมุดให้กับลูกศิษย์หลากหลายอาชีพ ทั้งแบบที่เรียนเป็นกลุ่มและเรียนทางออนไลน์อีกด้วย
“พอกลับมาจากโปแลนด์ จัดระเบียบชีวิตของตัวเองได้เรียบร้อย ไม่ได้คิดว่าจะสอนอะไรหรอก เพราะเวลาที่เราอยู่กับมัน เราก็มีความสุข อยู่ได้ มีรายได้เข้าประจำอยู่แล้ว ไม่ต้องไปอยู่กับผู้คน อยู่กับตัวเอง อยู่กับกระดาษ อยู่กับงานที่รัก มันก็มีความสุขแล้ว
แต่จุดเริ่มต้นของการสอน มันมาจากน้องคนหนึ่ง เพราะช่วงที่ไปเรียนโปแลนด์ รีฟก็จะเขียนไดอารี่ออนไลน์ด้วย แล้วมีน้องคนหนึ่งเขาอยากเรียน พอกลับมา น้องเขาก็บอกว่า พี่ช่วยสอนหน่อย
จากสอนคนเดียว จนมาถึงวันนี้ นักเรียนเยอะมาก เยอะจนตกใจ ทำให้รู้ว่า มีคนที่ชอบแบบนี้อยู่เยอะนะ
แต่รีฟ จะไม่ชอบสอนอะไรที่แบบที่คนอื่นเขาสอน ถ้าในยูทูป หรือ ในหนังสือมีรีฟจะไม่สอน รีฟจะเอาความรู้ที่เขาหาเรียนไม่ได้มาสอน”
มากกว่างานฝีมือ
“คนที่มาเรียนบางคนเหตุผลเพราะชอบเรื่องกระดาษ หรือบางคนชอบทำพวกงานฝีมือ แต่เวลาสอนรีฟจึงบอกพวกเขาว่า ทำของพวกนี้ อย่าคิดว่ามันเป็นแค่งานฝีมือ เพราะถ้าเราคิดว่ามันเป็นแค่งานฝีมือ เราก็จะทำได้แค่งานฝีมือ แล้วมูลค่าของงานฝีมือ เมื่อเทียบกับงานศิลปะ มันต่างกัน
รีฟจะบอกเสมอว่า รีฟไม่ได้สอนแค่ให้เย็บสมุดได้ เย็บสมุดเป็น รีฟสอนมากกว่าแค่เย็บสมุด
ไอ้ที่มากกว่านั้น รีฟพยายามเอาแนวคิด เอาไอเดีย เอาความรู้ที่เรามี ที่เขาสามารถหยิบเอาไปต่อยอดได้ เวลาสอนเย็บสมุดในแต่ละแบบ ทุกคนก็จะได้เรียนวิธีการเหมือนกันหมด แต่เราจะทำอย่างไรให้แต่ละคนทำงานออกมาแตกต่างกัน พยายามให้เขาเป็นตัวของตัวเอง เอาความรู้ เอาสิ่งที่ได้จากรีฟไปผนวกกับความรู้และประสบการณ์ที่เขามี แล้วดูสิว่า สุดท้าย สมุดมันจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร
ลูกค้าเราคือใคร เราจะทำระดับไหน อย่างไร เราจะทำราคาถูก เย็บแข่งกับโรงงานไหม ซึ่งอันนั้นรีฟไม่ได้สนับสนุน คือคนเราจะเย็บสมุดเล่มละร้อยสองร้อยขาย มันก็ดี เพราะมันก็เป็นงาน แต่ถามว่า จะไปทำแข่งกับเครื่องจักรมันทำไม ทำอะไรที่มันน้อยๆ แล้วมันมีค่าเท่ากับไอ้ที่เย็บเป็นร้อยเล่ม มันดีกว่าไหม
สมุดเล่มหนึ่ง ค่อยๆคิด ค่อยๆทำ แล้วเราขายเล่มหนึ่ง ให้มันเท่าๆกันคนที่เขาต้องเย็บ สองสามร้อยเล่มอย่างนั้นดีไหม
ของเราแค่เล่มเดียวเราอาจจะใช้แรงใช้ความคิดมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่า งานศิลปะมันต้องใช้ความคิด ไม่ได้ใช้แรงงานอย่างเดียว ก็พยายามจะสอนเขาอย่างนี้
การที่เราพยายามทำตามใครที่เขาประสบความสำเร็จ เราจะไม่มีวันประสบความสำเร็จหรอก มันเหมือนเราพยายามจะเป็นแบบเขา พยายามหาตัวตนของเราให้เจอ เรารู้แล้วว่าเราชอบอย่างนี้ ท้ายที่สุดแล้ว แม้แต่ในความชอบที่เหมือนกัน มันจะมีไอ้รายละเอียดที่แตกต่างกันของแต่ละคน”
ทำตัวเราให้น่าอิจฉา
นักศึกษา แม่บ้าน คุณหมอ พยาบาล วิศวกร พนักงานธนาคาร หรืออีกหลายอาชีพที่ไม่คิดว่าสนใจ ต่างก็ตบเท้าเข้าสู่ห้องเรียนเย็บสมุดกับอาจารย์รีฟกันทั้งสิ้น แม้สถานที่ๆใช้สอน จะเป็นแค่เพียงมุมเล็กๆใต้ร่มไม้ด้านหน้า Tascany Avenue ในซอยพหลโยธิน 24 (ลาดพร้าวซอย 1) เพราะสตูดิโอของอาจารย์รีฟหรือครูรีฟอยู่ที่บ้านเกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“อย่างคุณหมอเนี่ย รีฟถามเลยว่า คุณหมอมาเรียนทำไม คุณหมอบอกว่า มันช่วยให้เรานิ่งลง ซึ่งมันก็จริง การเย็บสมุดมันช่วยให้เราใจเย็นลง ผ่อนคลาย มีสมาธิมากขึ้น
ตอนเรียนที่โปแลนด์ จะมีคอร์สสอนที่เรียกว่า การเย็บสมุดเพื่อการบำบัดด้วยเหมือนกัน ซึ่งรีฟก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมรีฟถึงไปอยู่ได้นานถึงสองปีครึ่ง
เดิมทีรีฟเป็นคนใจร้อนมาก ทำอะไรอยากให้เสร็จเร็วๆ การเย็บสมุดมันช่วยให้เรานิ่งลง มีสมาธิมากขึ้น ใจเย็นลง”
แม้บางครั้งเขาจะอดรู้สึกใจร้อนขึ้นมาไม่ได้ ในเวลาที่เห็นอะไรผิดหูผิดตา เช่นเวลาที่เห็นวิธีการถ่ายทอดวิชาการเย็บสมุดแบบผิดๆและให้แบบครึ่งๆกลางๆตามสื่อต่างๆ
“เราเห็นแต่พูดอะไรไม่ได้ พูดไปก็จะเป็นอิจฉา เราอยู่ของเราอย่างมีความสุข แล้วสอนอะไรที่เรามี ให้กับนักเรียนที่เขามาเรียนกับเรา เราก็ได้รับความสุขเต็มๆแล้ว พอแล้ว
ชีวิตมันมีความสุขมากเลย ที่ได้ตื่นมาอยู่กับสิ่งที่ชอบทุกเช้า ได้ดำเนินชีวิตต่อ เย็บสมุด ทำนู่นทำนี่ มันไม่รู้สึกว่า วันจันทร์อีกแล้วเหรอ มีแต่ถามตัวเองว่า โอ้.. วันศุกร์อีกแล้วเหรอ คือไม่อยากหยุด มันมีความสุขมากๆ
แล้วมันไม่ต้องไปแข่งกับใคร แข่งกับตัวเอง เวลาเรียนก็จะบอกนักเรียนว่า ไม่ต้องไปแข่งกับใคร แข่งกับตัวเอง ตัวเองน่าแข่งที่สุด ไม่ต้องไปแข่งกับใครเลย แล้วไม่ต้องไปอิจฉาใคร ทำตัวเราให้ตัวเราน่าอิจฉา”
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ปวริศร์ แพงราช
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.