Art Eye View

“สังคมไทยหาทางไปไม่ถูก” นัยยะ “หัวหก ก้นขวิด” ศิลปินแห่งชาติวัย 80 ปี “ทวี รัชนีกร”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ภาพเขียนเทคนิคสีน้ำซึ่งเขียนภาพมนุษย์กลายพันธุ์ สรีระอวบอัดยัดทะนาน ส่วนหัวมีลักษณะชี้ขึ้นบ้าง ชี้ลงบ้าง จำนวนหลายภาพถูกนำมาเรียงต่อกันจนเป็นภาพขนาดยาว และแทนที่จะติดให้ชมบนผนังดังเช่นการติดตั้งภาพเขียนทั่วไป ภาพได้ถูกวางไว้บนแท่นให้ผู้ชมต้องก้มลงไปมอง

คือผลงานศิลปะที่ ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2548 ใช้สื่อความหมาย “วิถีไทยแบบ หัวหก ก้นขวิด” นิทรรศการศิลปะในโอกาสครบรอบ 80 ปี ของตนเอง

-สังคมไทยหาทางไปไม่ถูก-

หลายคนอาจตั้งคำถาม วิถีไทยแบบ หัวหก ก้นขวิด ในทัศนะของศิลปินเป็นอย่างไร จนเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาสื่อสารกับผู้ชม และใช้เป็นชื่อนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย ศิลปินอาวุโสเจ้าของผลงานตอบว่า

“หัวหกก้นขวิด สำหรับผมความหมายเหมือนคำพูดของคนอีสานที่ว่า “ไปไม่ถูก” เหมือนสังคมไทยเราตอนนี้ที่ไปไม่ถูก ไม่รู้จะไปทางไหน การศึกษาจะไปยังไง เศรษฐกิจจะไปยังไง การเมืองจะไปยังไง ศาสนาไปยังไง ศิลปะไปยังไง ไปไม่ถูกจริงๆนะสังคมไทย”


และเมื่อเดินตรงเข้าไปข้างในสุดของห้องนิทรรศการ ผู้ชมก็จะได้พบกับภาพเขียนเทคนิคสีน้ำมันขนาดใหญ่ เขียนขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นภาพของกลุ่มคนจำนวนมากที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองในช่วงเวลานั้น

“ผมต้องการสะท้อนว่า พวกที่รับกรรม ถูกใช้เป็นเครื่องมือ คือพวกที่ออกไปเดินขบวน แต่คนที่ได้รับผลประโยชน์คือนักการเมือง หรือนักธุรกิจที่มีผลประโยชน์ ผมเขียนภาพนี้จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมเกิดเหตุการณ์ฆ่ากัน ผมหยุดเขียนเลยทันที เพราะผมไม่ชอบการฆ่ากัน ผมชอบสันติภาพ”

นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนขนาดใหญ่ชื่อ “ป่าตาย คนตาย” ที่ศิลปินแห่งชาติเพิ่งขึ้นในปี 2557 นี้เอง และต้องการสะท้อนปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เห็นถึงความไม่ถูกต้องเรื่องสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่เรื่องการสร้างเขื่อนที่ได้ทำลายแม่น้ำมูล ทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน ภาพเขียนชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในจำนวนภาพเขียนหลายชิ้นของผมที่สื่อเรื่องของการทำลายป่า และผมก็คลุกคลีอยู่กับพวกอนุรักษ์ป่าด้วย ผมศรัทธา สืบ นาคะเสถียร มากและผมทำงานศิลปะไว้หลายชิ้นที่เกี่ยวกับสืบ แต่ไม่ได้เอามาแสดงในนิทรรศการ ครั้งนี้”


งานชุด “ป่าตาย คนตาย” ของทวี รัชนีกร ไม่ได้มีเพียงแค่ภาพเขียนเท่านั้น แต่เพื่อให้สิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสารกับผู้ชมมีพลังมากยิ่งขึ้น งานชุดนี้ยังประกอบด้วย งานประติมากรรมจากดินเผาด่านเกวียนซึ่งมีลักษณะเป็นหัวคนถูกตัดเสียบประจาน ติดตั้งไว้ให้ชมอยู่ด้านหน้าของภาพเขียน

“เพราะเราอยู่ได้ด้วยป่า ถ้าหมดป่าเราก็ตาย ถ้าเราไม่ต่อต้านการทำลายป่า ก็เหมือนกับเรายอม ให้เขาตัดหัวเราเสียบประจาน ประจานว่าคนพวกนี้มันขายป่า ทำลายป่า เอาป่ามาทำรีสอร์ส

ผมต้องการให้คนที่ชมงานสัมผัสกับงานได้ ผมก็เลยทำงานในลักษณะ 3 มิติ หรืองานดินเผานี้ขึ้นมาประกอบด้วย และผมก็เป็นคนที่บุกเบิกงานเครื่องปั้นดินเผาของด่านเกวียน อีกทั้งเวลาทำงานศิลปะผมชอบที่จะหยิบจับวัสดุที่ใกล้ตัวมาทำงาน ไม่อยากหาอะไรที่มันพิสดารมาก”


-ศิลปะมีแต่หัวไม่มีหาง-

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งมีมาให้ชมหลากหลายเทคนิคและเป็นจำนวนมากกว่า 300 ชิ้น จากจำนวนเป็นพันชิ้นที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นและยังเก็บรักษาไว้ที่บ้านและหอศิลป์ทวี รัชนีกร ที่ จ.นครราชสีมา และต่างสะท้อนแต่ละช่วงเวลาของชีวิตที่ศิลปินมีหลากหลายเรื่องราวมากระทบใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ธรรมมะ ฯลฯ ภาพเขียนเทคนิคลายเส้น บางชุดสะท้อนชีวิตในวัยเด็กของศิลปินที่ผูกพันธ์กับแม่และธรรมชาติรอบตัวที่ยังบริสุทธิ์

“การทำงานศิลปะของผม เหมือนเป็นการเดินทาง หรือที่ภาษาธรรมะเรียกว่า มรรค นั่นคือไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเส้นทางที่เราเดินไป ระหว่างเส้นทางเจออะไรมากระทบก็สะท้อนออกมา ทำออกมา บางช่วงเวลามีเรื่องของธรรมะมากระทบก็ทำออกมา
เหมือนปิกัสโซ่ที่เขาทำงานศิลปะจนตาย แต่ก็ยังมีอะไรที่เค้าอยากทำอีกเยอะ ผมก็เช่นเดียวกัน ตอนนี้อายุ 80 ปีแล้ว แต่ก็ยังอยากทำอะไรอีกเยอะ เพียงแต่มันจะตายซะก่อน

ไมเคิล แองเจโล บอกว่า ศิลปะมีแต่หัวไม่มีหาง เช่นกัน จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังไม่จบ ถ้าตายไปงานที่ทำก็ยังค้างอยู่ ถ้าใครเห็นว่ามันมีค่าก็ต้องสืบต่อไป”


-ศิลปะเปรียบเหมือนศาสนาของผม-

ด้วยเหตุนี้ทวีจึงมีความเห็นว่าเมืองไทยควรมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเก็บรักษาผลงานของศิลปินรุ่นเก่า เพื่อให้ศิลปินรุ่นต่อๆไปได้ศึกษาและสืบต่อ ไม่ใช่มีเพียงสถานที่แสดงผลงานศิลปะดังที่มีอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน

“ถ้าไม่มี มันจะไม่มีการสืบต่อ มันจะต้องเริ่มต้นใหม่อยู่เรื่อย ถ้าเรามีที่เก็บงานศิลปะเหมือนเมืองนอก งานศิลปะมันถึงจะพัฒนาไปได้ เราจะได้ไม่หัวหกก้นขวิดอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

เมืองไทยยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเลย ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA ของ คุณบุญชัย(เบญจรงคกุล) นั่นเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เก็บงานศิลปะที่เขาสะสมเอาไว้ส่วนตัว แต่พิพิธภัณฑ์ของรัฐ เรามีที่ไหนกัน

เวลาเราไปต่างประเทศ เขามีพิพิธภัณฑ์ศิลปะให้คนเรียนรู้ และเขาเก็บมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์มาจนถึงยุคสมัยใหม่ แต่ของเราไม่มีเลย มีแต่ที่แสดงผลงานศิลปะหมุนเวียน มันไม่มีที่เก็บสะสมภูมิปัญญา”

ที่ผ่านมาทวีจึงทำได้เพียงสละทรัพย์ส่วนตัวสร้างหอศิลป์ขึ้น และอุทิศเวลาที่เหลืออยู่ให้กับการทำงานศิลปะมากที่สุด

“ตอนนี้ผมมีหน้าที่ของผม ผมก็ทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด ผมอุทิศชีวิตให้ศิลปะ ศิลปะเปรียบเหมือนศาสนาของผม เหมือนที่อาจารย์ศิลป์(พีระศรี) มาทุ่มเทชีวิตให้กับศิลปะที่เมืองไทย ดังนั้นแกก็ยอมตายเพื่อศิลปะและบอกว่าศิลปะคือศาสนาของแก ถ้าใจไม่มั่นคงในศิลปะ ก็ขอให้ถอยไปจากวิหารอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ถ้าคุณก้าวเข้ามาแล้วก็ขอให้จริงจังกับมัน ดังนั้นผมจึงอุทิศชีวิตของผมทุกอย่างให้มัน

ผมไปเป็นครูสอนศิลปะอยู่พักหนึ่ง พอเกษียณก็มาเขียนรูป นึกว่าจะอยู่กับมันได้แค่ 5 ปี อยู่กับสิ่งที่เรารักสัก 5 ปี ก็ยังดี แต่มันเสือกอยู่มาอีก 20 ปี จนอายุ 80 ปี แล้วผมเอากำลังทรัพย์ เอากำลังของตัวเองที่มี สร้างหอศิลป์ขึ้นมาในราคาหลายสิบล้าน เพื่อให้มันมีประโยชน์กับสังคม ทั้งแสดงผลงานศิลปะของผมเองด้วย และแสดงงานศิลปะหมุนเวียนของศิลปินคนอื่นๆด้วย

อาจารย์ศิลป์บอกว่าชาวนาเขามีบุญคุณปลูกข้าวให้เรากิน แล้วเราเป็นศิลปินจะไม่สร้างสุนทรียภาพให้ผืนแผ่นดินบ้างเหรอ ผมก็ต้องสร้าง เพราะผมกินข้าว เกิดแผ่นดินนี้ ก็ต้องรักแผ่นดินนี้ ก็ต้องสร้างศิลปะ

ชีวิตของผม ณ ปัจจุบันนี้ โดยมากผมจะแบ่งชีวิตให้กับศิลปะอย่างเดียว เพราะผมเหลือเวลาน้อย ทำอย่างอื่นได้ไม่มาก แต่ถ้ามีอะไรที่ทำแล้วสามารถเกื้อกูลคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์ป่า ต่อต้านคอรัปชั่น ถ้าผมทำได้ ผมก็อยากจะทำ แต่ผมต้องทำงานศิลปะเป็นหลัก เพราะชีวิตเราเหลือน้อยเพียงเท่านี้

ตอนหนุ่มๆ เอาเวลาไปบ้วนทิ้งเสียเยอะ พอแก่มาเวลาเหลือน้อย ชักอยากทำโน่นทำนี่ จนไม่รู้จะจับอะไรทำก่อน อยากสลักไม้ อยากแกะหิน อยากไปหมด เกิดกิเลส”


-เป็นศิลปิน ไม่จนก็บุญแล้ว-

ในฐานะศิลปินผู้อยู่ในวัยที่รู้สึกว่าเวลาชีวิตของตนเหลือน้อยเต็มที ขณะเดียวกันยังอยากทำอะไรอีกมากมาย จึงฝากถึงศิลปินที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวว่า

“ถ้าเชื่อมั่นว่าเราจะเป็นศิลปิน รักศิลปะจริงๆ จงทุ่มเทให้กับมัน ถึงจะลำบากบ้าง อะไรบ้าง ก็ต้องยอม มีเด็กมาถามผมว่า เป็นศิลปินนี่รวยไม๊ ผมตอบว่า ไม่จนก็บุญแล้ว (หัวเราะ) ถ้าอยากรวยก็ไม่ต้องมาเป็นศิลปิน ไปบวชเหมือนหลวงปู่เณรคำนู่น ไม่ต้องมาเป็นศิลปิน”

รวมไปถึงผู้ชมงานศิลปะศิลปินอาวุโสฝากว่า อยากให้เห็นคุณค่าของศิลปะและช่วยกันส่งเสริม

“อย่าเห็นว่าศิลปะเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะอารยชนเขามีศิลปะกันทั้งนั้น เอาง่ายๆ ฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทย นอกจากจะมาดูสุนทรียทางธรรมชาติ มาเที่ยวธรรมชาติ เที่ยวทะล เขาก็ยังมาดูสุนทรียที่มนุษย์สร้างขึ้น มาดูวัด ดูจิตรกรรมฝาผนัง”

-ความจริง ความดี ความงาม-

ดังเช่นการแสดงงานศิลปะครั้งนี้ที่ทวีบอกว่า ตนนำพลังชีวิตของมนุษย์ และสุนทรียภาพของศิลปินคนหนึ่งมาให้ทุกคนได้ชม ส่วนหนึ่งเพราะต้องการจะสื่อสารด้วยว่า มนุษย์เรานี้จะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่แค่สิ่งที่ใช้ในการดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น

“มันต้องมีทั้งสัจจะ ธรรมะ และสุนทรียะ ที่เขาเรียกว่า ความจริง ความดี ความงาม เป็นแก่แท้ของชีวิต เพราะสัตว์มันไม่จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ แต่เราเป็นมนุษย์ เราอยู่เพื่ออะไร เราจำเป็นต้องมี คำว่าอยู่เพื่ออะไร สัตว์ไม่ถาม แต่อยู่ของมันไปวันๆ แต่มนุษย์ต้องอยู่เพื่ออะไร

และปราชญ์ท่านสรุปว่าอยู่เพื่อ ความจริง ความดี ความงาม แสวงหาสัจธรรม แสวหาคุณธรรม แสวงหาสุนทรียภาพ เพื่อให้มนุษย์อยู่ได้อย่างดี เพราะสัตว์ไม่มีทางอยากฟังบีโธเฟน ไม่มีทางอยากอ่านบทกวีของ อังคาร กัลยาณพงศ์ หรือไม่มีทางอยากอ่านบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ดังนั้นเรา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของเราออกมา เพื่อแสดงคุณค่าให้สังคมได้รับรู้ว่า มนุษย์ไม่ใช่มีแค่ กิน นอน สืบพันธุ์ หรือเพื่อแสวงหาทรัพย์ เพื่อความอยู่รอดอย่างเดียว และมนุษย์ทั่วโลกก็ต้องเป็นอย่างนั้น

ถ้ามีแต่แสวงหาทรัพย์ ละโมบ โลภมาก ไม่รู้จักจบจักสิ้น ในที่สุดมนุษย์เราจะเป็นมนุษย์ที่ไร้สาระ”

“วิถีไทยแบบ หัวหก ก้นขวิด”

นิทรรศการศิลปะในโอกาสครบรอบ 80 ปี ทวี รัชนีกร

ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2548

วันนี้ – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า

Text & Photo : อ้อย ป้อมสุวรรณ





ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It