Art Eye View

“เมืองในดิน” จินตนาการร่วมกันของเด็กๆ และ “กลุ่มดินน้ำมัน"

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ในพื้นที่แห่งหนึ่ง ใจกลางกรุงเทพมหานคร สถานที่ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยเนื้อหาทางวัฒนธรรมเป็นร้อยปีและความทรงจำ

มีข่าวลือหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพื้นที่ทางวัฒนธรรมนั้น ที่ซึ่งกำลังถูกความเจริญเข้ามากล้ำกลาย ก่อนจะกลืนกิน

ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดก็ตาม เพราะทุกวันนี้ มีเรื่องราวต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในโลก เทคโนโลยีที่ล้ำยุค การแพทย์ที่ก้าวหน้า การเมืองการปกครองที่มีการพลิกผันและการเกิดขึ้นของกลุ่มการปกครองอิสระต่างๆ รวมไปถึงเรื่องเบาๆ อย่างภาพยนตร์ ดนตรีที่มีความหลากหลายกว่าในยุคก่อน ทุกอย่างเป็นสีสันแต่งแต้มให้โลกใบนี้ มีเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม เสียงพูดคุย อาจจะท่ามกลางเสียงร้องไห้หรือเสียงอื่นๆ ที่เราไม่เคยได้ยิน

แต่ถ้าวันหนึ่งทุกอย่างหายไปหมด ไม่มีสิ่งใดหลงเหลือ ผู้คนต้องลงไปอยู่ใต้ดินเพราะไม่อาจทนกับสภาพอากาศหรือความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่บนพื้นโลกได้อีกต่อไป ถึงวันนั้นเราจะทำอย่างไร ทุกคนจะไปอยู่ที่ไหนกัน บนฟ้า ใต้น้ำ หรือในดิน!


และแล้ว “เมืองในดิน” ก็เกิดขึ้นมา

ไม่ได้เกิดจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิศวกร สถาปนิกชั้นนำ นักดาราศาสตร์ โหรทำนาย นักการเมืองคนไหน แต่เกิดจากจินตนาการร่วมกันของ“เด็ก”กลุ่มหนึ่งในชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนวัดสระเกศ-ตรอกเซี่ยงไฮ้ และชุมชนสิตาราม กับ “กลุ่มดินน้ำมัน” กลุ่มโครงการสอนศิลปะเพื่อพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แก่เยาวชน ซึ่ง ฆนรส เติมศักดิ์เจริญ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มได้เล่าให้เราฟังว่า

“ดินน้ำมัน” คือสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยในวัยเด็ก เราปั้นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อมือ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือพัฒนาการทางด้านสมอง ความคิดสร้างสรรค์ ดินน้ำมันสามารถถ่ายทอดจินตนาการของเด็กได้ดีสำหรับวัยเรียนรู้”

จากวันที่ก่อตั้งกลุ่มดินน้ำมันจนถึงวันนี้ มีกิจกรรมดีๆ จัดขึ้นมาแล้วมากมาย และล่าสุดก็ได้จัดนิทรรศการ “เมืองในดิน” พื้นที่แห่งจินตนาการที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ในชุมชน กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงศิลปินรับเชิญที่ร่วมโครงการฯ ได้ออกแบบหน้าตาเมืองในดินของพวกเขากันอย่างเต็มที่

“ถ้าคนลงไปอยู่ในดินคงจะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ เหมือนบนดิน แต่ไม่อยากให้มีเรื่องไม่ดี เช่น การฆาตกรรม โตขึ้นอยากช่วยพัฒนาสังคมหรือชุมชนที่มีความเดือดร้อน เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่าเดิม”

ชนากานต์ ศรีใส หรือ น้องใบเฟิร์น บอกกับเราเมื่อถามว่า ถ้าต้องไปอยู่ในดิน เมืองในดินจะมีหน้าตาแบบไหนกันนะ

“อยากให้มีต้นไม้กับวัดเยอะๆ เพราะสมัยนี้เดินไปไหนก็เห็นแต่ตึก” กันยพัชญ์ นาราศิริพัฒน์ หรือ น้องสายไหม บอกกับเราบ้าง

“ไม่อยากให้มีตึกหรือออฟฟิศ คนเลี้ยงสัตว์ ทำสวนกันแทน ไม่มีถนนเพราะจะทำให้เกิดมลภาวะ และอยากให้มีบ้านพักใจที่ทุกคนในโลกมาอยู่ร่วมกันได้ และทุกคนในสังคมเป็นคนดี ไม่มีข่าวค้ายาหรือข่มขืน เพราะหนูกลัว” น้องหมูหวาน หรือ ณัชวิการณ์ อภัยเสวตร์ บอก

บางสิ่งที่เด็กหลายๆ คนในชุมชนเล่าให้ฟัง สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ความหวาดกลัวหรือความอึดอัดใจในสิ่งที่พวกเขาได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้ายา ความไม่สามัคคีและการทะเลาะเบาะแว้งของคนในชุมชน หลายๆ คนมักจะถ่ายทอดถึงปัญหาเหล่านี้ และนั่นเป็นสิ่งที่เขาอยากปรับปรุงให้ดีขึ้นในสังคมใหม่มอย่างเมืองใต้ดิน

“แต่ถ้ามีสัตว์ประหลาด หรือมนุษย์ยุคหินคงจะดี” น้องอาร์ต หรือ ธีรฉัตร สดไสย ตบท้ายได้อย่างน่ารัก

และไหนจะมีไอเดียอย่างไดโนเสาร์ชอบกินลูกชิ้น ตัวตุ่นมีปีกที่มีความสุขอยู่บนท้องฟ้า หรือเด็กกับกิ้งกือ ไส้เดือน คุยกันได้อีก
ในขณะที่เยาวชนอาสาสมัครและศิลปินก็ได้แสดงความเห็นที่ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาอีก

“มนุษย์จะปรับตัวเองให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ซึ่ง เป็นวิธี วิถี ที่มนุษย์ ได้ทำมาตั้งแต่ในยุคอดีต..ในยุคปัจจุบันที่มนุษย์ อยู่กับวิวัฒนาการและนวัตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมากมายก่ายกอง ซึ่งนับวันเราจะห่างไกลจากจุดเริ่มต้นไปทุกทีๆ บางครั้งการกลับไปเรียนรู้ยุคเริ่มต้นของมนุษย์ ..เราอาจได้คำตอบ ที่เห็นภาพชัดเจนขึ้น” โลเล หรือ ทวีศักดิ์ ศรีทองดี หนึ่งในศิลปินชื่อดังที่เข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ

“การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความสมดุลที่สุดเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง มีการวางผังเมืองที่ดี การจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ ระบบการการศึกษา รู้จักเคารพตัวเองและผู้อื่น ยิ้ม หรือ ศศิวรรณ ปลอดทอง อาสาสมัครโครงการพูดด้วยท่าทีที่มุ่งมั่น

“ถ้าทุกคนเท่าเทียมกันหมด มันก็จะไม่มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น หรือไปก้าวก่ายล้ำเส้นพื้นที่ของใคร เพราะในดินระดับพื้นที่เหยียบนั้นมันเท่ากัน” ณิชชา เอมะศิริ หรือ กู๊ด บอกกับเรา

“อยากเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดที่ผิดๆ ของคนสมัยนี้ไปค่ะ เช่น คนที่จะมีความสุขคือคนที่จะต้องรวย ต้องทำงานมาก หรือคนที่สวยจะต้องผอม ขาวใส อยากปรับให้ผู้คนมีกระบวนการคิดที่มุ่งมองถึงสิ่งรอบตัว ใส่ใจคนรอบข้าง หรือคนที่เรารัก มากกว่าผลตอบแทนใดใดค่ะ” จูล หรือ อิสรีย์ อนุตรพงษ์สกุล พูดขึ้นบ้าง สองคนนี้เปรียบเทียบให้เราเห็นภาพของสังคมปัจจุบันมากขึ้นไปอีก

“มนุษย์เราวิวัฒนาการพัฒนาการดำรงอยู่จากโลกที่มีแสงแดด ท้องฟ้า มาร่วมล้านปี หากวันหนึ่งเราต้องอาศัยในที่ที่แตกต่าง เมื่อเวลาผ่านไปนานแสนนาน เราอาจจะวิวัฒนาการเป็นอะไรไปอีกอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่แบบในดินก็ได้” บี หรือ ปิยะนนท์ แซ่ก้วย พูดแบบหนังวิทยาศาสตร์จนเราต้องนึกตาม


ภาพจินตนาการเหล่านี้ทำให้เราอดคิดวางแผนไปด้วยไม่ได้ว่าถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์แบบนี้จริงๆ เมืองในดินจะมีหน้าตาแบบไหน และเราพร้อมจะรับมือกับมันหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ผลงานของใครหลายคนก็ทำให้เราฉุกคิดถึงชีวิตรอบตัวในยุคปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางที อาจจะโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว

ชมนิทรรศการ “เมืองในดิน” ระหว่างวันที่ 8 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 10.00-19.00 น. (เปิดนิทรรศการวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้ เวลา 16.00 – 18.00 น.) ณ ชั้น 1 ห้องเอนกประสงค์ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน

ภายในงานมีกิจกรรมหนังสือแลกหนังสือ ผู้ร่วมงานนำหนังสือของตัวเองมาแลกกับหนังสือของนิทรรศการเพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้สู่เยาวชน หนังสือที่ได้จากผู้เข้าร่วมงานจะนำไปมอบให้กับห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ ที่ร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้ยังพบการแสดงจากกลุ่มเด็กในชุมชนอาทิ การแสดงดนตรี นาฏศิลป์ การเต้นร่วมสมัย พร้อมการแสดงดนตรีจากวง Valley Runner และมีกิจกรรมเข้าร่วมฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เช่น ถุงหน้ากากแปลงร่าง, โปสการ์ดสัตว์ประหลาด, ฉีก-ปะ-สร้างเมือง และกิจกรรมศิลปะประกอบนิทาน

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It