โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช
อากาศที่หนาวน้อยกว่าน้ำเดือดนิดหนึ่งในหน้านี้อาจทำให้หลายคนพึ่งพา “ของเย็น” ในการดับร้อนไม่ว่าจะแอร์เย็นๆ, น้ำเย็น, น้ำอัดลมซ่าๆ แช่เย็น หรือไอศกรีมเย็นเจี๊ยบจับใจ
ในบรรดาเครื่องใช้ในบ้านนอกจากเครื่องปรับอากาศแล้ว “ตู้เย็น” ถือเป็นอีกหนึ่งที่ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าในหน้านี้
ยิ่งร้อนก็ยิ่งเปิดตู้เย็นกันบ่อยขึ้น
ซึ่งสิ่งนี้มีผลกับของที่แช่อยู่ในตู้เย็นมาก เพราะการเปิดปิดบ่อยจะทำให้เก็บความเย็นได้ไม่ดีอาจทำให้อุณหภูมิร้อนๆ เย็นๆไม่สามารถคงความเย็นไว้ได้สม่ำเสมอ จึงมีผลต่อของที่แช่ไว้ภายในตู้เย็น ถ้าเป็นของสดก็อาจหมดอายุไวขึ้น แต่ถ้าเป็นของแห้งก็อาจขึ้นราได้หรือมีเชื้อปนเปื้อนจากการมาเยือนตู้เย็นบ่อยๆ ของสมาชิกในครอบครัว
เปิดเพื่อหาน้ำเย็นๆ มาแก้กระหาย
เปิดช่องฟรีซหาไอศกรีมหรือแช่ของ
เมื่อต้องพึ่งพาอัชฌาสัยกันเช่นนี้ เพื่อให้การใช้ตู้เย็นเพื่อนรักเป็นไปด้วยดี มีส่วนช่วยท่านและครอบครัวลดดีกรีร้อนได้ในหน้านี้ จึงขอฝากวิธีที่จะใช้ตู้เย็นและการเลือกอาหารเก็บไว้ในตู้เย็นให้เหมาะสม เพราะของกินหลายอย่างวางไว้นอกตู้เย็นได้จะดีกว่าด้วยซ้ำ
ดังนั้นถ้าเรารู้เคล็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการใช้อุปกรณ์พื้นฐานที่มีอยู่ตามบ้านนี้ได้ดี ก็จะช่วยให้ชีวิตท่านง่ายขึ้น แถมช่วยสุขภาพได้ด้วย
ดังเรื่องควรรู้คู่ตู้เย็นโดยเฉพาะในหน้าร้อนอย่างนี้ ที่จะดีต่อสมาชิกทุกบ้านในบ้านด้วยครับ
>>8 เรื่องน่ารู้คู่ตู้เย็น ที่ช่วยท่านได้
1) อาหารที่ไม่ต้องใส่ตู้เย็น
ได้แก่น้ำผึ้ง, มะเขือเทศ, หัวหอม, มันเทศ
โดยอาหารเหล่านี้ควรเก็บไว้ภายนอกในที่ที่โปร่งอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนจัด หรือถูกแสงเกินไป จะดีกว่าเก็บไว้ในตู้เย็น ที่อาจทำให้เสียรสได้ด้วย
2) ต้องตั้งอุณหภูมิ
โดยทั่วไปควรตั้งไว้ที่ต่ำกว่า 40 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 4 องศาเซลเซียส) ซึ่งตู้เย็นรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มีตัวเลขบอกอุณหภูมิง่ายๆ หรือจะใช้เทอร์โมมิเตอร์ใส่ไว้ดูเองก็ได้ครับ
3) ควรใส่กล่องปิดฝา
โดยเฉพาะอาหารที่จะสูญเสียความชื้นได้ง่ายเช่นเนื้อสด, ผักสลัด, ขนมปัง ฯลฯ ด้วยเชื่อว่าท่านคงไม่อยากเห็นเนื้อเย็นที่แห้งด้าน หรือขนมปังที่แข็งกระด้าง ราวกับฟองน้ำค้างปีแน่
ซึ่งทางแก้ก็แค่หากล่องมีฝาปิดมาใส่ หรือใช้ถุงซิปล็อคก็ช่วยได้
4) ตู้เย็นไม่อาจฆ่าเชื้อโรคได้
ข้อนี้ขอย้ำไว้เพราะการเก็บอาหารในตู้เย็นคือการ “ถนอมให้อยู่นาน” ช่วยคงสภาพที่ดีเอาไว้ แต่ไม่ใช่การฆ่าเชื้อให้อาหารสะอาดขึ้นหรือเพิ่มรสชาติของอาหารแต่อย่างใด
5) อย่าอัดอาหารแน่น
เป็นความสุขดีที่มีเสบียงรองรังให้อุ่นใจเต็มตู้เย็น ผมเองก็ชอบความรู้สึกนี้ครับ แต่ขอท่านที่รักอย่าใส่ของจนแน่นเบียดกัน เพราะมันต้องการที่ว่างให้อากาศไหลผ่านจะได้เย็นทั่วถึง ช่วยถนอมอาหารได้เต็มที่
6) หนึ่งชั่วโมงคือ นาทีทอง
อาหารที่กินเสร็จแล้วถ้าต้องใส่ตู้เย็นขอให้ใส่ภายใน 2 ชั่วโมงถ้าวันนั้นอากาศไม่ร้อนนัก (ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส)
แต่ถ้าเป็นวันร้อนจัดอย่างกลางหน้าร้อนหรือกินไปเหงื่อไหลหยดลูกคางก็ต้องไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งสำหรับบ้านเราใช้ที่ภายใน 1 ชั่วโมงจะเซฟกว่าครับ
7) จัดระเบียบตู้เย็น
อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งมานั่งบิ๊กคลีนนิ่งตู้เย็นในบ้านหรือคอนโดกันโดยให้เอาของส่วนใหญ่ที่ออกนอกตู้เย็นได้ออกมาวางข้างนอก ก่อนจะทำความสะอาดชั้นวางและพื้นผิวในตู้เย็นให้ดี ซึ่งสิ่งนี้มีส่วนช่วยให้ตู้เย็นทำงานได้ดีอยู่เสมอ
ขอแค่อย่าเผลอเอาของที่เคยแช่ออกมาวางกองไว้นานเกิน 1 ชั่วโมงก็พอครับ
8) ของร้อนต้องมีเทคนิค
การจะนำแกงจืดร้อนๆใส่ตู้เย็น,โจ๊กที่เพิ่งอุ่นเสร็จ หรือก๋วยเตี๋ยวเจ้าเด็ดที่ซื้อมาพร้อมน้ำซุปร้อนจี๋ใส่ตู้เย็น ขอให้ดูให้ดี เพราะความร้อนนั้นอาจไปทำให้เพื่อนของกินอื่นในตู้เสียไปได้โดยอุณหภูมิที่เชื้อโรคชอบคือ 40-140 องศาฟาเรนไฮต์หรือราวน้ำอุ่นที่เราอาบกัน
ถ้าเป็นไปได้อยากให้เย็นเร็วขอให้แบ่งใส่ภาชนะที่เล็กลงและแบนขึ้น จะช่วยให้อาหารนั้นเย็นเร็วขึ้น
จะเห็นว่ากติกาของการอยู่กับตู้เย็นให้เป็นของที่ช่วยเราในหน้าร้อนไม่ต้องลงแรงอะไรมาก เพียงแค่คอยสังเกตแล้วมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการแช่ของเท่านั้น
สำหรับท่านที่มีเด็กๆ ในบ้านเป็นแฟนคลับตู้เย็นเหนียวแน่น ก็อาจหาถังใส่น้ำกับน้ำแข็งไว้ให้ดื่มต่างหากจากน้ำในตู้เย็น หรือหาเครื่องกดน้ำเย็นแยกออกมาให้ใช้ เพื่อช่วยลดการปิดเปิดตู้เย็นได้ ส่วนในเวลาครอบครัวก็อาจชวนกันมาเคลียร์ของทำความสะอาดตู้เย็นกันดูได้ ช่วยให้ได้เลือกของที่หมดอายุและไม่ควรเก็บในตู้เย็นได้ด้วยครับ
จะได้เย็นสบายคลายร้อนกันเต็มที่ครับ
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.